เพ็ญสุภา สุขคตะ : “พระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ” นัยยะของพุกามมอบให้หริภุญไชย

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ต่อจากความเดิมสัปดาห์ที่แล้ว ถึงตอนที่พระนางจามเทวีได้รับมอบ “พระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ” จากพระราชบิดา กษัตริย์กรุงละโว้ด้วยองค์ 1 (ถือเป็นพระสิขีฯ องค์ที่ 2 ในบรรดา 5 องค์ที่สร้างพร้อมกัน ณ เมืองอโยชฌปุระ แล้วส่งมอบกระจายให้เมืองต่างๆ 4 แห่ง) พระนางจามเทวีนำพระสิขีฯ องค์นั้นมาประดิษฐานที่วัดกู่ละมัก (ลมักกัฏฐาน) ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ปัญหาคือ ปัจจุบันที่วัดกู่ละมัก เราไม่พบพระพุทธรูปที่มีศิลปะแบบทวารวดีที่แกะจากหินสีดำเลย พบแต่พระพุทธรูปดินเผาหน้าถมึงทึงเป็นศิลปะหริภุญไชยตอนปลายแล้ว (ใช้เป็นภาพประกอบของตอนก่อน) หรือบางทีอาจจะเคยมีแต่ถูกลักลอบขุดขโมยไปแล้วก็เป็นได้ เนื่องจากวัดแห่งนี้เคยร้างมาเป็นระยะเวลายาวนาน

ตำนานเขียนต่อไปว่า

 

ปริศนาเมืองสุธรรม
ความสัมพันธ์ระหว่างสะเทิมกับเมืองตาก

“ฝ่ายพระนางจัมมเทวีได้โปรดให้พระเจ้าสุธรรม (อาจารย์แสง มนวิธูร ผู้แปลชินกาลมาลีปกรณ์ เขียนในวงเล็บเองว่า หมายถึงพระเจ้าเมืองสะเทิม) ครองราชสมบัติในเมืองตาก ได้ยินว่า ครั้งนั้นพระเจ้าสุธรรม เมื่อครองราชสมบัติอยู่ในเมืองตาก ได้อัญเชิญพระปฏิมาหินดำที่พระองค์รักษาไว้นั้นมาจากเมืองสุธรรมด้วย แล้วประดิษฐานไว้ในวัดสุธรรมารามในเมืองตากนี้ จริงอยู่ พระปฏิมาหินดำนั้น พระเจ้าสุธรรมอัญเชิญมาจากเมืองสุธรรม เพราะฉะนั้นจึงได้นามว่า พระสุธรรม”

คราวนี้ได้ฤกษ์ กล่าวถึงพระสิขีปฏิมาศิลาดำ ลำดับที่ 3 สักที นั่นคือองค์ที่ระบุว่า อยู่ที่เมืองสุธรรม 1 องค์

กรณีของชื่อ “สุธรรม” เป็นที่ทราบกันดีว่าหมายถึงเมือง “สุธรรมวดี” (เมืองที่มีพระธาตุอินทร์แขวนอันลือลั่น) หรือภาษามอญเรียก “สะเทิม” ภาษาอังกฤษเขียน “Thathon” (ไม่ใช้ S ว่า Sathoem) เพราะฉะนั้นเราอย่าได้แปลกลับมาเป็นไทยอีกรอบ ไม่งั้นจะกลายเป็นเมือง “ท่าตอน”

อันที่จริงภาษาพื้นเมืองจะอ่านว่า “ถะทน” ซึ่งระหว่างอักขระ ถ กับ ส ในภาษามอญโบราณจะมีความก้ำกึ่งกันอยู่เล็กน้อย

เมืองสุธรรมที่กล่าวถึงนี้ ค่อนข้างซ้ำซ้อนกับเมืองรัมมนะประเทศ (เมืองลำดับที่ 4-5 ที่มีพระสิขีฯ ถึง 2 องค์) ซึ่งพระเจ้ามโนหารเป็นกษัตริย์ ดังที่อธิบายไว้แล้วอย่างละเอียดในฉบับก่อน

แต่เอาเถอะ ในเมื่อตำนานที่เรากำลังวิเคราะห์อยู่นี้ใช้วิธีแยกเมืองสุธรรม ออกมาเป็นอีกเมืองหนึ่งต่างหากจากรัมมนะประเทศของพระเจ้ามโนหาร (ทั้งๆ ที่เมืองนี้ต่างหากควรเป็นสะเทิมหรือสุธรรมวดี) เราก็จะเดินตามตำนานไปพลางๆ ก่อน

ที่น่าสงสัยคือ มีการบอกว่าพระนางจามเทวี ให้พระเจ้าสุธรรมมาครองเมืองตาก ข้อความนี้อธิบายนัยอะไร หมายความว่า ในขณะนั้น อาณาจักรหริภุญไชยมีอำนาจเหนือดินแดนสุธรรมวดีหรือเช่นไร จึงสามารถโยกย้ายให้กษัตริย์ภายใต้แว่นแคว้นมอญเดินทางจากเมืองไหนไปปกครองอีกเมืองหนึ่งได้ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ระดับสะเทิม

หากเราตัดเส้นแบ่งพรมแดนไทย-พม่าออกไป ในอดีตรัฐมอญหริภุญไชย น่าจะเป็นเครือข่ายกับรัฐมอญที่สุธรรมวดีจริง อย่างน้อยก็มีเหตุการณ์ที่ชาวหริภุญไชยหนีโรคห่าจากลำพูนไปอยู่ที่นั่น 6 ปี แต่ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังยุคพระนางจามเทวีนานถึง 300 ปี

คำถามจึงมีอยู่ว่า ผู้แต่งต้องการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างหริภุญไชย-สุธรรมวดีในยุคไหนกันแน่

หากเป็นยุคหลังหนีโรคห่า (พ.ศ.1500 ลงมา) รัฐมอญสองแคว้นนี้มีความสัมพันธ์แนบแน่นต่อกันและกันแน่

แต่ก็จะแนบแน่นถึงขั้นที่สุธรรมวดีอยู่ภายใต้การปกครองของหริภุญไชย ถึงขนาดออกคำสั่งให้เจ้าเมืองนั้นย้ายไปนั่งเมืองนี้ได้จริงหรือ ยังไม่มีหลักฐานอะไรบ่งชี้ชัด

หรือต้องการระบุว่าอำนาจของหริภุญไชย แผ่ไพศาลมาถึงรัฐมอญที่สุธรรมวดีตั้งแต่ พ.ศ.1200 สมัยพระนางจามเทวีแล้ว ก็คงต้องยิ่งตรวจสอบประวัติศาสตร์ของรัฐมอญในพม่าด้วยว่าจริงเท็จประการใด

จะอย่างไรก็แล้วแต่ มีคำว่า “เมืองตาก” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สิ่งนี้คือประเด็นที่น่าสนใจที่สุด เพราะเมืองตากตั้งอยู่ตอนล่างของแม่น้ำปิง ต่อจากเชียงใหม่-ลำพูนอันเป็นอิทธิพลของแคว้นหริภุญไชยอย่างชัดแจ้งอยู่แล้ว และเมืองตากนี้เอง ก็มีความเกี่ยวข้องกับแคว้นละโว้ตั้งแต่ต้นราชวงศ์ลวปุระ โดยพระเจ้ากาฬวรรณดิศ บรรพบุรุษของพระราชบิดาพระนางจามเทวี อพยพผู้คนมาจากเมืองตาก (ไล่เรียงสันตติวงศ์ดังนี้ กาฬวรรณดิศ-สักกรดำ-จักรวรรดิวัติ-จามเทวี)

ในยุคพระนางจามเทวี เมื่อเดินทางขึ้นมาครองหริภุญไชย เมืองตากก็เป็นเมืองทางผ่านของพระนางอีกครั้ง ทรงสถาปนาให้ตากเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันแนวตะเข็บตะนาวศรี-ถนนธงชัย กันชนรัฐมอญในพม่า

การที่พระนางจามเทวีสั่งให้กษัตริย์เมืองสุธรรมวดี นำเอาพระสิขีปฏิมาศิลาดำ (องค์ที่ 3) มาไว้ที่เมืองตาก ข้อความตรงนี้สะท้อนถึงนัยอะไรล่ะหรือ หรือต้องการให้นำพระพุทธรูปองค์สำคัญหนีให้พ้นจากสงครามพุกาม-มอญ ซึ่งเมืองสะเทิมคือเป้าหมายหลักในการโจมตีของพุกาม ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้

เนื่องจากเหตุการณ์การปรากฏขึ้นของรัฐพุกามภายใต้พระเจ้าอนิรุทธ เกิดขึ้นภายหลังจากพระนางจามเทวีสวรรคตไปแล้วนานถึง 300 ปีนี่นา เว้นเสียแต่ว่า ตำนานคงต้องการระบุชื่อกษัตริย์พระองค์ใดองค์หนึ่งในแคว้นหริภุญไชยามากกว่า แต่เรียกโดยรวมว่าพระนางจามเทวีกระมัง

“ฝ่ายพระเจ้าสุธรรมมีพระประสงค์จะให้พระปฏิมาหินดำยั่งยืนถาวร ทรงสักการและขออนุญาตแล้วจึงเอาเสียมทะลวงพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้ แล้วเอาพระปฏิมาหินดำองค์นั้นบรรจุไว้ในพระพุทธรูปองค์ใหญ่นั้น แล้วเอาปูนขาวพอกทำให้เป็นรูปปรกติตามเดิม และตั้งแต่นั้นมา พระปฏิมาหินดำองค์นั้น เป็นสิ่งควรสักการบูชาเป็นพิเศษของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตราบเท่าถึงวันนั้นแล”

จากข้อความนี้สะท้อนว่า พระสิขีปฏิมาศิลาดำองค์ที่ 3 ได้ย้ายจากเมืองสุธรรมมาอยู่เมืองตาก จากนั้นถูกนำไปซ่อนบรรจุไว้ในพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่งอีกชั้นหนึ่ง ที่วัดสุธรรมาราม เมืองตาก

ณ ปัจจุบันขอเรียนถามพี่น้องชาวตากว่ายังมีชื่อวัดนี้อยู่หรือไม่ และหากมีตั้งอยู่ที่ไหน อีกทั้งภายในวัดนี้มีพระพุทธรูปก่อปูน (?) ขนาดใหญ่สมัยทวารวดีองค์ไหนบ้างไหม ที่ชาวบ้านบอกต่อๆ กันว่าเคยมีการบรรจุพระพุทธรูปหินดำไว้ภายใน

ซึ่งอย่าลืมว่า เรายังไม่มีใครทราบกันเลยว่า พระสิขีปฏิมาศิลาดำทั้ง 5 องค์นั้นเป็นพระนั่งหรือยืน ปางอะไร ขนาดกว้างยาวสูงประมาณเท่าใด เพราะตำนานไม่ได้ระบุไว้เลย

 

พุกามไม่ต้องการพระสิขี!!!

“ฝ่ายพระเจ้าอนุรุทธทรงทราบความรุ่งเรืองแห่งพุทธศาสนาในนครหริปุญไชย มีพระทัยชื่นชมยินดี ทรงปรารถนาจะให้ศาสนารุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้น จึงส่งพระปฏิมาหินดำประทานแก่พระนางจัมมเทวีในนครหริปุญไชย พระปฏิมาหินดำองค์นี้ เป็นพระสิขีพุทธองค์ที่พระมหากษัตริย์เจ้าเมืองมหานครถวายแก่พระองค์”

ข้อความตอนนี้ หากคนอ่านตำนานไม่แตกจะรู้สึกงงมึนตึ้บไปกันใหญ่ ว่าทำไมจับเอาพระเจ้าอนิรุทธมาอยู่ร่วมเหตุการณ์กับพระนางจามเทวี ทั้งๆ ที่พระนางจามเทวีมาก่อนประมาณ 300 ปี

เป็นที่เข้าใจว่า เวลาต้องการพูดถึงกษัตริย์เมืองพุกามทุกพระองค์ มักไม่นิยมเรียกชื่อเฉพาะของกษัตริย์องค์นั้นๆ แต่จะเรียกว่าพระเจ้าอนิรุทธทั้งหมด หรือเมื่อต้องการพูดถึงกษัตริย์แคว้นหริภุญไชยองค์อื่นๆ ก็ไม่ระบุชื่อ แต่มักเหมารวมเรียกว่าพระนางจามเทวีอีกเช่นกัน (เพื่อเป็นที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับผู้เขียนตำนานเอง แต่สร้างความสับสนและเข้าใจยากมากสำหรับพวกเราผู้อ่าน)

เอาเป็นว่า มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นระหว่างพุกามกับหริภุญไชย คือการที่กษัตริย์หริภุญไชยได้รับมอบพระสิขีปฏิมาศิลาดำองค์หนึ่งจากพุกาม (ไม่ต้องสนใจชื่อกษัตริย์ทั้งสองแคว้น เพราะอนิรุทธไม่ร่วมสมัยกับจามเทวีเลย)

หากจะยึดพระนางจามเทวีเป็นหลัก ในพม่ารัฐพุกามก็ยังไม่ก่อเกิด มีแต่รัฐศรีเกษตรที่ร่วมสมัยกับหริภุญไชยตอนต้น แต่หากจะให้ยึดว่าเหตุการณ์นี้มีแคว้นพุกามแล้ว ก็ต้องเลื่อนเวลาให้พ้นยุคพระนางจามเทวีไปอีก 300 ปีนะเออ เฮ้อ! วงจร Time & Space ก็จะไล่เป็นงูกินหางแบบนี้นะคะ

ก็น่าแปลกอยู่ว่า พระเจ้าอนิรุทธมหาราชแห่งพุกามดิ้นรนอยากได้พระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ จากพระเจ้ามโนหาร (แห่งรัมมนะประเทศ) เกือบตาย จับเขามาเป็นตัวประกันก็แล้ว ก็ยังไม่ได้พระหินดำมาไว้ที่พุกาม แต่กลับไปได้พระหินดำจาก “มหานคร” (พระประธม นครปฐม แห่งทวารวดี?) แทน

แล้วจู่ๆ บทจะยกพระหินดำให้หริภุญไชยก็ยกให้ดื้อๆ เยี่ยงนี้หรือ? ทั้งๆ ที่หริภุญไชยก็มีพระหินดำอยู่แล้ว 1 องค์ โดยกษัตริย์ละโว้มอบให้ราชธิดาของเขาคือจามเทวี

หรือในความเป็นจริงนั้น หริภุญไชยต่างหากที่เป็นฝ่ายยกทัพไปตีเมืองพุกามจนชนะ แล้วแย่งชิงพระสิขีปฏิมามาได้อีกองค์ เพราะเชื่อยากมากที่พุกามจะยอมยกพระพุทธปฏิมาองค์สำคัญให้แว่นแคว้นอื่นโดยง่ายดายปานนั้น

อ่านถึงตอนนี้แล้วอย่างงนะคะ ทนอ่านอีกสัก 1-2 ย่อหน้าสุดท้าย แล้วจะสรุปอัพเดตสถานที่ประดิษฐานพระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำทั้ง 5 องค์ให้ทราบอีกครั้งรวดเดียวเลย

 

บรรจบกับฉากเปิดเรื่องที่เมืองเขลางค์

“ในขณะนั้น พระนางจัมมเทวีได้เสด็จไปเขลางค์เยี่ยมพระราชบุตรของพระองค์ พระนามว่าอนันตยส ฝ่ายราชทูตจึงตามไปนครเขลางค์ถวายพระสิขีปฏิมาแก่พระนางในนครเขลางค์นั้น เจ้าอนันตยสทรงรับพระสิขีปฏิมาจากพระมารดาของพระองค์ในเวลาที่พระนางเสด็จมา ทรงสักการบูชาในนครเขลางค์”

ย่อหน้าสุดท้ายนี้ค่อนข้างยาว พักครึ่งเท่านี้ก่อน จะได้วิเคราะห์ทีละประเด็นๆ ดังนี้

พระนางจามเทวีมีพระราชโอรสสององค์ แฝดพี่ชื่อ “มหันตยส” แฝดน้องชื่อ “อนันตยส” (ในเอกสารนี้อันที่จริงเขียนชื่อแฝดน้องสลับกับแฝดพี่ แต่ดิฉันเกรงผู้อ่านจะสับสนจึงแก้จากมหันตยศเป็นอนันตยศให้แล้ว แต่ในเครื่องหมายคำพูด เป็นข้อความที่ยกมาจากตำนาน ขอคงไว้ซึ่งตัวสะกด ส.เสือ ยส ตามแบบบาลีต้นฉบับเดิม)

จากข้อความที่ยกมา บอกว่า “ราชทูต (จากพุกาม)” ได้ตามไปถวายพระสิขีปฏิมาศิลาดำ ให้แก่พระนางจามเทวี และพระนางก็มอบต่อให้แก่เจ้าอนันตยศแฝดน้องที่เมืองเขลางค์ (ลำปาง) ทั้งนี้เนื่องมาจากพระนางมีพระสิขีฯ อยู่แล้วองค์ 1 ที่วัดกู่ละมัก ซึ่งได้มาจากพระราชบิดาโดยตรง ถือเป็นศรีเมืองหริภุญไชย องค์นี้แฝดพี่มหันตยสก็คงครอบครองดูแลต่อมา

ตำนานพรรณนามาจนถึงย่อหน้าสุดท้ายว่า

“ได้ยินว่า ครั้งนั้น ฤษีตนหนึ่งชื่อ “สุพรหม” มองเห็นอนาคตจึงพูดขึ้นว่า ถ้าหากพระสิขีปฏิมาองค์นี้ประดิษฐานอยู่ทางฝั่งน้ำด้านตะวันออกแม่น้ำวังแล้ว คนทั้งหลายจะไม่ได้รับความเจริญอันยิ่งใหญ่ แต่ถ้าประดิษฐานอยู่ทางฝั่งแม่น้ำด้านตะวันตกแม่น้ำวังนั้นแล้ว คนทั้งหลายจะได้รับความเจริญรุ่งเรืองดังนี้ เพราะฉะนั้นในเวลาสร้างเมืองเขลางค์ใหม่ พระสิขีปฏิมาซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดกู่ขาวจึงเป็นด้านทิศตะวันตกนครเขลางค์ โปรดทราบไว้ดั่งนี้ด้วย กาลอุบัติแห่งพระสิขิพุทธปฏิมา 0บบริบูรณ์”

ตำนานจบแต่การตีความของนักวิชาการยังไม่จบ เรื่องราวของฤษีสุพรหม คำทำนายการย้ายพระสิขีฯ จากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตก รวมถึงการวิเคราะห์รูปแบบพุทธศิลป์ และความหมายของคำว่า “พระสิขี” คืออะไรนั้น จะเจาะลึกอย่างละเอียดใน 1-2 สัปดาห์ต่อไป

สัปดาห์นี้ขออัพเดตสถานที่ประดิษฐานพระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำทั้ง 5 องค์ให้ทราบกันก่อนนะคะ

องค์ที่ 1 อยู่ที่อโยชฌปุระ ข้อความพงศาวดารโยนกมีเหตุการณ์ตอนนี้ด้วยเช่นกัน ระบุว่าอโยชฌปุระคืออยุธยา โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนที่สมเด็จพระเชษฐาธิราช โอรสของพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ ได้อาราธนาพระสิขีปฏิมาศิลาดำจากเขลางค์ไปไว้ที่กรุงศรีอยุธยา (เพียงแต่พงศาวดารโยนกระบุว่า เป็นองค์ที่พระนางจามเทวีนำขึ้นมาจากละโว้) แต่ในชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่า พระสิขีปฏิมาศิลาดำที่เขลางค์นี้พระนางจามเทวีได้รับมาจากพระเจ้าอนิรุทธแห่งพุกาม (สมมติว่าร่วมสมัยกัน) และยิ่งให้ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น องค์นี้ก็เคยอยู่ที่เมือง มหานคร (สันนิษฐานว่าคือ นครปฐม) ด้วย สรุปองค์นี้เดินทางไกลกว่าเพื่อน

องค์ที่ 2 อยู่วัดกู่ละมัก ลำพูน ที่เดิม พระนางจามเทวีได้มาจากลวปุระ โดยพระเจ้าจักรวรรดิวัติพระราชบิดามอบให้

องค์ที่ 3 อยู่ที่วัดสุธรรมาราม จังหวัดตาก นับแต่ยุคทวารวดีจวบปัจจุบันจะไม่มีใครสามารถมองเห็นองค์จริงได้เลย เพราะฝังซ่อนเร้นอยู่ในพระพุทธรูปองค์ใหญ่ พระสิขีฯ องค์นี้ย้ายมาจากเมืองสุธรรมวดี โดยคำบัญชาของพระนางจามเทวี

องค์ที่ 4-5 ไม่เคยมีการพูดถึงอีกเลย อยู่ที่รัมมนะประเทศ (อยู่ไหนก็ไม่รู้ หงสาวดี?) อย่างเหนียวแน่น แม้ว่ากษัตริย์มโนหาร (กษัตริย์องค์นี้ครองเมืองสุธรรมวดีมิใช่หรือ?) แห่งรัมมนะประเทศจะถูกจับตัวไปอยู่พุกาม แต่พระเจ้าอนิรุทธก็ไม่สามารถเคลื่อนย้ายพระสิขีฯ สององค์นี้ไปพุกามได้

และไม่มีการพูดถึงชะตากรรมของพระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำของสององค์แห่งรัมมนะประเทศนี้อีกเลย