พลังคนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งครั้งแรก

เพื่อประเทศ “ยุคเธอ”

เพราะประเทศอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารมา 5 ปีเต็ม บวกกับก่อนหน้านั้นที่การเลือกตั้งถูกต่อต้านจนต้องเลิกล้ม โดยกลุ่มบุคคลที่ไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และพรรคการเมืองที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งรวมพลังกันกระทำการขัดขวางไม่ให้ประชาชนไปลงคะแนน ทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งจะเป็น “ผู้มีสิทธิที่ยังไม่เคยเข้าคูหากาบัตร”

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปด้วยอัตราเร่งทวีขึ้นตามเวลา

ทัศนะทางการเมืองจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นน่าจะเป็นเรื่องคาดเดาได้ยากยิ่ง

คนรุ่นใหม่ที่ต้องเป็นหลักขับเคลื่อนประเทศในอนาคตอันใกล้ คิดอย่างไร เลือกอย่างไร จึงน่าสนใจไม่น้อย

“นิด้าโพล” ดูจะเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงทำสำรวจเรื่อง “พลังคนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งครั้งแรก” โดยเจาะไปสอบถามความคิดความเห็นจาก “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18-25 ปี” หรือ “ผู้เกิดระหว่าง พ.ศ.2537-2554” ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

คำตอบที่ได้น่าสนใจไม่น้อย

ในคำถาม จะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่จะถึงนี้หรือไม่ ร้อยละ 84.93 ตอบว่าไปแน่นอน ร้อยละ 8.53 ไม่ไปแน่นอน ร้อยละ 6.54 ไม่แน่ใจ

ในคำถาม จะเลือก ส.ส.จากพรรคการเมืองที่สังกัด หรือจากตัวผู้สมัคร ร้อยละ 50.39 พิจารณาทั้งสองอย่าง ร้อยละ 25.63 เลือกจากพรรคการเมือง ร้อยละ 23.98 เลือกจากตัวผู้สมัคร

เมื่อถามว่าอยากให้พรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงมากที่สุดและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ร้อยละ 44.64 ตอบไม่แน่ใจ, ร้อยละ 18.74 พรรคเพื่อไทย, ร้อยละ 13.86 พรรคอนาคตใหม่, ร้อยละ 10.73 พรรคประชาธิปัตย์, ร้อยละ 3.66 พรรคพลังประชารัฐ, ร้อยละ 2.70 พรรคเสรีรวมไทย, ร้อยละ 2.27 พรรคเพื่อชาติ, ร้อยละ 0.87 พรรคชาติไทยพัฒนา, ร้อยละ 0.87 พรรคภูมิใจไทย, ร้อยละ 0.70 พรรคประชาชาติ, ร้อยละ 0.52 พรรคไทยรักษาชาติ, ร้อยละ 0.44 พรรครวมพลังประชาชาติไทย

นั่นหมายความว่า ความตื่นตัวทางการเลือกของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้มีสูงมาก เกือบทั้งหมดพร้อมที่จะไปใช้สิทธิ แม้จะไม่ค่อยชัดเจน เหมือนยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะฟันธงเลือกแบบไหน หรือเลือกใคร

แต่นั่นอาจตีความได้ว่าเป็นเรื่องของการไม่อยากระบุชัดเจน เหมือนกับยังไม่ตัดสินใจ

เพียงแต่ว่าคำตอบในอีกคำถามที่ว่า “นโยบายใดที่พรรคการเมืองใช้ในการหาเสียงที่ได้ใจคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้” ที่ร้อยละ 35.92 ตอบว่า หยุดวิกฤตเศรษฐกิจทุกชนชั้น, ร้อยละ 22.67 เรียนฟรีถึงปริญญาตรี, ร้อยละ 9.41 ล้างระบบเส้นสาย หยุดทุนใหญ่กินรวบประเทศ, ร้อยละ 7.50 แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ, ร้อยละ 6.02 ล้างรัฐประหาร สร้างการเมืองแบบใหม่, ร้อยละ 6.02 บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ร้อยละ 5.06 เลิกเกณฑ์ทหาร, ร้อยละ 2.52 พักหนี้ กยศ., ร้อยละ 1.48 กัญชาเสรี, ร้อยละ 1.31 แก้กฎหมายให้ Grab สร้างรายได้ถูกกฎหมาย

จากคำตอบที่ลงลึกในรายละเอียดของความคิดข้อนี้ ย่อมให้ความชัดเจนบางอย่าง แค่เอาไปเทียบเทียงว่านโยบายเหล่านี้เป็นของพรรคการเมืองใด ภาพของที่ถูกปิดไว้ด้วยคำตอบว่า “ไม่แน่ใจ” ในคำถามก่อนหน้านั้น น่าจะจัดเจนถึงการไม่กล้าพูดตรงว่าจะเลือกพรรคไหน แล้วซ่อนการตัดสินใจอย่างไรไว้ในคำตอบว่า “ไม่แน่ใจ”

น่าจะเห็นได้ไม่ยาก

ธรรมชาติของความคิด เมื่อมีการตัดสินใจเลือกแล้ว หากจะเปลี่ยนแปลงไป ต้องมีอะไรสักอย่างที่มีพลังแห่งการโยกคลอนรุนแรงไม่น้อย

โยกคลอน หรือยิ่งตอกย้ำ การหาเสียงที่ต้องร้อนแรงขึ้นทุกขณะจะเป็นคำตอบ