ตำนาน ‘พระมหามัยมุนี’ เมื่อองค์พระมีลมหายใจ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “พะมหาไมมุนี” (สะกดแบบไทยนิยมว่า “พระมหามัยมุนี”)

พระมหามัยมุนี หรือพระมหาเมียะมุนี แปลว่า “ผู้รู้อันประเสริฐ” เป็นพระประธานในวัดมหามุนี มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา

พระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ ปางมารวิชัย หน้าตัก 9 ฟุต สูง 12 ฟุต 7 นิ้ว เป็นศิลปะพม่าโบราณโดยแท้ พระพักตร์สี่เหลี่ยม ร่างใหญ่กำยำบึกบึน โดยพระเจ้ายะไข่เป็นผู้สร้างขึ้น

ในปี พ.ศ.689 พระเจ้าปดุงได้ย้ายองค์พระมาที่เมืองมัณฑะเลย์ จัดสร้างวัดอาระกันหรือวัดพยาจีเพื่อประดิษฐาน

ต่อมาในปี 2327 รัชสมัยพระเจ้าสีป่อ เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้วัดจึงได้สร้างวัดขึ้นใหม่ มีขนาดใหญ่และสวยงามกว่าเดิมโดยช่างชาวอิตาลี

ดังนั้น ศิลปะในวัดพยาจีจึงผสมผสานศิลปะทวีปยุโรปเข้าไว้ด้วย

พระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของเมียนมา ที่ประชาชนให้ความเคารพนับถืออย่างสูง ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องไปไหว้ให้ได้สักครั้งในชีวิต

ชาวเมียนมาถือว่าพระมหามัยมุนีเป็นพระที่ยังมีชีวิตเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์

เนื่องจากมีตำนานเล่าต่อๆ กันมาว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานพรในการหล่อพระด้วยพระองค์เอง

และได้ประจุลมหายใจของพุทธะเข้าไว้ เพื่อให้เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าในการสืบศาสนาต่อไปในภายภาคหน้า

ในเมื่อองค์พระมีลมหายใจ จึงเกิดพิธีกรรม “ล้างหน้าพระเจ้า” ในเวลา 04:45 น.ของทุกๆ วัน

เมื่อเตรียมการพร้อมแล้ว เจ้าอาวาสหรือรองเจ้าอาวาสจะทำพิธีแปรงฟันด้วยกิ่งข่อย ล้างหน้าพระพุทธรูปด้วยน้ำบริสุทธิ์ผสมทานาคา พัดวีให้หน้าแห้งแล้ว เช็ดหน้า

จากนั้นจึงมีการถวายภัตตาหาร โดยมีมรรคนายกคอยปรนนิบัติพัดวี

พิธีกรรมดังกล่าวใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ

ทางวัดปฏิบัติเช่นนี้ติดต่อกันทุกวันไม่มีวันหยุด

และหากผู้ใดต้องการเฝ้าชมพิธีอย่างใกล้ชิด จะต้องเดินทางไปถึงวัดตั้งแต่เวลา 03:30 น.

ภายหลังจบพิธีแล้ว จะเปิดโอกาสให้เฉพาะสุภาพบุรุษขึ้นไปปิดทองคำเปลวที่องค์พระได้ ยกเว้นที่พระพักตร์เท่านั้นที่ห้ามปิดทอง

พระมหามัยมุนีเรียกอีกชื่อว่า “พระเนื้อนิ่ม” เนื่องจากทองคำเปลวที่ปิดองค์พระหนานุ่มไปทั้งองค์จนไม่สามารถมองเห็นลวดลายของศิลปะบนองค์พระภายในได้

ที่ด้านข้างขององค์พระ มีภาพถ่ายดั้งเดิม ปรากฏว่าใบหน้าของพระมหามัยมุนีมีลักษณะเยาว์วัย และภาพถ่ายต่อๆ มามีลักษณะเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ตอกย้ำความเชื่อของชาวเมียนมาว่า พระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปที่ยังมีชีวิต และแก่ชราได้เช่นคนเรา

ส่วนพุทธศิลป์ที่มีลักษณะทรงเครื่องขององค์พระมาเพิ่มเติมในยุคหลัง

ประดับทับทรวง กรองศอสวมมงกุฎ มีกรรเจียกจรข้างพระกรรณเป็นลายกนก

นักวิชาการบางคนสันนิษฐานว่าลายกรรเจียกจรอาจเลียนแบบจากศิลปะไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย

ด้วยปรากฏมีร่องรอยของอิทธิพลโยเดียในศิลปวัตถุอื่นอีกหลายอย่างในเมียนมา

คาดว่าพม่าได้รับอิทธิพลเมื่อครั้งยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา