ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : การเมืองเรื่องรวมศูนย์อำนาจผี ที่นครธม และพุกาม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

หลังจากที่ทัพของพระเจ้าชัยอินทรวรมันที่ 6 กษัตริย์ของชาวจามปา ที่อยู่ทางตอนกลางของเวียดนาม บุกเข้ายึดครอง “เมืองพระนคร” (เขมรออกเสียงว่า อองกอร์) ของพวกขอมอยู่ 4 ปี พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1724-1763) ก็ได้กรีธาทัพมาขับไล่ชาวจามออกไป แล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แห่งกัมพูชา เมื่อเรือน พ.ศ.1724

และเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ทรงสถาปนาราชธานีแห่งใหม่คือ “นครธม” ขึ้นทับซ้อนกับปริมณฑลของราชธานีแห่งเดิมคือ “เมืองพระนคร”

นครธม หรือราชธานีใหม่นั้น สร้างขึ้นในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มี “ปราสาทบายน” ตั้งอยู่ที่จุดศูนย์กลางของเมือง

ปราสาทบายนจึงเปรียบได้กับเป็นประธานของราชธานีแห่งใหม่ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งมีลักษณะที่โดดเด่น และผิดแปลกไปจากธรรมเนียมการสร้างปราสาทของพวกขอมที่เคยมีมาก่อนหน้า เพราะยอดของปราสาทบายนทุกๆ ยอด และทุกๆ ด้าน ล้วนแล้วแต่สลักเป็นรูปพระพักตร์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (แน่นอนว่า ถ้าไม่ศักดิ์สิทธิ์แล้วจะสลักทำไม?) บางอย่างเอาไว้ จนนับรวมได้ทั้งหมด 216 พระพักตร์เลยทีเดียว

 

แน่นอนว่า เมื่อชาวตะวันตก (โดยเฉพาะพวกฝรั่งเศส) ได้เข้ามาค้นพบปราสาทแห่งนี้ (ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ชนพื้นเมือง หรือแม้กระทั่งพวกยุโรปที่เข้ามาก่อนการล่าอาณานิคมนั้น จะไม่รับรู้ถึงการคงอยู่ของปราสาทแห่งนี้) พระพักตร์จำนวนมากมายเหล่านี้หมายถึงอะไร? และเป็นพระพักตร์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระองค์ใดแน่?

ไล่เรียงมาตั้งแต่เชื่อว่าเป็นพระพักตร์ของพระพรหม, พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสมันตมุข (พระอวโลกิเตศวรในรูปที่มี 1,000 พระพักตร์), สุนัตตกุมารพรหม (พรหมองค์หนึ่งในศาสนาพุทธ ฝ่ายมหายาน ส่วนเถรวาทเรียก สนังคกุมารพรหม) และเหวัชระ (เป็นยิดัม คือเทพผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนา ตามความเชื่อของพุทธศาสนาแบบตันตระ) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พระพักตร์เหล่านี้ก็อาจจะไม่ใช่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์ใดองค์หนึ่งหรอกนะครับ (และทำไมต้องเป็นองค์เดียวกันด้วยล่ะ?) เพราะผลการสำรวจรูปแบบของพระพักตร์เหล่านี้พบว่ามีลักษณะที่แตกต่างจากกัน

 

เป็นที่ยอมรับกันในวงการเขมรศึกษา (Khmer study) ปัจจุบันว่า พระพักตร์เหล่านี้อาจจะจำแนกกว้างๆ ได้เป็นสามรูปแบบ ได้แก่ 1.เทพเจ้า (Deva) 2.เทวดา (Devata) และ 3.อสูร (Asura, แน่นอนว่าอสูรซึ่งสามารถให้คุณ ให้โทษได้ ก็ย่อมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับมนุษย์ด้วย ไม่ต่างไปจากเทพเทวดาทั้งหลาย)

ดังนั้น พระพักตร์เหล่านี้จึงควรที่จะไม่ได้หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์ใดองค์หนึ่ง

และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ที่ปราสาทแห่งนี้ได้มีการค้นพบตัวอักษรจารึกข้อความสั้นๆ กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณปราสาท จารึกเหล่านี้ระบุพระนามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จำนวนนับร้อยพระนามขึ้นมาโดดๆ โดยไม่ได้บอกว่าระบุขึ้นมาทำไม? หรือเพื่ออะไรแน่?

ในบรรดาจารึกเหล่านี้ มีจำนวนมากเลยทีเดียวที่เป็นพระนามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากสถานที่ต่างๆ ที่อยู่ในปริมณฑลอำนาจของนครธม ตัวอย่างเช่น “กมรเตง ชคต วิมาย” หรือพระผู้เป็นเจ้าแห่งเมืองพิมาย ในจารึกปราสาทบายน 25 (18) เป็นต้น

แน่นอนว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองเมืองพิมาย และเมืองอื่นๆ ที่ถูกเอ่ยถึงในจารึกเหล่านี้ ย่อมเป็น “ผีเจ้าที่” หรือที่ชาวกัมพูชาเรียกว่า “เนียะตา” มาก่อนที่จะถูกจับบวชเข้าเป็นส่วนหนึ่งในศาสนาพุทธ หรือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ภายหลังจากที่รัฐได้นำความเชื่อในศาสนาใหม่เหล่านี้เข้ามามีบทบาทในการปกครอง

นักวิชาการชาวฝรั่งเศสผู้คร่ำหวอดในวงการเขมรศึกษาอย่างบรูโน ดาแชง (Bruno Dagen) จึงนิยามถึงปราสาทบายนในทำนองที่ว่า “เป็นศูนย์กลางของแผนที่ทางจิตวิญญาณ ที่ถูกปกป้องโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในจักรวรรดิแห่งนี้ ซึ่งก็มีทั้งเนียะตา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายตามคติจากอินเดียในจำนวนพอๆ กัน”

ไม่แน่ว่าบางที “พระพักตร์” ทั้งหลายบนยอดปราสาทแห่งนี้ก็มีวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ หรือ “ผีเจ้าที่เจ้าทาง” ปะปนอยู่ในจำนวนครึ่งต่อครึ่ง ไม่ต่างอะไรกับจารึกที่ระบุชื่อพวกท่านไว้ในปราสาทหลังนี้?

 

อย่างไรก็ตาม ปราสาทบายนก็ไม่ใช่ตัวอย่างเดียวของอะไรทำนองนี้ในอุษาคเนย์ เพราะอย่างน้อยก็มีตัวอย่างที่คล้ายคลึงกันอยู่ที่พุกามในประเทศพม่า

“พุกาม” เป็นเมืองเก่าแก่ของชาวพม่า ที่มีหลักฐานมาตั้งแต่ช่วงราว พ.ศ.650 มาแล้ว แต่ความรุ่งเรืองของอาณาจักรพุกามก็เพิ่งจะเด่นชัดเมื่อพระเจ้าอโนรธา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1589-1620) มหาราชองค์แรกของชาวพม่า ได้ไปอัญเชิญพระพุทธศาสนาอย่างเถรวาท มาจากเมืองมอญทางตอนใต้ของพม่า จนเป็นจุดเริ่มต้นให้อาณาจักรพุกามกลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาในโลกสมัยนั้น

แต่การยอมรับนับถือศาสนาใหม่ของชาวพม่าในครั้งนั้นใช่ว่าจะเป็นไปด้วยความราบรื่น เพราะนับตั้งแต่ก่อนการสถาปนาอาณาจักรพุกาม ชาวพม่าต่างก็นับถือ “ผีนัต” มาตั้งแต่ดั้งเดิม

ผีนัต คืออำนาจเหนือธรรมชาติ เป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของผู้ตายร้าย หรือพูดง่ายๆ ว่า “ตายโหง” ตามความเข้าใจแบบปัจจุบัน นัตจึงเป็นกึ่งเทพกึ่งผี แต่มีฐานะสูงกว่าผีทั่วไป การถือผีนัตก็เช่นเดียวกับพุทธศาสนา เป็นระบบความเชื่อที่ซับซ้อน มีพิธีกรรมการปฏิบัติ และการดูแลตั้งแต่ระดับของครัวเรือนไปจนถึงที่สาธารณะ

ดังนั้น เมื่อพระเจ้าอโนรธาได้นำศาสนาพุทธเข้ามาประดิษฐานในอาณาจักรพุกาม ระบบความเชื่อแบบใหม่ในพระพุทธศาสนาจึงต้องปะทะเข้ากับระบบความเชื่อแบบเก่า คือระบบผีนัตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีนัตประจำเป็นของตนเอง ก็ยิ่งทำให้เรื่องดูยุ่งยากขึ้น

และวิธีจัดการกับปัญหาดังกล่าวที่พระเจ้าอโนรธาทรงเลือกที่จะกระทำก็คือ “การจัดระเบียบผีนัต”

 

ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าอโนรธาทรงรวบรวมผีนัตในแต่ละท้องถิ่นรวมทั้งสิ้น 32 ตน จากนั้นจึงทรงแต่งตั้ง “ท้าวสักกะ” (Sakka) ขึ้นเป็นหัวหน้าของนัตทั้ง 32 ตนนั้น เรียกได้ว่าเป็นนัตทั้ง (32+1 รวมเป็น) 33 ตนนี้เป็น “ผี” ที่ได้การรับรอง และสถาปนาขึ้นโดยรัฐ

แต่นัตทั้ง 33 ตนที่พระเจ้าอโนรธาสถาปนาขึ้นมานี้ ก็อาจจะไม่ใช่นัตตนเดียวหรือกลุ่มเดียวกับที่ชาวพม่านับถือในปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับที่นัตทั้ง 33 ตนนี้ ก็อาจจะไม่ใช่ผีที่ชาวพม่าในยุคก่อนพระเจ้าอโนรธานับถือด้วยเช่นกัน เพราะอย่างน้อยที่สุด หัวหน้าคณะผีนัตคือ “ท้าวสักกะ” ก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธมาก่อน

ในวรรณคดีฝ่ายพุทธศาสนาเถรวาท “ท้าวสักกะ” คือชื่อหนึ่งของ “พระอินทร์” เทพเจ้าองค์สำคัญในพุทธศาสนา โดยนัยยะหนึ่ง พระเจ้าอโนรธาจึงใช้ศาสนาพุทธในการควบคุมผี เพราะนอกจากพระองค์จะทรงมอบหมายให้ ท้าวสักกะเป็นหัวหน้าของคณะผีนัตทั้งหลายแล้ว ยังเชื่อกันว่าจำนวน 33 ตนนั้น ก็ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดเรื่องภพภูมิ หรือจักรวาลวิทยาจากอินเดีย เพราะสวรรค์ของพระอินทร์ คือสวรรค์ชั้นที่เรียกว่า “ดาวดึงส์” นั้นเป็นที่ประทับของพระอินทร์ และเทพเจ้าอีก 32 พระองค์ รวมเป็น 33 นั่นเอง

และก็โดยนัยยะหนึ่งอีกเช่นกัน การสถาปนานัตทั้ง 33 ตน ของพระเจ้าอโนรธา จึงเปรียบได้กับการควบคุมอำนาจของกลุ่มเมือง หรือสังคมต่างๆ ที่มีมาแต่เดิม ผ่านทางความเชื่อ เพราะแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีนัตประจำเป็นของตนเอง

และแน่นอนด้วยว่า กระบวนการสถาปนาในครั้งนั้น ย่อมมีทั้งการคัดเลือก ตัดทอน หรือแม้กระทั่งสร้างนัตขึ้นมาใหม่ (ในทำนองเดียวกับที่ ท้าวสักกะ ไม่ใช่นัตพื้นเมืองของพม่ามาแต่เดิม)

โครงข่ายของนัตที่ต่างก็ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจ ที่ถูกสถาปนาไว้ภายใต้ท้าวสักกะ ซึ่งก็คือ ราชาเหนือเทวดาทั้งหลายตามคติของพุทธศาสนา จึงเปรียบได้ไม่ต่างกับปริมณฑลภายใต้อำนาจเมืองพุกาม ที่มีพระเจ้าอโนรธาเป็นผู้นำ เช่นเดียวกันกับปราสาทบายนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่มีพระพุทธเจ้า อันเป็นที่สิงสถิตของพระองค์หลังความตายเป็นประธาน แวดล้อมไปด้วยผีเจ้าที่เจ้าทางประจำเมืองต่างๆ ที่ถูกแทนด้วยรูปพระพักตร์อันหลากหลายบนยอดของปราสาทนั่นเอง