ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 กุมภาพันธ์ 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
นาซีกับศิลปะ จอมเผด็จการผู้หลงใหลศิลปะ (1)
เนื่องด้วยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีดราม่าร้อนๆ เกี่ยวกับนักร้องวัยรุ่นสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังของไทย ที่โดนชาวเน็ตโจมตีอย่างหนัก เพราะดันไปใส่เสื้อลายสวัสติกะซึ่งเป็นเครื่องหมายของพรรคนาซีเยอรมันตอนขึ้นซ้อมร้องเพลง
เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน หากแต่เป็นการศึกษาโดยรวมของสังคมไทย ทั้งการให้ความรู้ผ่านสื่อมวลชน, สื่อศิลปะ วัฒนธรรม ไปจนถึงนโยบายของภาครัฐ
เพราะเอาจริงๆ เรื่องราวทำนองนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในบ้านเราเป็นครั้งแรก ในรอบหลายปีที่ผ่านมาบ้านเรามีดราม่าวัยรุ่นไทยแต่งชุดนาซีออกสื่อให้เห็นกันแทบทุกปี
ทั้งๆ ที่ความรู้รอบตัวเช่นนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันทำให้เรารู้ว่ามีประเด็นอะไรที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเปราะบางในทัศนคติของชาวโลกที่เราควรจะต้องระมัดระวังบ้าง
เพราะในยุคสมัยอินเตอร์เน็ตที่การสื่อสารกว้างไกลไร้พรมแดนในปัจจุบัน ทำให้เราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวตัวคนเดียวโดยไม่สื่อสารกับโลกรอบข้างอีกต่อไป
สิ่งที่เราทำ พูด หรือแสดงออก จะถูกแชร์ผ่านโลกออนไลน์ไปสู่สายตาของคนทั่วโลกในชั่วพริบตา
ในตอนนี้เราไม่ได้จะมาบอกเล่าประวัติของนาซีแต่อย่างใด เพราะคงจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนไปเปล่าๆ
แต่สิ่งที่เราอยากจะบอกเล่าในฐานะคอลัมน์ศิลปะนี้ก็คือ ระบอบการปกครองเผด็จการอันเหี้ยมโหดที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ฆ่าคนไปกว่า 17 ล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างนาซีนั้นมีความสัมพันธ์กับ “ศิลปะ” อย่างแนบแน่นจนแยกไม่ออก

เริ่มต้นจากการที่ผู้นำสูงสุดของนาซีอย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์นั้นมีความใฝ่ฝันจะเป็นศิลปินมาตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัย
ในปี 1908 เมื่ออายุได้ 18 ปี ฮิตเลอร์ย้ายจากเมืองลินซ์ไปยังกรุงเวียนนา ด้วยความมุ่งหวังจะเป็นศิลปิน
ฮิตเลอร์เชื่อว่าตนเองมีพรสวรรค์ทางด้านศิลปะ และเขาเองก็มีฝีมือวาดรูปพอใช้ ไม่ถึงกับดีเยี่ยม แต่ก็ไม่เลวร้าย
แต่น่าเสียดายที่ฝีมือของเขาไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาเข้าเรียนที่สถาบัน Academy of Fine Art ในเวียนนาได้
เขาล้มเหลวในการสอบเข้าสถาบันนี้ถึงสองครั้งสองครา (ลองนึกดูเล่นๆ ว่า ถ้าเขาสอบเข้าเรียนที่นั่นได้ และกลายเป็นศิลปินออกมา ประวัติศาสตร์ของโลกในศตวรรษที่ 20 จะเปลี่ยนไปขนาดไหน)
แต่ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูง ฮิตเลอร์ยังคงอาศัยอยู่ในเวียนนาและหาเลี้ยงชีพเล็กๆ น้อยๆ ด้วยการวาดรูปทิวทัศน์ ตึกรามบ้านช่องและสถาปัตยกรรมในเวียนนา ขายให้นักท่องเที่ยว
ซึ่งในบรรดามิตรสหายและผู้อุปถัมภ์เขาในเวลานั้นก็มีชาวยิวรวมอยู่ด้วยซ้ำไป
แต่เวียนนาในยุคนั้นก็เป็นแหล่งรวมของอุดมการณ์ทางการเมืองชาตินิยมที่เต็มไปด้วยอคติทางเชื้อชาติและศาสนา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอคติต่อชนชาติยิว ที่ทำมาค้าขายเก่งจนกลายเป็นเศรษฐีร่ำรวยในเวียนนาและออสเตรีย
ด้วยความหวาดกลัวผู้อพยพชาวยิวจะหลั่งไหลเข้ามาแย่งงานและทรัพยากร จึงเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง
นำโดยนายกเทศมนตรีของเวียนนาอย่างคาร์ล ลูเกอร์ (Karl Lueger) และนักการเมืองชาวออสเตรีย เกออร์ก เชอเนเรอร์ (Georg Sch?nerer)
สองคนนี้นี่เองเป็นต้นแบบชั้นดีที่บ่มเพาะตัวตนของฮิตเลอร์ขึ้นมา
มหานครเวียนนาในยุคนั้นปลูกฝังให้เขากลายเป็นผู้มีอคติและเกลียดชังและต่อต้านชาวยิว (anti-Semitism) นับแต่นั้นมา
กว่า 20 ปีที่ฮิตเลอร์และพรรคนาซีเถลิงอำนาจ ความลุ่มหลงในศิลปะของฮิตเลอร์ยังคงไม่เสื่อมคลาย หากแต่กลายเป็นส่วนหนึ่งในอุดมการณ์ทางการเมืองของเขา

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 เขามีอำนาจที่จะบังคับทิศทางของค่านิยมทางศิลปะในประเทศเยอรมนี
ไม่ว่าจะเป็นการชุบเลี้ยงสถาปนิกอย่างอัลแบร์ต ชเปียร์ (Albert Speer) ผู้ต่อมากลายเป็นสถาปนิกเอกของฮิตเลอร์ และสร้างผลงานสถาปัตยกรรมของนาซี ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมกรีกและโรมัน เพื่อแสดงออกถึงอำนาจ ความมั่งคั่งและความเรืองรองจากอดีตกาล
หรือการสนับสนุนคนทำหนังอย่างเลนี รีห์เฟนส์ตาห์ล (Leni Riefenstahl) ผู้สร้าง Triumph of the Will (1935) หนังที่บันทึกเหตุการณ์การประชุมใหญ่ของพรรคนาซีในปี 1934 ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 700,000 คน
แสดงออกถึงความยิ่งใหญ่ของพรรคนาซี

มันกลายเป็นตัวอย่างสำคัญของหนังโฆษณาชวนเชื่อเพื่อใช้เป็นเครื่องมือปลุกระดมมวลชน ด้วยการใช้เทคนิคอย่างการเคลื่อนกล้อง, การถ่ายภาพจากทางอากาศ, การใช้เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสูง เพื่อสร้างมุมมองอันยิ่งใหญ่ผิดธรรมชาติ
และการปฏิวัติการใช้ดนตรีประกอบและการถ่ายทำ จนทำให้มันถูกยกให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ฮิตเลอร์โปรดปรานงานศิลปะแบบสัจนิยมอย่างภาพเหมือนจริง หรือภาพเปลือยที่เน้นสัดส่วนอันสมบูรณ์แบบเกินจริง เพื่อแสดงออกถึงร่างกายอันสมบูรณ์แบบของชาวอารยัน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะคลาสสิคของกรีกและโรมันโบราณ และผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาเชิดชูอุดมการณ์พรรคและโน้มน้าวประชาชนให้เชื่อมั่นและศรัทธาในระบอบการปกครองของนาซี
ในทางกลับกัน ฮิตเลอร์เกลียดชังศิลปะสมัยใหม่ (Modern art) เข้าไส้

เขามองว่ามันดูหมิ่นอุดมคติแบบคลาสสิคของความงามของมนุษย์
เขากล่าวว่า ศิลปะสมัยใหม่บิดเบือนความเป็นจริง ไม่เห็นสีสันและรูปทรงที่แท้จริงของธรรมชาติ ถ้าคนเยอรมันเสพศิลปะเหล่านั้น จะทำให้จิตใจบิดเบี้ยว แปดเปื้อน (แต่บางคนก็ว่าจริงๆ แล้วฮิตเลอร์อิจฉาศิลปินพวกนั้น ในขณะที่ตัวเองไม่อาจเป็นศิลปินได้มากกว่า)

เขาบัญญัติชื่อให้งานศิลปะเหล่านั้นใหม่ว่า “ศิลปะเสื่อมทราม” (Degenerate art) และมุ่งมั่นในการกำจัดมันให้หมดสิ้นไป ดังเช่นในสุนทรพจน์ของเขาที่ว่า
“จากนี้ไป เราจะเริ่มต้นทำสงครามอย่างไม่หยุดหย่อน สงครามแห่งการชำระล้าง สงครามที่จะไล่ล่าทำลายล้างอะไรก็ตามที่จะมาเป็นปฏิปักษ์ต่อศิลปะของเรา”