วิกฤติศตวรรษที่21 | ทางสายไหมดิจิตอลของจีน

วิกฤติประชาธิปไตย (42)

ทางสายไหมดิจิตอลของจีน

“ทางสายไหมดิจิตอล” เป็นโครงการย่อยเสริมขึ้นมาในโครงการแถบและทาง

เริ่มเสนอปี 2015 โดยสามองค์กรคือ คณะกรรมาธิการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ของจีนออกเอกสาร ในเรื่องนี้ระบุว่า “(จีน) ควรจะได้ร่วมมีพัฒนาการสร้างเคเบิลไฟเบอร์ออปติก (ใยแก้วนำแสง) ข้ามพรมแดนและเครือข่ายโทรคมนาคมอื่น ปรับปรุงการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างประเทศ สร้างเส้นทางสายไหมทางข่าวสาร… และปรับปรุงข่าวสารผ่านอวกาศ (ดาวเทียม) เพื่อขยายการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางข่าวสาร”

ถัดนั้นไม่นานก็มีการจัดประชุมโต๊ะกลมความร่วมมือทางดิจิตอลจีน-สหภาพยุโรป

ผู้แทนจีนได้เสนอในที่ประชุมให้สร้างความเชื่อมต่อระหว่างจีนกับสหภาพยุโรปโดยใช้ความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ-เอกชนในการสร้างทางสายไหมดิจิตอลเพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิตอลขึ้น ตามแผนพัฒนาฉบับที่ 13 ของจีน (2016-2020) มีส่วนที่ให้ความสำคัญแก่การปรับปรุงการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและการโทรคมนาคมในกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมโครงการแถบและทาง โดยเฉพาะการสร้างโครงข่ายเคเบิล ทั้งบนบกและในน้ำเป็นทางสายไหมอินเตอร์เน็ตระหว่างจีนกับรัฐอาหรับ และการสร้าง “ท่าเรือข่าวสาร” ระหว่างจีน-อาเซียน

นอกจากนี้ ในการประชุมความร่วมมือระหว่างจีน-อาหรับเดือนกรกฎาคม 2018 สีจิ้นผิงได้ขยายพื้นที่โครงการแถบและทางออกไปถึง “ระเบียงอวกาศและข่าวสาร”

กล่าวอย่างสั้นก็คือ จีนต้องการขยายโครงการแถบและทาง จากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ สู่การเชื่อมต่อทางข้อมูลและข่าวสาร และมันมีความสำคัญในตัวมันเอง ไม่แพ้ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีการสร้างถนน ท่าเรือ ทางรถไฟ ท่อลำเลียง และโรงไฟฟ้า เป็นต้น

เหตุผลที่จีนเสนอโครงการทางสายไหมดิจิตอล เนื่องจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจหลายประการ ได้แก่ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง การผลิตล้นเกิน ประชากรแก่ตัว และการแข่งขันในประเทศที่สูงขึ้นขณะที่ความต้องการลดลง การยกระดับเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิตอลเป็นสิ่งช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้มาก ฟื้นเยาวภาพของจีนทำให้จีนสามารถเป็นผู้แสดงสำคัญในกิจการโทรคมนาคม อีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีข่าวสาร บุกเข้าไปในตลาดต่างประเทศที่ยังไม่ถูกบุกเบิกมาก่อนได้ เช่น ปากีสถาน บังกลาเทศ เมียนมา ลาวและเยเมน

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง เป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีข้อเท็จจริงอยู่ว่า เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจดิจิตอลนั้นได้แก่ เคเบิลใยแก้วที่วางสายอยู่ใต้ทะเล

ประมาณว่าร้อยละ 98 ของอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ ข้อมูลและการจราจรทางโทรศัพท์นั้นผ่านเคเบิลใยแก้ว แต่สายเคเบิลเหล่านี้ส่วนใหญ่รวมศูนย์ทางภูมิศาสตร์อยู่ใกล้สหรัฐ หรืออยู่ในความควบคุมของสหรัฐ ทำให้จีนเกิดความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางข้อมูลของตน จึงได้สร้างโครงการไฟเบอร์ออปติกปากีสถาน-จีนขึ้น

วางสายเคเบิลใยแก้วทั้งบนดินเชื่อมจีน-ปากีสถาน และจากปากีสถานลงใต้ทะเลเชื่อมไปถึงทวีปแอฟริกา เป็นการหลีกเลี่ยงทางวางสายเคเบิลใยแก้วที่หนาแน่นบริเวณช่องแคบมะละกา

เมื่อถึงปี 2017 มีหลายชาติได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ ตุรกี ไทย ลาว เซอร์เบีย ยูเออี ประกาศร่วมมือเศรษฐกิจดิจิตอลกับจีน

กรณีความมั่นคงทางข้อมูลนี้จีนได้เคยทำมาแล้ว โดยสร้าง “ระบบนำทางหรือนำร่องเป่ยโต่ว” ของตนขึ้นมาเอง เพื่อที่จะไม่ต้องพึ่งระบบนำทางจีพีเอสของสหรัฐ หรือระบบกาลิเลโอของสหภาพยุโรป เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2000

และคาดว่าในปี 2020 จะสามารถส่งดาวเทียมได้ครบ 35 ดวง ให้บริการได้ทั่วโลก เป็นอิสระในระบบนำทาง และยังใช้ทางพาณิชย์ได้ด้วย

(ดูบทความของ Keshav Kelkar ชื่อ From silk threads to fiber optics : The rise of China”s digital silk road ใน orfonline.org 08.08.2018)

ยังมีนักวิเคราะห์บางคนเห็นว่า โครงการทางสายไหมดิจิตอลนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “สองความฝันรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน” เป็นพื้นฐานให้ “ความฝันของชาวจีน” เป็นจริง

ความฝันแรกได้แก่ การทำให้จีนเป็นสังคมไพบูลย์ปานกลางภายในปี 2021 (พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งปี 1921)

และประการที่สอง สร้างจีนให้เป็น “ประเทศสังคมนิยมทันสมัย ที่มีความไพบูลย์เข้มแข็ง เป็นประชาธิปไตย ก้าวหน้าทางวัฒนธรรมแและสอดประสาน” ในปี 2049 (ประเทศจีนได้รับการปลดปล่อย 1949) (ดูบทความของ Deepakshi Rawat and Chan Jia Hao ชื่อ China”s Digital Silk Road : Implication for India ใน iaas.nus.edu.sg 18.11.2018)

กล่าวจากจุดของจีน ทางสายไหมดิจิตอลในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องของความจำเป็นในการปฏิรูปพัฒนาที่มีความยุ่งยากมากขึ้น จำต้องเร่งขยายโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคม ปรับปรุงเครือข่ายเคลื่อนที่เศรษฐกิจดิจิตอล และอีคอมเมิร์ซ เมืองฉลาด การใช้ข้อมูลใหญ่ บริการระบบคอมพิวเตอร์ใหญ่ (Cloud Computing) การพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ ไปจนถึงคอมพิวเตอร์ควอนตัม และมีส่วนซ้อนเหลื่อมกับ “ยุทธศาสตร์ทำในจีน 2025”

กล่าวจากจุดของสหรัฐ-ตะวันตกเห็นว่าโครงการทางสายไหมดิจิตอลของจีน มีเบื้องลึกมุ่งหวังที่จะครองความเป็นใหญ่เหนือภูมิภาคยูเรเซียไปจนถึงทวีปแอฟริกา แผ่อิทธิพลครอบงำทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย

ดังนั้น จึงต้องไม่หลงเชื่อคำกล่าวโฆษณาของจีนเรื่องเกม “ชนะ-ชนะ” “การมีอนาคตร่วมกันของประชาคมโลก” “การปฏิรูปและการเปิดกว้างยิ่งขึ้น”

หากแต่จะต้องขัดขวางความมุ่งหวังของจีนนี้ไว้ ดังนั้น สงครามเทคโนโลยีและศึก 5 จี จึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก

อนึ่ง อินเดียที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านใหญ่และมีข้อขุ่นเคืองกับจีน ทั้งในด้านพิพาทชายแดนและการแย่งชิงอิทธิพลในเอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดีย ได้เอียงข้างสหรัฐ-ตะวันตกในการปิดล้อมจีน ขณะที่เข้าร่วมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ที่จีนร่วมก่อตั้ง สร้างความยากลำบากและความละเอียดอ่อนในการสร้างทางสายไหมดิจิตอลไม่น้อย

ศึก 5 จี

5จี เป็นเครือข่ายไร้สายเคลื่อนที่ที่ก้าวไปอีกก้าวใหญ่จากรุ่น 4 จี เป็นเทคโนโลยีที่จีนวางแผนมานานเพื่อใช้ก้าวกระโดดให้ทันและนำหน้าสหรัฐ-ตะวันตก ทั้งนี้เพราะว่าแม้จีนมีผู้ใช้สมาร์ตโฟน 4 จี ถึง 1.1 พันล้านเครื่อง (ในเดือนสิงหาคม 2018) มากกว่าประชากรของสหรัฐ อินโดนีเซีย รัสเซีย ญี่ปุ่นและเยอรมนีรวมกัน แต่การพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายยังคงอยู่ในมือของสหรัฐ-ตะวันตก

การก้าวข้ามสู่ 5 จีนี้จีนเริ่มทำตั้งแต่ปี 2012 โดยเข้าร่วมโครงการระหว่างประเทศในการวิจัยและพัฒนา 5 จี (ปี 2012 นั้น เป็นสองปีก่อนที่ประเทศจีนจะให้บริการโทรศัพท์ 4 จี) ในกระบวนการพัฒนา 5 จี สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ มีบทบาทสำคัญได้การกำหนดมาตรฐานของ 5 จี และกระทำได้สำเร็จในปี 2017 โดยแบ่งเป็นสองมาตรฐานใหญ่ ได้แก่ มาตรฐานตั้งตามลำพังหรือสแตนอโลน และที่ไม่ตั้งตามลำพังหรือนอน-สแตนอโลน

จีนเลือกพัฒนาในมาตรฐานตั้งตามลำพัง เนื่องจากเริ่มต้นได้ง่ายและประหยัดกว่า นั่นคือสามารถเชื่อมต่อสัญญาณกับระบบ 4 จี เดิมได้เลย ไม่ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่

แต่ก็ยังต้องตั้งสถานีสำหรับ 5 จี โดยเฉพาะ เพื่อให้มีความเร็วในการโหลดข้อมูล (สูงได้ถึง 20 จิกะบิตต่อวินาที) และความจุกว่า เชื่อถือได้มากกว่ามาก และมีความไวสูงหรือความล่าช้าในการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสองจุดต่ำมาก

(ความไวนี้มีประโยชน์มากในการเชื่อมเครื่องจักรเข้า ด้วยกัน สร้างยานยนต์ไร้คนขับ อุปกรณ์อินเตอร์เน็ตเชื่อมทุกสิ่ง และการผ่าตัดทางไกล จีนคาดว่า 5 จี จะมีความล่าช้า คิดเป็นหนึ่งในพันวินาที)

ในกลางปี 2018 จีนสามารถสร้างเครือข่าย 5 จี ขั้นทดลองได้สำเร็จ ซึ่งหมายถึงว่าจีนสามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเคลื่อนที่ไร้สายได้เป็นครั้งแรก ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและอุปกรณ์จากต่างประเทศ

ประมาณว่าระหว่างปี 2020 ถึง 2030 จีนจะใช้เงินถึง 2.8 ล้านล้านหยวน หรือ 411 พันล้านดอลลาร์ เพื่อการสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมในจีน และประมาณว่าในปี 2025 ตลาด 5 จี จะมีมูลค่าถึง 1.1 ล้านล้านหยวน หรือร้อยละ 3.2 ของจีดีพีจีน

5จี เป็น “เทคโนโลยีพลิกโลก” อย่างแท้จริงของยุค มันพลิกให้จีนจากผู้ตามหลังทางเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสารขึ้นมาอยู่ข้างหน้าในกลุ่มเดียวกับสหรัฐ-ตะวันตก และมีศักยภาพที่จะก้าวล้ำไปอีก จากพื้นฐานตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ และโครงการต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งทางสายไหมดิจิตอล และการทุ่มเทของรัฐบาลจีน

5 จี ช่วยทำให้เศรษฐกิจ-การค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นจริง ช่วยการวิจัยและพัฒนารวมทั้งสร้างนวัตกรรมพลิกโลกในด้านต่างๆ ทำให้การปกครองอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปได้ การบันเทิงอิเล็กทรอนิกส์เข้าถึงได้ทั่วไปและมีราคาถูก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์บางคนกล่าวว่า การเคลื่อนจาก 4 จี เป็น 5 จี เหมือนกับ “การเปลี่ยนจากประทัดเป็นแท่งดินระเบิด”

เหล่านี้ทำให้สหรัฐนิ่งทนอยู่ไม่ได้ และใช้ศึก 5 จี เป็นตัวแทนความขัดแย้งและความไม่พอใจของสหรัฐหลายประการ

ตั้งแต่การขาดดุลการค้า การเข้าซื้อกิจการไฮเทคของจีน ยุทธศาสตร์ “ทำในจีน 2025” ไปจนถึงการพัฒนาอาวุธเทคโนโลยีสูงของจีนโดยเข้าปิดล้อมบริษัทหัวเว่ยและซีทีอี คอร์ป บริษัทนำหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์ของจีน อย่างแน่นหนา (ดูบทความของ Bien Perez and Litao ชื่อ “Made in china 2025” : How 5G put China in charge of the wireless backbone and ahead of the pack ใน scmp.com 15.10.2018)

สงครามเทคโนโลยีและศึก 5 จี นี้เล่นกันแรง ส่วนหนึ่งยังเนื่องจากอุปกรณ์เครื่องมือที่ผลิตโดยบริษัทหัวเว่ยนี้ใช้การได้ดีและมีราคาถูก (ดูบทความของ Peter Waldman และคณะ ชื่อ Another Reason U.S. Fears Huawei : Its Gear Works and It”s Cheap ใน Bloomberg LP 24.01.2019) ถึงขั้นมีการจับกุมนางเหมิงหวันโจว ผู้บริหารการเงินของหัวเว่ย

จีนได้ตอบโต้อย่างไม่ละลด บทนำของโกลบัล ไทม์ส สื่อวงในของจีน จั่วหัวว่า “เตรียมเล่นเกมยืดเยื้อกรณีเหมิง” ชี้ว่าการจับกุมนางเหมิงหวันโจว เป็นการสมคบคิดเล่นเกมระหว่างสหรัฐ-แคนาดา หวังหยุดยั้งการเติบโตของบริษัทหัวเว่ย โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ

จีนจะต้องรับมือกับการเล่นเกมยืดเยื้อนี้ และสำทับว่า “ประเทศและอำนาจใดก็ตาม ที่กลั่นแกล้งรังแกพลเมืองชาวจีนและละเมิดผลประโยชน์ของประเทศจีน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่หนักหน่วง” (ดูบทนำของ Global Times ชื่อ Prepare for protracted game over Meng, 23.01.2019)

แจ๊ก หม่า ผู้ก่อตั้งบริษัทอาลีบาบาของจีนกล่าวเตือนในการสัมมนาของสมัชชาเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดว่า เทคโนโลยีอาจนำมาสู่สงครามโลกครั้งที่สามได้

“สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นเพราะการปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งแรก การปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งที่สองทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง …ตอนนี้เรากำลังก้าวสู่การปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งที่สาม” ซึ่งสามารถนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สามได้

เขาเสนอว่า “สำหรับบริษัททางด้านเทคโนโลยีนั้น “การไม่ทำบาป” ยังไม่พอ จะต้องทำความดีด้วย “คุณควรต้องทำสิ่งที่ดีต่อโลก ทำสิ่งที่ดีสำหรับอนาคต และเชื่อในคนรุ่นหนุ่มสาว”” (ดูรายงานข่าวของ Ryan Browne ชื่อ Alibaba”s Jack Ma Suggests technology could result in a new world war ใน cnbc.com 23.01.2019)

แต่สงครามโลกทั้งสองครั้ง เบื้องลึกเกิดจากการแย่งชิงครองความเป็นใหญ่ของมหาอำนาจโลก บริษัทเทคโนโลยีที่ต้องการครองตลาดจะทำอะไรได้

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงศึกเทคโนโลยีและการเผชิญหน้าจีน-สหรัฐกับการแตกเป็นเสี่ยงของระเบียบโลกเดิม