วิรัตน์ แสงทองคำ : เศรษฐกิจประสบการณ์ สู่กระบวนทรรศน์ใหม่ในสังคมไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เมื่อธุรกิจใหญ่ดั้งเดิม จับมือกับธุรกิจใหม่มาแรง ย่อมสะท้อนกระแสและความเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งของสังคมธุรกิจไทย

“บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกออมนิแชแนลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ประกาศความร่วมมือกับบริษัท แกร็บ โฮลดิ้งส์ อิงค์ (แกร็บ) ผู้นำแพลตฟอร์ม O2O (Online to Offline) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อลงทุนในแกร็บ ประเทศไทย เป็นมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าถือหุ้นแบบไม่มีอำนาจควบคุมในสัดส่วนที่มีนัยยะสำคัญ โดยการจับมือเป็นพันธมิตรครั้งสำคัญในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ “นิว เอ็กซ์พีเรียนซ์ อีโคโนมี” (New Experience Economy)” ถ้อยแถลงว่าด้วยดีลธุรกิจซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ (31มกราคม 2562) ตั้งใจถ่ายทอดแบบไม่ตัดตอนจากต้นแหล่งทางการ (http://www.centralgroup.com)

และก็ตั้งใจเช่นกัน ขอตีความบางตอน และบางคำสำคัญ (keyword) ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับกลุ่มเซ็นทรัลเป็นพิเศษ


Omni Channel

กลุ่มเซ็นทรัล ตั้งใจนิยามตนเองใหม่อย่างจริงจัง “ผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกออมนิแชแนลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย” ทั้งนี้ หากพิจารณาเรื่องราวกลุ่มเซ็นทรัลอย่างเป็นทางการ ยังคงมีคำนำเสนอไว้ว่า “บริษัทกลุ่มเซ็นทรัลคือแบรนด์ธุรกิจค้าปลีกและการบริการของคนไทย” (อ้างจาก “เกี่ยวกับเรา” http://www.centralgroup.com)

คงไม่มีใครสงสัยว่า กลุ่มเซ็นทรัลคือเครือข่ายค้าปลีกเชิงภูมิศาสตร์ยึดทำเลเมืองใหญ่ หัวเมือง และเมืองท่องเที่ยว มีอิทธิพลเชื่อมโยงวิถีชีวิตสมัยใหม่คนไทยมานาน และยังคงอยู่ในฐานะผู้นำธุรกิจ หากย้อนกลับไปไม่นาน จะพบกลุ่มเซ็นทรัลปรับตัวครั้งสำคัญ

เชื่อว่าช่วงเวลาสำคัญ แผนการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรก อันเนื่องมาจากงานแถลงข่าวประจำปี 2560 โดยใช้คำว่า Digital Centrality

“ยุทธศาสตร์ใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัล ขยายฐานกลุ่มเป้าหมายเชื่อมโยงลูกค้าบนโลกดิจิตอลเพื่อการเข้าถึงในทุกมิติ…พัฒนาออนไลน์ แพลตฟอร์ม และประสบการณ์ออมนิแชแนล ของกลุ่มเซ็นทรัลในฐานะผู้นำในตลาดค้าปลีก เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป” สาระสำคัญจากถ้อยแถลงกลุ่มเซ็นทรัล ต้นเดือนมีนาคมปี 2560

แผนการนั้น อ้างอิงกับ “ความพร้อมของกลุ่มเซ็นทรัล” ผมเคยสรุปประเด็นที่สำคัญๆ ไว้

หนึ่ง – “ฐานธุรกิจค้าปลีกที่แข็งแกร่งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ยาวนานกับ 9,000 คู่ค้า ซัพพลายเออร์ และผู้เช่าร้านค้า 4,000 ราย” เครือข่ายห้างเซ็นทรัลได้แผ่ขยายไปในหลายประเทศ ภายใต้แบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศไทย เวียดนาม และยุโรป นอกจากนี้เชื่อมโยงกับธุรกิจ โรงแรมและรีสอร์ต ภายใต้เครือข่าย Centara Hotels & Resorts มีประมาณ 70 แห่ง และกลุ่มธุรกิจอาหารซึ่งเครือข่ายร้านกว่า 800 ร้าน

สอง – “ฐานลูกค้ากลุ่มเซ็นทรัล” ทั้งนี้ให้ความสำคัญกับ The 1 Card โดยอ้างว่า ในเวลานั้นมีสมาชิกคนไทยถึง 3 ล้าน”

ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ คาบเกี่ยวกับความพยายามปรับโมเดลธุรกิจค้าปลีก ประสานเครือข่ายเชิงภูมิศาสตร์ กับการค้าออนไลน์ เชื่อว่ามีความสัมพันธ์ปรากฏการณ์ในระดับโลก

–การจับจ่ายใช้สอยแบบออนไลน์เติบโตขึ้น ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ทั่วไป จึงปรับตัวอย่างผสมผสานกับแนวทางใหม่ที่เรียกกันว่า Omnichannel

–การจับจ่ายใช้สอยแบบออนไลน์ไม่เพียงเติบโตในประเทศไทย หากเติบโตทั่วโลก ที่สำคัญได้กลายเป็นพลังทำลายธุรกิจค้าปลีกยึดทำเลยึดพื้นที่แต่เดิมไปด้วย การปิดตัวห้างใหญ่ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ในโลกตะวันตกกำลังเป็นไปอย่างระลอกคลื่น

กระแสการเปลี่ยนแปลงนั้น ยังไม่เป็นภาพที่ชัดเจนในปรากฏการณ์ที่กรุงเทพฯ เมืองใหญ่แห่งหนึ่งในโลกตะวันออก แต่เชื่อว่ากลุ่มเซ็นทรัลมองเห็นและเข้าใจสิ่งที่กำลังจะเป็นไปนั้น

กลุ่มเซ็นทรัลขยับปรับตัว เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2558 เปิดฉากบริการเซ็นทรัลออนไลน์ (www.central.co.th) จากนั้นเป็นแผนการอันกระฉับกระเฉง ในปี 2559 กลุ่มเซ็นทรัลได้ซื้อ Zalora ธุรกิจแฟชั่นช้อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งบุกตลาดไทยมาก่อนหน้านั้นกว่า 5 ปี เป็นการซื้อกิจการ Zalora ในไทยและเวียดนามโดยเฉพาะ ต่อมาเมื่อพฤษภาคม 2560 เปลี่ยนชื่อเป็น www.looksi.com

ตามมาอีกด้วยดีลสำคัญในช่วงปลายปี 2560 กลุ่มเซ็นทรัลร่วมมือกับ JD.com “บริษัทอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และ JD Finance ผู้นำด้านฟินเทคของประเทศจีน ความร่วมมือด้านการลงทุนมูลค่ากว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเปิดตัว 2 ธุรกิจร่วมในประเทศไทยในด้านอีคอมเมิร์ซ และฟินเทค”

และเมื่อกลางปีที่แล้ว (2561) ได้เปิดบริการค้าปลีกออนไลน์อย่างเป็นทางการ

 

ลงทุนใหม่ครั้งใหญ่

กลุ่มเซ็นทรัลประกาศการลงทุนในแกร็บ ประเทศไทย (Grab Thailand) “เป็นมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” หรือมากกว่า 6,000 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนก้อนใหญ่พอสมควร เพื่อเข้าถือหุ้น “แบบไม่มีอำนาจควบคุมในสัดส่วนที่มีนัยยะสำคัญ” เชื่อว่ามีความหมายในทางธุรกิจที่สำคัญ 2-3 มิติ

หนึ่ง-เป็นการลงทุนเพื่อเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่เติบโตอย่างน่าทึ่งในสังคมไทย ย่อมเชื่อว่าได้รับผลตอบแทนที่ดี ในฐานะผู้ถือหุ้นใน “สัดส่วนนัยยะสำคัญ”

สอง-ในฐานะ “ผู้ถือหุ้นในสัดส่วนนัยยะสำคัญ” ย่อมมีบทบาทในการตัดสินใจสำคัญๆ ในเชิงยุทธศาสตร์และแผนการ เชื่อว่าเชื่อมโยงและเกื้อกูลกัน ระหว่างสิ่งที่เรียกว่า “Omni Channel” ของกลุ่มเซ็นทรัล กับ “Online to Offline” ซึ่งเป็น online platform ของ Grab

สาม-ถือหุ้น “แบบไม่มีอำนาจควบคุมในสัดส่วนที่มีนัยยะสำคัญ” มีความหมายสอดคล้องกับยุคใหม่กลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้การนำของผู้นำคนปัจจุบัน ทศ จิราธิวัฒน์ ผู้ซึ่งเข้าใจโลกธุรกิจในบริบทที่เปลี่ยนแปลง ท่ามกลางสถานการณ์ใหม่ๆ ทั้งธุรกิจเติบโตขึ้น จนธุรกิจครอบครัว “จิราธิวัฒน์” ไม่สามารถมี “คนในตระกูล” เพียงพอจะรับมือ ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปมาก จนประสบการณ์เดิมของคนรุ่นที่สอง “จิราธิวัฒน์” ไม่อาจรับมือได้ทั้งหมด

การเข้าถือหุ้น Grab เป็นความร่วมมือใช้ “ความรู้ โนว์ฮาว และประสบการณ์” จากพันธมิตรธุรกิจ เช่นเดียวกับความเป็นไปอีกหลายกรณีของกลุ่มเซ็นทรัล ไม่ว่าการนำ “มืออาชีพ” ทั้งคนไทยและต่างชาติเข้ามาร่วมงานมากขึ้น ความร่วมมือกับธุรกิจที่แตกต่าง ให้เกื้อกูลกัน

อย่างกรณี JD CENTRAL ผู้บริหารคนสำคัญมาจากฝ่าย JD.com

 

Experience Economy

กลุ่มเซ็นทรัลมักประดิษฐ์ถ้อยคำที่แตกต่างและตื่นเต้นเสมอ

จาก Digital Centrality ในปี 2560 ต่อมาในปี 2561 ได้นำเสนอแผนการใหม่ (ยุทธศาสตร์ 5 ปี 2561-2565) ให้มีความหมายกว้างขึ้น ใช้คำว่า “New Central, New Economy” จากกรณีล่าสุด ญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ผู้บริหารผู้มีประสบการณ์จากธุรกิจ Consumer product และธนาคาร) กลุ่มเซ็นทรัล ยังย้ำว่า “ดีลเซ็นทรัล-แกร็บ” เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “New Central, New Economy”

ขณะเดียวกันเป็นบริการที่เรียกว่า “Central-Experience” ภายใต้ความเชื่อ ความเชื่อมโยงเชิงสังคม ซึ่งอ้างว่า “ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ New Experience Economy”

คำสำคัญ (Keyword) ข้างต้น มองอย่างกว้างๆ อาจไม่ใช่สาระสำคัญซึ่งควรตีความให้มากมาย แต่เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับความพยายามอย่างกระตือรือร้น ว่าด้วยความพยายามปรับตัวทางธุรกิจเพื่อความอยู่รอดและเติบโต ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผันแปร และเชื่อว่าเป็นบทบาทอย่างจริงจัง ผู้บริหารธุรกิจโดยทั่วไป ติดตาม และวิเคราะห์ความเป็นไป

โดยเฉพาะกระแสการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ทั้งภาพใหญ่และภาพย่อยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตนเองทั้งโดยตรงและทางอ้อม

 

เกี่ยวกับกระแสสำคัญซึ่งกล่าวกันมากขึ้นอย่างน่าสนใจ ขออ้างจากบทความชิ้นหนึ่ง เรื่อง The experience economy is booming, but it must benefit everyone เป็นบทความนำเสนอในงานประชุมสุดยอดทางเศรษฐกิจ (World Economic Forum Annual Meeting) ณ Davos-Klosters, Switzerland เมื่อ 22-25 มกราคมเพิ่งผ่านมา

อันที่จริงคำว่า Experience Economy มาจากหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2552 เชื่อว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ ต่อจากภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ

บทความข้างต้นกล่าวถึงบริบทใหม่ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ซึ่งกำลังมีบทบาทในสังคมโลกมากขึ้น อ้างอิงบทเรียนในสหรัฐอเมริกา คือกลุ่ม Millennials (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2523-2539) เพิ่งเข้าสู่ชีวิตทำงานเมื่อราวๆ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ผู้เขียนได้อ้างผลสำรวจที่สำคัญ ว่า กลุ่ม Millennials ในสัดส่วนถึง 3 ใน 4 (78%) ใช้เงินซื้อสิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์ที่ต้องการ (desirable experience) มากกว่าสิ่งของทางวัตถุ นอกจากนี้กล่าวถึงกระแสและแนวโน้มกำลังเป็นไป ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีคุณค่าเฉพาะตัวลดลง ด้วยเข้าถึงและหาซื้อง่าย ในที่สุดมีความเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ ธุรกิจค้าปลีกเชิงพื้นที่กำลังเสื่อมถอย ปิดกิจการลงเป็นระลอก

ว่าไปแล้วมีปรากฏการณ์บางอย่าง บางระดับของกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งดำเนินไปในทิศทางนั้น

ขออ้างกรณีบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา (CPN) กิจการหลักหนึ่งของกลุ่มเซ็นทรัล กล่างถึงตนเองว่า “ผู้นำในอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกมาตรฐานระดับโลก” (http://www.cpn.co.th) ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการสร้างเครือข่ายค้าปลีกเชิงพื้นที่ ให้กับกลุ่มเซ็นทรัลมานานกว่า 3 ทศวรรษ เท่าที่ติดตาม มีแนวโน้มปรับตัว โดยเฉพาะธุรกิจหลัก “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อค้าปลีก” จากปี 2559 มีสัดส่วนรายได้มากถึง 84% ได้ค่อยๆ ลดลงมาเหลือ 75% ในปี 2561

กรณีหนึ่ง น่าจะถือได้ว่า เชื่อมโยงกับ Experience Economy บ้าง “ซีพีเอ็นร่วมทุนกับ Common Ground แห่งมาเลเซีย เพื่อเข้าสู่ธุรกิจ Co working Space ในประเทศไทย ตั้งเป้าทุ่มงบฯ 800 ล้านบาท เปิด 20 สาขา ใน 5 ปี” (พฤศจิกายน 2561)