บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/ ฝุ่นพิษ (การเมือง) PM 2.5

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ฝุ่นพิษ (การเมือง) PM 2.5

 

ฝุ่นพิษหรือฝุ่นมรณะขนาดเล็กจิ๋ว 2.5 ไมครอนหรือ PM 2.5 ที่คุกคามคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่พักหนึ่ง กลายเป็นประเด็นผสมโรงการเมือง ที่นักการเมืองจำนวนหนึ่งนำมาโจมตีรัฐบาลอย่างได้จังหวะพอดี เพราะเป็นช่วงประกาศวันเลือกตั้งแล้ว

การเกิดฝุ่นพิษดังกล่าว แน่นอนว่าสาเหตุสำคัญเกิดจากแหล่งต้นตอในการปล่อยมลพิษ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของหน่วยงานรัฐและรัฐบาลที่จะจัดการดูแล แต่ส่วนหนึ่งก็ยอมรับว่าเป็น “โชคชะตา” หรือโชคไม่เข้าข้าง เพราะสภาพดินฟ้าอากาศไม่อำนวย เนื่องจากบังเอิญว่าเป็นช่วงที่กระแสลมนิ่ง ไม่มีลมพัดพาฝุ่นละอองนี้ไป

พูดให้ชัดก็คือ หากดินฟ้าอากาศเป็นใจ แม้จะมีการปล่อยมลพิษในระดับเท่าเดิม แต่หากกระแสลมไม่นิ่ง อากาศไหลเวียนดี ก็อาจหมายความว่าปริมาณฝุ่นจะไม่เกินมาตรฐาน

สาเหตุของฝุ่นจิ๋วในกรุงเทพฯ ตามข้อมูลของทางการ ระบุเอาไว้ว่าอันดับหนึ่งเกิดจากไอเสียของรถยนต์ดีเซล 26% รองลงมาเกิดจากการเผาชีวมวล (การเผาป่า เผาพื้นที่เพื่อทำการเกษตร เป็นต้น) 25% ส่วนโรงงานต่างๆ ที่ถูกเข้าใจว่าเป็นผู้ร้ายนั้นมีส่วนเพียงแค่ 5% น้อยที่สุดในบรรดาสาเหตุทั้งหมด

ถึงกระนั้นก็ตาม มีคนบางจำพวกพยายามจะบิดเป็นประเด็นการเมืองในทำนองไม่เชื่อว่าสาเหตุหลักเกิดจากรถยนต์ดีเซล แต่น่าจะเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้ามากกว่า

และก็มีดราม่าว่าการโยนบาปให้กับเครื่องยนต์ดีเซลเป็นการรังแกคนจน คนหาเช้ากินค่ำที่ต้องใช้ปิกอัพเป็นยานพาหนะ

 

พรรคการเมืองเช่นเพื่อไทย ถือโอกาสนี้เสนอแนวทางแก้ไขระยะยาว 5 มาตรการ ซึ่งก็ไม่เลวทีเดียว แต่มาตรการที่น่าลุ้นว่าจะทำได้และ “กล้าทำ” หรือไม่ก็คือข้อที่ว่า “รถยนต์อายุเกิน 10 ปีต้องออกไปจากถนน”

ถ้าพรรคเพื่อไทยกล้านำมาตรการนี้ไปบรรจุไว้ในนโยบายหาเสียงของพรรคก็จะดีไม่น้อย หากทำได้จะยอมปรบมือให้ว่ากล้าหาญ เพราะรถยนต์สำหรับคนไทยเป็นสินค้าราคาแพงเมื่อเทียบกับรายได้โดยเฉลี่ยของคนส่วนใหญ่ เป็นของชิ้นใหญ่ในชีวิตที่ซื้อได้ไม่บ่อยนัก จะให้คนส่วนใหญ่ใช้แค่ 10 ปีเป็นไปได้ยาก

ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่รถอายุเกิน 10 ปีสภาพดีที่ยังวิ่งบนถนน แม้แต่รถยนต์เก่าผุพังจนแทบจะหลุดเป็นชิ้นๆ ไฟเลี้ยว ไฟท้าย ไฟเบรกไม่มี ก็ยังสามารถออกวิ่งได้มาทุกรัฐบาล เพราะถ้าจับกุมก็จะถูกหาว่ารังแกคนจน จึงมีคำถามว่าปัญหาฝุ่นขั้นวิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้ สมควรจะโทษใครดี

เหตุใดพรรคที่มีไอเดียผุดขึ้นมาเยอะแยะในตอนนี้ไม่ลงมือทำอย่างที่ว่ามาตั้งแต่เนิ่นๆ ปัญหาจะได้ไม่สะสม เพราะทุกคนก็ยอมรับว่าปัญหาฝุ่นและมลพิษเกิดขึ้นมานานแล้ว

แต่เท่าที่เห็นรัฐบาลก่อนหน้านี้กลับทำสิ่งตรงข้ามนั่นคือนโยบายรถคันแรก ที่กระตุ้นให้คนซื้อรถมากขึ้น

 

ยังไม่ชัดเจนว่าข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยเรื่องให้กำจัดรถเก่าอายุเกิน 10 ปี เป็นเพียงข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาล คสช.นำไปปฏิบัติบังคับใช้ หรือเป็นไอเดียที่พรรคพร้อมจะนำมาบังคับใช้หากชนะเลือกตั้ง

ถ้าเพียงแค่อยากให้รัฐบาล คสช.เป็นผู้ออกข้อบังคับ ก็แสดงว่าต้องการยืมมือ คสช. แล้วก็ให้ คสช.เป็นผู้รับความเสี่ยงจากผลกระทบเรื่องคะแนนนิยมจากประชาชนเอาเองในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้

และหากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล ก็จะได้อานิสงส์จากสิ่งที่ คสช.ทำเอาไว้ คือสามารถสานต่อเรื่องนี้ไปได้เนียนๆ โดยอ้างว่าเป็นกฎระเบียบที่ คสช.ทำเอาไว้ พูดง่ายๆ คือพิงหลัง คสช.

แบบเดียวกับที่ กทม.ต้องพิงหลัง คสช.ในการจัดระเบียบทางเท้าและพื้นที่สาธารณะที่ศาลมีคำสั่งแล้ว เช่นกรณีคลองถมที่ กทม. ภายใต้นักการเมืองไม่เคยทำสำเร็จมาหลายปีเพราะถูกชาวบ้านต่อต้าน ทำให้รื้อย้ายไม่ได้ มาทำได้สำเร็จในยุค คสช.

แต่ครั้นจะให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้ริเริ่มนั้น ยังสงสัยอยู่ว่าจะกล้าหรือไม่ ถ้ากล้าก็น่าจะนำประเด็นนี้ไปหาเสียงเลย ประกาศเลยว่าถ้าชนะเลือกตั้งจะห้ามรถอายุเกิน 10 ปีวิ่ง แล้วลองดูว่าประชาชนจะเลือกพรรคเพื่อไทยหรือไม่

ทว่าดูแล้วไม่น่าจะกล้า เพราะพรรคที่รักประชาธิปไตยต้องทำตามใจประชาชน แล้วประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยจะชอบใจหรือถ้าจะออกนโยบายห้ามรถเก่าวิ่ง

 

แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของไทย ไม่ว่าจะพื้นที่ไหน น่าจะรักประชาธิปไตยในแบบเดียวกันคือ “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” ไม่ชอบทำตามกฎระเบียบหรือกติกาสังคม ไม่ชอบการบังคับจากรัฐ แต่ก็ไม่มีวินัยในตัวเองโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นแชมป์ตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกมาอย่างยาวนานหรือ

เจอไฟแดงก็ฝ่า คนข้ามทางม้าลายก็ไม่หยุดให้ข้าม เส้นทะแยงเหลืองก็จอดทับ วิ่งรถบนไหล่ทาง วิ่งรถย้อนศรเป็นกิจวัตร (โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์) หยุดรถทับทางม้าลายขวางคนข้ามถนน

เมืองไทยนั้นคงมีจัตุรัสสวยๆ ทางเท้ากว้างๆ ให้คนเดินทอดน่องสบายๆ ชมเมือง อย่างในประเทศแถวยุโรปคงไม่ได้ เพราะถ้ามีเมื่อไหร่ รับรองว่าจะมีรถเข็นขายของไปจับจองพื้นที่เต็มไปหมด ทั้งก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้นปิ้ง ไก่ย่าง ฯลฯ ขายเสร็จก็ทิ้งขยะไว้เกลื่อนกลาด

เพราะแบบนี้เราถึงเป็นประเทศที่ทางเท้าเละทะแทบจะที่สุดในโลก ยึดที่สาธารณะขายของกันเยอะแยะไปหมด นักการเมืองก็ไม่เห็นเอาจริงกับเรื่องแบบนี้

 

ทั้งเรื่องปัญหาฝุ่นพิษและอื่นๆ หากมองจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นจะพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐที่จะจัดการแก้ไข ไม่เกี่ยวกับตัวเอง ไม่คิดว่าตัวเองเป็นหนึ่งในปัญหา คนมีเงิน ดาราและพวกคนดังก็พากันโวยวายแล้วหนีฝุ่นพิษไปตากอากาศชายทะเล รอให้คนอื่นแก้ปัญหาได้แล้วค่อยกลับมา

แต่คนเหล่านี้คิดจะช่วยบรรเทาปัญหาหรือไม่ เช่น ลดการใช้รถยนต์ ลดการใช้ไฟฟ้า (โรงผลิตไฟฟ้าเป็นต้นตอหนึ่งของมลพิษ)

คนมีรถทั่วไปจะยอมรับได้ไหมถ้าจะมีการออกมาตรการกำหนดการวิ่งรถ เช่น ขับรถคนเดียวห้ามเข้าใจกลางเมือง หรือให้ขับสลับกันวันคู่และวันคี่ หรือเก็บภาษีรถเข้าใจกลางเมือง (แบบที่สิงคโปร์ทำ) เพิ่มภาษีรถยนต์เก่า

เชื่อได้เลยว่าส่วนใหญ่ไม่มีใครเห็นด้วย และต้องโวยวายแน่นอน

ในเมื่อรู้แล้วว่าคนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยกับมาตรการเด็ดขาดเช่นนี้ ใครควรเป็นฝ่ายนำ ใครจะกล้าเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันในการขัดใจประชาชน ถ้าไม่ใช่นักการเมือง

แต่ก็อย่างว่า นักการเมืองหรือรัฐบาลที่อยากอยู่ในอำนาจนานๆ ก็ต้องตามใจประชาชนในการทำสิ่งแย่ๆ ลองออกนโยบาย “เลิกเก็บภาษีจากประชาชน” สิ รับรองว่าชนะถล่มทลายแน่ๆ แบบไม่ต้องลุ้น

แต่อนาคตจะเอาเงินจากไหนมาพัฒนาชาติก็อีกเรื่องหนึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการรู้ ไม่มองการณ์ไกล ต้องการรู้แค่ว่าไม่ต้องจ่ายเงินก็พอใจแล้ว

ความเจริญของประเทศ ไม่ได้ขึ้นกับการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับความกล้าหาญของนักการเมืองที่จะขัดใจประชาชนเพื่อทำในสิ่งที่ดีต่อประเทศชาติในระยะยาวด้วย