แมลงวันในไร่ส้ม | ข่าวเลือกตั้งร้อนแรง กรณีบัญชีชื่อนายกฯ และ ‘บทบาทสื่อ’ วอยซ์ทีวี มีเอฟเฟกต์

ข่าวเลือกตั้งร้อนแรง

กรณีบัญชีชื่อนายกฯและ ‘บทบาทสื่อ’ หลังปิดวอยซ์ทีวี 15 วัน

 

แค่วันแรกของการเปิดรับสมัคร ส.ส. ระหว่าง 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 ก็มีพรรคการเมือง 58 พรรค ส่งผู้สมัครปาเข้าไปครึ่งหมื่น หรือ 5,831 คน

จากจำนวน ส.ส.เขต 350 เขต 350 คน พรรคประชาธิปัตย์ โชว์ความพร้อม ส่งผู้สมัครวันแรก 341 คน พรรคพลังประชารัฐ 335 คน

พรรคเสรีรวมไทย 333 คน พรรคอนาคตใหม่ 330 คน พรรคภูมิใจไทย 325 คน และพรรครวมพลังประชาชาติไทย 310 คน

พรรคประชาภิวัฒน์ 297 คน พรรคพลังท้องถิ่นไท 285 คน พรรคเพื่อชาติ 283 คน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 279  คน

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เผยว่า ยอดผู้สมัครวันแรก 5,831 คน เป็นจำนวนที่มากเกินความคาดหมายของ กกต. และมากกว่าผู้สมัครในปี 2554 ซึ่งมีผู้สมัครประมาณ 2,000 คน สะท้อนถึงความตื่นตัวอยากมีส่วนร่วมทางการเมือง แม้ว่ากฎหมายใหม่การจัดตั้งพรรคการเมืองจะมีข้อกำหนดและรายละเอียดจำนวนมากก็ตาม

ที่น่าสนใจคือ มีผู้ไปเปลี่ยนชื่อเป็น ทักษิณและยิ่งลักษณ์ เพื่อลงสมัครด้วย รวมแล้วมีทักษิณ 23 คน และยิ่งลักษณ์ 6 คน ลงช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส.เขตในการเลือกตั้งครั้งนี้

และเมื่อถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ อันเป็นวันปิดรับสมัคร พ.ต.อ.จรุงวิทย์สรุปภาพรวมการรับสมัคร ส.ส. รวมยอด 5 วัน ว่า ข้อมูล ณ 17.00 น. มีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 11,128 คน จาก 80 พรรค

มีพรรคการเมืองยื่นสมัครแบบบัญชีรายชื่อ รวม 5 วัน 72 พรรค 2,718 คน ยังอยู่ระหว่างดำเนินการอีกจำนวนหนึ่ง

วันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ กกต.ได้ประกาศรายชื่อ แจ้งเป็นผู้มีสิทธิสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ รวมถึงผู้ที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคว่า มีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่

การลงสมัคร ส.ส.อย่างล้นหลามในครั้งนี้ มาจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน

ที่ชัดเจนคือ เป็นการเลือกตั้งหลังจากที่เว้นว่างมาอย่างยาวนาน จากปี 2554 เป็นเวลา 8 ปี หรือ 5 ปี ถ้านับจากการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่เป็นการเลือกตั้งที่ขัดรัฐธรรมนูญ หลังจากโดน กปปส.เป่านกหวีดขัดขวาง

นอกจากนี้ ยังเป็นการเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร ซึ่งครองอำนาจอย่างยาวนานถึง 5 ปี

มีการแบ่งขั้ว เป็นพรรคสนับสนุน คสช. และพรรคขั้วตรงข้าม ที่ต่างฝ่ายต่างเล็งจะกอบโกยคะแนนเพื่อเอาชนะในการเลือกตั้ง

ประกอบกับ กฎกติกาในรอบนี้ ออกแบบมาเพื่อมิให้พรรคการเมืองใหญ่ได้ ส.ส.จำนวนมาก ระบบบัตรใบเดียว จะทำให้เกิดสภาพที่พรรคใหญ่ได้ ส.ส.เขตจำนวนมากไปแล้ว จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก

เป็นโอกาสของพรรคขนาดกลางและพรรคเล็ก แม้ไม่ได้ ส.ส.เขตเลยสักคนเดียว แต่ถ้าส่งผู้สมัครจำนวนมากๆ แล้วมีคะแนนจาก 350 เขต ในระดับหนึ่ง จะนำไปคำนวณ และมีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

เหล่านี้คือสภาพของอารมณ์ความรู้สึกของสังคม และกฎกติกา ที่มีผลอย่างมาก ทำให้มีผู้สมัครแห่มายื่นใบสมัครจำนวนมาก

 

และในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ อันเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัคร ส.ส.และยื่นบัญชีชื่อนายกรัฐมนตรี พรรคไทยรักษาชาติยื่นพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ในบัญชีชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค ต่อ กกต.

ในเวลาใกล้เคียงกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงตอบรับเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ

ทูลกระหม่อมหญิงได้โพสต์อินสตาแกรม ยืนยันว่าได้ให้พรรคไทยรักษาชาติเสนอพระนาม

“ดิฉันได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ และอยู่ในฐานะสามัญชนแล้ว ดิฉันจึงขอใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างสามัญชนภายใต้รัฐธรรมนูญกฎหมาย และข้าพเจ้ายินยอมให้พรรคไทยรักษาชาติใช้ชื่อเพื่อเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงการแสดงถึงสิทธิ เสรีภาพ และความไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ เหนือปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ”

ในวันเดียวกัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. ให้พรรคไทยรักษาชาติถอนพระนาม เนื่องจากขัดต่อระเบียบ กกต. เรื่องห้ามนำสถาบันเบื้องสูงมาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง

ต่อมาในเวลา 22.00 น. วันเดียวกัน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชโองการ รัชกาลที่ 10 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศความว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์ อยู่เหนือการเมือง ทูลกระหม่อมหญิงแม้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ แต่ยังทรงเป็นสมาชิกชั้นสูงของพระบรมราชวงศ์ การนำสมาชิกชั้นสูงของพระบรมราชวงศ์ไปเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใด เป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ เป็นการกระทำที่มิบังควร ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พรรคไทยรักษาชาติได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ว่า น้อมรับพระราชโองการ

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ นายศรีสุวรรณ จรรยา เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และ กกต.ได้ประชุมรับรองบัญชีนายกฯ ของพรรคต่างๆ 45 พรรค 69 รายชื่อ ยกเว้นพรรคไทยรักษาชาติ

การดำเนินการต่อพรรคไทยรักษาชาติยังเป็นที่จับตาของฝ่ายต่างๆ

 

ในช่วงเวลาเดียวกัน มีกระแสข่าวเล่าลือ เริ่มจากมีรถถังที่ไปฝึกร่วมคอบร้าโกลด์ออกมาวิ่งบนท้องถนน คลิปภาพถูกแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียและไลน์

และมีการแชร์คำสั่ง ซึ่งทำปลอมราชกิจจานุเบกษา ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ใช้มาตรา 44 ปลด ผบ. 3 เหล่าทัพ

พล.อ.ประยุทธ์สั่งเจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีคำสั่งปลอมดังกล่าว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ออกมายืนยันว่าไม่มีข่าวการรัฐประหาร หรือปฏิวัติซ้อนใดๆ ทั้งสิ้น

ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. สั่งตั้งวอร์รูม ติดตามกลุ่มคนที่จัดทำเอกสารปลอมดังกล่าว

ในอีกทางหนึ่ง สื่อต่างๆ เริ่มกลับมานำเสนอเนื้อหาข่าวการเมืองอย่างคึกคัก

ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์พากันทยอยเปิด “หน้าเลือกตั้ง” มารองรับการเสนอข่าวเลือกตั้ง และคาดหมายว่า หลังจากนี้ รายการโทรทัศน์ และเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง การเลือกตั้ง ในสื่อต่างๆ จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในตอนบ่ายวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประธานอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้พักใช้ใบอนุญาตวอยซ์ทีวี เป็นเวลา 15 วัน โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562

“ยืนยันว่า กสทช.กำกับทุกช่องอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง เพราะปกติหากพบกระทำความผิดจะตักเตือนก่อนลงโทษ แต่กรณีของวอยซ์เกิดกรณีดังกล่าวหลายครั้งแล้ว ที่ผ่านมาหลังจากที่มีการพักใช้ใบอนุญาตแล้วไม่นานก็กลับมาดำเนินรายการเหมือนเดิม โดยวอยซ์มีสิทธิยื่นศาลปกครองภายใน 90 วัน” พล.ท.พีระพงษ์กล่าว

เส้นทางไปสู่วันเลือกตั้ง 24 มีนาคม เต็มไปด้วยเหตุการณ์และข่าวสาร แต่คาดหมายว่า หลังเลือกตั้ง สถานการณ์จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นไปอีก