วรศักดิ์ มหัทธโนบล : “จีนยุคสีจิ้นผิง” ผู้นำประเทศรุ่นที่ 5

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ผู้นำรุ่นที่ 5 : บางบุคคลกับบางองค์กร (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม แม้การเปลี่ยนแปลงข้างต้นจะสะท้อนความสำคัญต่อเศรษฐกิจการเมืองจีนในระยะยาวก็จริง แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนความสำคัญยิ่งกว่าก็คือ การที่สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติได้มีมติในการประชุมเมื่อเดือนมีนาคม 2018 ให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

จากที่แต่เดิมดำรงตำแหน่งวาระละห้าปีและไม่เกินสองวาระ (รวมสิบปี) มาเป็นสามารถดำรงตำแหน่งได้ตลอดชีวิต (จงเซิงจื้อ)

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเท่ากับว่าระบบเดิมที่ริเริ่มโดยเติ้งเสี่ยวผิงจึงถูกยกเลิกไป ทั้งที่ระบบเดิมมีฐานคิดที่ดูมีเหตุผลอย่างมาก โดยเติ้งเสี่ยวผิงเห็นว่า แต่เดิมนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีหลักการในการทำงานที่เรียกว่าการนำรวมหมู่ (collective leadership)

ซึ่งก็คือการทำงานเป็นหมู่คณะหรือการทำงานเป็นทีมตามคำเรียกที่ใช้กันในปัจจุบัน

แต่ในยุคที่เหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำสูงสุดนั้นเขากลับแสดงบทบาทการนำแต่เพียงผู้เดียว จนก่อความเสียหายแก่ประเทศจีนเป็นอย่างมากในกรณีการปฏิวัติวัฒนธรรมที่เขาก่อขึ้น

ดังนั้น เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงกลับมามีอำนาจอีกครั้ง เขาจึงนำการทำงานเป็นหมู่คณะกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง และเป็นที่มาของระบบผู้นำจีนที่มีการสืบทอดเป็นรุ่นๆ ในเวลาต่อมา

โดยสรุปแล้วเหตุผลของระบบเดิมคือ การเป็นผู้นำตลอดชีวิตมีโอกาสที่ตัวผู้นำจะสร้างความเสียหายได้ หากผู้นำคนนั้นลุแก่อำนาจ แต่หากผู้นำมีวาระในการดำรงตำแหน่งแล้ว จะไม่เพียงลดความเสี่ยงเรื่องผู้นำลุแก่อำนาจเท่านั้น แต่ยังทำให้สามารถเตรียมผู้นำรุ่นต่อไปได้อย่างเป็นระบบอีกด้วย

 

จากเหตุนี้ การที่สีจิ้นผิงซึ่งเป็นผู้นำในรุ่นที่ 5 ย้อนกลับไปสู่ระบบการนำในยุคเหมาเจ๋อตงจึงก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปโดยทั่ว

แน่นอนว่า คำถามที่เกิดขึ้นย่อมพุ่งไปยังประเด็นที่ว่า เหตุใดพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงยอมเปลี่ยนระบบการนำเดิมที่ดีอยู่แล้วไปสู่ระบบการนำที่มีความเสี่ยงต่อการลุแก่อำนาจของผู้นำ เหตุดังนั้น การที่ยอมที่จะให้ความเสี่ยงที่ว่าเกิดขึ้นก็ย่อมหมายความว่ามีความจำเป็นบางประการเกิดขึ้น

ถ้าเช่นนั้นแล้วความจำเป็นที่ว่านี้คืออะไร?

ความจำเป็นดังกล่าว นอกจากการให้สีจิ้นผิงอยู่ในอำนาจอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุภารกิจสำคัญบางอย่างแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่ชวนให้คิดอีก นอกเสียจากว่ากลุ่มอำนาจของสีจิ้นผิงได้ทำการยึดอำนาจภายในพรรคอย่างเบ็ดเสร็จไปแล้ว

จากเหตุนี้ การบรรลุภารกิจสำคัญจึงเป็นเพียงเหตุผลเดียวที่จะเข้าใจได้ ถ้าเช่นนั้นแล้วภารกิจที่ว่าคืออะไร?

หากเป็นคำถามนี้ เราพบว่ามีภารกิจหลายเรื่องหลายประการที่เกิดขึ้นในยุคสีจิ้นผิง ภารกิจเหล่านี้ล้วนถูกประกาศโดยตัวเขาเองในหลายวาระ และแต่ละภารกิจล้วนมีความเชื่อมโยงต่อกัน มิอาจแยกขาดจากกันได้

 

ภารกิจหนึ่งที่พึงกล่าวเป็นปฐมก็คือ ความฝันจีน

สีจิ้นผิงได้อธิบายความฝันจีน (จงกว๋อเมิ่ง, China Dream) ว่า เมื่อครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน จีนจะบรรลุสู่สังคมพอกินพอใช้อย่างทั่วถึง

กับเมื่อครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน จีนจะบรรลุเป้าหมายการสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ที่มั่งคั่งเข้มแข็ง มีประชาธิปไตย มีอารยธรรม มีความปรองดอง และความเจริญรุ่งเรืองแห่งประชาชาติจีน

แต่ความฝันจีนจะบรรลุได้นั้น สีจิ้นผิงเห็นว่าจะต้องเผยแพร่และส่งเสริมจิตวิญญาณของจีน ซึ่งก็คือจิตวิญญาณแห่งชนชาติที่มีแนวคิดชาตินิยม และจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยที่มีการปฏิรูปและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เป็นใจกลาง ทั้งสองใจกลางนี้เป็นหัวใจของการฟื้นฟูชาติและสร้างชาติให้แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ ความฝันจีนยังได้รวมฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน และบุคคลเชื้อสายจีนในต่างแดนเข้ามาด้วย โดยฮ่องกงและมาเก๊านั้นสีจิ้นผิงเห็นว่า จักต้องร่วมกันรักษาและส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและเสถียรภาพในระยะยาว โดยยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชาติจีนและฮ่องกงกับมาเก๊าเป็นสำคัญ

สำหรับไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ก็ต้องจับมือร่วมกัน สนับสนุน รักษา และผลักดันการพัฒนาความสัมพันธ์ช่องแคบอย่างสันติ

ส่วนบุคคลเชื้อสายจีนที่อยู่ในต่างแดนก็ต้องส่งเสริมเผยแพร่ประเพณีอันดีงามเรื่องความขยันหมั่นเพียรและจิตใจที่โอบอ้อมของชาติจีน และอุทิศตนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาของมาตุภูมิ และมิตรภาพระหว่างตนกับพลเมืองท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ

แต่ความฝันจีนในส่วนหลังนี้ชาวฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน และบุคคลเชื้อสายจีนจะร่วมฝันด้วยหรือไม่ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้ยังมิพักต้องกล่าวถึงความฝันนี้จะไปไกลถึงข้อพิพาทหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ไถหรือเซ็นกากุกับญี่ปุ่น และข้อพิพาทในทะเลจีนใต้กับเวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ ด้วยหรือไม่

ลำพังการทำให้ความฝันจีนบรรลุโดยสมบูรณ์ก็เห็นได้ชัดว่าไม่ทันในยุคสีจิ้นผิง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะอยู่ทันเมื่อครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน และพอสิ้นยุคของเขาไปแล้ว ผู้นำที่สืบต่อจากเขาเพื่อสานฝันให้สมบูรณ์ก็ย่อมอยู่ในอำนาจไปตลอดชีวิตเช่นกัน

เหตุดังนั้น เพื่อความฝันจีนแล้วสีจิ้นผิงก็ย่อมมีภารกิจอื่นที่ให้ต้องปฏิบัติเพื่อบรรลุความฝันที่ว่านี้

 

การเผด็จอำนาจสู่เผด็จการดิจิตอล

ก่อนที่สีจิ้นผิงจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำไม่นานนั้น ได้มีคดีเกี่ยวกับการฉ้อราษฎรบังหลวงเกิดขึ้นและถูกปราบปรามอยู่ก่อนแล้ว และเมื่อก้าวขึ้นมาเต็มตัวในปี 2012 แล้ว ภารกิจแรกๆ ที่สีจิ้นผิงได้ทำไปก็คือ การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง

แต่ที่ต่างออกไปจากก่อนหน้านี้ก็คือ การปราบปรามครั้งนี้เป็นไปอย่างจริงจังและเป็นวงกว้าง จนส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่รัฐกว่าหนึ่งล้านคนถูกลงโทษ ในบรรดานี้มีบุคคลชั้นนายพลกว่า 100 คน และชั้นกรรมการกรมการเมืองอีกสี่คนที่ถูกดำเนินคดี

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงผู้ที่ตกเป็นเป้าของกวาดล้างครั้งนี้ที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยอีกจำนวนหนึ่ง

การปราบปรามครั้งนี้แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังหนีไม่พ้นข้อวิเคราะห์ที่ว่านี่คือการกำจัดฝ่ายตรงข้ามของสีจิ้นผิง

แต่หากตัดประเด็นนี้ไปแล้ว คำถามสำคัญก็คือ เหตุใดการฉ้อราษฎร์บังหลวงของจีนจึงดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด

เป็นภารกิจที่ผู้นำตั้งแต่ยุคเจียงเจ๋อหมินและหูจิ่นเทาก็ถือปฏิบัติ แต่ปัญหานี้ก็ไม่เคยหมดไป

 

คําถามที่ไม่มีคำตอบข้างต้นดำรงอยู่ท่ามกลางอีกปัญหาหนึ่งที่ไม่เคยหายไปเช่นกัน นั่นคือบทบาทของลูกท่านหลานเธอ (ไท่จื่อปัง, princelings)

ที่จนถึงยุคนี้ก็ยังคงพบว่า บุตรชายและบุตรเขยของเติ้งเสี่ยวผิง บุตรชายและหลานชายของเจียงเจ๋อหมิน บุคคลในครอบครัวของเวินเจียเป่า และบุตรชายของหูจิ่นเทา เป็นต้น ต่างเข้าไปมีบทบาททั้งผู้ถือหุ้นหรือเป็นผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจรัฐและเอกชน

เช่น อสังหาริมทรัพย์ โทรคมนาคม เหมืองแร่ การธนาคารและการเงิน เครื่องสแกนความปลอดภัยในสนามบิน ท่าเรือ และสถานีรถไฟ หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ

การเข้าถึงผลประโยชน์เช่นนี้แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็เห็นได้ว่า หากมิใช่เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นลูกท่านหลานเธอแล้วก็คงยากที่จะเข้าถึงผลประโยชน์นี้

กรณีลูกท่านหลานเธอจึงบอกให้รู้ว่า การเข้าถึงผลประโยชน์ต่างๆ ในจีนมีอยู่ในสองทางด้วยกันคือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับผลประโยชน์ทางการเมือง

อย่างหลังนี้เห็นได้จากกรณีสีจิ้นผิงที่ตัวเขาก็ถือเป็นลูกท่านหลานเธอเช่นกัน เพียงแต่ทางที่เขาเลือกคือผลประโยชน์ทางการเมือง

เหตุดังนั้น บุคคลที่อยู่นอกวงนี้หากจะเข้าถึงผลประโยชน์เหล่านี้บ้าง หากไม่มีเส้นใยสายสัมพันธ์และ/หรือความรู้ความสามารถแล้ว ทางสุดท้ายที่เหลืออยู่ก็คือการฉ้อราษฎร์บังหลวง บางทีนี่อาจเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า เหตุใดการฉ้อราษฎร์บังหลวงในจีนจึงดูเหมือนไม่สิ้นสุดแม้ในทุกวันนี้

จนน่าสงสัยว่า เอาเข้าจริงแล้วปัญหานี้จะทุเลาเบาบางลงได้อย่างไร?