สุจิตต์ วงษ์เทศ/ สร้างเมืองเชียงใหม่ ภาษาไต-ไท ขยายอำนาจ

พญามังราย, พญางำเมือง, พญาร่วง อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่

สุจิตต์ วงษ์เทศ

สร้างเมืองเชียงใหม่

ภาษาไต-ไท ขยายอำนาจ

สามกษัตริย์ในตำนาน ได้แก่ 1.พญามังราย (เมืองเชียงใหม่) 2.พญางำเมือง (เมืองพะเยา) และ 3.พญาร่วง (เมืองสุโขทัย)

เป็นวรรณกรรมคำบอกเล่าเกี่ยวกับการขยายอำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ไปตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป โดยผูกเรื่องมีนิยายให้สามกษัตริย์นัดพบกันด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง มี 2 เรื่องตามลำดับก่อนหลัง คือ ทำสาบานที่เมืองพะเยา และสร้างเมืองเชียงใหม่

ทำสาบานเมืองพะเยา มีเหตุจากพญาร่วงขึ้นไปทางเหนือถึงเมืองพะเยา แล้วทำชู้เมียพญางำเมือง ชื่อนางอั้ว พญางำเมืองต้องเชิญพญามังรายชำระคดี ว่าพญาร่วงทำเสียผี ต้องชำระค่าปรับไหม

แล้วให้พญางำเมืองกับพญาร่วงทำสาบานจะไม่ทำผิดคิดร้ายต่อกัน

สร้างเมืองเชียงใหม่ หลังชำระคดีเมืองพะเยาเสร็จสิ้นแล้ว พญามังรายทำอุบายยกทัพยึดได้เมืองหริภุญไชย (ลำพูน)

ต่อมาจะสร้างเมืองใหม่ จึงเชิญพญางำเมืองกับพญาร่วงร่วมจัดวางผังเมืองบริเวณเชิงดอยสุเทพ เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้นามว่าเมืองเชียงใหม่

 

ภาษาและวัฒนธรรม

 

ตัวละครทั้งสามในตำนานสองเรื่อง เป็นตัวแทนของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท (ต้นทางลาวล้านนา) ที่กำลังแผ่อำนาจจากตอนใต้ของจีน ถึงลุ่มน้ำโขง เข้าสู่ลุ่มน้ำกก-อิง แล้วมุ่งขยายไปลุ่มน้ำปิง-วัง และเชื่อมโยงถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท (ต้นทางไทยสยาม) แผ่ลงไปฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบร่องรอยเกี่ยวดองหลายอย่าง เช่น

  1. สำเนียงเหน่อแบบสุพรรณ ตรงกับสำเนียงลาวเหนือ
  2. ขับเสภา ต้นแบบจากขับซอของลาวเหนือ
  3. โคลงกลอน ต้นแบบจากโคลงลาวลุ่มน้ำโขง

ภาษาไต-ไท เป็นภาษากลางทางการค้าดินแดนภายใน นานนับพันปีมาแล้ว แต่มีมากขึ้นและแผ่กระจายครั้งใหญ่ราวหลัง พ.ศ.1700 พบร่องรอยจากคำบอกเล่าเรื่องขุนบรม มีบ้านเมืองบนเส้นทางการค้าที่ใช้ภาษาไต-ไทเป็นภาษากลาง ได้แก่ เมืองหลวงพระบาง, เมืองพวน, เมืองสิบสองพันนา, เมืองแกว (ในเวียดนาม), เมืองคำเกิด, เมืองโยนก, เมืองอโยธยา-สุพรรณภูมิ (กระจายลงคาบสมุทรถึงเพชรบุรี, นครศรีธรรมราช)

ย่านถนนท่าแพ เมืองเชียงใหม่ ศตวรรษที่แล้ว โรงเรือนสองข้างทางเป็นร้านค้าของคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ชาวพม่าและชาวต่องซู่ หรือกุลา (ภาพเก่าจากหนังสือ อดีตล้านนา โดย บุญเสริม สาตราภัย และ สังคีต จันทนะโพธิ พ.ศ.2520)

 

การค้าดินแดนภายใน

 

ลุ่มน้ำปิง-วัง มีศูนย์กลางอำนาจอยู่เมืองหริภุญไชย (ลำพูน) คนชั้นนำอยู่ในตระกูลภาษามอญ-เขมร เป็นเครือข่ายเครือญาติทางการค้ากับรัฐละโว้ (ลพบุรี) มีศิลปะสถาปัตยกรรมแบบละโว้เป็นพยาน พร้อมทั้งมีตำนานจามเทวีสนับสนุน

การค้าของดินแดนภายในขยายตัวคึกคัก สืบเนื่องจากจีนแต่งสำเภาออกค้าขายเองทางทะเลสมุทร (ก่อนหน้านั้นจีนไม่ออกนอกประเทศค้าขายเอง แต่ค้าโดยผ่านคนกลาง คือ “ศรีวิชัย”)

ความเคลื่อนไหวสำคัญอย่างยิ่ง ได้แก่ จีนอุดหนุนเป็นพิเศษต่อกลุ่มตระกูลภาษาไต-ไท เข้าควบคุมอ่าวไทยและคาบสมุทร เพื่อประโยชน์ทางการค้าของจีนเอง ดังดูจากจีนหนุนเจ้านายรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ตระกูลไต-ไท ยึดอยุธยาจากตระกูลมอญ-เขมร นับแต่นั้นมาอยุธยาต้องส่งบรรณาการ “จิ้มก้อง” จีน

 

หลากหลายเผ่าพันธุ์ถลุงเหล็ก

 

ก่อนมีเมืองเชียงใหม่ บริเวณลุ่มน้ำปิง เชิงดอยสุเทพ เป็นหลักแหล่งดั้งเดิมของคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ (ไม่มีเชื้อชาติ) พูดตระกูลภาษาต่างๆ กัน เช่น มอญ-เขมร, ม้ง-เมี่ยน, จีน-ทิเบต ฯลฯ

กลุ่มสำคัญบริเวณเชิงดอยสุเทพ มีหัวหน้าชื่อ วิลังคะ เป็นใหญ่ในหมู่ประชากรลัวะ พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร ล้วนชำนาญถลุงเหล็กส่งแลกเปลี่ยนซื้อขายทั่วไป มีแหล่งทรัพยากรกระจายกว้างขวางไปถึงเขตเชิงเขาเมืองลำพูน