วงค์ ตาวัน | ดับไฟใต้ก็รอเลือกตั้ง

วงค์ ตาวัน

การเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ หลายฝ่ายคาดหวังให้เป็นจุดที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งการเมืองที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้น ไม่วนถอยกลับไปสู่ยุคล้าหลัง ทั้งเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวกลับมาได้ หลังจากหยุดชะงัก กระทบปากท้องชาวบ้านตลอดยุครัฐบาลรัฐประหาร และแม้แต่เหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็ยังมีการเฝ้ารอคอยรัฐบาลใหม่ เพื่อจะเปิดการพูดคุยเจรจาดับไฟใต้ใหม่อีกครั้ง

เหตุการณ์ก่อความไม่สงบใน 3-4 จังหวัดชายแดนใต้ ที่เขย่าขวัญตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2561 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นเดือนมกราคม 2562 โดยเฉพาะช่วงวันที่ 10 มกราคม จนถึง 18 มกราคม ที่เกิดเหตุถี่ยิบไม่เว้นวัน

“ที่สำคัญ เหตุสะเทือนใจคนทั้งประเทศ กรณีกลุ่มติดอาวุธบุกโจมตีวัดรัตนานุภาพ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส สังหารพระภิกษุ 2 รูป บาดเจ็บอีก 2 รูป ในค่ำวันที่ 18 มกราคม”

แต่ก็มีรายงานข่าวเบื้องหลังว่า น่าจะเป็นการตอบโต้กรณีโต๊ะอิหม่ามถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2561 และไม่มีคำตอบว่าเป็นฝีมือใคร กับเหตุการณ์จับตายผู้ก่อความไม่สงบ 1 ราย ในสวนยางที่ อ.จะแนะ นราธิวาส ก่อนหน้านั้น 1 วัน แล้วมีการแพร่ภาพผู้เสียชีวิต จนเกิดความไม่พอใจในกลุ่มหัวรุนแรงในพื้นที่

ครั้นย่างเข้าสู่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ เกิดข่าวที่กระทบการเจรจาสันติภาพ

โดยกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งเป็นคณะพูดคุยกับผู้แทนรัฐบาล คสช. ได้ออกแถลงการณ์ประกาศถอนตัวจากการพูดคุยสันติสุข ซึ่งกำหนดเจรจาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พร้อมกับให้เปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาล ระบุเหตุผลว่า เนื่องจาก พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าฝ่ายรัฐบาลไทย แสดงท่าทีที่ไม่เคารพกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนได้เสีย ด้วยการขอนัดพบนายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยของมาราปาตานีเป็นการส่วนตัว

“”จึงเป็นเหตุให้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการพูดคุยครั้งใหม่ในวันนี้ และระงับการพูดคุยจนกว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะแล้วเสร็จ””

แถลงการณ์ตบท้ายชัดเจนว่า จะหยุดการพูดคุยจนกว่าการเลือกตั้ง ส.ส.จะแล้วเสร็จ ซึ่งก็คงหมายถึงรอดูรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเสียก่อน

แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากเรื่องนี้

จนเป็นที่รู้กันว่า การตั้งโต๊ะเจรจาดับไฟใต้น่าจะต้องทิ้งช่วงออกไป จนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง

นักวิชาการที่ศึกษาสถานการณ์ไฟใต้มีความเห็นว่า ตลอดช่วงรัฐบาล คสช. ไม่เห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนในการพูดคุยเจรจา ซึ่งสอดรับกับลักษณะของรัฐบาลทหาร ที่มักจะเชื่อมั่นในปฏิบัติการรุกทางทหาร กดดันให้เป็นฝ่ายเหนือกว่า แล้วจึงเปิดโต๊ะเจรจา

ดังนั้น ทำให้ปฏิบัติการด้านทหารยังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ควบคู่ไปกับการพูดคุย

“ต่างจากบุคลิกของรัฐบาลพลเรือน ซึ่งหากเปิดการเจรจา จะต้องมีการพูดคุยเบื้องต้น ให้ทั้งสองฝ่ายลดปฏิบัติการทางทหารลง สร้างบรรยากาศที่สงบสุขให้ได้ระหว่างการพูดคุยเจรจา”

จุดเริ่มต้นของการตั้งคณะเจรจาพูดคุยเพื่อดับไฟใต้เกิดในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งหวังสร้างผลงานชิ้นสำคัญ ดับไฟใต้ให้สงบลงอย่างแท้จริง

ด้านหนึ่งเพราะความเป็นรัฐบาลพลเรือนที่เชื่อว่าสงครามจะจบลงที่โต๊ะเจรจา ยิ่งเป็นเหตุการณ์ไฟใต้ ที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมและความขัดแย้งในเรื่องเชื้อชาติศาสนา ถือเป็นสงครามที่เกี่ยวกับความคิดอุดมการณ์ จะเข้าทำนองยิ่งสู้รบ ไฟใต้ยิ่งลุกโชน

“การเปิดวงพูดคุยสันติภาพ นำโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ซึ่งขณะนั้นไปรับตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. อันเป็นยุคที่ ศอ.บต.ใช้งานพัฒนา งานการเมือง เข้าถึงมวลชนในพื้นที่จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง รวมทั้งยังมี พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. เป็นคณะเจรจาที่แข็งขัน”

ระหว่างที่ข้อตกลงใหญ่ๆ ยังเจรจาไม่บรรลุ ก็ยังสามารถเกิดข้อตกลงเฉพาะหน้าได้ เช่น ให้ทั้งสองฝ่ายลดปฏิบัติการทางทหารลง ให้ฝ่ายก่อความไม่สงบละเว้นเป้าหมายที่เป็นเด็ก สตรีและชาวบ้าน งดใช้ปฏิบัติการคาร์บอมบ์ในเมือง

และในขณะที่ปฏิบัติการรักษากฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ยังต้องดำเนินไปตามปกติ หากเกิดความผิดพลาดทำให้เกิดความสูญเสีย หรือเกิดเหตุยิงปริศนาต่อผู้นำศาสนาอิสลาม ทันทีทันใดคณะเจรจาจะรีบประสานไปยังตัวแทนฝ่ายกองกำลังของกลุ่มไฟใต้ ขอให้รอฟังการคลี่คลายคดีตามกฎหมายจากตำรวจเสียก่อน จากนั้นเมื่อพบตัวผู้กระทำผิด ก็จะส่งฟ้องตามพยานหลักฐาน ทำให้ความรู้สึกที่ว่ากระบวนการยุติธรรมก็สามารถแก้ปัญหาได้ เริ่มเข้ามาเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ทำให้การล้างแค้นด้วยอาวุธเริ่มลดลง

“จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การเจรจาของคณะนี้ก็จบลงไปด้วย”

จากนั้นฝ่ายรัฐบาล คสช. ประกาศเดินหน้าเจรจาต่อ โดยตั้งคณะเจรจาขึ้นมาใหม่ แต่ก็อ้างว่าต่อไปนี้การพูดคุยจะเน้นทางลับ ไม่เน้นการเปิดเผยเอิกเกริก

ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่มองว่า ลักษณะรัฐบาลทหาร ย่อมต้องเน้นการรบ ทำให้เหนือกว่าในสมรภูมิแล้วจึงเปิดเจรจา นั่นจึงทำให้เกิดสงครามโต้ตอบไปมาของทั้งสองฝ่าย

อีกประการ กรอบความคิดแบบอนุรักษนิยมการเมือง ซึ่งอยู่ในกลุ่มรัฐบาลทหาร ไม่มีทางจะยอมรับทิศทางการเจรจาเพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมใหม่ จะไม่ยอมถอยให้เกิดเขตพิเศษขึ้นมา เพื่อรองรับความอ่อนไหวด้านเชื้อชาติศาสนา

การประกาศว่าจะรอให้มีรัฐบาลหลังเลือกตั้ง คงมาจากความเชื่อที่ว่า รัฐบาลประชาธิปไตยจะคิดกว้างไกลกว่ารัฐบาลแนวอนุรักษนิยมอำนาจนิยมนั่นเอง!

เหตุการณ์ในปี 2559 ที่บอกได้ว่ากระแสใน 3 จังหวัดใต้ไม่น่าจะไปกันได้กับรัฐบาลทหารก็คือ กรณีการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยผลลงเอย ประชาชนส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัดใต้มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.

แต่สุดท้ายเสียงของประชาชนส่วนอื่นที่ทั่วประเทศ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติได้ และนำมาสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560

จากนั้นอีกไม่กี่วันหลังการลงประชามติ ได้เกิดเหตุวางระเบิดพร้อมกันครั้งใหญ่ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุชี้ว่าเป็นฝีมือผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ไฟใต้นั่นเอง

“แปลได้ว่า ประชาชนใน 3 จังหวัดที่รักสันติ แสดงออกด้วยการเข้ากาคะแนนไม่รับรัฐธรรมนูญ ส่วนพวกหัวรุนแรงแสดงออกโดยการวางระเบิดทั่ว 7 จังหวัด”

ประเด็นที่ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเนื้อหาในหมวดศาสนา แล้วต่อมาหลังเหตุวางระเบิดผ่านไปไม่กี่วัน มีการใช้อำนาจ ม.44 ออกคำสั่งให้แก้ไขเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในประเด็นศาสนาทันที

“เป็นการยอมรับว่า กระแสต่อต้านรัฐธรรมนูญใน 3 จังหวัดใต้รุนแรงและกว้างขวาง”

แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดในยุครัฐบาลทหารและกลุ่มชนชั้นสูงฝ่ายอนุรักษนิยมการเมือง ต้องการใช้ตีกรอบสังคมไทยไม่ให้กลายเป็นสังคมแนวทุนนิยมเสรี ต้องการลดอิทธิพลของพรรคการเมืองและนักการเมือง ซึ่งส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพโดยรวมของประชาชนไทยทุกหมู่เหล่า ไม่เว้นพื้นที่ไฟใต้

“ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ คนในพื้นที่ 3-4 จังหวัดชายแดนใต้คงจะตั้งความหวังว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีแนวคิดเปิดกว้าง จะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่ได้ดีขึ้น”

ประกอบกับมีพรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น พรรคประชาชาติ พรรคอนาคตใหม่ ที่มีจุดยืนอุดมการณ์แจ่มชัด ยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ไปจนถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หนึ่งในแกนนำเจรจายุคก่อนหน้านี้ ก็ลงเล่นการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

การเลือกตั้งจึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะบ่งชี้การคลี่คลายไฟใต้ด้วย!