การเมืองเรื่อง ‘กลยุทธ์’ และ “ชื่อ”

กลยุทธ์การตลาดการเมืองในวันนี้ กลยุทธ์ใช่ “ชื่อ” และโลโก้พรรคเป็นเรื่องสำคัญมาก

พรรคพลังประชารัฐที่โดนกล่าวหาว่า “สืบทอดอำนาจ” ก็ตั้งชื่อตามโครงการของรัฐบาล

“ประชารัฐ”

โลโก้ก็เป็นแบบเดียวกัน คือ ริบบิ้นลายธงชาติ

ตั้งใจให้คล้ายมากที่สุดเท่าที่จะเหมือนได้

การโฆษณาโครงการประชารัฐของรัฐบาลที่ผ่านมาจึงเหมือนกับการใช้งบฯ ของรัฐสร้างแบรนด์ “ประชารัฐ” ให้ติดหู

เหมือนคำว่า “ไทยแลนด์ 4.0”

เพื่อมารองรับพรรคพลังประชารัฐในวันนี้

เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยและไทยรักษาชาติ

เหมือนรัฐธรรมนูญปิดทางไม่ให้บุคคลภายนอกมาครอบงำพรรค

แต่เมื่อแบรนด์ “ทักษิณ ชินวัตร” ยังขายได้

ทั้งสองพรรคจึงพยายามอิงแอบกับผลงานเก่าของพรรคไทยรักไทย

และ “ทักษิณ ชินวัตร”

“ไทยรักษาชาติ” ชื่อย่อคือ “ทษช.”

ให้คนได้ยินชื่อย่อแล้วนึกถึง “ทักษิณ ชินวัตร”

สโลแกน “คิดใหม่ทำใหม่” ก็มาจากสโลแกนเดิมของไทยรักไทย

ส่วน “เพื่อไทย” ก็ใช้คำว่า “หัวใจคือประชาชน”

เป็นคำเก่าสมัยพรรคไทยรักไทย

เพื่อให้มีกลิ่นอายของ “ทักษิณ” เคลือบอยู่

เพราะรู้ว่า “ทักษิณ” ขายได้

แต่ที่ฮือฮาที่สุดคือกลยุทธ์ขายตรงของพรรคเพื่อชาติ

ผู้สมัครชายของ ส.ส.พรรคเพื่อชาติกว่า 10 คนใช้วิธีเปลี่ยนชื่อเป็น “ทักษิณ”

และผู้สมัครหญิงเปลี่ยนชื่อเป็น “ยิ่งลักษณ์”

แม้บางคนจะมองว่าเป็นเรื่องตลก

แต่ในอีกมุมหนึ่ง นี่คือเกมการตลาดนอกตำราที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ต้องยอมรับว่าผู้สมัครของพรรคเพื่อชาติค่อนข้าง “โนเนม”

ในขณะที่พรรคเพื่อชาติ แม้จะมี “จตุพร พรหมพันธุ์” และ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” เป็นผู้สนับสนุนที่โดดเด่นยิ่งกว่าแกนนำ

ทั้งคู่พยายามชู “ทักษิณ ชินวัตร” เหมือนกับพรรคเพื่อไทยและไทยรักษาชาติ

แต่ดูเหมือนว่าภาพของ “เพื่อชาติ” จะไม่ค่อยชัดเจนเหมือน “ไทยรักษาชาติ” และ “เพื่อไทย”

การเปลี่ยนชื่อผู้สมัครเป็น “ทักษิณ” จึงเป็นการทำให้ภาพชัดขึ้น

ยิ่งกติกาใหม่ที่เปลี่ยนจาก “พรรคเดียวเบอร์เดียว” เป็นจับสลากเบอร์ทุกเขตเลือกตั้ง

คนจะยิ่งสับสนว่าในเขตที่ตนเองมีสิทธิ์ พรรคที่ชอบได้เบอร์อะไร

ถ้าต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมาย “คนรักทักษิณ”

การเปลี่ยนชื่อผู้สมัครเป็น “ทักษิณ” จึงเป็นกลยุทธ์ที่ชัดเจนที่สุด

มีแต่ได้คะแนนเพิ่ม

ไม่มีเสีย