คุยกับทูต ‘มุห์เซน โมฮัมมาดี’ ประวัติศาสตร์อิหร่านและบทบบาทในวันนี้

คุยกับทูต มุห์เซน โมฮัมมาดี บทบาทของอิหร่านวันนี้ (1)

อิหร่านหรือเปอร์เซีย เป็นที่ตั้งของอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่มีกลุ่มชาติพันธุ์และภาษาต่างๆ มากมาย มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์มาช้านาน เนื่องจากอยู่ในกลางยูเรเชียและเอเชียตะวันตก และอยู่ใกล้กับช่องแคบฮอร์มุซ

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเปอร์เซียมีมาตั้งแต่โบราณกว่า 400 ปี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

แต่จากข้อความบางตอนในศิลาจารึกหลักที่ 1 ทำให้มีการสันนิษฐานกันว่าในสมัยกรุงสุโขทัยก็น่าจะมีการค้าขายกับเปอร์เซียแล้ว

ไทยกับอิหร่านสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.1955 ประเทศทั้งสองมีความสัมพันธ์ราบรื่น ไม่มีข้อขัดแย้งระหว่างกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1979 อายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี (Ayatollah Ruhollah Khomeini) ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะต์ ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศอิหร่านจากระบอบกษัตริย์ โดยกษัตริย์องค์สุดท้ายคือ พระเจ้ามูฮัมหมัด เรซา ชาห์ ปาห์ลาวี (Mohammad Reza Shah Pahlavi) แห่งราชวงศ์ปาห์ลาวี (Pahlavi) เป็นสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (Islamic Republic of Iran) โดยใช้หลักการทางศาสนาอิสลาม หรือการปกครองในรูปแบบเทวาธิปไตย (Theocratic republic) เป็นแนวทางในการปกครองประเทศ

และเนื่องในโอกาสครบรอบการสถาปนาสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งเป็นการรำลึกถึงปฏิวัติอิหร่านหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าปฏิวัติอิสลาม

นายมุห์เซน โมฮัมมาดี (H.E. Mr. Mohsen Mohammadi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย ได้มาเล่าถึงประเด็นปัญหาต่างๆ เป็นพิเศษ เกี่ยวกับทิศทางของอิหร่าน การคว่ำบาตรของสหรัฐและผลกระทบ ตลอดจนบทบาทในตะวันออกกลาง และความสัมพันธ์ทางด้านการค้าการลงทุนกับประเทศไทย

“ผมเคยเป็นผู้อำนวยการแผนก 2 ของประเทศในเครือรัฐเอกราช (CIS) กระทรวงต่างประเทศอิหร่าน (ซึ่งครอบคลุมประเทศในเอเชียกลาง) และเป็นเลขาธิการองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO)”

เครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States : CIS) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นหลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลายลง ประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต ยกเว้นกลุ่มประเทศบอลติก ได้แก่ อาร์เมเนีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน มอลโดวา รัสเซีย ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน

ส่วนองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization : SCO) เป็นองค์การความร่วมมือทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารในภาคพื้นยูเรเชีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2001 ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประกอบด้วย รัสเซีย จีน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน อินเดีย และปากีสถาน

“ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเป็นครั้งแรก ประจำประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม ปี ค.ศ.2016 มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศเมียนมาและลาว”

“ในทางภูมิศาสตร์ อิหร่านตั้งอยู่ในเอเชียตะวันตกและถือเป็นส่วนหนึ่งของตะวันออกกลาง และด้วยพื้นที่ 1.65 ล้านตารางกิโลเมตร อิหร่านจึงนับเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 17 ของโลก ในขณะที่อิหร่านมีจำนวนประชากรกว่า 80 ล้านคนซึ่งมากเป็นอันดับที่ 18 ของโลก และเมื่อรวมกับประเทศเพื่อนบ้านอีก 15 ประเทศ นั่นคือตลาด 550 ล้านคน อิหร่านจึงเป็นทางแยกสู่ยุโรป แอฟริกาใต้และตะวันออก”

“นับตั้งแต่วันแรกที่ระบอบการปกครองโดยชาห์ ที่สหรัฐให้การสนับสนุนได้ล่มสลายลง และมีการจัดตั้งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านขึ้นในปี ค.ศ.1979 เราจึงได้กลายเป็นเป้าหมายของการโจมตีและการวางแผนโดยผู้มีอำนาจที่สูญเสียผลประโยชน์ในอิหร่านและภูมิภาค รวมถึงผู้นำบางประเทศที่กลัวผลกระทบจากการปฏิวัติอิหร่านจะเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนของตนเองและกลัวว่าตนจะมีชะตากรรมเดียวกันกับชาห์”

“จากจุดเริ่มต้น เราต้องเผชิญกับการกระทำที่รุนแรง รวมถึงการโจมตีจากผู้ก่อการร้ายและปฏิบัติการของกลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ”

“เจ้าหน้าที่อิหร่านระดับสูง 73 คนได้เสียชีวิตจากการถูกระเบิดของผู้ก่อการร้าย หลังจากนั้นประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของเราก็ได้ถูกลอบสังหารจากการโจมตีในครั้งต่อมา”

“หลังการปฏิวัติอิหร่านไม่ถึงสองปี อิรักได้เข้ารุกรานอิหร่านในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1980 อันนำไปสู่สงครามแปดปี”

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 เกิดสงครามขึ้นในดินแดนแถบตะวันออกกลาง ระหว่างประเทศอิรัก ภายใต้การนำของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) กับอิหร่านภายใต้การนำของอยาตอลลาห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) ตั้งแต่เดือนกันยายน 1980 ถึงสิงหาคม 1988 ซึ่งสงครามครั้งนี้ ได้มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ และมีผลต่อเนื่องมาจนถึงศตวรรษที่ 21

“อิรักได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจตะวันตกที่สำคัญรวมถึงผู้นำบางประเทศในภูมิภาค ในขณะที่อิหร่านต้องตกอยู่ภายใต้ข้อห้ามอันเข้มงวดในการครอบครองอาวุธที่จำเป็นเพื่อใช้ป้องกันตัวเอง เพราะเราถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธและอาวุธเคมีทำให้ต้องไปร้องขอขีปนาวุธสกั๊ด (Scud) จากบางประเทศเพื่อยับยั้งการโจมตีของซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein)”

“ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่สามารถลืมได้เลยว่า ซัดดัม ฮุสเซน นั้นเป็นศัตรูของมวลมนุษยชาติ เมื่อเขาบุกเข้าไปในดินแดนของเราและสังหารพวกเราชาวอิหร่านด้วยอาวุธทำลายล้างสูง รวมถึงการใช้อาวุธเคมี แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตรเมื่ออิรักตัดสินใจเข้าโจมตีคูเวต! ส่วนชาวอิหร่านในที่สุดก็ได้เป็นอิสระ เราได้รับอิสรภาพกลับคืนมาด้วยต้นทุนที่สูงมาก”

การบุกครองคูเวต หรือที่รู้จักกันในนามสงครามอิรัก-คูเวต เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพรรคบาธของประเทศอิรัก กับเอมิเรตแห่งคูเวต อิรักสามารถยึดคูเวตได้อย่างง่ายดายและปกครองคูเวตอยู่ 7 เดือน จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ส่งกำลังทหารเข้าแทรกแซงจนบานปลายกลายเป็นสงครามอ่าวเปอร์เซีย ผลคือ กองกำลังผสมนานาชาติ 34 ประเทศเพื่อต่อต้านการรุกรานคูเวตของอิรัก เป็นฝ่ายชนะอย่างขาดลอย และยึดคูเวตมาได้สำเร็จ ทำให้อิรักต้องถอนกำลังจากคูเวต

อิรักได้ยอมรับมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 687 ซึ่งเป็นการประกาศจำนวนเงินที่อิรักจะต้องรับผิดชอบจากการรุกรานคูเวต คณะกรรมการจ่ายค่าชดเชยแห่งสหประชาชาติ (UNCC) ถูกจัดตั้งขึ้น และมีเงินทุนกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล องค์กรและเอกชน ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าว 30% ได้มาจากมูลค่าของน้ำมันที่อิรักมอบให้ตามโครงการน้ำมันแลกอาหาร

“แต่เป็นที่น่าผิดหวัง มหาอำนาจหลักที่ครอบงำสื่อมวลชนต่างประเทศทำการโฆษณาชวนเชื่อเสียงของพวกเราชาวอิหร่านจึงไม่เป็นที่ได้ยินกันอย่างชัดเจน สำนักข่าวต่างประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง CNN ไม่เคยมีคำพูดที่ดีเกี่ยวกับอิหร่าน และไม่พูดถึงชื่ออิหร่าน เว้นแต่ว่าเมื่อใดที่พวกเขาต้องการทำให้ความคิดเห็นสาธารณะของโลกเกิดเชิงลบต่ออิหร่าน”

ท่านทูตมุห์เซน โมฮัมมาดี กล่าวเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับอิหร่านว่า

“เราไม่ใช่ประเทศที่แสวงหาสงครามหรือความรุนแรง เราไม่ได้เป็นประเทศหัวรุนแรง เราเป็นประเทศที่แสวงหาสันติภาพ ความยุติธรรม ความมีศักดิ์ศรี และมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน ลัทธิหัวรุนแรงและการนองเลือดไม่มีที่ยืนในศาสนาชีอะห์ของเรา นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมอิหร่านจึงเป็นประเทศที่ปลอดภัยและมั่นคงที่สุดในภูมิภาค”

ประวัติเอกอัครราชทูต มุห์เซน โมฮัมมาดี

CV of H.E. Mohsen Mohammadi

Assignments :

– 1991-1993 : Desk officer of Pakistan affairs, 2nd Department for West-Asia, Ministry of Foreign Affairs (MFA).

– 1993-1997 : Second Secretary, Embassy of Iran in Taskhent.

– 1997-1998 : Desk officer of Uzbekistan, 2nd Department for Central Asia and Caucasus, MFA.

– 1998-2001 : Deputy of the 2nd Department for Central Asia and Caucasus, MFA.

– 2001-2004 : Deputy Head of Mission in Helsinki, Finland.

– 2004-2006 : Desk officer of European Parliament in 1st Department for Western Europe, MFA.

– 2006-2007 : Desk officer of Biological Weapons Convention, Department for Disarmament and International Security, MFA.

– 2008-2011 : Minister Counsellor, Embassy of Iran in Berlin, Germany.

– 2011-2012 : Desk officer on Organization for the Prohibition of Chemical Weapons and Conventions on Chemicals, National Authority for Conventions on Chemicals, MFA.

– 2012-2016 : Head of 2nd Department for Central Asia and Caucasus, and National Secretary for Shanghai Cooperation Organization