คำ ผกา | ฝุ่นการเมือง

คำ ผกา

หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ ก.พ. 2562
ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 และวิกฤตมลพิษ เป็นปัญหาที่ค่อนข้างเป็นวิทยาศาสตร์ นั่นคือ ตรวจจับวัดค่าได้ มีผลกระทบต่อสุขภาพจริงๆ

แล้วไม่ได้มีแต่ประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้

หลายๆ เมืองเคยเผชิญมาแล้ว หลายๆ เมืองกำลังเผชิญอยู่ และแต่ละเมืองก็มีความสามารถ ความตั้งใจ และทรัพยากรในการจัดการปัญหาต่างๆ กัน

เมืองอย่างเดลีก็เผชิญกับปัญหานี้อย่างหนักหน่วงและชัดเจนว่า คนในเมืองที่ไม่มีทางเลือก ต้องออกมาทำมาหากิน ไม่สามารถย้ายออกไปตากอากาศที่ไหนได้ ไม่สามารถย้ายเมือง ย้ายประเทศได้ ก็ต้องอยู่กันแบบพร้อมจะเป็นโรคปอดโดยไม่สูบบุหรี่สักมวน

ขณะนี้เกือบทุกเมืองในประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตฝุ่นพิษอย่างทั่วหน้ากัน

คนจำนวนไม่น้อยได้รับผลทางสุขภาพไปแล้ว เช่น เป็นภูมิแพ้ ไอ จาม มีน้ำมูกเป็นเลือด ผิวเป็นผื่นแดง ตาบวมคัน เด็กๆ เริ่มป่วย

ยังไม่นับผลกระทบทางสุขภาพระยะยาว ที่เราไม่มีวันรู้ว่าอีก 10 ปี เราจะป่วยเป็นโรคอะไรจากฝุ่นนี้ และถึงตอนนั้นเราจะไปเรียกร้องเอาความรับผิดชอบจากใครได้

คิดถึงคนที่มีลูกเล็กเด็กแดง ก็สะเทือนใจอีกว่า เด็กเกิดมาไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ทำไมเขาต้องมาป่วย มาถูกกักไว้ให้อยู่แต่ในบ้าน และหากเขาจะโตขึ้นมาพร้อมๆ กับที่เป็นสารพัดโรค ตั้งแต่โรคระบบทางเดินหายใจไปจนถึงมะเร็ง เหล่านี้มันยุติธรรมสำหรับเขาหรือ?

ทั้งหมดนี้เราต้องไม่ลืมด้วยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคน “จน”, คน “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” และคน “พอกินแต่ไม่มีอันจะกิน” รวมกันแล้วน่าจะถึงร้อยละ 70 ของประเทศ จากข้อมูลที่ว่า คนร้อยละ 99 ของเรามีเงินฝากในบัญชีไม่ถึง 1 ล้านบาท

(บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ที่มีจำนวนเงินในบัญชีต่ำกว่า 1 ล้านบาท มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 99 ของจำนวนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งระบบ แต่มีมูลค่าของเงินฝากรวมกันเพียง 2.14 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีเงินในบัญชีมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปที่มีสัดส่วนจำนวนบัญชีเพียงร้อยละ 1 แต่มีเงินในบัญชีกลุ่มนี้มากถึง 4.9 ล้านล้านบาท – คนที่เงินฝากต่ำกว่าห้าหมื่นบาท มีประมาณ 69 ล้านบัญชี https://www.voicetv.co.th/read/486735)

ฐานะทางเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับฝุ่นอย่างไร?

คนชั้นกลางที่พอมีกิน สามารถซื้อหน้ากากอนามัยมาใช้อย่างไม่ขัดสน มีบ้านติดแอร์ มีรถติดแอร์ ติดเครื่องฟอกอากาศทั้งในบ้าน ในรถ ในที่ทำงาน

ถ้าโรงเรียนหยุดเรียน ก็ให้ลูกอยู่บ้าน เปิดแอร์ เปิดเครื่องฟอกอากาศได้

(แต่นั่นต้องแลกกับการที่เด็กต้องอยู่แบบไม่เห็นท้องฟ้า ไม่ได้สัมผัสแสงแดด สายลม และมีแนวโน้มว่าเด็กจะใช้เวลากับโทรศัพท์ แท็บเล็ต ที่มีพลังในการดูดเด็กมากกว่าหนังสือ หรือกิจกรรมอื่นๆ ยิ่งหากเด็กต้องอยู่กันตามลำพัง โดยไม่มีผู้ใหญ่คอยชี้ชวนให้ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การนั่งหน้าจอ)

คนที่มีฐานะดีกว่านั้นก็สามารถหยุดงาน พาลูกหลานไปพักผ่อนต่างประเทศ

ไปอยู่บ้านที่ซื้อไว้ที่ลอนดอน ซานฟรานฯ

หรือไม่อยากจะไปไหนก็ขังตัวเองไว้ในห้องที่ฟอกอากาศไว้จนฉ่ำที่สุด แต่งตัวสวยๆ นั่งจิบแชมเปญ มองผ่านหน้าต่างไปดูเมืองในม่านหมอกมัวๆ

อยากได้อะไรก็ใช้ “คนจน” ทำหน้าที่เป็นลูกจ้าง เป็นมือเป็นเท้า คอยรับใช้ จัดหาให้ แค่นี้ “ฝุ่น” ก็ไม่ระคายผิวแล้ว

แต่คนที่ปากกัดตีนถีบ มีรายได้อยู่ที่หนึ่งหมื่นถึงหนึ่งหมื่นห้าพันบาทต่อเดือน หักค่าเช่าบ้าน ค่าใช้จ่ายรายเดือน และหากคิดว่ามีลูกมีเต้าด้วย ตีว่าเขามีรายได้วันละ 500 บาท หากต้องเจียดเงินไปซื้อหน้ากากที่กันฝุ่น PM 2.5 ได้ คิดเป็นรายจ่ายต่อวัน วันละ 50 บาท (นี่คิดแบบราคาถูก และไม่ได้ใช้แล้วทิ้งทุกวัน) นั่นแปลว่า รายจ่ายจากค่าหน้ากากอนามัยนี้จะเบียดบังรายรับของเขาไปถึงเดือนละ 1,500 บาท

ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถแปรเป็นเงินออม เงินเพื่อสันทนาการ เงินเพื่อแสวงหาความรู้เพิ่มเติม หรือแม้กระทั่งเป็นเงินเพื่อการกินเอ็มเคสุกี้ด้วยกันสักมื้อของครอบครัว เป็นความสุขประจำเดือน

ไม่นับว่าหลายครอบครัวที่มีหนี้สินอยู่ รายจ่ายที่เพิ่มมาแค่ 1,500 บาทต่อเดือนก็ถือเป็นการซ้ำเติมความขัดสนที่ต้องเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวันให้ต้องขัดสนมากขึ้นไปอีก

ปัญหาฝุ่นและปัญหามลพิษทางอากาศจึงไม่ใช่ปัญหาที่ซ้ำเติมสุขภาพเท่านั้น

แต่จะซ้ำเติมไปที่ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน คุณภาพชีวิตของคนจนอันเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้ให้พวกเขายิ่งอ่อนแอกว่าที่พวกเขาควรจะเป็น

และยิ่งซ้ำเติมให้พวกเขาไม่ได้ลืมตาอ้าปากต่อไปอีกหลายเจเนอเรชั่น เมื่อคิดว่า ในอีกสิบปีข้างหน้า พวกเขา ลูกหลานของเขาคือผู้ที่จะได้รับผลกระทบทางสุขภาพที่หนักที่สุดเมื่อเทียบกับคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า

ในภาวะวิกฤตนี้ คนที่ขายของอยู่กลางแจ้ง บนทางเท้า ข้างถนน คนงานก่อสร้าง คนกวาดถนน พนักงานส่งของที่ใช้รถจักรยานยนต์ คนเดินเท้า คนนั่งรถเมล์ คนที่อยู่บ้านไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีเครื่องฟอกอากาศ น่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด

และแน่นอนว่า กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดนี้เป็นผู้มีเสียงเบาที่สุดในสังคม

เคยมีนักร้องสะเหล่อๆ คนหนึ่งออกมาเขียนในโซเชียลมีเดียว่า “อย่าทำตัวเป็นไรฝุ่น เอาแต่ด่า เอาแต่ตำหนิ”

นักร้องตกยุคและสะเหล่อมากคนนี้คงไม่รู้ว่า สิทธิที่จะมีอากาศบริสุทธิ์หายใจเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

และในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี ประชาชนมีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และหน่วยงานราชการ

ในฐานะของประชาชนผู้เสียภาษี เราต้องการอยู่ในเมืองที่มี “คน” เป็นศูนย์กลางของเมือง

เมืองที่รักและเคารพ “คน” ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยในเมือง ย่อมจัดการเมืองให้น่าอยู่ สะอาด มีพื้นที่สีเขียว มีพื้นที่สาธารณะให้คนได้วิ่ง ได้เดิน ได้นอนอาบแดด อาบลม ได้ปิกนิกกลางแจ้ง ได้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย

และสาธารณูปโภคทุกอย่างในเมืองต้องได้รับการคิดและการออกแบบมาโดยคำนึงถึงคนหมู่มากเป็นหลัก

ไม่ใช่คำนึงคนมีอำนาจ หรือคนร่ำรวยของเมืองเป็นหลัก

ขอย้ำว่าเราไม่ได้อยู่ในระบบ “กินเมือง” แบบโบราณแล้ว

ข้าราชการและคนที่ไปนั่งบริหารประเทศทุกคนกำลังบริหารและทำงานไปบนภาษีของประชาชน และอย่ามาบอกว่าคนจนไม่เสียภาษี เพราะเราจ่ายทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต เมื่อกินเงินเดือนและเสวยสุขรวมถึงอภิสิทธิ์ทั้งรถประจำตำแหน่ง ผู้ติดตาม และสิทธิประโยชน์ต่างๆ อีกมหาศาล ก็ควรจะเคารพประชาชนผู้จ่ายภาษีให้พวกท่านบ้าง

ถ้าไม่พร้อมจะเป็นผู้รับใช้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนกับประชาชน ก็ควรจะกลับไปเสวยสุขอยู่ที่บ้านท่ามกลางบริวาร คนรับใช้ที่บ้านของตนเอง ในเขตรั้วบ้านของตน จะเตะหมา ด่าคนขับรถ เกรี้ยวกราดกับใครอย่างไรก็เป็นขอบเขตอำนาจในบ้านของตัวเอง จะเสียงดัง จะสั่งสอนคนในบ้านอย่างไรก็ไม่มีใครว่า

แต่ถ้าอาสาจะมาทำงานการเมือง

พึงรู้ว่านี่ หัวใจของการทำงานการเมืองคือการปวารณาตัวมาทำงานเพื่อบันดาลความสุข และคุณภาพชีวิตของคนเสียภาษีที่จ่ายเงินเดือนให้พวกท่านอยู่ทุกวัน

ในโลกการเมืองสมัยใหม่นั้น คนที่จะมาเป็นนักการเมืองคือคนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไปในทางที่ดี เข้ามาทำงานเพราะอยากได้ชื่อว่าตนเองมีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนสังคมให้เจริญก้าวหน้า วัฒนาสถาพร

ไม่ได้เข้ามาเพราะนึกว่าตำแหน่งทางการเมืองคือตำแหน่งที่จะมีแต่คนมาเคารพนบไหว้แล้วกร่าง ตวาด หงุดหงิดสั่งสอนหมูหมากาไก่ไปเรื่อยโดยชอบธรรม

การไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยาวนานเกือบครึ่งทศวรรษนั้นไม่ได้แต่ทำให้บ้านเมืองเราถดถอย ล้าหลัง เสื่อมทรามในเชิงกายภาพเท่านั้น

แต่ยังสร้างคนแบบนักร้องสะเหล่อๆ คนนั้นขึ้นอีกมากในสังคมที่บอกว่า “อย่าทำตัวเป็นไรฝุ่น ที่เอาแต่ด่าเอาแต่วิจารณ์”

นั่นคือ พากันคิดว่า ผู้ที่มีอำนาจบริหารบ้านเมืองนั้นคือผู้เสียสละแล้ว เหนื่อยแล้ว ทำงานหนักแล้ว เราประชาชนควรสำนึกไว้ให้มากๆ ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษ รถติด และทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น ล้วนแต่เกิดจากฝีมือของพวกเราเองทั้งสิ้น

ดังนั้น เราจึงไม่ควรก่นด่า วิจารณ์รัฐบาล แต่ควรช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อให้ปัญหานั้นทุเลาเบาบางลง

และอย่างไม่น่าเชื่อ ตอนนี้ฉันหันไปทางไหน ก็ได้ยินแต่คนพูดว่า

“อย่าเอาแต่บ่นแต่ด่า หันกลับมาถามตัวเองบ้างว่า วันๆ ลงมือทำอะไรให้บ้านเมืองมันดีขึ้นบ้าง”

สำหรับคนที่พูดและเชื่อเช่นนี้ ฉันก็ต้องย้อนถามกลับไปว่า ถ้าฉันเป็นคนชั้นล่างของสังคม มีค่าแรงวันละบาท ทำงานกลางแจ้งที่ต้องดมฝุ่น และตัวฉันไม่มีรถอะไรสักคันที่จะมีส่วนในการสร้างมลพิษทางอากาศ และขณะนี้ฉันต้องมีชีวิตที่ต้องเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและยังต้องเจียดรายได้มาซื้อหน้ากากใส่ทุกวันเพื่อป้องกันมลพิษนี้อีก – ชีวิตฉันเป็นแบบนี้ แล้วจะให้ฉันไปลงมือทำอะไรอีก?

และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องมี “การเมือง” และ “นักการเมือง” ที่เป็นตัวแทนของเราเข้าไปสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

เช่น คนที่มีรถหลายๆ คัน, คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจก่อสร้าง, คนที่เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม, คนที่เผาไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ฯลฯ

เหล่านี้คือคนที่มีส่วนในการสร้างมลพิษ ทำอย่างไรจะไม่ให้คนเหล่านี้สามารถลอยนวลปล่อยมลพิษไปบนต้นทุนสุขภาพของผู้อื่น

และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องการ “การเมือง” และ “นักการเมือง” ที่มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถ ฉลาดเฉลียว ที่จะทำให้คนทุกกลุ่มในสังคม เฉลี่ยทรัพยากร ทุกข์ สุข แชร์ลมหายใจและอากาศดีๆ ร่วมกันได้ โดยไม่เป็นภาระแก่ใครมากเกินไป

เช่น รัฐบาลจะช่วยให้โรงงานกลายเป็นโรงงานพลังงานสะอาดได้อย่างไร

เพราะถ้าทำได้ ผู้ประกอบการโรงงานก็แฮปปี้ คนที่อยู่รอบโรงงานก็แฮปปี้ หรือรัฐบาลจะทำอย่างไรที่จะเสนอมาตรการจูงใจให้คนเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า พลังงานสะอาดให้มากที่สุด เช่น คนซื้อไฟฟ้าได้กู้ดอกเบี้ยต่ำมากๆ และได้ลดหย่อนภาษี อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ปัญหามลพิษก็เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ นั่นคือ มีความซับซ้อนในเรื่องการจัดการผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่มให้ “ลงตัว” และจำต้องใช้กลไกทางการเมืองเข้าไปจัดการ

ไม่ใช่คิดได้เหมือนคนที่สมองเล็กเท่าไรฝุ่นว่า – โอ๊ย ช่วยกันคนละไม้ละมือสิ แล้วทุกอย่างจะดีเอง – คนที่คิดแบบนี้นอกจากจะสะเหล่อมากแล้วยังดูไร้เดียงสาทางปัญญาเอามากๆ

ก็ไม่นาน การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นจะทำให้ประชาชนตระหนักอีกครั้งถึงสิทธิของตนเองในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐ

และการบริหารประเทศนั้นเป็นอำนาจของประชาชนที่มอบให้ตัวแทนของตนไปทำหน้าที่นั้น

การบริหารประเทศและการเป็นผู้นำประเทศไม่ใช่เรื่องของการเป็นเจ้าขุนมูลนายที่จะมาวางอำนาจบาตรใหญ่ หรือตะคอกเอากับประชาชนว่า

ปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลไม่ได้สร้างขึ้น ฝุ่นไม่ได้เกิดจากรัฐบาล เอะอะจะมาให้รัฐบาลแก้!

ช่วยฉีดน้ำ ช่วยนู่น ช่วยนี่ ตั้งเยอะตั้งแยะ แล้วจะมาบ่นอะไร ทำไมไม่รู้จักช่วยตัวเอง เดี๋ยวเกิดรัฐบาลใช้ยาแรงขึ้นมาจริงๆ ก็จะมาโอดครวญกันอีก!

เพราะภายใต้รัฐบาลแบบนี้ ประชาชนจะถูกมองและถูกปฏิบัติไม่ต่างอะไรจากเหลือบไรที่แสนกระจ้อยร่อยและไร้ค่า