บทวิเคราะห์ : โลกล้อม “มาดูโร”!

วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในเวเนซุเอลา ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกและเคยร่ำรวยที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา กำลังยุ่งเหยิงหนัก

จากการต่อสู้ช่วงชิงทางอำนาจระหว่างนิโกลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาหัวซ้ายนิยม

กับฮวน ไกวโด ประธานสภานิติบัญญัติและอดีตวิศวกรหนุ่ม วัยเพียง 35 ปี ที่ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจมาดูโร

ด้วยการประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีชั่วคราวของชาวเวเนซุเอลาไปจนกว่ามาดูโรจะลงจากอำนาจและให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น

เหตุปัจจัยแห่งความขัดแย้งที่นำพาให้เวเนซุเอลาเดินมาถึงจุดวิกฤตตกต่ำที่สุดครั้งประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ มาจากการบริหารจัดการประเทศผิดพลาดสั่งสมของรัฐบาลมาดูโร ที่ทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาต้องประสบกับภาวะล่มสลาย

จากการมีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลก ซึ่งมีการอ้างตัวเลขในปลายปีที่ผ่านมาว่าอัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาพุ่งพรวดขึ้นไปที่กว่าล้านเปอร์เซ็นต์แล้ว

ขณะที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่เป็นตัววัดสภาพเศรษฐกิจก็ดำดิ่งติดลบไปมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์

ส่วนประชาชนในประเทศต้องประสบกับภาวะข้าวยากหมากแพง ราคาสินค้าถีบตัวพุ่งพรวดขึ้นเป็นหลายเท่าตัว

ชาวบ้านไม่มีเงินที่จะจับจ่ายซื้อหาได้ ก็ต้องอดมื้อกินมื้อ จนกลายเป็นโรคขาดสารอาหาร

ส่วนยารักษาโรคก็ขาดแคลนอย่างหนัก

เมื่อทนเผชิญชะตากรรมอันยากแค้นเช่นนี้ต่อไปไม่ไหว ก็ต้องพากันอพยพหนีออกนอกประเทศไป

ซึ่งข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่ามีชาวเวเนซุเอลาที่อพยพหนีออกจากเวเนซุเอลาไปตายเอาดาบหน้าในประเทศเพื่อนบ้านแล้วมากกว่า 3 ล้านคนนับจากปี 2557 หรือหลังการก้าวขึ้นมาสืบทอดอำนาจต่อจากฮูโก ชาเวซ อดีตผู้นำเผด็จการอำนาจเวเนซุเอลาของมาดูโรได้เพียงปีเศษ

 

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ การทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจศาลรวมถึงกองกำลังฝ่ายความมั่นคงเป็นเครื่องมือในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาลมาดูโร และการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นอีกประเด็นปัญหาใหญ่ที่ไม่เพียงสร้างความโกรธแค้นไม่พอใจให้กับคนในประเทศ

แต่ยังเป็นที่จับตาของโลกภายนอกอีกด้วย

โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ชาติปฏิปักษ์ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเวเนซุเอลามานานนับตั้งแต่สมัยชาเวซยังมีชีวิตอยู่

ชัยชนะหมาดๆ ของมาดูโรในการนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาเป็นสมัยที่ 2 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ยังประกาศว่าไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านถูกปราบปรามไม่ได้ให้เข้าร่วม และสหรัฐยังลงดาบด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเวเนซุเอลาอีกด้วย โดยเฉพาะการคว่ำบาตรน้ำมัน ที่เป็นรายได้หลักใหญ่ของเวเนซุเอลา

ความปั่นป่วนทางการเมืองที่เข้าใกล้จุดกลียุค เป็นผลให้เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา นายไกวโด ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติ อาศัยบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ ประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีรักษาการ พร้อมให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมขึ้นในเวเนซุเอลา

 

หลังการลุกขึ้นมาท้าทายระบอบอำนาจมาดูโรอย่างไม่คาดคิดของไกวโด หลายชาติตะวันตกและยักษ์ใหญ่ในละตินอเมริกาเองได้พากันออกมาประกาศรรับรองและให้การสนับสนุนนายไกวโดในฐานะประธานาธิบดีชั่วคราวของเวเนซุเอลา ที่ทำให้ในช่วงตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมาเราได้เห็นปรากฏการณ์ “เลือกข้าง” ระหว่างฝั่งมาดูโรกับฝั่งไกวโดเกิดขึ้น

จนถึงขณะนี้มีราว 34 ชาติแล้วที่ประกาศรับรองสนับสนุนไกวโด

ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา กลุ่ม “ลิมากรุ๊ป” อันได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา กัวเตมาลา ฮอนดูรัส ปานามา ปารากวัย และเปรู และหลายชาติในสหภาพยุโรป (อียู) นำโดยอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน มหาอำนาจยุโรป ที่หันมาประกาศรับรองไกวโดในทันที หลังจากการให้โอกาสด้วยการยื่นเส้นตายให้มาดูโรจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นใหม่ภายใน 8 วันได้สิ้นสุดลงไป

โดยปราศจากการตอบรับจากมาดูโร

 

ส่วนมาดูโรนั้นยังมีแบ๊กอัพใหญ่ ที่ก็มักอยู่ขั้วตรงข้ามกับชาติตะวันตกเสมอในประเด็นพิพาทขัดแย้งส่วนใหญ่ในเวทีระหว่างประเทศ

นั่นคือรัสเซียและจีน ซึ่งเป็นสองชาตินักลงทุนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลา และยังเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาลเวเนซุเอลาอีกด้วย

โดยทั้งรัสเซียและจีนต่างออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในเวเนซุเอลาของชาติตะวันตก

ถึงแม้ตอนนี้ไกวโดจะมีแบ๊กอัพใหญ่ในการเดินยุทธศาสตร์ “โลกล้อมมาดูโร”

ทว่าหากตราบใดที่ “กองทัพ” ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญในฐานอำนาจของมาดูโรยังคงเลือกยืนอยู่เคียงข้างมาดูโรไม่เปลี่ยนแปลง ก็อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้มาดูโรยอมก้าวลงจากอำนาจแต่โดยดีได้

บอกเลยว่า สถานการณ์บ้านเมืองในเวเนซุเอลาตอนนี้ทวีความร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะต้องจับตาดูว่าจะเดินกันไปอย่างไรต่อไป

ที่น่าห่วงที่สุดคือประชาชนตาดำๆ!