นิ้วกลม : คานธี ว่าด้วย เคารพโดยไม่ต้องเห็นด้วย (จบ)

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

คานธีเขียนบทความตอบโต้ รพินทรนาถ ฐากูร ที่คัดค้านการเผาผ้าต่างประเทศแล้วทอผ้าใช้เองด้วยท่าทีสุภาพ

“ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้ท่านผู้เป็นกวีและปราชญ์ได้หมุนกงล้อปั่นด้ายให้เหมือนดั่งการประกอบยัญกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเกิดสงคราม กวียอมวางเครื่องสาย ทนายความยอมละมือจากคดี เด็กนักเรียนยอมทิ้งตำรา กวีจะได้ขับขานบทเพลงอย่างแท้จริงหลังสงครามสิ้นสุด…เมื่อไฟไหม้บ้าน ทุกคนต้องออกมาข้างนอกและช่วยกันหิ้วน้ำไปดับไฟ เมื่อผู้คนรอบตัวข้าพเจ้ากำลังจะตายเพราะขาดอาหาร งานเดียวที่ข้าพเจ้าสมควรทำคือหาอาหารมาเลี้ยงผู้หิวโหย ข้าพเจ้าเชื่อว่าอินเดียเป็นบ้านที่กำลังถูกไฟไหม้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผู้คนของเรากำลังจะอดตายเพราะขาดงานที่จะได้เงินมาซื้ออาหาร เมืองใหญ่ที่พวกเราอาศัยอยู่ไม่ใช่อินเดีย ลมหายใจของอินเดียอยู่ที่หมู่บ้านเจ็ดแสนแห่ง และคนในเมืองใหญ่มีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะหมู่บ้านเหล่านั้น…เมื่อผู้คนกำลังอดอยากและไม่มีงานทำ หากพระเจ้าจะพึงปรากฏแล้วไซร้ อวตารเดียวของพระองค์ที่เรายอมรับได้ก็คืองาน รวมถึงหลักประกันในค่าแรงและอาหาร…ความอดอยากหิวโหยคือเหตุผลที่ผลักดันให้อินเดียต้องหันไปใช้เครื่องปั่นด้าย เสียงเพรียกให้ใช้เครื่องปั่นด้ายเป็นสิ่งประเสริฐสุด เพราะมันคือเสียงเพรียกแห่งความรักและปรารถนาดี”

“ข้าพเจ้าต้องการเห็นการเติบโต ต้องการเห็นการกำหนดชะตากรรมด้วยตัวเอง ข้าพเจ้าอยากเห็นเสรีภาพ แต่ข้าพเจ้าอยากให้ทั้งหมดนี้เป็นการยกระดับจิตวิญญาณของประชาชน…คำขอร้องให้ใช้เครื่องปั่นด้ายคือคำขอร้องให้ตระหนักถึงศักดิ์ศรีการใช้แรงงาน ความชื่นชอบในแพรพรรณจากเมืองนอกของเรา คือตัวการที่ทำให้เครื่องปั่นด้ายหลุดจากตำแหน่งอันทรงเกียรติ ข้าพเจ้าจึงถือว่าการสวมใส่เสื้อผ้าจากต่างประเทศเป็นบาป เมื่อรู้ว่าบาป ข้าพเจ้าจึงต้องเปลื้องอาภรณ์จากต่างประเทศนั้นลงในกองไฟเพื่อชำระตนให้บริสุทธิ์ ข้าพเจ้าเผาความน่าละอายไปพร้อมกับผ้าที่นำมาเผา และข้าพเจ้าต้องไม่ดูหมิ่นคนเปลือยด้วยการเอาผ้าที่พวกเขาไม่ต้องการไปให้ แทนที่จะเอางานไปให้ งานต่างหากเล่าคือสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุด ข้าพเจ้าจะไม่ทำบาปด้วยการไปส่งเสริมให้พวกเขาให้ผ้าต่างประเทศ การไม่ให้ความร่วมมือไม่ได้เจาะจงที่ชาวอังกฤษหรือกับตะวันตก แต่เป็นการไม่ให้ความร่วมมือกับระบบที่อังกฤษเป็นผู้กำหนด ที่มาพร้อมอารยธรรมวัตถุนิยมโดยมีความโลภและการเอาเปรียบผู้อ่อนแอพ่วงมาด้วย”

gandhi-tagore-cropped-696x398


รพินทรนาถ ฐากูร เขียนวิจารณ์ลัทธิเครื่องปั่นด้ายลงในวารสารอีกฉบับ

“ข้าพเจ้าเชื่อเหลือเกินว่าการโน้มน้าวกดดันอย่างหนักให้ประชาชนปฏิบัติตามรังแต่จะส่งผลเสียต่อจิตใจของพวกเขา ข้าพเจ้าไม่อยากเห็นความศรัทธาแบบมืดบอดเกิดขึ้นเป็นวงกว้างกับการใช้เครื่องปั่นด้าย เพราะนี่คือประเทศที่ผู้คนพร้อมจะหลงเชื่อการใช้ทางลัด เมื่อคนที่ชี้ทางเป็นคนที่พวกเขาไม่เคยสงสัยในด้านความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม…หากวันนี้ความยากจนจะตกแก่ประเทศของเรา เราก็ควรรู้ว่าต้นตอของมันมาจากสาเหตุที่ซับซ้อนมองเห็นได้ยาก และสาเหตุนั้นก็อยู่ภายในตัวเรานี่เอง การจะให้คนทั้งชาติใส่ใจกับอาการป่วยไข้ที่เห็นจากภายนอกเพียงอาการเดียว แล้วใช้วิธีเยียวยาแบบเดียวกันหมด คงจะไม่ช่วยขับไล่ผีร้ายตนนี้ไปได้…ถ้าเราจะขจัดความยากจนที่เห็นได้จากภายนอกนี้ให้หมดไป ทางเดียวที่จะทำได้คือปลุกเร้าพลังภายในตัวเราให้ตื่นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังแห่งภูมิปัญญา พลังแห่งความสามัคคีและไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจ…คงไม่มีภารกิจใดน่าสมเพชยิ่งไปกว่าการทำให้มนุษย์หยุดใช้สมองคิดไตร่ตรอง และก้มหน้าก้มตาทำตามเพียงอย่างเดียว…การรณรงค์ให้ใช้เครื่องปั่นด้ายกำลังทำร้ายสังคม เพราะมันได้ฉกชิงความสำคัญไปมากเกินกว่าที่ควร”

คานธีเขียนตอบเป็นบทความในวารสาร Young India ว่า

“ขอให้ประชาชนได้เข้าใจว่าท่านกวีไม่ได้ปฏิเสธคุณค่าทางเศรษฐกิจของเครื่องปั่นด้าย…ข้าพเจ้าจะขัดเคืองไปไยกับความเห็นที่ไม่ลงรอยกับทัศนะของข้าพเจ้า เพื่อนจะเป็นเพื่อนได้ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันไปเสียหมดทุกเรื่อง

“ท่านรพินทรนาถเป็นนักประดิษฐ์ ท่านสร้าง ท่านทำลายแล้วก็สร้างขึ้นใหม่ ส่วนข้าพเจ้าเป็นนักสำรวจ และได้ค้นพบสิ่งที่ตนต้องยึดถือเอาไว้ให้มั่น ดังนั้น จึงไม่มีความขัดแย้งระหว่างเราสองคน ตรงกันข้าม ข้าพเจ้าขอพูดอย่างนอบน้อมที่สุดว่า ความต่างของเราช่วยส่งเสริมกิจกรรมที่แต่ละคนทำ ข้าพเจ้าไม่ขอให้ใครละเลยเสียงเพรียกของท่านกวี ทว่า ขอให้ทุกคนเสริมส่งเสียงเพรียกนั้น ด้วยการสละเวลาเพียงวันละสามสิบนาทีลงมือปั่นด้ายเป็นพลีกรรมแด่ประเทศชาติ หากท่านกวีปั่นด้ายวันละครึ่งชั่วโมงทุกวัน บทกวีของท่านจะไพเราะงดงามขึ้นไปอีก เพราะมันจะสะท้อนความต้องการและความเจ็บช้ำของคนยากคนจนได้อย่างมีพลังยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ท่านรพินทรนาถคิดว่ากิจกรรมปั่นด้ายจะยังผลให้คนทั้งประเทศทำอะไรเหมือนๆ กันหมดราวกับจักรกลที่ไม่รู้จักคิด ท่านจึงวาดภาพว่าต้องหลีกหนีไปให้ไกลหากทำได้ แต่ความจริงคือ เราส่งเสริมกิจกรรมปั่นด้ายเพราะหวังให้คนอินเดียทุกกลุ่มตระหนักถึงผลประโยชน์เพื้นฐานที่ทุกคนมีร่วมกัน เหตุผลทุกข้อที่ท่านกวียกมา ไม่มีข้อไหนที่ข้าพเจ้าจะให้การสนับสนุนไม่ได้ โดยที่ข้าพเจ้ายังสามารถยืนยันในจุดยืนเรื่องกิจกรรมปั่นด้าย”

 

คานธีถกเถียงโดยยืนอยู่บนจุดยืนที่ชัดเจนของตนเอง นั่นคือประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับรพินทรนาถซึ่งมุ่งไปที่ประโยชน์ของคนในประเทศอินเดียเช่นกัน เพียงแค่มองต่างกันในแง่ของวิธีการ

แต่ท่าทีและลีลาของทั้งสองล้วนเป็นตัวอย่างของการแสดงความคิดเห็นอย่างมีอารยะ ใช้สติปัญญาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อก่อให้เกิดความงอกงามซึ่งกันและกัน

โดยเฉพาะบทความโต้ตอบครั้งสุดท้ายของคานธีที่แสดงความเคารพต่อความคิดที่แตกต่าง

ขณะเดียวกันก็ยึดมั่นในคุณค่าของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปลบหลู่ดูหมิ่นความคิดของอีกฝ่าย หรือกดให้ต่ำต้อยลง

ในแง่นี้ “เป้าหมาย” ของการถกเถียงจึงนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่งอกงาม

 

ต่อมาภายหลัง ก่อนที่คานธีจะเริ่มอดอาหารในเรือนจำเยระวธาเพื่อประท้วงการแยกเขตเลือกตั้งตามกลุ่มผู้นับถือศาสนา

เขาได้เขียนจดหมายถึง รพินทรนาถ ฐากูร เพื่อขอเสียงสนับสนุนในการตัดสินใจครั้งนี้

แต่ก่อนที่จดหมายจะถูกส่งไป คานธีก็ได้รับโทรเลขจากรพินทรนาถมีใจความว่า

“มันคุ้มแล้วที่จะสละชีวิตอันมีค่าของตนเพราะเห็นแก่ความสามัคคีและความมั่นคงทางสังคมของคนในชาติ หัวใจเศร้าหมองของผองเราจะตามติดการเสียสละอันสูงส่งของท่านด้วยความรักและคารวะ”

เมื่อคานธีเลิกอดอาหาร รพินทรนาถถึงกับเดินทางมาเยี่ยมที่ปูณาในวันนั้น และขับลำนำเพลงอันไพเราะที่คานธีชอบมากให้ฟังว่า “เมื่อหัวใจเหือดแห้งแล้งเข็ญ ความกรุณาฉ่ำเย็นของท่านก็หลั่งชโลม”

นี่เองคือการอยู่ร่วมกันของผู้มีปัญญา เมื่อมีความคิดเห็นที่แตกต่างก็แสดงออก แลกเปลี่ยน ถกเถียง ขณะเดียวกันก็รับฟังและเคารพความเห็นของอีกฝ่าย

แลกเปลี่ยนความคิด สู้รบทางปัญญา ด้วยรากลึกของความรักและปรารถนาดีต่อผู้อื่น มิใช่เพื่อยกตนข่มท่าน หรือเพื่ออวดโอ่ภูมิรู้ของตนเอง

เช่นนี้แล้ว ปัญญาชนเองย่อมมิเป็นความหวังในแง่ของการเสนอความคิดที่มีแสงสุกสว่าง หากตัวตนและวิธีปฏิบัติของพวกเขาเองก็เป็นดังตะเกียงส่องความหวังให้สังคมว่า เราสามารถแลกเปลี่ยนความคิดได้อย่างสุภาพ งดงาม มีอารยะ ทั้งยังไม่จำเป็นจะต้องโกรธเกลียดกัน

ในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เราต้องการตัวอย่างของความเคารพในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย และการลงมือขับเคลื่อนความคิดและการกระทำบนฐานของความรักและปรารถนาดี

สิ่งที่คานธีได้แสดงให้เห็นจึงมิใช่แค่ความคิด กิจกรรม และการเคลื่อนไหวทางการเมือง หากคือการแสดงออกทางจิตวิญญาณในเรื่องของสันติ อหิงสา ความรัก ความเมตตา และการต่อสู้โดยปราศจากตัวตน

ทั้งหมดผสานกันเป็นหนึ่งเดียว

 

สนใจอ่านเรื่องราวของคานธี ขอแนะนำหนังสือ “คานธีรำลึก : มหาบุรุษอหิงสา” สนพ.สวนเงินมีมา

นารายัน เดซาย : เขียน / อนิตรา พวงสุวรรณ โมเซอร์ : แปล / ร.จันเสน : บรรณาธิการ