ย้อนไทม์ไลน์และความหนักใจของไทย ก่อนถึงคำสั่งปล่อยตัววันนี้ กรณี “ฮาคีม อัล อาไรบี”

กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต อันมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกันไปแล้ว กับกรณีของ “ฮาคีม อัล อาไรบี” อดีตนักฟุตบอลเยาวชนทีมชาติบาห์เรน ซึ่งทำให้สถานการณ์ของประเทศไทยตอนนี้กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ด้วยการเป็น “ตัวกลาง” ของปัญหาที่เกิดขึ้น

อันดับแรกเลยคงต้องนั่งไล่เรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้อ่านเข้าใจก่อน เรื่องราวนั้นต้องย้อนไปตั้งแต่ปี 2010-2011 โลกเจอกับเหตุการณ์สำคัญคือ” “อาหรับสปริง”” คือการที่ชาติอาหรับบางชาติต่างลุกฮือต่อต้านรัฐบาลของตัวเอง

บางประเทศชนะก็สามารถล้มรัฐบาลตัวเองได้ อย่างเช่น อียิปต์, เยเมน หรือตูนิเซีย

ซึ่งในปี 2011 ในประเทศ “บาห์เรน” ได้เกิดเหตุการณ์อาหรับสปริงบ้าง มีประชาชนมากมายออกมาเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่รัฐบาลเองก็ไม่ยอม จนต้องมีการปราบปรามผู้ก่อจลาจลอย่างจริงจัง

มีการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา, กระสุนยาง

ฮาคีมถูกรัฐบาลบาห์เรนตั้งข้อหาให้ว่าอยู่ในเหตุการณ์ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วฮาคีมระบุว่าตัวเองได้ลงแข่งฟุตบอลอยู่ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุจลาจล และก็มีการถ่ายทอดสดอยู่ด้วย ดังนั้น จะไปอยู่ในเหตุการณ์ได้อย่างไร

แต่รัฐบาลไม่เชื่อจึงจับทรมานเพื่อให้สารภาพ

ร้ายแรงถึงขู่จะตีที่ขาให้เตะฟุตบอลไม่ได้อีกด้วย

สุดท้ายฮาคีมก็หนีออกจากบาห์เรนในปี 2014 ไปลี้ภัยอยู่ “ออสเตรเลีย” พร้อมกับไปเล่นให้ทีมสโมสรในดิวิชั่นรองๆ วนเวียนไปหลายทีม

จนสุดท้ายในปี 2017 ก็ได้สัญชาติผู้ลี้ภัย ซึ่งระหว่างที่อยู่ออสเตรเลีย บาห์เรนก็ไม่สามารถทำอะไรฮาคีมได้ นอกจากไปแจ้งคดีไว้กับ “องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ” (อินเตอร์โพล) เพราะว่าฮาคีมนั้นมีโทษจำคุก 10 ปีที่บาห์เรนอยู่ จึงมีชื่ออยู่ใน “หมายแดง”

แม้ว่าฮาคีมจะอยู่ที่ออสเตรเลีย แต่ก็ยังมีการวิจารณ์รัฐบาลบาห์เรนอย่างโจ่งแจ้ง ด้วยการวิจารณ์ผู้บริหารระดับสูงของบาห์เรนอยู่เป็นประจำ

เคยถึงขั้นโจมตี “ชีค ซัลมาน” ประธาน “สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย” (เอเอฟซี) ที่เป็นราชวงศ์ของบาห์เรน ยิ่งทำให้บาห์เรนอยากได้ตัวฮาคีมกลับมาลงโทษให้ได้

จนเหตุเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เมื่อฮาคีมพร้อมภรรยา ออกจากประเทศออสเตรเลียเพื่อไปฮันนีมูน โดยมีจุดหมายอยู่ที่ไทยแลนด์แดนสยาม

ซึ่งเมื่อมาถึงแล้ว ด้วยลิสต์รายชื่อของอินเตอร์โพลที่มีชื่อของฮาคีมอยู่

ดังนั้น ตำรวจไทยไม่มีทางเลือก ต้องจับตัวในฐานะผู้ร้ายหนีข้ามแดน

แต่เรื่องดังกล่าวนั้นถือว่ามีความผิดพลาดจากอินเตอร์โพล เพราะว่าตามหลักแล้วคนที่ได้สิทธิขอลี้ภัยทางการเมืองจะต้องไม่ติดลิสต์หมายแดง

ซึ่งอินเตอร์โพลพยายามที่จะขอยกเลิกแต่มันก็ไม่ทัน เพราะทางรัฐบาลบาห์เรน เมื่อรู้ว่าฮาคีมถูกจับกุมอยู่ที่ประเทศไทย จึงได้รีบส่งคำร้องขอให้รัฐบาลไทยส่งตัวฮาคีมกลับประเทศบาห์เรน เพื่อรับโทษตามกฎหมาย

ฮาคีมนั้นให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าหากตัวเขาถูกส่งกลับประเทศแล้ว จะต้องโดนทรมานแน่นอน และเขายังไม่อยากตาย ดังนั้น ไทยจึงเกิดความลังเลว่าควรจะส่งฮาคีมให้กับใครกันแน่ระหว่างบาห์เรน หรือว่าออสเตรเลีย จึงได้แต่กักตัวไว้ที่เมืองไทยเพื่อทำการขึ้นศาล

สุดท้ายก็เกิดเป็นความขัดแย้ง เพราะทั้งออสเตรเลีย นักกีฬาทั่วโลก เรียกร้องให้ไทยปล่อยตัวฮาคีม ด้วยแฮชแท็ก #Savehakeem

ที่ดูจะกระแทกจิตใจคนไทยมากที่สุดคือการที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวออสเตรเลียนรายหนึ่ง ออกมาทวีตว่า “เราช่วยนักฟุตบอลของคุณให้เป็นอิสระแล้ว ดังนั้น ถึงคราวของคุณปล่อยนักเตะเราให้เป็นอิสระบ้าง” โดยกล่าวอ้างถึงการช่วยเหลือทีม” “หมูป่าอคาเดมี”” ออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย นั่นเอง

เช่นเดียวกับสโมสรฟุตบอลทั้งในไทยและในออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเป็น “เพิร์ธ กลอรี่ เอฟซี” หรือ “สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด” ต่างก็พยายามยื่นมือให้ความช่วยเหลือตัวฮาคีมทั้งสิ้น ลากยาวกันไปจนถึงนักฟุตบอลอย่าง “ดิดิเยร์ ดร็อกบา”, “ร็อบบี้ ฟาวเลอร์” เป็นต้น

เรื่องราวใหญ่โตลุกลามไปถึงองค์การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมนไรท์วอทช์” ที่พยายามกดดันไทยให้ปล่อยตัวฮาคีม แกมข่มขู่ต่างๆ นานา ทั้งเรื่องจะส่งเรื่องถึงสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ให้แบนฟุตบอลไทยและบาห์เรน จนกว่าจะปล่อยตัวฮาคีม เป็นต้น

เรื่องนี้อาจจะไม่มีปัญหามาก ถ้าหากไทยกับบาห์เรนเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดี (ถึงขั้นดีมากๆ) ก่อนที่ฮาคีมจะถูกจับที่เมืองไทย “เจ้าชายคาลิฟา” นายกรัฐมนตรีบาห์เรนก็เดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทย เข้าพบกับ “บิ๊กตู่” “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

หรืออย่างตอนงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของในหลวงรัชกาลที่ 9 เจ้าชายคาลิฟาเสด็จเดินทางมาด้วยพระองค์เอง

ตอนนี้ไทยในสถานะคนกลาง จะขยับตัวอะไรก็มีทั้งผลดีและผลเสียตามมาทั้งสิ้น ถ้าปล่อยฮาคีมให้กับออสเตรเลีย ก็อาจถูกบาห์เรนตัดความสัมพันธ์ทางการค้า มีผลต่อเศรษฐกิจประเทศ

แต่ถ้าส่งฮาคีมให้กับบาห์เรน ก็อาจจะเจอทั่วโลกประณามว่าไร้มนุษยธรรมก็ได้เช่นกัน

แต่จากเรื่องทั้งหมดที่เกิดมา สิ่งที่ยังสงสัยคือการให้ข้อมูลทั้งจากของไทยและของออสเตรเลีย คือแหล่งข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยบอกมาว่า ตำรวจสากลของออสเตรเลียเป็นผู้ที่แจ้งเตือนเรื่องว่าฮาคีมนั้นมีหมายแดงของอินเตอร์โพลมายังประเทศไทย ตอนที่เดินทางออกมาจากประเทศออสเตรเลีย

ดังนั้น ไทยจึงได้ทำการจับกุม

แต่ทางฝั่งของสถานทูตออสเตรเลียนั้น บอกว่า ทางฝั่งรัฐบาลเขาก็ต้องการให้ส่งตัวฮาคีมกลับออสเตรเลีย เพราะเป็นผู้ลี้ภัยและมีถิ่นที่อยู่ถาวรที่ประเทศออสเตรเลีย

สิ่งที่น่าปวดหัวสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ คงจะเป็นเรื่องที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ พยายามเรียกร้องไปถึงทั้งองค์กรกีฬาระดับนานาชาติอย่างสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า), คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) พยายามกดดันประเทศไทยทุกทาง ให้เหลือทางออกเดียวคือการส่งตัวฮาคีมกลับออสเตรเลีย ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องเจอกับปัญหาในด้านอื่นๆ แทน

เอาจริงๆ ก็แอบขัดใจอยู่เล็กน้อย ที่ผ่านมาฟีฟ่ามักจะบอกว่า การเมืองไม่มีสิทธิมาแทรกแซงการทำงานของวงการฟุตบอล แต่ครั้งนี้กลับจะให้ฟีฟ่าเข้ามาใช้กีฬาเพื่อแทรกแซงทางการเมืองซะอย่างนั้น แลดูมันจะเป็นการแหกกฎของตัวเองหรือเปล่า

เรื่องนี้ทั้งฟีฟ่าและไอโอซีควรจะอยู่กันเฉยๆ ปล่อยให้กระบวนการศาลของไทยเป็นผู้ตัดสิน และรอให้ทุกอย่างมีข้อสรุปออกมาค่อยมาเคลื่อนไหวก็ยังไม่น่าจะสายเกินไป

แต่สุดท้ายแล้ว ด้วยความที่เป็นประเทศไทย ยังคงเชื่อว่าจะสามารถผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ไปได้ด้วยดีแบบบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น