จัตวา กลิ่นสุนทร : สถาบันพระมหากษัตริย์ (จบ)

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ไทย หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงแม้ว่าจะทรงดำรงอยู่ในฐานะสูงสุด เป็นเทพเจ้า แต่ด้วยอิทธิพลของศาสนาพุทธ ได้ทรงทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเรานั้น กลับไปอยู่ในคติใกล้เคียงกับคติที่คนไทยตั้งไว้

คือ ทรงเป็นเหมือนกับหัวหน้าครอบครัว ทรงมีความใกล้ชิดกับประชาชน เป็นที่ปกปักรักษาประชาชนทั่วไป

เช่นเดียวกับพระเจ้ารามคำแหง กษัตริย์กรุงสุโขทัย เริ่มต้นด้วยเป็นเทพเจ้า กรุงสุโขทัยเป็นมนุษย์แต่ทางวัฒนธรรมได้เปลี่ยนไปทั้งสองส่วน ต่อจากรัชกาล พระเจ้ารามคำแหง ดูศิลาจารึกพระเจ้าลิไท พระเจ้าเลอไท ราชาศัพท์เกิดขึ้นใหม่ แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยเริ่มเป็นเทพเจ้าขึ้น

ส่วนทางด้านอยุธยานั้น ลดความเป็นเทพเจ้าลงมาหาความเป็นมนุษย์ โปรดเกล้าฯ ให้ถวายฎีกา แล้วก็ทรงใช้พระราชอำนาจในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองโดยไม่คำนึงถึงหลักเทวราช

อย่าง พระนเรศวรมหาราช เสด็จออกทำราชการสงคราม ทรงถือดาบออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพลทหาร

จนพระเจ้ากรุงหงสาวดีทนไม่ได้ถึงกับพูดขึ้นว่า “นเรศวรนี้เหตุใดจึงประพฤติการต่ำช้าจนเหมือนกับเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ” เจ้าพม่าเขาไม่ลงไปรบกับทหาร

 

ความเปลี่ยนแปลงค่อยเป็นไปทีละน้อยจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์พระราชวงศ์จักรีเป็นพระราชวงศ์ที่ทรงบำเพ็ญกรณีย์เพื่อยกฐานะต่อประชาชนของพระองค์ให้สูงขึ้น และลดราชอิสริยยศ ตลอดจนฐานะต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ลงมาจนเกือบใกล้เคียงกับมนุษย์

การเกณฑ์แรงงานหรือเกณฑ์เลข อย่างในสมัยอยุธยาเกณฑ์ได้ทั้งปี ถึงรัชกาลที่ 2 โปรดให้ลดลงมาเหลือเพียง 2 เดือน แล้วไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน เกณฑ์เพียง 3 วัน 7 วัน แต่ไม่เกิน 2 เดือน

การณ์อย่างนี้เล่ามาแล้วคนจะมาดูขบวนเสด็จไม่ได้ ต้องยิง ต้องอะไร–สั่งห้ามเด็ดขาด

ถึงรัชกาลที่ 3 ก็ทรงลดลงไปเรื่อยอีก ความหรูหราในราชสำนักต่างๆ ตัดไปหมด ทรงราชการเหมือนกับหัวหน้าราชการ เสด็จออกทุกวันอยู่จนดึกดื่น ไม่ได้ประทับอย่างที่เสด็จออกมหาสมาคม ประทับบนเตียงบนตั่ง ฉลองพระองค์ก็ไม่สวมยี่สก ว่าการว่างานจนมีเรื่องเล่า–คนโบราณเล่า–ผมต้องขอเล่าสักนิด

คือ ถึงเสด็จออกอย่างนั้นเป็นราชการปกติ ก็ต้องมีเสียงประโคมเป็นธรรมดาของในหลวง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นั้น ก่อนที่จะประโคมได้ต้องดูให้ดีว่าจะถือว่าเสด็จออกตรงไหน พอเสด็จออกเห็นพระองค์แล้วขุนนางต้องนั่งเฉยไม่ถวายบังคมมาทรงจุดเทียนบูชาพระพุทธรูปปิดทองพระ พระสงฆ์ถวายศีลแล้ว เสร็จแล้วขึ้นพระแท่น หรือบนเตียงตั่ง เปลี่ยนผ้าที่ทรงใช้ทรงเมื่อเข้าพิธีสงฆ์ เอาลงมารัดพระองค์ แปลว่าเอางานเอาการแค่นั้นก็ยังประโคมไม่ได้ ต้องหยิบพระกล้องยาเส้นยัดยา ตอนนี้มองดูข้าราชการหมด ใครมาไม่มารู้กัน ก็ยัดยาเส้นเอาชุดจุดพ่oควันสัก 2-3 ที แล้วจึงประโคมได้ถือว่า

เสด็จออกครบเครื่อง ท่านทรงราชการจนดึกจนดื่น–นี่ทรงลงมาเป็นหัวหน้าบริหาร

 

ถึงรัชกาลที่ 4 ก็ยกเลิกราชประเพณีในการที่จะเห็นว่าเป็นเทพเจ้ามากมาย ทรงพบปะกับประชาชน ทรงรับฎีกาเอง ประชวรเสด็จออกไม่ได้ก็ให้พระโอรสออกรับแทน ถือเป็นเรื่องสลักสำคัญ

พอถึงรัชกาลที่ 5 เลิกประเพณีหมอบคลาน ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าแบบอารยประเทศ มีกระทรวง ทบวง กรม ตลอดมา

จนถึงรัชกาลที่ 6-7 ก็ลดพระองค์เรื่อยมา ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้หมดไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่หมดไปเมื่อวันที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมเสียภาษีรัชชูปการเท่ากับราษฎรของพระองค์ท่าน

ภาษีรัชชูปการนั้นตั้งอยู่บนหลักที่ว่า เป็นเจ้าของชีวิตคนทั่วประเทศ มีพระราชอำนาจที่จะเรียกตัวคนมาใช้ได้ จะเป็นการศึกสงคราม หรือปกติผู้ใดไม่สามารถมาได้ต้องถวายเงินสำหรับจะได้ทรงจ้างคนอื่นมาทำราชการแทน เงินนี้เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า ค่าราชการ ถึงกรุงเทพฯ เก็บ 6 บาทเรียกว่ารัชชูปการ หมายความว่าจ่ายเงินถวายไปแทนตัวเพื่อจะได้ไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปรับราชการ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสียรัชชูปการก็เท่ากับทรงถือพระองค์เท่ากับคนทั้งปวง ไม่ทรงเป็นเจ้าชีวิตอีกต่อไปแล้ว เป็นราษฎรเต็มตัว ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยพฤตินัยสิ้นสุดมาเท่าทุกวันนี้ และเป็น “ประชาธิปไตย” ตั้งแต่วันนั้น

 

พระราชวงศ์จักรีได้ทรงกระทำอย่างนั้นมาโดยตลอด และทรงพัฒนาประเทศต่อเนื่องมาทุกรัชกาลไม่ได้ขาด จนบ้านเมืองเรามาถึงทุกวันนี้

สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผมไม่อยากพูด ท่านทั้งหลายคงทราบดีอยู่แล้วว่า ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจยิ่งกว่าใครทั้งหมดในแผ่นดินไทย เกือบไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์คนไหนจะทำงานได้มากขนาดนี้ พูดเป็นสุภาษิตโบราณก็เหมือนว่า อาบพระเสโทต่างพระอุทกธารา–คือ “อาบเหงื่อต่างน้ำ” ไม่มีอีกแล้ว

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในใจของคนไทยทุกคน ถ้าจะว่าในทางบุญญาภินิหาร รัชกาลที่ 9 นี้แหละที่คนไทยได้เห็นบุญญาภินิหารของพระองค์มากที่สุด กระผมได้พบด้วยตนเอง–ผมเองจะว่าคนโบราณก็โบราณ แต่ความรู้วิชาสมัยใหม่ก็ยังมีอยู่ ได้เห็นเองบ้าง ไม่เห็นบ้าง และได้รับคำบอกเล่าจากคนอื่นที่เชื่อถือได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ คุณหลวงสุรัตน์ณรงค์ ราชองครักษ์เล่าให้ผมฟัง–

เมื่อครั้งเสด็จประพาสทางชายพรมแดน ประทับเรือพระที่นั่งเสด็จฯ ทอดพระเนตรแม่น้ำฝั่งไทย พอไปถึงตำบลหนึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมเวลานั้นยืนอยู่ข้างพระองค์คอยกราบบังคมทูล ก็กราบบังคมทูลว่า–บ้านนี้เรียกว่าอย่างนั้น–ตำบลนั้นชื่ออะไร–ราษฎรมีเท่าไร ทำมาหากินอะไร–

ไปถึงตำบลหนึ่งเรียกว่า “วังจระเข้” ก็ทรงพระสรวล ทรงมีพระราชดำรัสว่า แล้วมีจระเข้ไหม ผู้ว่าฯ ก็กราบบังคมทูลว่า ไม่มี สมัยนี้เรือไฟ เรืออะไรเยอะ จระเข้คงไม่มีอาศัยอยู่ได้ก็ต้องหลบหนีไป ก็ทรงมีพระราชดำรัสว่า-เสียดายจริงฉันยังไม่เคยเห็นจระเข้ที่มันอยู่ตามธรรมชาติ พอมีพระราชดำรัสขาดพระโอษฐ์เท่านั้น ปรากฏจระเข้ขึ้น 2 ตัว ก็ทรงพระสรวลชี้ให้ผู้ว่าฯ ดูว่าเห็นไหม

ผู้ว่าฯ คืนนั้นกลับมาจวนแล้วเมา บอกว่าจระเข้มันทำกูเสีย ท่านก็เลยจับได้ว่าไม่ได้ไปตรวจท้องที่

 

ผมเคยเห็นยิ่งกว่านั้น เสด็จฯ เมืองเพชร เขาปลูกปะรำรับเสด็จใหญ่หน้าศาลากลาง 2 ปะรำ ระหว่างที่อยู่กลางแจ้งกับที่ไปถึงราษฎรเฝ้าฯ เต็มปะรำ เพราะขณะนั้นฝนตกหนักที่สุด เมื่อเสด็จฯ เข้าทรงเยี่ยมราษฎรในปะรำแรกฝนก็ยังตกหนัก ตกจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ผมตามเสด็จฯ พอถึงหมวดปะรำที่จะเสด็จฯ ออกไปอีกปะรำหนึ่งฝนก็ยังตกอยู่ คุณหลวงสุรัตน์ณรงค์ ราชองค์รักษ์ถวายให้คนกางกลด พระองค์ทรงยับยั้งบอกคุณหลวงว่า ก็เขาเปียก เราก็เปียกได้

ว่าแล้วเสด็จฯ ออกไป–ฝนหยุดตก นี่เอาไปสาบานที่ไหนก็ได้ว่าเห็นกับตา แปลกใจจริงๆ ไม่มีฝน เสด็จฯ ไปเข้าปะรำโน้น พอลับพระองค์ฝนตกจั้กๆ อย่างเก่าอีกทันที พวกที่ตามเสด็จฯ ไม่ต้องพูดละ–โชกไปด้วยกันหมดหนีไม่ทัน แม้องค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ยังทรงเปียก เสด็จฯ คล้อยตาม นี่ก็เห็นกันมาแล้ว และอื่นๆ อีกมากมายเหลือเกิน จะเล่าไปก็ไม่มีที่สิ้นสุด

ผมจึงอยากจะบอกว่า เรามีองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงมี “บุญญาภินิหาร” อย่างยิ่ง ในคราวนี้ก็เป็นเกียรติของคนไทยทั้งประเทศ เพราะเรามี “เทพเจ้า” ปกครอง

และนอกจากนั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยังทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นนักประชาธิปไตย เป็นพระมหากษัตริย์ของประชาชน ทรงราชการมิได้ว่างเว้น ทรงงานมากกว่าใครทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่คนไทยช่วยกันระลึกถึงเพื่อเป็นกำลังใจของพวกเรา

และในการที่จะฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีนี้ ผมหวังว่าจะได้มีการสมโภชแสดงความจงรักภักดีอย่างยิ่งใหญ่ ต่อองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ พระบรมราชวงศ์จักรี