วิเคราะห์สมรภูมิ สื่อ-เอเยนซี่-ทีวีดิจิตอล ใครตาย!-ใครรอด?

สู้เพื่อรอด

สู้กันมาหลายปี ด้วยหวังจะเป็นผู้รอดชีวิตจากสมรภูมิทีวีดิจิตอล แต่กระนั้นผลที่ได้ก็ยังไม่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้คือ มีผู้บาดเจ็บมากมาย หลายสถานีขาดทุนหนัก

หากกระนั้นก็ยังต้องสู้ ในสภาพที่คนในวงการหลายคนบอกตรงกันว่า ต้องทุ่มหมดหน้าตัก

หนึ่งในทางเลือกของการสู้นั้น แน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องของละคร ที่นอกจากช่อง 3, ช่อง 7, ช่อง 8, ช่องวัน และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ซึ่งเป็นช่องหลักๆ ที่ทำละครที่เห็นๆ กันอยู่

ล่าสุดอมรินทร์ทีวีกับพีพีทีวีก็รุกเข้าสู้ เริ่มมาทำเช่นกัน

เหตุผลนั้นก็เพราะ ละครได้รับการพิสูจน์มายาวนานว่าเป็นประเภทรายการที่คนนิยมดูมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงไพรม์ไทม์ หลังข่าวภาคค่ำ อันเป็นช่วงที่มีคนดูโทรทัศน์เป็นจำนวนมาก และเป็นเวลาของการทำมาหารายได้ให้สถานี

สิ่งที่ตามมาจากการนี้คือ นอกจากคนดูจะได้เห็นความเข้มข้นของผลงานที่ทุกช่องต้องพิถีพิถันเพื่อเรียกเรตติ้งแล้ว

ในส่วนช่อง 3 ยังมีมาตรการใหม่ ไม่ให้เผยแพร่ “บทละครโทรทัศน์” ผ่านหนังสือเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นหนังสือที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ มีเนื้อหาเกี่ยวกับละครเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดว่าไม่อยากให้คนรู้ตอนจบก่อนละครออนแอร์ ด้วยเกรงจะส่งผลให้ไม่ติดตามการออกอากาศสด

ส่วนในหนังสือพิมพ์รายวันจากที่เคยลงกันทุกเรื่องก็ลดลงเหลือเพียงบางเรื่องที่ช่องอนุญาตให้

ผลจากมาตรการนี้ทำให้มีหนังสือเฉพาะกิจบางเล่มเลิกกิจการไป ด้วยเหตุว่าปกติละครที่จะนำมาตีพิมพ์ได้ก็มีแต่ของช่อง 3 กับช่อง 7 เมื่อช่อง 3 ไม่ให้ เนื้องานรวมถึงรายได้ก็ย่อมลดน้อยถอยลง

ในส่วนนิพนธ์ ผิวเณร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตละคร บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด ซึ่งดูแลการผลิตละครของช่องวัน 31 ก็ว่า ในความเห็นของเขา “การไม่รู้ตอนจบ” ของละครย่อมส่งผลดีกว่าในแง่ของคนดู

“ต้องเข้าใจว่าคนดูดูไปเพื่ออะไร ถ้าเดาเรื่องไม่ได้ อะดรีนาลีนก็หลั่ง ความตื่นเต้นมันจะมากกว่าที่เดาได้”

เรื่องนี้แฟนละครเรื่อง “เมีย 2018” คงนึกออก

“เดาได้มันก็เดิมๆ คนก็ไม่ดู ไปดูอย่างอื่นดีกว่า ละครมันทำงานกับความสุข ณ เวลาดูได้ดีกว่าด้วยความไม่รู้ของคนดู”

ด้วยเหตุนี้ อย่าว่าแต่การเผยแพร่บทละครโทรทัศน์ก่อนละครฉายจบเลย เพราะแม้แต่การนำบทประพันธ์ที่คนดูรู้อยู่แล้วว่าต้องจบอย่างไรมาทำเป็นละคร ช่องวันยังคิดหนัก

“นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่เราไม่ค่อยทำจากบทประพันธ์”

“ตอนนี้คนดูฉลาดขึ้น แล้วมีคอนเทนต์รายล้อมรอบตัว เขาสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ต่างๆ ได้เร็วขึ้น ดังนั้น ถ้าเขาจะตั้งใจดู 1-2 ชั่วโมง มันก็ต้องเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยดู”

ขณะที่รายการอื่นๆ นั้น นอกจากรายการหลัง 23.00 น.จะอยู่ยาก ก็ขนาดรายการเรตติ้งสูงอย่าง “กิ๊กดู๋ สงครามเพลงเงินล้าน” ยังได้รับผลกระทบ

คิดดูก็แล้วกัน

ที่เอเยนซี่เมินช่วงเวลานั้น คนในแวดวงวิเคราะห์กันว่า น่าจะเป็นเพราะความที่จำนวนช่องมีเยอะ และก่อนหน้าจะถึงเวลาห้าทุ่มก็มีรายการดีๆ อยู่มาก งบฯ โฆษณาก้อนเดียวที่มีอยู่ และเคยใช้กับแค่ 4 ช่องก็อาจจะกระจายไปลงรายการเหล่านั้น

อีกทั้งเอาเข้าจริง กว่ารายการจะมา บางทีก็เกินเวลาห้าทุ่มไปอีก ด้วยละครหลังข่าวนับวันยิ่งยาวขึ้นๆ กว่ารายการจะจบจริงจึงเป็นหลังเที่ยงคืน ซึ่งถ้าหลังเที่ยงคืนแล้ว อย่าได้นึกถึงโฆษณา

ดังนั้น รายการห้าทุ่มที่ว่าอาจจะหาโฆษณาได้แค่ครึ่งแรกของรายการ ที่ทำให้ยิ่งอยู่ไม่ไหวกันใหญ่

ที่เห็นกันตอนนี้แต่ละช่องจึงใช้วิธีนำภาพยนตร์เก่าๆ หรืองานเก่าๆ ที่เคยซื้อไว้มาฉายวนไป

ถามว่ามีโอกาสไหมที่สถานการณ์ของช่วงเวลาดังกล่าวนี้จะกลับมาดี?

คำตอบคือ ต้องดูองค์ประกอบ 2 อย่าง หนึ่งคือ งบฯ โฆษณาจะมีเพิ่มขึ้นไหม

และสอง ผู้บริโภคจะรอดูไปจนถึงเที่ยงคืนหรือเปล่า?

รายการเกี่ยวกับเพลงที่บ่นๆ กันว่าเบื่อมาหลายปี เพราะมีเยอะเหลือเกินนั้น เอาเข้าจริงก็ยังมีคนดู แต่ที่เปลี่ยนไปคือ น่าจะมีรายการเกี่ยวกับการเต้นมากขึ้น

ขณะเดียวกันรายการประเภทซีซั่นนอลก็น่าจะเพิ่มด้วยเช่นกัน

รายการประเภทนี้คือรายการที่ไม่ออกอากาศประจำตลอดทั้งปี แต่มีมาเป็นช่วง เป็นฤดูกาล อย่าง “เดอะ วอยซ์” เป็นตัวอย่าง

ถามว่าทำไมรายการประเภทนี้ถึงมา คำตอบก็อย่างที่บอกไปแล้ว ว่านี่คือช่วงที่ต้องทุ่มหมดหน้าตัก

เพราะฉะนั้น ต้องหารายการที่เป็นกระแสมาดึงดูดความสนใจผู้ชมให้ได้ และอะไรจะสร้างกระแสได้ดีเท่ารายการประเภทซีซั่นนอล ซึ่งเมื่อเทียบแล้วน่าจะทำเรตติ้งได้ดีกว่ารายการทั่วไป 20-30% ขณะเดียวกันยังได้รับผลตอบรับที่ดีในโลกออนไลน์ ที่มักจะมีการพูดถึงในทุกๆ สัปดาห์ของการออกอากาศรายการประเภทนี้

หากก็น่าจะคุ้มกับค่าลิขสิทธิ์ที่ส่วนใหญ่มักซื้อมาจากต่างประเทศ และคุ้มกับการลงทุนอื่นๆ ที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฉากประกอบรายการที่จะต้องอลังการงานสร้าง คุ้มกับรางวัลที่จะต้องมอบให้ผู้แข่งขัน ซึ่งแน่นอนต้องเป็นรางวัลใหญ่ๆ

นั่นหมายถึงว่า ถ้าทำออกมาแล้วโดน ดึงคนดูได้ตลอดช่วงเวลา 3 เดือนที่ออกอากาศ ก็จะทำให้โอกาสอยู่รอดของสถานีมีมากขึ้น

ความอยู่รอดที่เป็นเป้าหมายสูงสุด