สุจิตต์ วงษ์เทศ : งานศพดั้งเดิม เกี่ยวข้องกับขวัญ ไม่วิญญาณ

ลายขวัญบนภาชนะเขียนสีบ้านเชียง จ. อุดรธานี ใช้ฝังกับศพ รอขวัญคืนร่าง [ลายเส้นคัดลอกลายเขียนสีบนเครื่องปั้นดินเผา ได้จากหนังสือวัฒนธรรมบ้านเชียงในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เรียบเรียงโดย ชิน อยู่ดี (กรมศิลปากรจัดพิมพ์ในงานเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2515)]

งานศพตามประเพณีดั้งเดิมของไทย มีพิธีกรรมต่อเนื่องยาวนาน และมีมหรสพเฉลิมฉลองสนุกสนานตลอดงานหลายวัน

ผมไม่เคยตั้งคำถามเรื่องงานศพของไทยว่าเพราะอะไร? ทำไม? ทั้งๆ เคยเป็นเด็กวัดอยู่กับโลงศพและงานศพ ตั้งแต่วัดบ้านนอกถึงวัดกรุงเทพฯ

เมื่อเป็นนักเรียนโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ต้องไปขุดค้นหลุมศพพบโครงกระดูกมนุษย์และสัตว์อายุนับพันๆ ปีมาแล้ว ผมก็ยังไม่เคยมีคำถาม จึงไม่เคยมีคำอธิบายว่าเพราะอะไร? ทำไม?

มโหระทึก

เริ่มมีคำถามเกี่ยวกับงานศพ เมื่อพบข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโบราณวัตถุ ที่นักโบราณคดีเรียก กลองมโหระทึก แต่ทำด้วยโลหะสำริด ซึ่งเป็นโลหะผสมที่ชาวบ้านเรียก ทองสำริด

มโหระทึกมีปุ่มตรงกลางหน้ากลอง ทำให้เชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดเครื่องดนตรีที่ทำจากโลหะเรียก ฆ้อง

ด้านข้างกลองมโหระทึกมีลายสลักเป็นรูปเรือ ที่นักปราชญ์โบราณคดีตะวันตกอธิบายว่าเป็น Ship of the death “เรือแห่งความตาย” หรือบางทีบอกว่าเป็น “เรือส่งวิญญาณ” เพราะกลองนี้ใช้ตีประโคมส่งวิญญาณคนตายไปเมืองฟ้า (ไม่เรียกสวรรค์) ซึ่งเป็นที่สิงสู่อยู่ประจำของคนตาย

นับแต่ครั้งนั้นผมเห็นว่าประเพณีพิธีกรรมของคนหลายพันปีมาแล้ว (ยุคก่อนประวัติศาสตร์) ใช้เครื่องมือโลหะตีประโคมในงานศพ สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้

แสดงว่าคนไทยปัจจุบันไม่ได้มาจากไหน? เพราะเป็นทายาททางวัฒนธรรมสืบทอดประเพณีตีประโคมงานศพเหมือนคนดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว

ตรงกันข้ามระบบการศึกษาไทยขณะนั้น ครอบงำว่าคนไทยเป็นเชื้อชาติบริสุทธิ์ มีแหล่งกำเนิดอยู่เทือกเขาอัลไต แล้วถูกรุกรานจนต้องอพยพยกโขยงถอนรากถอนโคนลงมาอยู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน

ปี่พาทย์งานศพ

นานหลายปีต่อมาหลังจากนั้น ได้คลุกคลีกับวงปี่พาทย์และโขนละคร ทั้งในโรงละครแห่งชาติ กรมศิลปากร และในงานศพตามวัดวาอารามต่างๆ โดยเฉพาะงานศพครูบาอาจารย์ด้านโขนละครและปี่พาทย์

ปี่พาทย์งานศพสนุกสนานและอร่อยมากในคืนก่อนวันเผา (ที่จะมีตอนบ่ายหรือเย็นรุ่งขึ้น) ผมอยู่ในวง (ไม่ได้เล่น เพราะเล่นไม่เป็น) เพื่อเสพบรรยากาศของทำนองเพลงกับคนบรรเลงปี่พาทย์จนสว่างคาตาหลายคราว

ประสบการณ์เหล่านั้น เมื่อประกอบกับข้อมูลทางชาติพันธุ์ของนักมานุษยวิทยา และนักประวัติศาสตร์โบราณคดี รวมถึงวรรณกรรมทั้งของหลวงและของราษฎร์ ทำให้สังหรณ์ว่างานศพตามประเพณีของไทยเป็นความเชื่อเรื่องขวัญ ว่า คนตาย ขวัญไม่ตาย โดยไม่เกี่ยวกับวิญญาณตามความเชื่อของศาสนาพุทธ ผมเคยเขียนไว้เมื่อ พ.ศ.2556 (ให้คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พิมพ์รวมในหนังสือ สืบสาน ฉบับพิเศษ พ.ศ.2556 หน้า 12-23)

จะยกสาระสำคัญมาดังนี้

คนตาย ขวัญไม่ตาย

คนแต่ก่อนเชื่อว่าแม้เจ้าของขวัญจะตายไปแล้ว แต่ขวัญยังไม่ตาย ขวัญของผู้ตายจะไปรวมพลังกับขวัญบรรพชนคนก่อนๆ (ที่ฝังอยู่ลานกลางบ้าน หรือใต้ถุนเรือน บริเวณเดียวกัน) เพื่อปกป้องคุ้มครองชุมชนและเผ่าพันธุ์ พร้อมทั้งบันดาลความอุดมสมบูรณ์ แต่บ้างก็เชื่อว่าขวัญหาหนทางกลับเหย้าเรือนเดิมและร่างเดิมของตนไม่วันใดก็วันหนึ่ง

(ครั้นได้รับคติพุทธศาสนาแล้ว ความเชื่อก็ปรับเปลี่ยนไปว่าเมื่อคนตายแล้วก็ไม่มีขวัญ แต่จะมีวิญญาณล่องลอยไปใช้กรรม เมื่อหมดกรรมก็เกิดใหม่)

วาดรูปขวัญ บนหม้อบ้านเชียง

ภาชนะเขียนสี ที่บ้านเชียง (อ.หนองหาน จ.อุดรธานี) อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว มีลวดลายต่างๆ กัน

แต่ที่พบมากจนเป็นลักษณะเฉพาะ แล้วเป็นที่รู้จักทั่วไปเรียกลายก้นหอย (แบบลายนิ้วมือ) นั่นคือลายขวัญ ที่คนยุคนั้นทำขึ้นเพื่อทำขวัญ เรียกขวัญ สู่ขวัญ คนตาย

ลายขวัญ

ลายเขียนสีบนหม้อบ้านเชียงเป็นลายวงๆ วนเวียนซ้อนกันหลายชั้น (คล้ายลายก้นหอย) ควรเป็นลายขวัญ เสมือนมีขวัญของคนตายอยู่ในหม้อใบนั้น

รูปร่างขวัญเป็นเส้นวงๆ วนเวียนซ้อนกันหลายชั้นตามต้องการ โดยช่างเขียนเคยเห็นลักษณะที่เชื่อว่านั่นคือขวัญ จากบริเวณโคนเส้นผมบนกลางกระหม่อมของทุกคน แล้วยังเห็นตามโคนเส้นขนที่เป็นขวัญบนตัวสัตว์ เช่น ควาย, วัว

เรียกขวัญใส่หม้อ

คนแต่ก่อนมีพิธีเรียกขวัญใส่หม้อเพื่อเซ่นวัก หรือเอาไปทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ขวัญอยู่เป็นที่ทาง ไม่ร่อนเร่พเนจร เช่น เอาหม้อไปไว้หอผี หรือที่สาธารณะปากทางเข้าชุมชน

เป็นต้นแบบให้คนสมัยต่อๆ มา เชิญวิญญาณคนตายใส่หม้อเมื่อเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง หลังรับความเชื่อเรื่องวิญญาณจากศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธแล้ว จนไม่เข้าใจเรื่องขวัญ

ขวัญ

ขวัญ คือส่วนที่ไม่เป็นตัวตนของคนและสัตว์ ซึ่งมีในความเชื่อตรงกันของคนทุกชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์ ว่าคนเรามีส่วนประกอบสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นตัวตน ได้แก่ ร่างกาย กับส่วนที่ไม่เป็นตัวตนได้แก่ ขวัญ

ขวัญมีหน่วยเดียว แต่ฝังกระจายอยู่ทั่วทุกแห่งหรือทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่เกิดมามากกว่า 30 แห่ง เช่น ขวัญหัว ขวัญตา ขวัญมือ ขวัญแขน ขวัญขา ฯลฯ และมีความสำคัญมากเท่าๆ กับส่วนที่เป็นตัวตนหรือร่างกาย

ทั้งยังมีความเชื่อร่วมกันอีกว่าถ้าขวัญอยู่คู่กับร่างกาย เจ้าของขวัญจะมีความสุขสบาย แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกายไป เจ้าของขวัญจะไม่เป็นปกติ อาจเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงตาย

เมื่อใดก็ตามที่เจ้าของขวัญเจ็บป่วยมาก แสดงว่าขวัญไม่ได้อยู่กับตัว ผู้ใหญ่ในครอบครัวต้องทำพิธีเรียกขวัญให้กลับเข้าสู่ตัว เพื่อให้เจ้าของขวัญอยู่ดีมีสุข

สัตว์และสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและการทำมาหากินของคนล้วนมีขวัญทั้งนั้น เช่น ขวัญวัว ขวัญควาย ขวัญเรือน ขวัญข้าว ขวัญเกวียน ขวัญยุ้ง ฯลฯ