หนุ่มเมืองจันท์ : อยากจำกลับลืม

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันนี้ก็เหมือนกับหลายครั้งในวันที่ต้องปิดต้นฉบับ

คือ นึกไม่ออกว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีคนถามบ่อยมากเมื่อรู้ว่าผมเขียนคอลัมน์นี้ทุกสัปดาห์มาเป็นเวลาเกิน 20 ปีแล้ว

“พี่เคยตัน ไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไรดีบ้างไหม”

อยากจะให้เขามาถามตอนนี้จังเลย

จะได้ตอบแบบเต็มปากเต็มคำ

“กำลังตันอยู่เลยครับ”

ก่อนจะปิดต้นฉบับ ผมรู้สึกว่าสัปดาห์นี้น่าจะสบาย มีหลายเรื่องที่น่าเขียน

แต่พอนั่งลงปั๊บ

สมองก็เริ่มว่างเปล่า

บางประเด็นที่จำได้ก็นึกไม่ออกแล้วว่าจะเล่าเรื่องแบบไหน

ตอนหลัง “ความจำ” ไม่ค่อยดีครับ

ลืมอยู่เรื่อย

เช่น ลืมว่าเคยยืมเงินใคร

แฮ่ม…พูดเล่นครับ

แต่จริงๆ ก็อยากลืมเหมือนกัน

วันก่อนไปงานครบรอบ 14 ปี อุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park ก็พูดถึงเรื่องนี้

เขาเชิญให้ไปร่วมวงเสวนาเรื่อง “ทำไมต้องเรียน รู้ที่จะเรียน”

เหตุผลที่รับเชิญ เพราะเขาบอกว่าเป็นวงเสวนาจากมุมมอง “คนรุ่นใหม่”

ชอบครับ ได้เป็น “คนรุ่นใหม่” ในวัยนี้

น้องพิธีกรถามขึ้นมาในโลกยุคดิจิตอล มีอะไรที่ต้องเรียนรู้ หรือต้องลืมสิ่งที่เคยรู้มาเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่บ้างไหม

ครับ การเรียนรู้ “สิ่งใหม่” สำหรับ “คนรุ่นเก่า”

บางทีเราต้องลืมวิธีคิดหรือความรู้เดิมที่เราเชื่อมั่นมายาวนาน

เพราะกติกาของโลกยุคใหม่เปลี่ยนไปแล้ว

เหมือนสมัยก่อน เราเล่นฟุตบอล

แต่ยุคนี้เขาเล่นบาสเกตบอล

กติกาของเกมเปลี่ยนไป

ถ้าเรายังใช้ “เท้า” เตะบอลเข้าห่วง

เราจะไม่ได้คะแนน

และเสียฟาวล์ด้วย

ผมบอกน้องว่าผมโชคดีมาก

เพราะตอนนี้ไม่ต้อง “แกล้งลืม” แล้ว

“ลืม” จริงๆ

ในอดีต ผมเป็นคนที่เชื่อมั่นใน “ความจำ” ของตัวเองมาก

ครั้งหนึ่ง ผมเคยสัมภาษณ์นักการเมืองรุ่นใหญ่คนหนึ่งเพื่อเขียนเป็นประวัติของเขา

สัมภาษณ์ตั้งแต่เย็นจนเกือบเที่ยงคืน

ประมาณ 6 ชั่วโมง

สมัยนั้นยังใช้เทปคาสเส็ต ถ้าจำไม่ผิดประมาณ 6 ม้วนครับ

ผมนั่งแท็กซี่กลับบ้านด้วยความกระหยิ่มใจ

ครั้งแรกได้ขนาดนี้ สบายแล้ว

ระหว่างที่นั่งรถ ผมก็เปิดฟังเทปที่บันทึกมาเล่นๆ

ม้วนแรก เสียงรัวเร็วมาก ฟังไม่รู้เรื่อง

2-3-4-5 เหมือนกัน

ม้วนสุดท้ายก็แบบเดียวกัน

เย็นเฉียบไปทั่วตัวเลย

ผมลืมปรับสปีดของเครื่อง และลืมทดสอบเครื่องก่อนอัดจริง ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องทำ

ถ้าเป็นแหล่งข่าวปกติก็คงพอจะขอโทษขอโพยได้

แต่คนนี้ “รุ่นใหญ่” มาก

นรกสิครับ

พอถึงบ้าน ผมตั้งสติทบทวนความจำแล้วพิมพ์เรียบเรียงข้อมูลทั้งหมด

เขียนโครงเรื่องแบบละเอียดเป็นตอนๆ ประมาณ 6 หน้ากระดาษ

วันรุ่งขึ้น ผมส่งโครงเรื่องให้ “ผู้ใหญ่” คนนั้นอ่าน

ผ่านฉลุยครับ

โชคดีที่บอกเจ้าของเรื่องถึงวิธีการทำงานไปแล้วว่าสัมภาษณ์ครั้งนี้แล้วจะทำเป็นโครงเรื่องแล้วสัมภาษณ์ใหม่อีกครั้ง เจาะละเอียดเป็นตอนๆ

รอดตายไป

ผ่านวิกฤตครั้งนั้นทำให้ยิ่งมั่นใจ “ความจำ” ของตัวเองมาก

ใครเล่าอะไรให้ฟังครั้งเดียว

จำได้เลย

ทั้งประวัติความเป็นมา เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย หรือคำสัมภาษณ์บางประโยค

แต่นั่นคือ เรื่องราวในอดีต

ไม่ใช่วันนี้ครับ

ตอนนี้ผมรู้สึกว่าตัวเอง “ความจำ” แย่ลง

จำชื่อคนไม่ค่อยได้

กลัวว่าจะเป็นอัลไซเมอร์

แอบถามหมอประจำตัวว่าผมมีโอกาสเป็นบ้างไหม เพราะรู้สึกว่าลืมโน่นลืมนี่อยู่เป็นประจำ

หมอทนการเซ้าซี้ไม่ได้ก็เลยทดสอบด้วยแบบสอบถาม

แล้วก็ส่ายหน้า

เพราะตอบผิดไปข้อเดียว

ผมยังไม่ยอมแพ้ ขอตรวจสมองด้วยเครื่อง

หมอดูผลในคอมพิวเตอร์แล้วเอ่ยปากชม

“สมองสวยมาก”

แต่ไม่ว่าผลทางวิทยาศาสตร์จะเป็นอย่างไร

ผมก็ยังรู้สึกว่า “ความจำ” แย่ลงมาก

วันนั้นผมไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้น้องฟัง

บอกแต่เพียงว่าตอนนี้ไม่ต้องแกล้งลืม

เพราะ “ลืม” จริงๆ

แต่โชคดีที่ผมค้นพบ “ข้อดี” ของความขี้ลืม

คุณเคยดูหนังที่เคยดูแล้ว

แต่จำรายละเอียดของหนังไม่ได้ไหมครับ

คุณเคยอ่านหนังสือที่เคยอ่านมาแล้ว

แต่จำเกร็ดบางเรื่องไม่ได้แล้วบ้างไหมครับ

ผมเป็นแบบนั้นเลย

ผมบอกน้องว่านั่นคือ “ความโชคดี” ของผม

อยู่ดีๆ ก็มีหนังเรื่องใหม่ หนังสือเล่มใหม่ทั้งที่เป็นเรื่องเก่าที่เคยดูหรืออ่านมาแล้ว

ประหยัดไปได้ตั้งเยอะ

ครับ “ความจำ” บางครั้งก็เป็นสิ่งดี

แต่สำหรับบางเรื่อง “การลืม” ดีกว่า “การจำ”

มีเรื่องในชีวิตมากมายที่ยิ่ง “จำ” ยิ่ง “ทุกข์”

ยิ่งโกรธใคร ถ้าเรา “ความจำ” ดี

มันจะแปรเปลี่ยน “ความโกรธ” เป็น “ความอาฆาต”

ทุกข์ยาวนานเลยครับ

แต่ถ้าเราขี้ลืม

โกรธวันนี้ หายพรุ่งนี้

จำได้เลาๆ ว่าเคยโกรธคนนี้

แต่จำไม่ได้ว่าโกรธมากแค่ไหน

แบบนี้มี “ความสุข” มากกว่า

โลกนี้มีหลายมุมให้มองครับ

และทุกอย่างล้วนมี “ข้อดี”

ขอเพียงแค่หามุมที่ดีให้เจอ

เล่ามาตั้งนาน

นึกขึ้นได้ว่าผมต้องปิดต้นฉบับวันนี้

ลืมไปเลยครับ

คงต้องขอตัวไปนั่งคิด

จะเขียนเรื่องอะไรดี