ฉัตรสุมาลย์ : เยือนวัดม้าขาว

คณะของเราเดินทางจากเมืองเจียวจั๊วไปลั่วหยาง หรือที่คนจีนในไทยที่เป็นแต้จิ๋วออกเสียงว่า ลกเอี๋ยง ระยะทาง 126 ก.ม. ใช้เวลาเดินทางโดยรถบัส 2 ชั่วโมง

เดินทางช่วงหน้าหนาว เรากระฉับกระเฉงกันดีทุกคน มิหนำซ้ำ รอคอยเวลาอาหารทุกมื้อด้วยความกระปรี้กระเปร่า เพราะร่างกายต้องการอาหารมากกว่าเวลาปกติที่อยู่เมืองไทย เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและสู้กับความหนาวเย็นได้

เมืองลั่วหยางอยู่ทางตะวันตกของมณฑลเหอหนาน เคยเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์หลายราชวงศ์ในช่วง 1,500 ปีที่ผ่านมา ที่รู้จักกันดี ได้แก่ ราชวงศ์โจวตะวันออก ฮั่นตะวันออก และราชวงศ์ถัง ที่คนไทยจะคุ้นมากกว่าราชวงศ์อื่น ด้วยพุทธศาสนาเจริญที่สุดในราชวงศ์ถังนั่นเอง

ปัจจุบัน จุดที่น่าสนใจในการท่องเที่ยวจะเป็นวัดเส้าหลิน วัดม้าขาว และถ้ำหลงเหมิน คณะของเราจะได้มีโอกาศเยือนที่สามจุดที่ว่านี้

 

เราไปถึงวัดม้าขาวเช้ามาก ทางเดินเข้าสู่วัดมีร้านค้าที่สะดุดตา สะดุดอยากแวะมาก ตามกิเลสของความอยากซื้อ แต่ต้องตามคณะไปก่อน

ทางเข้าวัดมีด่านกักตรงประตู เสียงค่าเข้าชมคนละ 35 หยวน ข้อมูลที่เราได้ทีหลัง แต่ละวันจะมีคนเข้าชมถึง 4 พันคน สำหรับการเดินทางไปวัด ไปถ้ำ ไปสุสาน ไปพิพิธภัณฑ์มีค่าเข้าชมทั้งนั้น รัฐบาลในส่วนท้องถิ่นจัดเป็นระบบแข็งขันมาก

เมื่อซื้อตั๋วเข้ามาแล้ว จึงถึงลานหน้าวัดที่กว้างขวาง กำแพงและประตูด้านในนี้เป็นประตูวัดม้าขาวดั้งเดิม ม้าหินแกะสลักเป็นที่ระลึกเตือนให้ระลึกถึงม้าขาวที่บรรทุกพระไตรปิฎกเดินทางกลับมาจากอินเดีย

วัดม้าขาว ออกเสียงจีนกลางว่า ไป๋หม่าซือ ถ้าเป็นเสียงแต้จิ๋วที่คนจีนในเมืองไทยคุ้นเคยกว่า จะเรียก แปะเบ้ยี่ นับเป็นวัดในพุทธศาสนาแห่งแรกในประเทศจีน มีความเป็นมาตั้งแต่ ค.ศ.66 ในรัชสมัยพระเจ้ามิ่งตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่น ได้มีการส่งคณะทูต 18 คน ไปสืบพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย โดยใช้เวลาเดินทางถึง 3 ปี คณะทูตเดินทางกลับมาพร้อมพระพุทธรูป และคัมภีร์ทางพุทธศาสนาส่วนหนึ่ง และได้นิมนต์พระภิกษุกลับมาด้วย 2 รูป คือ พระอาจารย์กัศยปะมาตังคะ และท่านธรรมรัตนะ

ในปี ค.ศ.68 จึงโปรดให้มีการสร้างวัดแห่งนี้ที่ชานเมืองลั่วหยาง ที่เรียกวัดนี้ว่าวัดม้าขาวเพื่อเป็นที่ระลึกถึงม้าขาวตัวที่บรรทุกพระคัมภีร์กลับมา เมื่อมาถึงก็ล้มตายที่จุดที่สร้างวัดนี้

 

วัดม้าขาว นอกจากจะเป็นสถานที่เก็บพระคัมภีร์ที่นำมาจากอินเดียแล้ว ก็ยังให้เป็นที่พำนักของพระภิกษุต่างแดนทั้งสองรูปอีกด้วย

วัดม้าขาวกลายเป็นต้นกำเนิดและเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาในประเทศจีน

ต่อมาภิกษุทั้งจีนและต่างชาติที่เข้ามาในจีนก็ได้จำพรรษาที่วัดนี้นับพันรูป

รวมทั้งพระอันชื่อกาว พระภิกษุฉวนซังที่ออกเดินทางไปอินเดีย และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ก็เดินทางออกจากประเทศจีนโดยเริ่มต้นจากวัดนี้

เมื่อท่านกลับมาใน ค.ศ.645 จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระถังซำจั๋ง แปลว่า พระอาจารย์แห่งสามคัมภีร์ หรือพระไตรปิฏกาจารย์นั่นเอง

เมื่อท่านกลับมาแล้วก็ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสที่นี่ อัฐิของท่านก็ได้บรรจุอยู่ในพระเจดีย์ที่วัดนี้เพื่อให้สาธุชนรุ่นหลังได้สักการะถึงท่าน

เช้านั้น อากาศหนาวเย็นมาก เมื่อเราเดินผ่านอาคารแรก มีเทพเจ้ายืนอยู่สองข้าง แปลกไปจากที่เคยเห็น ซึ่งมักเป็นเทพเจ้าดูแลสี่องค์ แต่ที่นี่มีเพียง 2 องค์

องค์ทางด้านขวามือของเรา หน้าตาน่ากลัวเหมือนจะครามอยู่ในคอว่า “ฮึ่ม” ส่วนองค์ทางซ้ายมือของเรา ท่าทางน่ากลัวพอกัน แต่อ้าปาก เหมือนจะออกเสียงว่า “ฮ่า” ถ้าเราเข้ามาตกใจกับเสียงที่เทพเจ้าคำราม เราก็จะตกลงไปในนรก แต่ถ้าเราเป็นคนที่ตั้งมั่นอยู่ในกุศล จิตใจมั่นคง เราก็เดินผ่านเข้าไปในส่วนในของวัดได้อย่างปลอดภัย

พวกเราเดินผ่านเข้ามาปลอดภัยทุกคนค่ะ

 

เทพเจ้า “ฮึ่ม” กับ “ฮ่า” ปรากฏในหลายวัดที่เราเข้าไปเยือนในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของจีน แต่เส้นทางตะวันตกเฉียงเหนือที่เราไปเส้นทางสายไหมมาเมื่อปีก่อนไม่มีค่ะ แสดงว่าเป็นความเชื่อของแต่ละถิ่นที่ต่างกันไป

วัดม้าขาวในปัจจุบันมีเนื้อที่กว่า 80 ไร่

เมื่อ ค.ศ.1992 พุทธศาสนิกชนชาวไทย-จีนก็ได้บริจาคเงินสร้างวัดไทยในบริเวณของวัดม้าขาวนี้ มิใช่มีแต่วัดไทยเท่านั้น ยังมีสถูปแบบสาญจี จากอินเดีย เจดีย์พม่า ในบริเวณติดกันด้วย

ในขณะที่คณะของเรากำลังออกจากวิหารแรกเพื่อจะเดินไปอีกวิหารหนึ่งนั้น ก็พบกับพระไทยสองรูปโดยบังเอิญ ท่านทักท่านธัมมนันทาว่า “ใช่ ด๊อกเตอร์ไหมนี่” ท่านธัมมนันทาตอบว่า “ตัวจริงเสียงจริงค่ะ”

พระอาจารย์ที่เรามาทราบภายหลังว่า ชื่อพระอาจารย์ภูมินทร์ กับพระภิกษุอีกรูปหนึ่ง ท่านยิ้มแย้มทักทายด้วยความยินดี และกระตือรือร้นที่จะนำชมวัดไทยที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัดม้าขาว

พอเดินมาถึงประตูวัด เราถึงบางอ้อทันที ที่ประตูเขียนว่า “วัดเหมอัศวาราม” มีม้าเป็นรูปปูนปั้น ขนาดเท่าตัวจริงยืนอยู่ข้างละตัว

 

ที่ว่าถึงบางอ้อ คือวัดนี้เป็นวัดที่คุณวัฒนา อัศวเหม ขออนุญาตรัฐบาลจีนมาสร้างไว้ตั้งแต่ ค.ศ.1992 เป็นข่าวฮือฮาในเมืองไทยอยู่พักหนึ่งนั่นเอง

ตอนที่จัดโปรแกรมทัวร์มาจีนคราวนี้ ผู้เขียนทราบแต่เพียงว่า เราจะมาลั่วหยาง และเราจะมาชมวัดม้าขาวที่เราสนใจในแง่ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในจีน ไม่ทราบมาก่อนว่า วัดเหมอัศวารามก็อาศัยบารมีวัดม้าขาวนี่เอง

จากจุดนั้น มองทะลุประตูเข้าไป ไม่เห็นวัดไทย แต่กลับเห็นเจดีย์ทรงพม่าแทน เมื่อเดินเข้าไปใกล้ประตูจึงเห็นพระอุโบสถอยู่ทางซ้ายมือ ทางซ้ายมือเช่นกัน ลึกเข้าไปเป็นรูปจำลองขนาดย่อมของเจดีย์ภูเขาทอง แบบวัดสระเกศ

ที่หน้าบรรณของพระอุโบสถ มีครุฑขนาดใหญ่ ทำให้เข้าใจว่า โดยพระบรมราชานุเคราะห์ เลยถามท่านอาจารย์ภูมินทร์ตรงๆ ว่า ได้รับพระราชทานหรือ ท่านว่าไม่ใช่ ประมาณว่า ใครใช้ครุฑก็ได้ เออ สายการบินของอินโดนีเซียก็ครุฑเบ้อเริ่มเลยนะ

เข้าไปในโบสถ์ พระประธานเป็นพระสมัยสุโขทัยที่ประทับในเรือนแก้ว แบบที่จังหวัดพิษณุโลก ขนาดองค์ใหญ่ ดูอาจจะใหญ่มากกว่าพื้นที่ของพระอุโบสถด้วยซ้ำ

พระพาเราเข้าไปกราบพระ พระอาจารย์ท่านนิมนต์ให้ภิกษุณีขึ้นไปนั่งบนอาสนะพระด้วย ท่านพูดชัดเจนว่า พุทธบริษัทสี่ ต้องดูแลพระศาสนาด้วยกัน ไม่ใช่หน้าที่เฉพาะของพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น

ท่านเข้าพรรษาที่นั่น 6 รูป พอออกพรรษา รับกฐินแล้วก็กลับเมืองไทยกัน เหลือเฝ้าวัดเพียง 2 รูป ดังที่เราเห็น

 

น่าชื่นชมที่ท่านพูดภาษาจีนได้คล่องแคล่ว ทักทายพระภิกษุจีนที่นั่นโดยไหว้อย่างนอบน้อม ท่านอยู่ที่นั่น อาหารการขบฉันก็ขึ้นอยู่กับทางวัดม้าขาว ซึ่งมีพระภิกษุ 60 รูป พระภิกษุณี 45 รูป ต้องไปฉันที่โรงครัวกลางด้วยกัน

ที่ท่านมาเจอคณะของเรา ท่านกำลังจะเดินไปฉัน ท่านธัมมนันทาก็เป็นกังวลว่าท่านจะเลยเวลาอาหาร ท่านว่า ท่านดีใจที่เจอคนไทย เรื่องฉัน เดี๋ยวท่านไปฉันด้านหลังโรงครัวได้อยู่

ท่านเล่าว่า อยู่ที่นั่น ก็ต้องฉันเจตามเจ้าของบ้าน นักบวชแม้ในศาสนาอื่นๆ ก็ได้รับการคาดหวังจากสังคมว่าจะต้องฉันเจ เพราะพระเป็นผู้สละจากทางโลกแล้ว จะมาฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือเป็นเหตุให้ฆราวาสฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไม่ได้แล้ว

ถามถึงคุณวัฒนา อัศวเหม ท่านเล่าว่า มาตอนสร้างวัดเสร็จเท่านั้น หลังจากนั้น พระภิกษุชาวไทยก็พยายามที่จะรักษาพื้นที่ให้วัดไทยปรากฏในประเทศจีน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย ด้วยข้อจำกัดทางภาษา ทั้งการขอวีซ่า ก็มีข้อจำกัดต่างๆ มากขึ้น

แต่ก็ต้องโมทนากับพระอาจารย์ทั้งสองรูปที่ยังยืนหยัด ในขณะที่พม่าและอินเดียที่มาสร้างเจดีย์และสถูปไว้ ไม่มีพระภิกษุมาประจำการ ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้ชาวจีนเข้ามาถ่ายรูปกลับไปอวดกันเท่านั้นเอง

วันนี้นำเสนอทั้งวัดม้าขาวในอดีต และวัดไทยในปัจจุบันที่วัดม้าขาวค่ะ

อาจจะมีเรื่องตื่นเต้นอีกทีก็ตอนที่คุณวัฒนา อัศวเหม ออกบวชเป็นพระภิกษุไปจำพรรษาที่วัดเหมอัศวาราม นั่นแหละ จะน่าตื่นเต้นอีกครั้ง