เกษียร เตชะพีระ | ประชานิยม : ที่มาที่ไปทางแนวคิดวิชาการ (ตอนจบ)

เกษียร เตชะพีระ

ประชานิยม : ที่มาที่ไปทางแนวคิดวิชาการ (ตอนจบ)

ย้อนอ่านตอนแรก

“ภาวะเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลกที่เกิดตามหลังความล่มสลายทางการเงินเมื่อปี ค.ศ.2008 ได้ปลดปล่อยคำว่าประชานิยมให้เป็นอิสระจากพวกขวา (ถึงรากถึงโคน) การผงาดขึ้นของพรรคซีริซาในกรีซและการผงาดขึ้นของพรรคโปเดโมสในสเปนในขอบเขตที่เล็กกว่าได้แสดงให้เห็นทั้งความละม้ายคล้ายคลึง ทว่าก็รวมถึงความแตกต่างขั้นมูลฐานของพวกเขากับฝ่ายขวาถึงรากถึงโคนแบบประชานิยมด้วย

พรรคเหล่านี้ทั้งหมดมีจุดร่วมตรงยึดถือการเมืองซึ่งนิยมประชาชนและแอนตี้ชนชั้นนำเหมือนกัน แต่เห็นได้ชัดว่าโปเดโมสกับซีริซานั้นเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายซ้ายถึงรากถึงโคนทั้งในแง่อุดมการณ์และวัฒนธรรมย่อย

การณ์นี้ส่งผลให้คำว่า “ประชานิยม” โล้นๆ ที่ปราศจากคุณศัพท์มากำกับถูกบูรณาการเข้าไปในการโต้แย้งถกเถียงทั้งในวงวิชาการและมหาชน

แต่การใช้ศัพท์คำนี้แพร่หลายระเบิดเถิดเทิงเอาจริงๆ ก็ภายหลังการลงประชามติเบร็กซิท (ให้สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี ค.ศ.2016

พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ในเดือนมกราคม ค.ศ.2017 นั้นได้ประสบพบเห็นการเคาะหาคำว่า “ประชานิยม” ในกูเกิลพุ่งสูงสุดจนตราบเท่าทุกวันนี้

การวิจัยทางวิชาการว่าด้วยประชานิยมก็พุ่งสูงขึ้นด้วยดังแสดงให้เห็นในการตีพิมพ์งานวิชาการต่างๆ อาทิ คู่มือประชานิยมของออกซ์ฟอร์ดเมื่อปี ค.ศ.2018

ขณะที่ศัพท์คำนี้ยังขาดพร่องความหมายในการโต้แย้งถกเถียงสาธารณะจำนวนมาก ทว่าประชาคมวิชาการก็ใกล้จะบรรลุฉันทมติเกี่ยวกับความหมายของมันยิ่งกว่าครั้งใดที่ผ่านมา นักวิชาการส่วนใหญ่ใช้คำว่าประชานิยมในฐานะชุดความคิดที่เพ่งเป้ารวมศูนย์ไปที่การคัดง้างระหว่างประชาชน (คนดี) กับชนชั้นนำ (คนเลว) แม้ว่าพวกเขาจะยังคงเห็นต่างกันในข้อที่ว่าตกลงมันเป็นอุดมการณ์เต็มตัวหรือแค่วาทกรรมหรือลีลาทางการเมืองมากกว่ากันแน่

ข้อที่เป็นปฏิทรรศน์ก็คือมาบัดนี้ที่ในที่สุดเราเห็นพ้องต้องกันว่าเราใช้คำประชานิยมโดยตัวมันเองในความหมายว่าอะไรแล้ว การณ์กลับเป็นว่า “ปรากฏการณ์ประชานิยม” แทบทั้งหมดกลายเป็นฝ่ายขวาถึงรากถึงโคนแบบประชานิยมล้วนๆ ในทางปฏิบัติ กระแสคลื่นประชานิยมปีกซ้ายที่ถูกคาดหมายและตั้งความหวังกันไว้มากกลับไม่ปรากฏเป็นจริง และขณะที่บรรดาปัญญาชนและผู้รู้ของฝ่ายซ้ายเฝ้าแต่ย้ำให้เรามั่นใจว่าอนาคตเดียวที่มีได้คือประชานิยมปีกซ้ายแบบโอบรับนับรวมนั้น การณ์กลายเป็นว่าประชานิยมปีกซ้ายดังที่เป็นอยู่กลับหันไปทำตัวน่าทุเรศรังเกียจในละตินอเมริกา และเป็นซ้ายน้อยลงมาก (กรณีซีริซา) หรือประชานิยมน้อยลง (กรณีโปเดโมส) ในยุโรปเสียฉิบ

ดังนั้น เราจึงพูดถึงประชานิยมโดยทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่อันที่จริงแล้วเรากำลังเอ่ยถึงประชานิยมแบบเฉพาะเจาะจงเป็นหลักและบ่อยครั้งเป็นการเฉพาะเลยทีเดียว ผมเรียกสิ่งนี้ว่าฝ่ายขวาถึงรากถึงโคนแบบประชานิยม (populist radical right) แทนที่จะเรียกมันว่าประชานิยมฝ่ายขวาถึงรากถึงโคน (radical right populism) ทั้งนี้ก็เพราะมันเป็นรูปแบบประชานิยมของฝ่ายขวาแบบถึงรากถึงโคน มากกว่าจะเป็นรูปแบบฝ่ายขวาถึงรากถึงโคนของประชานิยม

กล่าวในทางอุดมการณ์แล้ว อำนาจนิยมกับชาติภูมินิยม (nativism) ต่างหากที่กำหนดประชานิยมมากกว่าจะเป็นในทางกลับกัน

ดังที่การวิจัยนานหลายทศวรรษได้แสดงให้เห็นบุคลิกลักษณะเอกทางอุดมการณ์ของเหล่าพรรคการเมืองและพวกที่สนับสนุนพรรคเหล่านี้ได้แก่ชาติภูมินิยม อันเป็นชาตินิยมในรูปแบบที่เกลียดกลัวต่างชาติ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลลัพธ์หลักของ “ประชานิยมผงาด” ได้แก่สารพัดนโยบายที่ไปจำกัดสิทธิของ “คนอื่นที่เป็นต่างด้าว” ซึ่งที่โดดเด่นที่สุดได้แก่ผู้อพยพ ชาวมุสลิมและผู้ลี้ภัย หาใช่ชนชั้นนำ “ชาวพื้นถิ่น” ไม่

มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องไม่ปล่อยให้คำว่า “ประชานิยม” หรือแม้กระทั่ง “ประชานิยมปีกขวา” กลายมาเป็นคำศัพท์ที่ทำให้ภาพลักษณ์แห่งอุดมการณ์กับผลกระทบของพวกขวาถึงรากถึงโคนดูอ่อนโยนลง แล้วก็เลยทำให้มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป ทั้งนี้ ยังมิพักต้องพูดถึงพวกขวาสุดโต่งอย่างพรรคอรุณสีทองของกรีซซึ่งไม่ใช่แม้แต่ประชานิยมด้วยซ้ำไป

บางคนบอกว่าวิธีดีที่สุดที่จะทำการข้างต้นนี้ก็คือยกเลิกศัพท์คำว่าประชานิยมไปเสียเลย อันเข้าทำนองทางออกแบบเทเด็กทารกทิ้งไปพร้อมกับน้ำอาบที่สกปรก มันเป็นทางออกที่ทึกทักว่าประชานิยมไม่ตรงเป้าเข้าเรื่องเอาเลย แทนที่จะเป็นว่ามันไม่ได้อยู่ในฐานะครอบงำแค่นั้นเอง

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าประชานิยมมีส่วนช่วยอธิบายปริศนาแห่งการผงาดขึ้นในเวลาเดียวกันของบรรดาพรรคต่างๆ ที่หลากหลายอย่างขบวนการห้าดาวในอิตาลี โปเดโมสในสเปนและพวกประชาธิปัตย์ในสวีเดน พึงสังเกตว่าตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั้น ชาตินิยมกับสังคมนิยมด้านหลักแล้วระดมขับเคลื่อนมวลชนในฐานะลัทธิสุดโต่งที่ต่อต้านประชาธิปไตย ขณะที่เมื่อเริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 พวกประชานิยมส่วนใหญ่แล้วเป็นประชาธิปไตยแต่ต่อต้านเสรีนิยม อย่างน้อยที่สุดนี่ก็แสดงให้เห็นว่าบัดนี้ประชาธิปไตย (ในความหมายอำนาจอธิปไตยของประชาชนและการปกครองโดยเสียงข้างมาก) ขึ้นกุมอำนาจนำแล้ว ขณะที่ระบอบเสรีประชาธิปไตย – ซึ่งเพิ่มเติมลักษณะสำคัญ อาทิ สิทธิของเสียงข้างน้อย หลักนิติธรรมและการแบ่งแยกอำนาจเข้าไป – หาได้กุมอำนาจนำไม่

ขณะที่ชาติภูมินิยมคือกบฏของชนพื้นถิ่นต่อ “คนต่างด้าว” ประชานิยมกลับเป็นกบฏภายในชนพื้นถิ่นด้วยกันเอง การกบฏนี้เกิดจากการปลดปล่อยพลเมืองทั้งปวง อันเป็นผลลัพธ์ของสิ่งที่โรนัลด์ อิงเกิลฮาร์ต นักสังคมวิทยาการเมืองชาวอเมริกันเรียกว่า “การระดมขับเคลื่อนกระบวนการรับรู้” (cognitive mobilization) มากกว่าเกิดจากแค่การเปลี่ยนแปลงอย่างเฉพาะเจาะจงทางพฤติกรรมหรือประชากรศาสตร์ในหมู่ชนชั้นนำทั้งหลายแหล่

แน่ละว่าพรรคการเมืองทั้งหลายแทบจะปลีกตัวออกห่างจากสังคมแล้วอย่างสิ้นเชิง และมีคนงานน้อยรายที่ยังมีที่นั่งในรัฐสภา แต่โดยภาพรวมก็มีคนงานจำนวนน้อยลงอยู่แล้วและคนงานไม่กี่คนเท่านั้นที่เคยมีอิทธิพลอย่างแท้จริงในพรรคของพวกเขาในอดีต

ในทำนองเดียวกัน ขณะที่ข่าวทุจริตคอร์รัปชั่นอื้อฉาวเกิดขึ้นเป็นกรณีใหญ่โตกว่าและบ่อยครั้งกว่าในอดีต

ทว่าส่วนใหญ่ก็เพราะสื่อมวลชนไม่ได้ถูกพรรคควบคุมไว้อีกต่อไปและมีพื้นที่ของรัฐให้ฉกฉวยเอารัดเอาเปรียบมากขึ้นนั่นเอง

ในสภาพที่สาเหตุของกระบวนการทั้งหลายเหล่านี้มีลักษณะเชิงโครงสร้างมากกว่าเป็นเรื่องบังเอิญ มันย่อมคงอยู่กับเราไปอีกนาน ต่อให้ความวิตกกังวลที่ต่อต้านการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจและต่อต้านผู้อพยพได้แรงสนับสนุนอ่อนลงและมีความเข้มข้นน้อยลง ทว่าการเมืองและสังคมทั้งหลายก็มาถึงจุดที่ทำใจยอมรับความคาดหวังและความสัมพันธ์ใหม่ๆ ระหว่าง “ประชาชน” กับ “ชนชั้นนำ” เป็นสรณะแล้ว ประชานิยมก็เกี่ยวกับเรื่องจำพวกนี้แหละ

และเรามิอาจจะแก้ไขมันให้ตกไปได้โดยผ่านการผลักไส “คนอื่น” ทางชาติพันธุ์ไปอยู่ชายขอบยิ่งขึ้นหรอก