สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (11) โดมิโนล้ม อินโดจีนแตก

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“อันประชาสามัคคีมีจิตตั้ง       เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล
แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล ไม่อาจต้านแรงมหาประชาชน”
กุหลาบ สายประดิษฐ์

หากย้อนกลับไปพิจารณาสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลัง 14 ตุลาคม 2516 แล้ว อาจจะต้องถือว่าในปี 2518 เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งทั้งของการเมืองไทยและการเมืองในภูมิภาค

เป็นปีที่ส่งสัญญาณถึง “ชัยชนะของประชาชนอินโดจีน” ในการโค่นล้ม “จักรวรรดินิยมอเมริกัน”

ซึ่งก็ส่งผลให้แนวคิดสังคมนิยมในไทยขยับตัวขึ้นสู่กระแสสูงตามไปด้วย

สภาพเช่นนี้ก็ส่งผลให้ “กระแสขวา” ขยับตัวขึ้นตามไปพร้อมกับการขยายตัวของ “ความหวาดกลัว” ในสังคมไทย

นอกจากนี้ ปี 2518 ยังเริ่มต้นด้วยความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคกิจสังคม ที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี

แม้พรรคมีคะแนนเสียงเพียง 18 เสียงเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็เผชิญกับการเรียกร้องและการประท้วงในเรื่องต่างๆ อย่างมาก

จนอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลเลือกตั้งชุดนี้อยู่ภายใต้แรงกดดันจากทุกด้าน

แต่ก็อาศัย “ศักยภาพในการนำ” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์

เพื่อประคับประคองให้การเมืองไม่สะดุดล้มลงด้วยการแทรกแซงของทหาร

เมื่อโดมิโนตัวแรกล้ม

ในสภาพที่รัฐบาลคึกฤทธิ์ต้องเผชิญปัญหาต่างๆ เข้ามารุมเร้านั้น ปิดเทอมฤดูร้อนของปี 2518 จึงเป็นเวลาที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มตำรวจ กลุ่มแรงงาน กลุ่มสื่อมวลชน และกลุ่มนักศึกษา

แต่ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวก็คือ สถานการณ์สงครามอินโดจีนที่เริ่มบ่งบอกถึงการพ่ายแพ้ของรัฐบาลนิยมตะวันตกในประเทศเหล่านั้น

ว่าที่จริง สัญญาณเล็กๆ เริ่มบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงในอินโดจีน กล่าวคือ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2518 ภรรยาและลูกๆ ของเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกันประจำกัมพูชาเริ่มถูกอพยพมายังประเทศไทย

เวลาจากปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปก็ยิ่งบ่งบอกถึงวิกฤตที่กำลังจะมาถึง

และในเดือนเมษายนก็ชัดเจนว่ากรุงพนมเปญถูกปิดล้อมโดยกองกำลังเขมรแดง เมืองหลวงในฐานะฐานที่มั่นสุดท้ายของรัฐบาลฝ่ายขวาอยู่ได้ด้วยการส่งการสนับสนุนจากทางอากาศ

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ในที่สุดแล้ว ทูตอเมริกันประจำกัมพูชาขณะนั้นคือ นายจอห์น กันเธอร์ ดีน (John Gunther Dean) ได้วางแผนร่วมกับผู้บัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐ (CINCPAC) ที่จะอพยพคนออกโดยเฮลิคอปเตอร์ในชื่อปฏิบัติการ “Eagle Pull”

สถานการณ์ความมั่นคงที่ตกต่ำลงจากการรุกใหญ่ของเขมรแดงเช่นนี้ น่าจะอยู่ในความรับรู้ของชนชั้นนำและผู้นำทหารไทย เพราะการอพยพจากพนมเปญนั้นมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ประเทศไทย

และในที่สุด สถานการณ์ของการพลิกผันก็มาถึงในวันที่ 12 เมษายน 2518 การอพยพสุดท้ายก็เริ่มขึ้น ทูตดีนเป็นคนสุดท้ายที่เดินออกจากสถานทูตพร้อมกับธงอเมริกัน…

สงครามของอเมริกันในกัมพูชาจบลงด้วยความล้มเหลว โดมิโนตัวแรกในอินโดจีนล้มลงแล้ว

และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการล้มลงของ “โดมิโนกัมพูชา” นั้น กระทบต่อสถานะด้านความมั่นคงของไทยโดยตรง เพราะการมีแนวชายแดนติดกัน

แล้วโดมิโนตัวที่สองก็ล้ม

การพ่ายแพ้ของรัฐบาลฝ่ายขวาในกัมพูชามีผลอย่างมากต่อความกลัวคอมมิวนิสต์ของผู้นำไทย และสถานการณ์ในเวียดนามก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้ในช่วงต้นปี 2518 นั้น หน่วยข่าวกรองของกองทัพบกอเมริกันและสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) จะประเมินว่า กองทัพของรัฐบาลเวียดนามใต้น่าจะยังมีขีดความสามารถที่หน่วงเหนี่ยวการรุกของกองทัพฝ่ายเหนือได้

แม้ในตอนต้นเดือนมีนาคม 2518 พวกเขาก็ยังเชื่อว่ากองทัพเวียดนามใต้จะยังควบคุมสถานการณ์ไปได้จนถึงฤดูแล้ง หรืออย่างน้อยก็น่าจะยังดำรงสภาพการรบไปได้จนถึงปี 2519

แต่แล้วการรุกใหญ่ของกองทัพเวียดนามเหนือจากพื้นที่ราบสูงตอนกลางในวันที่ 10 มีนาคม 2518 กลับส่งผลให้กองทัพเวียดนามใต้แตกร่นอย่างไม่เป็นขบวน

และกลายเป็น “สัญญาณของความพ่ายแพ้” ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปลายเดือนดังกล่าวเป็นต้นมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดานังแตก ก็คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าการรุกใหญ่เข้าไซ่ง่อนคงเกิดขึ้นในเวลาอีกไม่นานนัก

แล้วในต้นเดือนเมษายน ปฏิบัติการ “Babylift” ก็เริ่มอพยพคนออกจากเวียดนามใต้ สัญญาณการล้มของโดมิโนตัวที่สองเห็นชัดเมื่อประธานาธิบดีเวียดนามใต้ตัดสินใจลาออกในวันที่ 21 เมษายน

และในวันที่ 27 เมษายน จรวดของเวียดนามเหนือก็เริ่มยิงถล่มไซ่ง่อนเป็นครั้งแรกในรอบ 40 เดือน สัญญาณการปิดล้อมไซ่ง่อนมาถึงแล้ว ไม่แตกต่างกับเมื่อครั้งพนมเปญถูกปิดล้อมในตอนต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

แล้วในวันที่ 29 เมษายน กองทัพเวียดนามเหนือก็เปิดการรุกใหญ่ครั้งสุดท้ายต่อไซ่ง่อน และในตอนบ่ายของวันถัดมาทหารเวียดนามเหนือก็ยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเมือง และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชักธงเวียดนามเหนือขึ้นเหนือทำเนียบประธานาธิบดี…

ไซ่ง่อนแตก

โดมิโนตัวที่สองที่เวียดนามล้มลงในวันที่ 30 เมษายน 2518

ในบ่ายวันนั้น ประธานาธิบดีเวียดนามใต้ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า “รัฐบาลไซ่ง่อนได้สิ้นสภาพไปแล้วในทุกระดับ”

สงครามเวียดนามสิ้นสุดลงแล้ว สถานการณ์เช่นนี้กำลังบอกถึงการเปลี่ยนภูมิศาสตร์การเมืองใหม่บนภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดมิโนล้มลงถึง 2 ตัวในเดือนเมษายน ถ้าเช่นนี้แล้วไทยจะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ชุดนี้อย่างไร เป็นสถานการณ์ของความน่ากลัวทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง

การอพยพสุดท้ายด้วยปฏิบัติการ “Frequent Wind” โดยมีสัญญาณจากการออกอากาศของสถานีวิทยุอเมริกันด้วยเพลง “White Christmas” ของ เอร์วิง เบอร์ลิน ทูตเกรแฮม มาร์ติน (Graham Martin) ได้รับคำสั่งโดยตรงจากประธานาธิบดีฟอร์ดให้พาตัวเขาออกทันที

และนักบินได้รับคำสั่งด้วยลายมือของประธานาธิบดีให้เอาตัวทูตออกมาให้ได้ จนถึงกับมีคำสั่งให้นาวิกโยธินจับกุมถ้าทูตขัดขืน…

ภาพของเฮลิคอปเตอร์ที่ลำเลียงคนที่ตะเกียกตะกายเกาะเครื่องออกจากหลังคาของสถานทูตอเมริกันที่ไซ่ง่อนให้ได้กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ของการสิ้นสุดอำนาจของสหรัฐในเวียดนาม

ภาพของความพ่ายแพ้ครั้งนี้ “ช็อก” ผู้คนในสังคมไทย เพราะมหาอำนาจใหญ่เป็นฝ่ายแพ้สงคราม!

แล้วโดมิโนตัวที่สามก็ล้มตาม

หลังชัยชนะของกองทัพเวียดนามเหนือในการเผด็จศึกครั้งสุดท้ายที่ยุติลงด้วยการยึดไซ่ง่อนได้อย่างรวดเร็ว ผลของชัยชนะครั้งนี้ส่งสัญญาณโดยตรงถึงพรรคคอมมิวนิสต์ลาวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมนิยมดูจะอยู่เพียงแค่เอื้อมเท่านั้น

ในสภาพเช่นนี้ นายพลวังเปาก็เริ่มอพยพชาวม้งออกจากลาวในวันที่ 5 พฤษภาคม 2518 พวกเขาคือกองกำลังหลักที่ช่วยเหลือปฏิบัติการของสหรัฐในลาวมาอย่างยาวนาน แม้ว่าการสู้รบในลาวจะถูกเรียกว่า “สงครามลับของซีไอเอ” เพราะเรื่องราวเหล่านี้ไม่เป็นที่รับรู้กันในเวทีสาธารณะเท่ากับสงครามในเวียดนาม

แต่สำหรับผู้นำไทยแล้ว พวกเขารู้ดีว่าการสู้รบในลาวเป็นปราการสำคัญในการป้องกันการขยายตัวของคอมมิวนิสต์มาสู่ประเทศไทย

และในสงครามลับนี้ก็มีกำลังพลอาสาสมัครจากกองทัพไทยเข้าร่วมรบด้วย ซึ่งผู้นำทหารไทยบางคนล้วนเคยมีประสบการณ์การรบในลาวมาก่อน

ดังนั้น สถานการณ์สงครามในลาวจึงมีผลทางจิตวิทยาต่อทัศนะในการมองปัญหาภัยคุกคามต่อไทยเป็นอย่างยิ่ง ลาวไม่อาจเป็นแนวตั้งรับให้กับไทยได้อีกต่อไป

สภาวะเช่นนี้ก็อาจจะไม่แตกต่างกับเมื่อครั้ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีอำนาจ ด้วยความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับผู้นำฝ่ายขวาในลาว และด้วยความเป็น “ลูกอีสาน” จอมพลสฤษดิ์ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความมั่นคงในลาวเป็นอย่างยิ่ง จนในช่วงเวลาดังกล่าว ความมั่นคงลาวกลายเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงไทยไปโดยปริยาย…

ภัยคุกคามของลาวจึงเป็นภัยคุกคามไทยไปด้วย

สัญญาณลบของโดมิโนตัวที่สามดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าในช่วงเดือนพฤษภาคมและต่อต้นเดือนมิถุนายน 2518 กองทัพของ “ขบวนการปเทดลาว” ได้รุกเข้ายึดหลวงพระบาง แล้วผู้คนก็เริ่มหาทางอพยพออกจากลาว

และในเดือนสิงหาคม คอมมิวนิสต์ลาวก็รุกเข้าสู่เวียงจันทน์ ต่อมาในวันที่ 2 ธันวาคม เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาก็สละราชสมบัติ รัฐบาลลาวก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมนิยมไม่แตกต่างกับในเวียดนามและกัมพูชา…

โดมิโนตัวที่สามล้มลงในลาวแล้วอย่างน่ากังวล

โดมิโนตัวที่สี่จะล้มหรือไม่

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ คำอธิบายเชิงเปรียบเทียบถึงภาพลักษณ์ของการล้มของหมากโดมิโนว่า ถ้ามีการล้มเกิดขึ้น แล้วจะเกิดการ “ล้มตามกัน” ของโดมิโนตัวอื่นที่เหลือ

ดังนั้น การล้มลงของโดมิโนถึง 3 ตัวในระยะเวลาไล่เลี่ยกันในปี 2518 จึงเป็นการ “ช็อก” ผู้นำไทยเป็นอย่างยิ่ง

แม้ผู้นำไทยจะค่อยๆ เห็นสัญญาณถึงการถอนตัวของสหรัฐออกจากสงครามในอินโดจีนตั้งแต่การลงนามในการประชุมสันติภาพที่ปารีส (The Paris Peace Accord) ในเดือนมกราคม 2516 แล้ว เพราะการลงนามครั้งนี้เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงท่าทีของสหรัฐในอนาคต

และสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2518 อาจจะไม่แตกต่างกับเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลล์ของอังกฤษเห็นการบุกของกองทัพเยอรมนี และปารีสแตก…

ฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วจนอังกฤษตั้งตัวไม่ทัน เช่นเดียวกับอินโดจีนก็แตกอย่างรวดเร็วจนไทยตั้งตัวไม่ทันไม่แตกต่างกัน

แม้เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐประเมินว่ากองทัพเวียดนามใต้น่าจะสามารถยันการรุกของคอมมิวนิสต์ได้อย่างน้อยจนถึงปี 2519

แต่คำสอนของวิชาประวัติศาสตร์ทหารที่ว่า “ผลของสงครามคาดเดาได้ยากเสมอ” ยังคงใช้ได้ตลอดไป เพราะการประเมินนี้ไม่เป็นจริง และปัญหาสำคัญสำหรับไทยก็คือการเปลี่ยนภูมิศาสตร์การเมืองของอินโดจีนใหม่ทั้งหมดในปี 2518 นั้น ชนชั้นนำและผู้นำทหารไทยจะรับมืออย่างไรกับสถานการณ์ความมั่นคงใหม่เช่นนี้

ความฝันของความหวังว่าลาวและกัมพูชาจะเป็นดัง “เขตกันชน” (Buffer Zone) เพื่อป้องกันการขยายตัวของคอมมิวนิสต์จากเวียดนามไม่ให้เข้าใกล้ไทยนั้น กลายเป็น “ฝันสลาย” ไปเสียแล้วในปีดังกล่าว…

ความฝันที่ล้มเหลวมาพร้อมกับการปรากฏตัวของภัยคุกคามที่ชัดเจน เพราะพื้นที่ด้านตะวันออกของแนวพรมแดนไทยได้กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ตาม สงครามใหญ่ที่กองทัพไทยเคยรบกับกองทัพเวียดนามก็เป็นเพียงประวัติศาสตร์อันไกลโพ้นในยุครัชกาลที่ 3 บทบันทึกเรื่อง “อานามสยามยุทธ์” เป็นตัวแทนของการต่อสู้เพื่อแข่งขันการขยายอิทธิพลของสยามและญวนในบริบททางประวัติศาสตร์ก่อนการมาถึงของยุคอาณานิคม

แต่การเปลี่ยนแปลงในปี 2518 เป็นสถานการณ์จริงในปัจจุบัน และส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าในบริบทของสงครามเย็นระหว่างไทยกับเวียดนามโดยตรง

การเตรียมแผนการป้องกันประเทศของไทยจึงกลายเป็นความน่ากังวลอย่างมากสำหรับชนชั้นนำและผู้นำทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ใหม่เช่นที่เกิดขึ้นภายใต้ “ความกลัว”…

กลัวว่าสุดท้ายแล้ว โดมิโนตัวที่สี่จะล้มลงที่กรุงเทพฯ

สถานการณ์ของความหวาดกลัว

ถ้าทฤษฎีโดมิโนถูกต้อง การล้มลงของโดมิโนตัวต่อไปก็น่าจะเกิดขึ้นในเวลาต่อจากนี้อีกไม่นานนัก อีกทั้งภาพของผู้อพยพลี้ภัยจากอินโดจีนที่ตัดสินใจหนีรัฐบาลคอมมิวนิสต์ออกมาด้วยการเสี่ยงชีวิตในรูปแบบต่างๆ เพียงเพื่อให้เดินทางมาถึงไทย ยิ่งกลายเป็นปัจจัยที่เพิ่มความกลัวมากขึ้น

เรื่องราวเช่นนี้ได้กลายเป็นรากฐานของความกลัวที่สำคัญว่า ถ้าในที่สุดแล้วโดมิโนล้มอีก และผู้คนในไทยก็จะกลายเป็นผู้อพยพเช่น “มนุษย์เรือ” (boat people) จากเวียดนามหรือไม่

การเมืองไทยในปี 2518 จึงเป็นเสมือนกับการเล่นกับความกลัวของชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาชนชั้นกลาง

ปัญหาก็คือพวกเขาจะกลัวจนถึงขีดสุด และรู้สึกว่ายอมรับไม่ได้ที่จะให้การเมืองไทยเดินไปแบบปกติได้อีกนานเท่าใด?

สถานการณ์ในปี 2518 หลังจากการล้มลงของโดมิโนในอินโดจีนจึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่งกับการเมืองไทย และทั้งยังเกี่ยวพันโดยตรงกับการดำรงอยู่ของฐานทัพสหรัฐในไทย ซึ่งขบวนนักศึกษาได้แสดงออกอย่างชัดเจนแล้วถึงการต่อต้านที่เกิดขึ้น

และรัฐบาลเองก็ประกาศเป็นนโยบายให้สหรัฐต้องถอนออกจากไทยภายใน 1 ปี

ท่าทีทั้งของรัฐบาลและของนิสิตนักศึกษาจึงท้าทายต่อ “ความกลัว” ที่ก่อตัวขึ้นในหมู่ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร ชนชั้นกลาง และกลุ่มการเมืองปีกขวาเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาก็คือคนทั้งสี่กลุ่มนี้จะยอมทนอยู่กับความกลัวเช่นนี้ได้อีกนานเท่าใด?