มนัส สัตยารักษ์ : วิจารณญาณกับคอร์รัปชั่น

พลันที่มีภาพคลิปข่าว ความยาวประมาณ 40 วินาทีในสื่อโซเชียล ตำรวจจราจรเชียงใหม่ปลดล็อกล้อรถจักรยานยนต์ของนักท่องเที่ยวชาวจีนแล้วรับเงิน 200 บาท ปรากฏขึ้นในจอ

แล้วต่อมาก็เป็นข่าวทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์และทางรายการข่าวของทีวีว่า ผู้บังคับบัญชาของตำรวจเชียงใหม่ได้สั่งย้ายตำรวจจราจรในภาพไปทำหน้าที่อื่นที่มิใช่การจราจรและตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว หากผิดจริงฐาน “รับส่วย” ก็จะถูกออกจากราชการ

ผมเป็นคนหนึ่งที่ “เต้น” ทุกครั้งเมื่อมีภาพข่าวทำนองนี้เกิดขึ้น แต่ก็นั่นแหละครับ… “ข่าว” ในยุคดิจิตอลของยุคนี้ เหมือนกับเรื่องทรงเจ้าเข้าผี เรื่องของไสยศาสตร์ในยุคหลายพันปีก่อน เป็นเรื่องที่ต้องใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ

เครื่องมือที่ช่วยวิจารณญาณของผมก็คือ เจาะลึกเข้าไปแสวงหาข้อเท็จจริงจากทุกมุมในหลายสื่ออย่างรอบด้าน อย่าเชื่อหรือคล้อยตามแม้แต่ข่าวจากราชการ ควรอดทนในการรอคอย

เหตุใดเราจึงต้องใช้วิจารณญานและต้องอดทนในการรอคอยมากมายถึงขนาดนั้น?

มันเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย วิธีที่สะดวกที่สุดก็คือ เล่าเรื่องของข่าวในเหตุการณ์ที่ผ่านมา

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างจากกรณีของคดี “นายเปรมชัยกับพวกร่วมกันฆ่าเสือดำ”…

นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัทอิตาเลียนไทยฯ กับพวก 4 คน ลักลอบล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี และถูกเจ้าหน้าที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ จับกุมพร้อมของกลางหลายรายการ รายการหลักคือซากสัตว์ป่าเสือดำ

คดีนี้ถ้าเป็นหนังหรือละครก็น่าจะมีเพียง 2 ฝ่ายที่ต้องสู้คดีกันจนถึงชั้นศาล คือ ฝ่ายฝ่าฝืนกฎหมายกับฝ่ายผู้รักษาผลประโยชน์ของบ้านเมือง

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ฝ่ายบ้านเมืองมีหลายปาร์ตี้ (party) เริ่มตั้งแต่เจ้าหน้าที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ผู้จับกุม ตำรวจพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ

นอกจากนั้น ในแต่ละปาร์ตี้ยังแยกย่อยออกไปอีก เช่น ฝ่ายผู้จับกุมก็มีผู้บังคับบัญชาระดับ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (ซึ่งจะเป็นผู้มีอำนาจอนุญาตให้บุคคลหรือคณะบุคคลเข้าไปตั้งเต็นท์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติ) ฝ่ายตำรวจก็แยกย่อยออกไปได้ว่าเป็นบิ๊กตำรวจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล กับพวก) กับตำรวจท้องที่ (สภ.ทองผาภูมิ และภาค 7) ฝ่ายอัยการก็มีทั้งอัยการภาค 7 กับอัยการสูงสุด

ทุกหน่วยของแต่ละปาร์ตี้ต่างทำหน้าที่ของตน นับแต่การสอบสวนบันทึกปากคำ ตรวจพิสูจน์ รวบรวมพยานหลักฐาน การแสดงความคิดเห็น ฯลฯ ทั้งมวลนี้ล้วนเป็นเรื่องที่ถูก “สื่อ” นำมาสร้างมโนภาพ ผูกหรือโยงให้กลายเป็นว่าแต่ละหน่วยของแต่ละปาร์ตี้ขัดแย้งกันไปเสียทุกประเด็น

การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้นายเปรมชัยกับพวกเข้าไปในเขตอนุรักษ์ฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา สื่อก็ออกข่าวอย่างมีนัยว่าฝ่ายอำนวยการกับฝ่ายจับกุมไม่พอใจกัน

การที่พนักงานสอบสวนเรียกตัวหัวหน้าผู้จับกุมสอบสวนเพิ่มเติมก็ถูกสื่อแสดงความสงสัยว่าตำรวจจะเล่นงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม

การที่อัยการสั่งตำรวจให้สอบสวนเพิ่มเติมในบางประเด็นซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของกระบวนการยุติธรรม ก็ถูกสื่อมองว่าทั้ง 2 หน่วยนี้ขัดแย้งหรือปีนเกลียวกันเพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัว

แม้กระทั่งความเห็นที่สอดคล้องกัน คือ ไม่ตั้งข้อหา “ทารุณกรรมสัตว์” ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ (เพราะเสือดำไม่อยู่ในฐานะสัตว์ที่จะถูกทารุณ) ก็ถูกประณามว่าสมคบกันช่วยเหลือผู้ต้องหา

คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างไต่สวนพยานโจทก์ ศาลยังไม่ได้พิพากษาตัดสินจำเลย แต่สังคมช่วยกันพิพากษาและประณามองค์กรตำรวจไปเรียบร้อยแล้ว

เหตุการณ์ตำรวจจราจรเชียงใหม่กับค่าถอดกุญแจล็อกล้อรถ 200 บาท เป็นเรื่องที่ต้องใช้ “วิจารณญาณ” มากเช่นกัน

ทำไมตำรวจผู้ปฏิบัติไม่ระมัดระวังว่าภาพหรือคลิปรับเงินที่แพร่ออกไปนั้น จะเป็นอันตรายต่อสถาบันตำรวจและประเทศไทย เขาทำอย่างเรียบง่ายต่อหน้าประชาชนที่จ้องมองอยู่

ทำไม ผกก.กลุ่มงานจราจร เชียงใหม่ จึงออกกฎระเบียบที่มีจุดอ่อนและช่องโหว่ คือ ให้จราจรปลดเครื่องบังคับล้อรถหลังจากพ้นเวลา 19.00 น. และใช้ใบสั่งลอยติดไว้แทน เพื่อให้ผู้ใช้รถไปชำระค่าปรับในเวลาราชการของวันรุ่งขึ้น เพราะที่ทำการจราจรจะปิดทำการเวลา 18.00 น.

ทำไมขอบทางที่ทาสีขาว-แดงอันเป็นเครื่องหมาย “ห้ามจอด” สากล จึงมีผู้ฝ่าฝืนโดยตลอด?

คลิปข่าวนี้แพร่กระจายและได้รับการคอมเมนต์จากผู้ใช้วิจารณญาณหลายราย มีผู้มองในแง่ดีว่าตำรวจต้องการช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ต้องเสียเวลาไปชำระค่าปรับ รายหนึ่งมองว่าตำรวจรับเงินอย่างเปิดเผยเหมือนรับทิป เงินเพียง 200 บาทน่าจะเป็นทิปมากกว่าเป็นส่วย และยังมีโชเฟอร์รถตุ๊กตุ๊กรายหนึ่งยืนยันว่าจราจรในภาพเป็นตำรวจน้ำดี ชอบช่วยเหลือประชาชน

แต่ส่วนใหญ่ต่างมองคลิปข่าวเป็น “คลิปฉาว” ต้องลงโทษตำรวจมากกว่าแค่ย้าย

ส่วนตัวผมมองว่า ไทยควรได้รับการเลื่อนระดับ “ประเทศมีปัญหาคอร์รัปชั่น” สูงขึ้น ด้วยว่าประเทศไทยกลายเป็นเมืองแห่งคอร์รัปชั่นอย่างแท้จริงไปแล้ว เป็นสังคมที่มองเห็นการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา คนระดับผู้นำประเทศมีทัศนคติว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ แถมยังมีตรรกะสุดเพี้ยนว่า “ผู้บริหารและทหารระดับสูงไม่โกง”!

กฎหมายปราบคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องมหัศจรรย์เหลือเชื่อ เหมือนไสยศาสตร์หรือการทรงเจ้าเข้าผี

จะเห็นได้ว่าการใช้วิจารณาญาณของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณี “นาฬิกายืมเพื่อน” เป็นเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายได้ ที่ ป.ป.ช.ทั้ง 8 ท่านที่กอปรด้วยวุฒิระดับสูงแต่มีความเห็นตรงข้ามกันเป็นฟ้ากับเหว “ตีตก” ข้อกล่าวหา 5 ต่อ 3

คอร์รัปชั่นและกฎหมายปราบคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องคล้ายไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลัง หรือเรื่องทรงเจ้าเข้าผี…ไม่เชื่ออย่าลบหลู่