ประชาชนพร้อมจะตัดสินใจด้วยสำนึก และตระหนักถึงอำนาจแห่งสิทธิของตัวเองหรือยัง ?

ฝากประเทศไว้ในสำนึก

เป็นช่วงที่คนไทยเราบอกกล่าวถึงกันว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะจะเป็นภารกิจร่วมที่ตัดสินว่าประเทศไทยพร้อมจะบริหารประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตยแล้วหรือไม่”

เป็นความพร้อมหรือไม่พร้อม ตัดสินที่ผลการเลือกตั้ง ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศใช้สิทธิด้วยความคิดใด

ชัดเจนว่าในภาพใหญ่มีพรรคการเมืองให้เลือกตั้ง 2 ประเภท

หนึ่ง พรรคที่ประกาศตัวสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร หากพรรคการเมืองชนิดนี้ได้รับเลือกเข้ามาในระดับที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ย่อมหมายถึงประชาชนเลือกที่จะให้บ้านเมืองปกครองด้วย “ระบอบอำนาจนิยม” ยอมให้ชีวิตของตัวเองถูกควบคุมด้วยอำนาจของคนกลุ่มหนึ่ง

สอง พรรคที่ยืนหยัดในอุดมการณ์ประชาธิปไตย อันหมายถึงเชื่อมั่นในแนวทางที่เห็นว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” ผู้ได้รับเลือกตั้งเข้ามามีหน้าที่ทำความต้องการของประชาชนให้บรรลุ

หรือหากจะยืนยันถึงคุณภาพของการตัดสินใจเลือกมากกว่านั้น ผลการเลือกตั้งจะต้องสะท้อนออกให้เห็นถึงความรู้ ความเข้าใจในความต่างของพรรคการเมืองแต่ละพรรค

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ หากติดตามความเคลื่อนไหวและสังเกตประเมินวิเคราะห์จากข้อมูลจะพบว่า วิธีการจูงใจ หรือจัดการให้ประชาชนเลือกพรรคตัวเองนั้นมีหลากหลายวิธี

ความคิดของพรรคการเมืองฝ่ายหนึ่ง มองว่าประชาชนไม่ได้มีจิตสำนึกต่อสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง ตัดสินด้วยผลประโยชน์

ผู้นำพรรคการเมืองฟากนี้ใช้วิธีส่งผู้สมัครที่เชื่อว่าเป็นผู้กว้างขวางในพื้นที่ เป็นผู้สร้างบารมีในพื้นที่จนประชาชนให้ความเกรงอกเกรงใจ

จากนั้นเอาประโยชน์เฉพาะหน้าเข้าล่อ ไม่ว่าจะการแจกเงิน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อแลกกับคะแนนเสียง

กับผู้นำพรรคอีกฝ่ายหนึ่งที่นำเสนอความคิดให้เห็นประโยชน์ระยะยาวของประชาธิปไตยที่จะทำให้พรรคการเมืองต้องทำงานตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่

ลดความเหลื่อมล้ำแทนที่จะให้ประโยชน์กับนายทุนผูกขาด เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินทอนที่จะนำส่วนหนึ่งมาแจกจ่ายซื้อเสียงจากประชาชน

เพราะเป็นการเลือกตั้งที่จะตัดสินว่า “ประชาชนพร้อมที่จะตัดสินใจด้วยสำนึกในความตระหนักถึงอำนาจแห่งสิทธิของตัวเองหรือยัง”

ความคิดที่ประชาชนจะใช้เลือกจึงเป็นความกระหายใคร่รู้ ทั้งจากผู้ที่ห่วงใยความเป็นไปของประเทศชาติ และแม้แต่นักการเมืองเองที่ต้องการประเมินว่าแรงจูงใจแบบไหนที่จะชี้นำประชาชนได้สำเร็จ

“นิด้าโพล” พยายามที่จะให้คำตอบ “ผลสำรวจล่าสุด” เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เรื่อง “การหาเสียงเลือกตั้ง 2562” มีหลายคำถามที่พยายามชี้ให้เห็นความคิดในการตัดสินใจของประชาชน

ในเรื่อง “นโยบายพรรค” ที่ใช้หาเสียง มีผลต่อการตัดสินใจเลือกหรือไม่ พบว่า

ร้อยละ 42.32 ตอบว่า มีผลค่อนข้างมาก

ร้อยละ 28.08 ตอบว่า ไม่ค่อยมีผล

ร้อยละ 15.36 ตอบว่า มีผลมาก

และร้อยละ 14.24 ตอบว่า ไม่มีผลเลย

เท่ากับว่า “นโยบายของพรรคที่ประกาศไว้ในการหาเสียง” จะมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่

เป็นคำตอบที่ชี้แนวโน้มไปในทางให้ความสำคัญต่อทิศทางของพรรค

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึง “ลักษณะของ ส.ส.ที่อยากได้” คำตอบออกมาว่า

ร้อยละ 30.32 ระบุว่า เข้าถึงประชาชน เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาแก้ไข รองลงมา

ร้อยละ 15.36 ระบุว่า มีคุณธรรมและรู้จักเสียสละ

ร้อยละ 14.16 ระบุว่า มีนโยบายเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และมีแนวทางปฏิบัติให้เป็นจริงได้

ร้อยละ 12.24 ระบุว่า ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้

ร้อยละ 9.84 ระบุว่า มีประวัติการทำงานหรือผลงานที่ผ่านมาดีและเป็นที่ยอมรับ

ร้อยละ 7.60 ระบุว่า รับฟังความคิดเห็นของประชาชน

ร้อยละ 6.48 ระบุว่า เป็นผู้มีอุดมการณ์ ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรี

ร้อยละ 2.96 ระบุว่า ส.ส.หน้าใหม่ หรือคนหนุ่มสาว

และร้อยละ 1.04 ระบุว่า ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง เช่น แจกเงินหรือสิ่งของเพื่อให้ผู้ใดลงคะแนนให้ตนเอง

ผลสำรวจในข้อนี้หากเอามาประเมินแนวโน้มการตัดสินใจกลับดูกระจัดกระจาย เอียงนิดๆ ไปในทางที่เห็นแก่ความใกล้ชิด สนิทสนม มากกว่าความรู้ความสามารถ

การเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว บัตรใบเดียว เลือกคนเท่ากับเลือกพรรค เลือกพรรคเท่ากับเลือกคน

คำตอบจาก “นิด้าโพล” จึงยังไม่ชัดเจนนัก

หากคุณภาพของประชาธิปไตย คือผลเลือกตั้งที่สะท้อนสำนึกถึงประโยชน์ของประเทศในระยะยาว ไม่ใช่แค่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าส่วนตัว

ประชาธิปไตยจะสถาปนาในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนหรือไม่

คำตอบจึงยังคงต้องรอผลการเลือกตั้ง