มีทางเลือกอะไร ? สำหรับธุรกิจไทย เพื่อป้องกันความเสี่ยง-รับมือค่าบาท

แนะทางเลือกธุรกิจไทยป้องกันความเสี่ยงรับมือค่าบาท

การเคลื่อนไหวค่าเงินบาท ปี 2562 ขณะนี้อยู่ในทิศทางที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยอยู่ในกรอบ 31.20-31.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากช่วงต้นปีที่อยู่ที่ราว 32.00 บาท

และหากมองย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2561 ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จะเห็นได้ว่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงถึง 1-2 บาท ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทยังแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 9 เดือน ถือเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย ซึ่งตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทแข็งค่าแล้วกว่า 4.02%

ส่วนสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ รูเปียห์ อินโดนีเซีย แข็งค่า 3.19% หยวน จีน แข็งค่า 2.13% ดอลลาร์ สิงคโปร์ แข็งค่า 1.07% ริงกิต มาเลเซีย แข็งค่า 0.93% เยน ญี่ปุ่น แข็งค่า 0.71% เปโซ ฟิลิปปินส์ แข็งค่า 0.67% ขณะที่ดอลลาร์ ไต้หวัน อ่อนค่า 0.08% ดอลลาร์ ฮ่องกง อ่อนค่า 0.19% วอน เกาหลีใต้ อ่อนค่า 0.29%

และรูปี อินเดีย อ่อนค่า 2.07%

 

สาเหตุที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องสะท้อนภาพว่าเงินบาทยังเป็นหลุมหลบภัย หรือเซฟเฮเว่น ในภูมิภาคและในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่นักลงทุนเลือกเข้ามาลงทุนในจังหวะที่ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน

และยังเลือกเข้ามาลงทุนในจังหวะที่ตลาดเปิดรับความเสี่ยงในการลงทุนจากเสถียรภาพการเงินของไทยที่แข็งแกร่ง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง เงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ระดับสูง และหนี้ต่างประเทศต่ำ

ทั้งยังมีแรงหนุนจากปัจจัยทางการเมือง คือ การเลือกตั้งของไทยที่ได้มีการประกาศชัดเจนและกำลังจะเกิดขึ้น ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ คาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทย

เห็นได้จากดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกับค่าบาทที่แข็งค่า

โดยมุมมองของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สะท้อนว่า การแข็งค่าของค่าเงินบาทในขณะนี้ หากมองระยะสั้นสะท้อนความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดเงินของไทย รวมทั้งพื้นฐานเศรษฐกิจและแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ซึ่งนักลงทุนที่เข้ามาคาดหวังผลตอบแทนจากราคาสินทรัพย์ที่สูงขึ้น และส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน และมีการเติบโตที่จูงใจในการลงทุน

 

สําหรับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท จะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจที่มีการค้าขายกับต่างประเทศ ทั้งในผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ซึ่งในกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ ผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบทำให้รายได้จากการขายสินค้าเมื่อแปลงมาเป็นเงินบาททำให้มีรายได้น้อยลง

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผู้นำเข้าจะสามารถนำเข้าสินค้าหรือเครื่องจักรต่างๆ ได้โดยมีต้นทุนที่ถูกลง ดังนั้น ไม่ว่าค่าเงินบาทจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางใดก็จะมีผลกระทบทั้งสองทาง

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพการเงิน ได้มีการดูแลค่าเงินบาทเพื่อไม่ให้ผันผวนรุนแรงเกินไป จนกระทบกับธุรกิจและอาจจะเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมเป็นครั้งคราวตามความจำเป็นของสถานการณ์สะท้อนออกมาผ่านเงินสำรองระหว่างประเทศ

หากพิจารณาเงินสำรองระหว่างประเทศจะพบว่า ธปท.เข้ามาดูแลค่าเงินบาทเป็นระยะๆ

ทำให้เงินสำรองในช่วงสิ้นปี 2561 ที่อยู่ที่ 2.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.08 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 25 มกราคม 2562

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ทั้งหมด เพราะเป็นไปตามกลไกตลาดการเงิน ที่อาจจะมีผลกระทบจากต่างประเทศด้วย

ดังนั้น หากไม่อยากเผชิญกับความผันผวนของค่าเงินบาท ที่จะนำไปสู่การขาดทุนค่าเงินบาท เพราะส่งผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก และการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินบาทไม่ได้หมายถึงการเก็งกำไรค่าเงินบาท

แต่จะทำให้ทราบว่าจะสามารถแลกเงินที่อัตราเท่าใด

ช่วยให้สามารถคาดการณ์รายได้และรายจ่ายได้ล่วงหน้า เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนธุรกิจและการขยายธุรกิจ

 

แนวโน้มค่าเงินบาท จากการประเมินของธนาคารมองว่า ช่วงครึ่งแรก 2562 ค่าเงินบาทและค่าเงินเอเชียจะอยู่ในทิศทางแข็งค่า จากปัจจัยการเจรจาสงครามการค้าสหรัฐและจีน คาดว่าจะมีข้อสรุปก่อนเดือนมีนาคม

การชะลอขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในครึ่งปีแรกนี้ซึ่งจะลดแรงกดดันการขึ้นดอกเบี้ยของตลาดเกิดใหม่ และการเลือกตั้งไทยที่หนุนให้เงินไหลเข้า

โดยค่าเงินบาทปีนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.70-31.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่าเงินบาทจะเริ่มนิ่งมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 และคาดสิ้นปีจะอยู่ที่ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ในจังหวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่า มักจะเห็นเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการส่งออกอยากให้แบงก์ชาติเข้ามาดูแล เพราะการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทยกว่า 60-70% มีผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคธุรกิจจำนวนมาก

ซึ่งในส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่มักจะไม่มีผลกระทบมาก เพราะส่วนใหญ่ทำประกันความเสี่ยงอยู่แล้ว หรือบางรายที่มีการนำเข้าด้วยก็จะมีการหักลบผลกระทบจากการนำเข้า หรือเรียกว่าเป็นการบริหารความเสี่ยงค่าเงินแบบธรรมชาติ

แต่ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีจำนวนมากยังมีการทำประกันความเสี่ยงต่ำ เพราะชอบที่จะลุ้นและมีความคาดหวังกับค่าเงินบาท แต่หากไม่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินในธุรกิจจะไม่เหมือนกับการซื้อหวย เพราะการซื้อหวยเป็นการซื้อโดยที่ไม่มีเดิมพัน และหากเสียหายอาจจะไม่มากนัก

แต่หากธุรกิจได้ก็อาจจะได้มาก แต่เสียก็จะเสียมากเช่นกัน ซึ่งอาจจะกระทบให้ธุรกิจขาดทุนได้

 

อย่างไรก็ดี สาเหตุที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่มีการทำประกันความเสี่ยงเพราะมองว่าเป็นต้นทุนที่สูงสำหรับธุรกิจ และธนาคารพาณิชย์ไม่มีการเปิดเผยอัตราการคิดค่าธรรมเนียม เพราะธนาคารพาณิชย์จะมีการประเมินความเสี่ยงของธุรกิจประกอบในการคิดค่าธรรมเนียมการทำประกันอัตราแลกเปลี่ยน

แต่ล่าสุด ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ได้มีการประกาศอัตราการคิดค่าธรรมเนียมการทำประกันความเสี่ยงเบื้องต้นให้ธุรกิจรับทราบแล้วผ่านทางเว็บไซต์ของแบงก์ชาติ

ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปศึกษาก่อนได้

ซึ่งการทำประกันความเสี่ยงมีทั้งการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (ฟอร์เวิร์ด) การตกลงซื้อสิทธิที่จะซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศในอนาคต (ออปชั่น) เป็นต้น หรืออาจจะใช้การเปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (เอฟซีดี) ไว้ก่อนก็ได้ นอกจากนี้ หากค้าขายกับประเทศกลุ่มอาเซียนอาจจะใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการซื้อขายซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ผันผวนได้

ทั้งนี้ แบงก์ชาติยังมีโครงการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของเอสเอ็มอี ระยะที่ 2

โดยเอสเอ็มอีสามารถเข้าร่วมสัมมนาให้ความรู้ทางการเงิน และที่สำคัญจะมีโอกาสทดลองใช้ประกันค่าเงินได้ฟรีภายใต้วงเงิน 50,000 บาท/กิจการ สามารถติดต่อเข้าร่วมสัมมนาได้ถึงเดือนกันยายน 2562 นี้

ซึ่งที่ผ่านมาโครงการได้รับการตอบรับ แต่อาจจะยังมีผู้ประกอบการที่ยังไม่เห็นความสำคัญ เพราะอาจจะคิดว่าต้องการทำธุรกิจก่อน ไม่มีเวลาเข้าร่วม และส่วนใหญ่เป็นกิจการที่มีเจ้าของคนเดียวที่อาจจะต้องตัดสินใจธุรกิจทั้งหมด

ผ่านมาแค่เดือนเดียว อาจจะยังไม่สามารถวัดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจได้ทั้งหมด แต่ช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีปัจจัยท้าทายต่อเศรษฐกิจรออยู่ อาจจะทำให้ค่าเงินมีความผันผวนมากกว่านี้เป็นได้

  ถือเป็นสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการธุรกิจอาจจะต้องเลือกว่าอยากจะลุ้น หรืออยากจะป้องกันเสี่ยงธุรกิจเอาไว้ก่อน!!!