สุรชาติ บำรุงสุข : การเมืองหลังเลือกตั้ง 2562 เปิดกล่องแพนโดร่า!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

การเมืองหลังเลือกตั้ง (จบ) Grand Scenarios 2562

“สงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด การเมืองคือสงครามที่ไม่หลั่งเลือด”

ประธานเหมาเจ๋อตุง

บทความในตอนจบจะนำเสนออีกสามส่วนที่เหลือ ได้แก่ ผลลัพธ์ที่เกิดจากกระบวนการเลือกตั้ง 2 แบบ และผลเช่นนี้จะมีปัญหาดำรงอยู่ 2 ประการ (หรือ กดย้อนอ่านตอนแรกที่นี่)

อันจะทำให้เกิดสถานการณ์จำลองในอนาคต 2 แบบ

2 ผลลัพธ์ : เสรีชนะหรือเสนาชนะ

การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ 2 ชุดคือ “เสรีนิยม vs เสนานิยม” ที่ส่งผลให้การเมืองไทยในภาพรวมจะถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายหรือสองขั้ว

การพิจารณาเช่นนี้จะดูจากทิศทางของแต่ละพรรคเป็นหลัก

ฉะนั้น ฝ่ายเสนานิยมก็คือพรรครัฐบาลทหาร และพรรคอื่นๆ ที่มีชุดความคิดแบบเดียวกัน หรือเป็นพรรคที่มีแนวทางที่จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับฝ่ายรัฐบาลทหารเดิม

กลุ่มการเมืองชุดนี้มีพรรคทหารเป็นแกนนำที่ชัดเจน

ส่วนฝ่ายเสรีนิยมคือพรรคที่ไม่เอารัฐบาลทหาร และพรรคที่มีแนวทางการเมืองแบบเดียวกัน

การเมืองในเงื่อนไขเช่นนี้ จึงมีลักษณะเป็นสองฝ่าย หรือสองขั้วการเมืองอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น ผลของการเลือกตั้งจะปรากฏใน 2 ลักษณะเท่านั้น คือ

1)ฝ่ายเสนานิยมชนะ การชนะของพรรครัฐบาลทหารจะดำรงอยู่ใน 2 ตัวแบบ คือ

– ตัวแบบรัฐบาล 2518 ชนะด้วยการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย (minority government) โดยพรรคการเมืองในปีกเสนานิยมที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำชนะด้วยคะแนนจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่เสียงข้างมาก แต่จัดตั้งรัฐบาลด้วยการอาศัยเสียงวุฒิสมาชิกเป็นเครื่องมือสนับสนุน และมีผู้นำจากกลุ่มนี้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ส่วนจะเป็นนายกฯ คนปัจจุบันหรือไม่ เป็นประเด็นที่จะต้องดูในอนาคต)

การจัดตั้งรัฐบาลที่ฝ่ายเสนานิยมไม่ได้ชนะด้วยเสียงข้างมาก ทำให้การดำเนินงานในความเป็นฝ่ายบริหาร อาจจะประสบกับความยุ่งยากอย่างมาก เพราะอาจถูกญัตติไม่ไว้วางใจโดยฝ่ายที่มีเสียงข้างมากของฝ่ายนิติบัญญัติ และส่งผลให้สถานะของรัฐบาลมีความ “ง่อนแง่น” ในตัวเอง

จะต้องไม่คิดว่ารัฐบาลฝ่ายทหารจะเป็นดัง “รัฐบาลคึกฤทธิ์” ที่มีเพียง 18 เสียงในสภาผู้แทนฯ ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และผู้นำทหารปัจจุบันเองก็ไม่ได้มีความสามารถทางการเมือง เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

– ตัวแบบรัฐบาล 2512 ชนะด้วยการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก โดยพรรครัฐบาลทหารสามารถรวบรวมเสียงพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีชุดความคิดการเมืองเดียวกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลในลักษณะนี้น่าจะเป็น “รัฐบาลผสม” เพราะการแข่งขันครั้งนี้ โอกาสที่จะมีพรรคเดียวเสียงข้างมากเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อันเป็นผลจากการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องให้เกิดระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง

การเป็นรัฐบาลผสมในแบบที่มีพรรคการเมืองเป็นจำนวนมากในการเลือกตั้งนั้น มีความคล้ายคลึงกับรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร คือพรรคสหประชาไทยได้ 76 เสียง พรรคลำดับสองกลับเป็นผู้สมัครที่ไม่สังกัดพรรคที่มีมากถึง 71 เสียง ในขณะที่ฝ่ายค้านมีเพียง 57 เสียง

การจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรครัฐบาลเป็นแกนจำต้องอาศัยเสียงของผู้สมัครอิสระ

และบทเรียนทั่วโลกมีคำตอบว่า รัฐบาลผสมมีความ “ง่อนแง่น” อีกแบบ และจำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรในการดึงให้เสียงที่ผสมไม่แตกออก และในความเป็นจริงก็คือ รัฐบาลผสมมักไม่มีอายุยืนยาว และผู้นำทหารไทยไม่ว่าในยุคสมัยใดไม่เคยคุมรัฐบาลผสมได้แต่อย่างใด

ผลจากชัยชนะของฝ่ายรัฐบาลทหารจะทำให้เกิดระบอบ “พันทาง” (hybrid regime) อันจะนำไปสู่การกำเนิดของ “ระบอบกึ่งอำนาจนิยม” (semi-authoritarianism) ซึ่งก็คือระบอบ “กึ่งเผด็จการ” ที่รัฐบาลทหารเดิมอาศัยกระบวนการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการคงอำนาจ และเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรม

อีกทั้งดำรงอยู่ด้วยกฎและกติกาการเมืองที่ถูกออกแบบให้เอื้อต่อการดำรงอยู่ของ “เผด็จการครึ่งใบ” (เรียกในทางทฤษฎีว่า “electoral authoritarianism”) ซึ่งก็คือระบอบเผด็จการที่มาด้วยการเลือกตั้ง หรือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมแบบหนึ่งไปสู่ระบอบนี้ในอีกรูปแบบหนึ่ง คือเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการเต็มใบไปสู่เผด็จการครึ่งใบ ดังเช่นตัวแบบของรัสเซียและตุรกีปัจจุบัน

2) ฝ่ายเสรีนิยมชนะ การชนะของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารนั้น ไม่ว่าจะชนะมากหรือน้อยก็จะต้องเผชิญอุปสรรคจากการออกแบบทางการเมืองแทบจะไม่แตกต่างกัน

คือ รัฐบาลพลเรือนจะมีสถานะเป็นดัง “นักโทษ” ของรัฐบาลทหารเดิม ที่ถูกพันธนาการด้วยสี่เงื่อนไขคือ

กติกาในรัฐธรรมนูญ ข้อกำหนดของยุทธศาสตร์ชาติ

บทบาททหารภายใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)

และมรดกตกทอดจากกฎหมายและคำสั่งของรัฐบาลทหารเดิม

รัฐบาลในสภาวะเช่นนี้จึงเป็นดัง “เป็ดง่อย” (lamb duck) ที่บ่งบอกถึงรัฐบาลที่ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมของความเป็นรัฐบาลได้

และเป็นรัฐบาลที่ไม่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ คือเป็นดังเป็ดที่เดิน “กะโผลกกะเผลก” (หมายถึงอาการที่เดินไปด้วยความยากลำบาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2525)

รัฐบาลพลเรือนในสภาวะเช่นนี้อาจต้องเผชิญกับการควบคุมจากรัฐบาลทหารเดิม อันอาจส่งผลให้ระบอบการเมืองมีปัญหาในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่น การบังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องกำหนดนโยบายภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลทหารได้สร้างขึ้น

หรือต้องยอมรับต่อการมีบทบาทของทหารที่มี กอ.รมน. เป็นดัง “กระทรวงพิเศษ” และรัฐบาลใหม่ต้องจัดสรรงบให้ตามคำสั่งรัฐบาลเดิม

การดำรงอยู่ของรัฐบาลพลเรือนจึงมีความ “หมิ่นเหม่” ในเชิงเสถียรภาพด้วย

ชัยชนะของฝ่ายเสรีนิยมจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ “ประชาธิปไตยเต็มใบ” หากแต่จะเป็น “การเปลี่ยนผ่านที่จำกัด” (limited transition) หรืออาจจะเทียบเคียงกับตัวแบบในละตินอเมริกาในช่วงหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2523 ที่มีลักษณะเป็น “การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยภายใต้การควบคุมของทหาร” (protected democratization)

หรือเกิดระบอบการเมืองที่เป็นพันทางในอีกรูปแบบหนึ่งคือ เป็น “ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี” (illiberal democracy) หรือเป็น “กึ่งประชาธิปไตย” (semi-democracy) ซึ่งมีนัยว่าจะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านอีกครั้งเพื่อให้เกิดกระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่หลุดจากการควบคุมของรัฐบาลทหาร ฉะนั้น หากพิจารณาแล้ว คงต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยยังมีความยุ่งยาก และมีความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า

ปัญหานี้เป็นความท้าทายต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของขบวนประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเพื่อปลดพันธนาการจาก “โซ่ตรวน” ของรัฐบาลทหารเดิม พร้อมกับการผลักดันยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยในการกำหนดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร

หรือโดยนัยคือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งกับสถาบันทหารในระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งก็คือการสร้าง “democratic civil-military relations” เพื่อเป็นฐานรองรับต่อการสร้างประชาธิปไตย

2 ปัญหา : ไร้เสถียรภาพ-ไร้การคาดเดา

ถ้าฝ่ายเสนานิยมชนะ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือรัฐบาลผสมเสียงข้างมาก สถานะของรัฐบาลทหารเดิมที่ครอบรัฐบาลใหม่นั้นมีความ “ง่อนแง่น” ในเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป แต่เป็นการดำรงอยู่ที่จะต้องพึ่งพาเสียงภายใน และเผชิญกับความท้าทายในรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง

การสร้างเสถียรภาพสำหรับรัฐบาลทหารแปลงรูปเช่นนี้จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย และที่สำคัญยังจะต้องเตรียมทรัพยากรเพื่อป้องกันสภาวะ “งูเห่า” ที่พร้อมจะแยกค่ายในการออกเสียงได้ตลอดเวลา

เช่นเดียวกันการเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ย่อมมีปัญหาเสถียรภาพในตัวเอง และต้องเตรียมทรัพยากรเพื่อป้องกันการแตกทัพไม่แตกต่างกัน

หรือกล่าวเป็นข้อสรุปสำหรับอนาคตของฝ่ายเสนานิยมได้ว่า รัฐบาลเสียงข้างน้อยอายุไม่ยืนยาวฉันใด รัฐบาลผสมเสียงข้างมากก็อายุไม่ยืนฉันนั้น

ถ้าฝ่ายเสรีนิยมชนะ รัฐบาลพลเรือนใหม่จะมีสภาวะสองประการคือ ถ้าไม่เป็น “เป็ดง่อย” ที่เดินไม่ได้ ก็อาจเป็นดัง “นักโทษ” ที่ถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน

อนาคตของรัฐบาลพลเรือนจึงดำรงอยู่ด้วยความ “ง่อนแง่น” อันเป็นผลจากการออกแบบที่ทำให้เกิดความอ่อนแอในสองประการคือ การมีรัฐสภาที่อ่อนแอ และรัฐบาลที่อ่อนแอควบคู่กันไป

และแม้ฝ่ายเสนานิยมชนะ พวกเขาก็อยู่ในสภาวะเช่นนี้ไม่แตกต่างกัน เพราะพวกเขาจะถูกกลไกที่ออกแบบแต่เดิมควบคุมไว้ เนื่องจากกลไกรัฐธรรมนูญในภาพรวมถูกออกแบบเพื่อให้เกิดการเมืองที่อ่อนแอ ดังนั้น ไม่ว่าฝ่ายใดจะมีอำนาจ ก็จะอยู่ภายใต้พันธนาการนี้

ผลจากสภาวะเช่นนี้จะทำให้การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งอยู่ในเงื่อนไข 2 ไร้ คือ ไร้เสถียรภาพ (unstable) และไร้การคาดเดา (unpredictable)

สภาวะของ “2U” (unstable+unpredictable) เป็นคำตอบในตัวเองว่า ความผันผวนจะยังคงเป็นปัจจัยที่ยังดำรงอยู่ต่อไปในการเมืองไทย และการเมืองไทยยังคงเป็นสิ่งคาดเดาไม่ได้ด้วย

เงื่อนไขเช่นนี้ส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยในอนาคตมีความยุ่งยากและความซับซ้อนในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2 ตัวแบบ : วุ่นวายหรือวิกฤต

หลายฝ่ายในการเมืองไทยมีความกังวลคล้ายกันว่า การเลือกตั้งที่เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอาจจะไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวก

เนื่องจากในด้านหนึ่งรัฐบาลทหารเดิมมีความพยายามอย่างมากที่ต้องการกลับสู่การเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

ความพยายามเช่นนี้ทำให้รัฐบาลทหารที่ควรเป็น “กรรมการ” กลับผันตัวเป็น “คู่แข่งการเมือง” อันทำให้การแข่งขันครั้งนี้มีความเข้มข้นมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

และในอีกด้าน รัฐบาลทหารสร้างความได้เปรียบทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นหลักประกันของชัยชนะ

จนมีเสียงวิจารณ์ถึงการใช้อำนาจที่เกินความเหมาะสม แม้จะพยายามแก้ด้วยการยืนยันในทางกฎหมายว่า รัฐบาลทหารสามารถกระทำการใดๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มงบประมาณก่อนการเลือกตั้ง การเดินสายของผู้นำรัฐบาลในหลายจังหวัด หรือการออกหาเสียงก่อน เป็นต้น

การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งแล้ว จึงอาจเป็นเสมือนการ “ระเบิด” ของปัญหาต่างๆ ที่ถูกปิดกั้นหรือกดทับด้วยอำนาจของรัฐบาลทหาร

ดังที่กล่าวเปรียบเทียบแล้วว่า หลังการเลือกตั้งจะเป็นดังการเปิด “กล่องแพนโดร่า” ที่ปัญหาและเรื่องราวต่างๆ จะพรั่งพรูออกมา สถานการณ์หลัง 14 ตุลาคม 2516 เป็นคำบอกเล่าที่ชัดเจนของการเปิดกล่องแพนโดร่า และจะไม่มีใครหยุดยั้งการไหลบ่าของปัญหาทั้งหลาย… ปิดนานเท่าใด ปัญหาก็สุมทับถมและรอวันระเบิดมากเท่านั้น

ดังนั้น สถานการณ์หลังเลือกตั้งที่อำนาจการควบคุมของรัฐบาลทหารหมดลง พร้อมกับการเปิดพื้นที่การเมืองจะเป็นโอกาสของการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ ถ้าเราเข้าใจถึงธรรมชาติของการเมืองในระบบเปิด การเคลื่อนไหวที่มีทั้งการเรียกร้องและการประท้วงเป็นเรื่องปกติ ดังที่เห็นจากภาพข่าวของประเทศพัฒนาแล้ว เช่นกรณีของฝรั่งเศสในปัจจุบัน และเรื่องเช่นนี้ไม่เป็นข้ออ้างให้เกิดการยึดอำนาจแต่อย่างใด แม้ภาพที่ปรากฏจะเป็นดัง “ความสับสนวุ่นวาย” หรืออาจเป็น “chaos” ในสายตาของฝ่ายอนุรักษนิยม ที่มักจะมองการเมืองแบบวาทกรรมตายตัวคือการเมือง “ต้องนิ่ง” และ “ต้องสงบ”

แต่ในอีกด้านอาจจะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยภายใต้ระบอบทหารมีภาวะตกต่ำและถดถอย และยังทับซ้อนด้วยเงื่อนไขของสงครามการค้าในเวทีโลก ทำให้ชีวิตประจำวันของผู้คนโดยทั่วไปในสังคมไทยมีความยากลำบากมากขึ้น

จนอดคิดเปรียบเทียบไม่ได้ว่า เงื่อนไขเศรษฐกิจเป็นปัจจัยของการกำเนิด “เสื้อกั๊กเหลือง” ที่มีการรวมตัวแบบไร้จัดตั้งของคนชนชั้นล่างผสมเข้ากับชนชั้นกลางล่างในฝรั่งเศส

เงื่อนไขเช่นนี้จะก่อให้เกิดขบวนการใหม่ในสังคมไทยหรือไม่ (ไม่ใช่ขบวนการอนุรักษนิยมแบบเสื้อเหลืองไทย) ภาวะเศรษฐกิจไทยอันเป็นผลจากการบริหารของรัฐบาลทหารนั้น จะนำไปสู่ “วิกฤตการเมือง” ในอนาคตหรือไม่

ตัวแบบในอีกด้านจึงเป็น “วิกฤต” (crisis) ที่กำลังรออยู่ข้างหน้า

2562 เปิดกล่องแพนโดร่า!

ไม่มีใครคาดได้ว่า การเปิดกล่องแพนโดร่า 2562 จะนำไปสู่อะไรบ้าง…

ในตำนานของเทพปกรณัมกรีก สาวงามชื่อแพนโดร่ามายังโลกพร้อมกับกล่องปริศนา

เมื่อกล่องถูกเปิดออกแล้ว ปัญหาต่างๆ ก็พรั่งพรูออกมาไม่หยุด

ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความริษยา ความโลภ ความทุกข์ ความเจ็บป่วย และความชั่วร้ายทั้งหลาย

แต่ในท้ายที่สุดนางปิดกล่องนี้ทันก่อนที่ของชิ้นสุดท้ายจะโบยบินออกมาสู่โลก

และของสิ่งนั้นคือ “ความสิ้นหวัง” สิ่งของทุกอย่างทะยานออกจากกล่องแพนโดร่า เหลือแต่เพียงความสิ้นหวังเท่านั้นที่ยังถูกปิดเก็บไว้

เราจึงยังคงมี “ความหวัง” เหลืออยู่

เราจึงหวังว่า กล่องแพนโดร่าไทย 2562 จะปิดทัน ดังเช่นกล่องนี้ได้ถูกปิดทันในเทพปกรณัมกรีก ก่อนที่ความสิ้นหวังจะโบยบินออกมา!