กรองกระแส / ยุทธวิธีการเมือง คำขวัญ ‘มรึง’ ออกมา ‘ไล่’ ดูสิ ใต้ยุทธศาสตร์ใหญ่

กรองกระแส

ยุทธวิธีการเมือง

คำขวัญ ‘มรึง’ ออกมา ‘ไล่’ ดูสิ

ใต้ยุทธศาสตร์ใหญ่

 

เหมือนกับการหลุดประโยคที่ว่า “มรึงมาไล่ดูสิ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จะเป็นเรื่องของความบังเอิญ จะเป็นเรื่องประเภทอารมณ์พาไป เหมือนที่เคยหลุดมาแล้วตลอด 5 ปีที่อยู่ในอำนาจ

ไม่ใช่ ไม่ได้เป็นความบังเอิญ ไม่ได้เป็นเรื่องของอารมณ์ หากแต่ดำเนินไปอย่างมีความตั้งใจ เจตนาตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดวางเอาไว้อย่างแจ่มชัด

เพราะ 1 เป็นการพูดในห้วงแห่งการแถลงผลงาน

เพราะ 1 เป็นการพูดโดยที่รับรู้กันว่าในเวลา 16.30 น.ของวันเดียวกันนี้พรรคพลังประชารัฐจะส่งเทียบเชิญให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงอยู่ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตามมติของพรรค อันเท่ากับเป็นการเริ่มบาทก้าวสำคัญในการต่อสู้ทางการเมือง

ขณะเดียวกัน 1 หากไปศึกษาการเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในห้วงที่ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ. และในห้วงที่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ก็จะเข้าใจ

เข้าใจว่า ประโยคที่ว่า “มรึงมาไล่ดูสิ” เสมอเป็นเพียงยุทธวิธีหนึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์การอยู่ในอำนาจของ คสช. อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นั่นก็คือ เสนอทางเลือกให้กับประเทศชาติ และประชาชนไทย

 

รัฐประหาร 2549

รัฐประหาร 2557

 

แท้จริงแล้ว มีความตระหนักมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แล้วว่าสังคมไทยแบ่งแยกออกเป็น “พวกกรู” กับ “พวกมรึง”

ปฏิบัติการของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นไปตาม “ยุทธศาสตร์” นี้

แม้ปฏิบัติการของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะสามารถปูทางและสร้างเงื่อนไขให้นำไปสู่การรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 แต่การเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 สะท้อนว่าเป็นความสำเร็จที่ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงต้องมีการเคลื่อนไหวต่อกระทั่งนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชน

หลังเดือนธันวาคม 2551 อำนาจอยู่ในมือของรัฐบาลประชาธิปัตย์ แม้จะเผชิญแรงต้านจากคนเสื้อแดง แต่ด้วยความร่วมมืออย่างแข็งแกร่งสามารถปราบปรามลงได้ในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 จึงมีความมั่นใจว่าสามารถจัดการ “พวกมรึง” ลงได้แล้วจึงยุบสภาและจัดการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554

การเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ก็ยังไม่อาจกำราบ “พวกมรึง” ลงได้ จึงต้องมีสถานการณ์ที่นำร่องโดย “กปปส.” และลงเอยด้วยรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 และใช้เวลาเกือบ 5 ปีดำเนินตามยุทธศาสตร์เดียวกันนั้นอีกครั้งหนึ่งผ่านกระบวนการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562

การเสนอประโยคที่ว่า “มรึงมาไล่ดูสิ” จึงไม่เพียงสะท้อนความมั่นใจ หากแต่แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างยังอยู่ภายใต้กรอบแห่งยุทธศาสตร์ “พวกมรึง” กับ “พวกกรู” ครบถ้วน

 

พวกมรึง พวกกรู

แบ่งขั้วการเมือง

 

เหตุใดจึงต้องมีรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คำตอบเด่นชัดยิ่งว่า เพราะมีความเห็นว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ล้มเหลว

ล้มเหลวอย่างที่สรุปออกมาว่าเป็นรัฐประหาร “เสียของ”

จึงแทนที่จะมอบอำนาจด้วยการเชิญบุคคลอื่น ฝ่ายผู้ก่อการรัฐประหารเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินด้วยตนเอง จากนั้นก็กำหนดโครงสร้างการบริหารจัดการออกเป็น “แม่น้ำ 5 สาย”

ทาง 1 ควบคุม “พวกมรึง” อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดผ่านประกาศและคำสั่ง

ขณะเดียวกัน ทาง 1 ไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นในแบบของ “คตส.” ตรงกันข้าม ใช้กลไกผ่านองค์กรอิสระและหน่วยราชการ รุกไล่ “พวกมรึง” อย่างต่อเนื่อง หลายคนถูกตัดสิทธิทางการเมือง หลายคนติดคุกติดตะราง หลายคนต้องหนีออกนอกประเทศ

จากนั้น 1 ก็จัดทำ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ สร้างกติกาที่ลิดรอนโอกาสของ “พวกมรึง” ทุกวิถีทางและสร้างหลักประกันแห่งอำนาจผ่านโครงสร้างทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร

เป้าหมายก็คือ สร้างความได้เปรียบทุกขั้นตอนให้กับ “พวกกรู” ขณะเดียวกัน ก็ปิดกั้นและตัดโอกาสทุกขั้นตอนของ “พวกมรึง” เพื่อปูทางและสร้างเงื่อนไขให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง และเป็นหลักประกันของการสืบทอดอำนาจตามยุทธศาสตร์

 

จุดแข็ง จุดอ่อน

ของยุทธศาสตร์

 

ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งการสืบทอดอำนาจของ “พวกกรู” ภายใต้ยุทธวิธีจำกัดกรอบขอบเขตการเคลื่อนไหวของ “พวกมรึง” ก่อให้เกิดสภาพได้เปรียบและเสียเปรียบอย่างเด่นชัด

เป็นความได้เปรียบกระทั่งกล้าเปล่งประโยค “มรึงมาไล่ดูสิ” อย่างอาจหาญ

กระนั้น ภายใต้จุดแข็ง ภายใต้การรุกในทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ก็ปรากฏจุดอ่อนขึ้นโดยที่ไม่แน่ว่า ที่เรียกตัวเองว่า “พวกกรู” จะรู้หรือไม่

นั่นก็มาจากการกำหนดเป้าที่เรียกว่า “พวกมรึง” กว้างจนเกินไป

นั่นก็มาจากการรุกไล่ที่กระทำอย่างต่อเนื่องภายหลังรัฐประหาร มิได้จำกัดแต่เพียงคนของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย เท่านั้น หากแต่นับวันยิ่งขยายกว้าง สร้างความไม่พอใจมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งก่อรูปขึ้นของพันธมิตร “พวกมรึง” อย่างกว้างไพศาล

   จึงไม่แน่ว่าการประกาศยุทธวิธี “มรึงมาไล่ดูสิ” จะได้ผลเป็นอย่างไรในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมข้างหน้า