เรื่องจริงอิงประวัติศาสตร์ชวนสับสนของพระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

“มหานคร” คือนครปฐม?
รัมมนะปุระอยู่ที่ไหน?

ต่อจากตอนที่แล้ว ความเดิมกล่าวถึงพระพุทธองค์ประทับนั่งบน “หินดำ” ก้อนหนึ่งทางด้านตะวันตกของแม่น้ำ ไม่ไกลจากอโยชฌปุระ (ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน คำว่าไม่ไกลนั้น ใกล้-ไกลประมาณกี่โยชน์กันเล่า)

“ต่อจากนั้นมา มีพระราชาธิราชองค์หนึ่ง ในรัมมนะประเทศ เป็นใหญ่แก่เจ้าประเทศทั้งหลาย ทรงดำริอย่างนี้ว่า หินก้อนนี้แม้เป็นเพียงมีฐานะเป็นเครื่องใช้สอย แต่ก็ยังเป็นไปเพื่อบุญใหญ่หลวงแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้ อย่ากระนั้นเลย เราจะทำหินก้อนนั้นให้เป็นพระพุทธปฏิมา และพระพุทธปฏิมาองค์นี้จะได้เป็นไปเพื่อบุญใหญ่หลวงยิ่งๆ ขึ้นไปแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจนกว่าศาสนาจะอันตรธาน”

คำว่า “รัมมนะประเทศ” ปรากฏอีกครั้ง สัปดาห์ที่แล้วได้ขยายความแล้วว่า หมายถึงประเทศรามัญ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเป็นมอญในไทยหรือมอญในพม่า มาดูกันต่อว่ากษัตริย์มอญองค์นั้นให้แกะสลักพระพุทธรูปอย่างไร

“ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งให้ประชุมช่างปฏิมากรรมทั้งหลาย แล้วโปรดให้ช่างทำหินก้อนนั้นให้เป็นพระพุทธรูปจำนวน 5 องค์ ครั้นทำเสร็จแล้ว องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในมหานคร องค์หนึ่งอยู่ในลวปุระ องค์หนึ่งอยู่ในเมืองสุธรรม อีก 2 องค์ประดิษฐานอยู่ในรัมมนะประเทศโพ้น”

ข้อความนี้แหละที่ทำให้ข้าพเจ้างงในงง ไม่เพียงแต่จะไม่บอกว่าพุทธลักษณะนั้นประทับนั่งหรือยืน เท่านั้นไม่พอ การกระจายตัวของพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ที่แกะสลักขึ้นพร้อมกัน ยังสร้างความสับสนด้านสถานที่ตั้งอีกด้วย ดูนะคะ

“มหานคร” คืออะไร หมายถึงที่ไหน ตอนแรกก็บอกว่า เมืองที่มีหินดำนั้นอยู่ไม่ไกลจากอโยชฌปุระไง และถัดมาก็เขียนประมาณให้เข้าใจว่า อโยชฌปุระที่ว่านั้นเป็นเมืองเดียวกันกับรัมมนะประเทศ แล้วไปๆ มาๆ ตอนนี้มาเรียกเมืองที่แกะสลักหินดำว่า “มหานคร” อีก

ตกลง อโยชฌปุระ = มหานคร และไม่ใช่รัมมนะประเทศเสียแล้ว ว่างั้น?

ลวปุระ คือชื่อเมืองถัดมา เมืองนี้ไม่งง เพราะรู้ว่าหมายถึงละโว้ หรือลพบุรี

เมืองสุธรรม ก็คือสุธรรมวดี หรือสะเทิม เมืองมอญในพม่าใช่ไหม?

ทว่า… แต่มาเขียนว่า อีกสององค์ประดิษฐานใน “รัมมนะประเทศโพ้น” อะไรอีกละเนี่ย ก็ไหนว่ากษัตริย์ผู้สร้างปฏิมาศิลาดำ เป็นกษัตริย์มอญในรัมมนะประเทศ แล้วทำไมประโยคนี้มาใช้คำว่า “โพ้น” หมายถึงไกลมาก

เฮ้อ! เหอ เห็นหรือยังคะ ว่าทำไมดิฉันจึงถอดใจทุกครั้งเมื่ออ่านความเป็นมาของพระสิขีปฏิมา เพราะถึงตอนนี้ทีไรมักเกิดอาการไปไม่เป็นเสมอ

สรุปแล้ว รัมมนะประเทศ อยู่ที่ไหนกันแน่หนอ จากตอนแรกบอกเป็นเมืองที่กษัตริย์มอญอาศัยอยู่ อิฉันก็นึกว่าประมาณหงสาวดีกระมัง อีกทั้งเป็นเมืองที่มีการแกะสลักหินดำ ไปๆ มาๆ กลายเป็นเมืองที่อยู่ไกลจากแหล่งแกะหินเสียอีก (เพราะเมืองแกะหินคือ มหานคร?) แถมรัมมนะประเทศยังมีอภิสิทธิ์ได้รับพระหินดำมากถึง 2 องค์ ในขณะที่เมืองอื่นๆ ได้พระปฏิมาเพียงเมืองละองค์เท่านั้น แม้แต่มหานคร

มหานครนี่ อย่าบอกนะว่าคือ Ankgor Thom ซึ่งแปลตรงตัวว่า มหานครพอดี แต่จะไกลไปไหมอยู่ถึงเขมรโน่น ดูจะเลยออกนอกเขตเมืองมอญไปแล้วกระมัง หรือจะหมายถึง “พระประธม” ในนครปฐม เพราะ ธม = หลวง

ถ้าพิจารณาว่าเมืองมอญที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ต้องเป็นมอญในยุคทวารวดี “มหานคร” ก็มีสิทธิ์เป็น “นครปฐม” พอฟังขึ้นหน่อย เพราะเป็นเมืองมอญทวารวดีรุ่นแรกๆ เช่นกัน

สรุปประมาณว่า พระศิลาดำทั้ง 5 นี้ อยู่ที่นครปฐม 1 องค์ ลพบุรี 1 องค์ สะเทิม 1 องค์ และรัมมนะประเทศ (น่าจะหงสาวดีไหม) 2 องค์

 

มโนหารแห่งสะเทิม VS
อนิรุทธแห่งพุกาม

“พระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ฤทธิ์เดชยิ่งนัก ฝ่ายราชาผู้เป็นใหญ่ในรัมมนะประเทศ ทรงสักการบูชาพระพุทธรูป 2 องค์เสมอมาจนสวรรคต

กษัตริย์ผู้เป็นพระราชโอรสของพระองค์ ก็ได้ทรงบูชามาเช่นเดียวกัน และกษัตริย์พระองค์นี้ มีพระราชโอรสพระนามว่า “มโนหารราช” ครองราชสมบัติในรัมมนะประเทศนั้น และเมื่อครองราชสมบัติอยู่ ก็ได้ทรงบูชาเป็นนิตย์”

เอาแล้ว ย่อหน้านี้ปรากฏชื่อเฉพาะของกษัตริย์มอญที่มีตัวตนอยู่จริงพระองค์หนึ่งชื่อ “มโนหารราช” หรือชื่อ “มนูหะเม็ง” (เรียกตามพงศาวดารโยนก) หรือชื่อในพงศาวดารรามัญเรียก “มนูหอ” ระบุว่ากษัตริย์องค์นี้ครองเมืองสะเทิม (สุธรรมวดี)

แต่เหตุไฉนจึงแยกเมืองสะเทิมไว้เป็นอีกเมืองหนึ่ง (ที่บอกว่าประดิษฐานพระศิลาดำในลำดับที่ 3 หนึ่งองค์) แล้วเอากษัตริย์สะเทิม (มโนหาร) มาปกครองรัมมนะประเทศ (หงสาวดี?) อีกเมืองหนึ่งหรือไร

“ได้ยินว่า ครั้งนั้น ในเมืองอริมัททนปุระ มีพระราชาองค์หนึ่ง พระนามว่า “อนุรุทธ” ครองราชสมบัติอยู่ พระเจ้าอนุรุทธนั้นมีฤทธิ์มาก เหาะได้ และพระองค์ส่งทูตไปยังสำนักพระเจ้ามโนหาร ขอรับเอาพระปฏิมาหินดำองค์หนึ่ง ฝ่ายพระเจ้ามโนหารไม่ยอมถวาย เพราะพระองค์เป็นพุทธมามกะเหมือนกัน พระเจ้าอนุรุทธกริ้วพระเจ้ามโนหาร ยกพลนิกายไปรัมมนะประเทศ ทรงรบกับพระเจ้ามโนหาร จับพระเจ้ามโนหารได้ทั้งเป็น แล้วเสด็จกลับอริมัททนปุระ”

ในย่อหน้านี้ปรากฏชื่อเมือง “อริมัททนปุระ” หมายถึงเมือง “พุกาม” นั่นเอง

ส่วนกษัตริย์อนุรุทธ ก็คือพระเจ้าอนิรุทธมหาราช หรืออโนรธาผู้โด่งดัง เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีอายุร่วมสมัยกับพระเจ้ามนูหะเม็ง แห่งสุธรรมวดีจริง

แต่ในประวัติศาสตร์ พบแต่เหตุการณ์ตอนที่พระเจ้าอนิรุทธมหาราชแห่งพุกาม ยกทัพไปขอพระไตรปิฎกจากเมืองสะเทิมเท่านั้น ไม่ได้ขอพระพุทธปฏิมาศิลาดำแต่อย่างใด

เห็นได้ว่าผู้เขียนตำนานซึ่งเป็นพระภิกษุชาวล้านนานั้น มักอิงเค้าโครงเหตุการณ์ที่มีอยู่จริงทางประวัติศาสตร์ แต่นำมาดัดแปลงใหม่ บางครั้งก็ปลิ้นด้านให้พิสดาร ดังเรื่องพระแก้วมรกตก็เช่นกัน มีการเปลี่ยนเรื่องราวจากการที่กษัตริย์ลังกายกทัพมาขอพระไตรปิฎกจากพุกาม กลับด้านให้กลายเป็นกษัตริย์พุกามยกทัพไปขอพระแก้วมรกตจากลังกาแทนสลับกัน

“ฝ่ายพระเจ้ามโนหารประทับอยู่ในอริมัททนปุระ ทรงสร้างพระพุทธรูปปฏิมาไสยาสน์องค์หนึ่งมีขนาดใหญ่มาก แล้วทรงบูชาตลอดมา ได้ยินว่าพระเจ้ามโนหารสวรรคตในเมืองอริมัททนปุระนั้นเอง”

อ้าว! พระสิขีปฏิมาศิลาดำ นั่งหรือยืน ยังไม่ทราบเลย อยู่ๆ ก็มีพระพุทธรูปนอนเพิ่มขึ้นมาอีกองค์!

“ฝ่ายกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ในมหานครทรงทราบว่า พระเจ้าอนุรุทธเป็นพุทธมามกะ จึงถวายพระปฏิมาหินดำที่พระองค์รักษาไว้แก่พระเจ้าอนุรุทธ พระเจ้าอนุรุทธทรงทราบเข้า จึงตรัสสั่งให้มหาชนอัญเชิญพระปฏิมาหินดำนั้นมาจากมหานคร แล้วทรงสักการบูชา”

พระเจ้าอนิรุทธมหาราช อุตส่าห์สู้กับพระเจ้ามโนหารแห่งเมืองสะเทิมเกือบตาย ถึงขนาดจับมาเป็นองค์ประกัน ไปๆ มาๆ เอามาได้แค่ตัวกษัตริย์ แต่กลับยังไม่ยึดพระปฏิมาหินดำจากรัมมนะปุระซะงั้น แถมพระเจ้ามโนหารยังมาสร้างพระนอนไว้ที่พุกามแทน (ไมรู้ว่าพระพุทธไสยาสน์องค์ที่ว่านี้อยู่ที่วัดไหนในพุกาม?)

แต่แล้วอยู่ๆ เมืองมหานคร (ไม่รู้ละว่านครปฐม หรือหงสาวดี) คงได้ยินกิตติศัพท์ความน่าเกรงขามของกษัตริย์พุกามจึงได้รีบมอบพระหินดำให้โดยดี หวังใจว่ากษัตริย์อนิรุทธคงไม่กรีธาทัพมาบดขยี้มหานคร แบบที่กระทำกับเมืองสะเทิม (รัมมนะประเทศ) กระมัง แต่ในตำนานนี้แสร้งเขียนในทำนอง “อวย” ว่าให้พระหินดำกับเมืองพุกามเพราะเห็นว่าพระเจ้าอนิรุทธเป็นพุทธมามกะ

สรุปถึงตอนนี้ พระสิขีปฏิมาศิลาดำ อยู่ที่ไหนกันบ้างแล้วเอ่ย 1.พุกาม (องค์เดิมจากมหานคร) 2.ลวปุระ 3.สุธรรมวดี 4 และ 5.อยู่ที่รัมมนะประเทศ (ซึ่งอันที่จริงเมื่อพบว่าเมืองนี้ปกครองโดยพระเจ้ามโนหาร ก็ต้องหมายถึงเมืองสะเทิม หรือสุธรรมวดี โดยไม่มีข้อแม้ แล้วจะต่างจากเมืองในข้อ 3 ตรงไหน?)

 

เมื่อพระนางจามเทวีปรากฏ
พบแล้วรากศัพท์ของวัดกู่ละมัก

“พระนางจัมมเทวี (ในตำนานเขียนเช่นนี้จริงๆ หมายถึงจามเทวี) ทรงอัญเชิญพระปฏิมาหินดำจากเมืองลวปุระมาครองราชสมบัติในนครหริปุญไชย เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้วได้ 1,200 ปี และพระนางโปรดให้สร้างวัดลมักการาม ในเวลาที่พระนางบรรลุถึงลมักกัฏฐาน แล้วประดิษฐานพระปฏิมาหินดำนั้นไว้ในวัดลมักการามนั้น อาศัยเหตุนั้น เดี๋ยวนี้ วัดนั้นเรียกกันว่า อารัทธพุทธาราม”

ชื่อของพระนางจามเทวีปรากฏแล้ว ข้อความส่วนนี้สอดคล้องกันทั้งหมดกับพระราชประวัติที่อ่านพบในตำนานเล่มอื่นๆ นั่นคือเป็นบุคคลที่มีชีวิตในช่วง พ.ศ.1200 จริง เป็นราชธิดาของกษัตริย์ละโว้จริง และทรงสร้างวัดกู่ละมักจริง

วัดกู่ละมักนี้ ณ ปัจจุบันมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “วัดรมณียาราม” ในตำนานมูลศาสนาอธิบายว่า หมายถึงสถานที่อันรื่นรมย์ แต่ปราชญ์บางท่านว่าควรใช้ น.หนู แทน ณ.เณร เป็น “รัมมนียาราม” มากกว่า เพราะแผลงมาจาก รัมมนะนคร ที่แปลว่าสถานที่ของชาวรามัญ

แต่ในที่นี้กลับอธิบายว่า วัดชื่อ “ลมักกัฏฐาน” จากต้นฉบับคัมภีร์ใบลานเขียนว่า จลจกฺกฏฺฐานํ แปลว่า สถานที่ลูกธนู (จักร) แล่นไปถึง สอดคล้องกับตำนานที่กล่าวถึงการที่พระนางจามเทวีโปรดให้นายขมังธนูยิงธนูถามทางเข้าเมืองหริภุญไชยตอนที่พักขบวนอยู่ชานเมือง และลูกธนูพุ่งไปตก ณ บริเวณวัดกู่ละมักแห่งนี้ โดยคนในท้องถิ่นอธิบายว่า “กู่ละมัก” มาจากคำว่า “ละปัก” หรือ “ลัวะปัก” หมายถึงลูกธนูของชาวลัวะพุ่งมาปัก

ตอนแรกก็รู้สึกขำๆ เรื่อง “ลัวะปัก” แผลงมาเป็น “ละมัก” พอมาอ่านตำนานเรื่องพระสิขีปฏิมาศิลาดำ พบคำว่า “ลมักกัฏฐาน” จึงถึงบางอ้อ ว่าคำนี้มาจาก ละ (ลัวะ) + มัก (มรรคา = ไปถึง) + กัฏฐาน (จักรแล่น หรือขว้างธนู) อันเป็นรากศัพท์ของคำว่า “กู่ละมัก” สอดคล้องกับ “ลัวะยิงธนูปัก” จริง

อย่างไรก็ดี เรายังได้ทราบชื่อของวัดกู่ละมักเพิ่มมาอีกชื่อหนึ่ง ในยุคที่พระรัตนปัญญาเถระรจนาชินกาลมาลีปกรณ์ ข้อความที่บอกว่า “เดี๋ยวนี้วัดนั้นเรียกกันว่า…” อย่างน้อยทำให้รู้ว่า ช่วง พ.ศ.2060 สมัยพระเมืองแก้ว วัดนี้มีอีกชื่อว่า “อารัทธพุทธาราม” แปลว่า วัดที่อ้างถึงพระพุทธ น่าสนใจว่าชื่อนี้ไม่เป็นที่รู้จักของชาวลำพูนในปัจจุบัน

แต่ดิฉันก็ยังแปลกใจอยู่นั่นเอง เพราะเคยอ่านพบเอกสารเกี่ยวกับนิกายป่าแดงในสมัยพระเจ้าติโลกราช มีการเรียกชื่อวัดกู่ละมักว่า อโศการาม ด้วยเช่นกัน โอ… วัดนี้ช่างมีชื่อให้เรียกมากเหลือคณานับ

ที่น่าสงสัยคือตำนานมูลศาสนาบอกว่าพระนางจามเทวีโปรดให้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งสูงเท่าพระองค์จริงบรรจุไว้ภายในซุ้มจระนำของพระเจดีย์ แต่ในที่นี้พระนางกลับนำเอาพระสิขีปฏิมาที่อัญเชิญมาจากละโว้ประดิษฐานไว้

หรือยังไง เพราะตำนานเรื่องนี้ก็ไม่ได้บอกว่า พระนางจามเทวีเอาพระสิขีปฏิมาศิลาดำประดิษฐานไว้ที่ส่วนไหนของวัด อาจตั้งบนแท่นแก้วเป็นพระประธานในพระวิหาร ในขณะที่สร้างพระเจ้าค่าคิง (พระพุทธรูปที่สร้างสูงเท่ากับความสูงของผู้สร้าง) เพื่อบรรจุไว้ภายในกรุพระเจดีย์

ถ้าเช่นนั้นหมายความว่าวัดนี้ย่อมมีพระพุทธรูปของพระนางจามเทวีถึงสององค์? (แต่ก็ยังสงสัยอยู่นั่นเอง ว่าทำไมตำนานมูลศาสนา ไม่กล่าวถึงพระสิขีปฏิมาศิลาดำเลย ตอนอธิบายเรื่องการสร้างวัดรมณียารามของพระนางจามเทวี)

ก่อนจบ ขอสรุปตอนนี้อีกครั้ง ว่าพระสิขีปฏิมาศิลาดำอยู่ที่ไหนกันบ้าง

1. นครพุกาม (ย้ายจากมหานคร)

2. วัดกู่ละมัก นครหริภุญไชย (ย้ายจากลวปุระ)

3-5 ยังอยู่ที่เดิม

สัปดาห์หน้ามาดูกันว่า เมืองสุธรรม (ลำดับ 3) นั้น ที่ว่าไปซ้ำกับรัมมนะปุระ (ก็คือสะเทิม หรือสุธรรมวดีในลำดับที่ 4-5 อีกนั่นเอง)

ตกลงคือเมืองไหนกันแน่

แว่วๆ ว่ามีเมืองตากเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนา