บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/ ‘เสื้อกั๊กเหลือง’ กับ ‘ผ้าพันคอแดง’ ที่ฝรั่งเศส

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

‘เสื้อกั๊กเหลือง’

กับ ‘ผ้าพันคอแดง’ ที่ฝรั่งเศส

จัดได้ว่าเป็นม็อบที่สามารถ “ยืนระยะ” การชุมนุมได้ยืดเยื้อที่สุดสำหรับการประท้วงของกลุ่ม “เสื้อกั๊กเหลือง” ของฝรั่งเศส เพื่อกดดันให้ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ลาออก

โดยปลายเดือนที่ผ่านมาการชุมนุมดำเนินไปเป็นสัปดาห์ที่ 11 ติดต่อกันแล้ว นับจากประท้วงครั้งแรกเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

กลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง เป็นผู้คนที่มาจากทั่วทุกพื้นที่ของฝรั่งเศส และโดยมากเป็นกลุ่มรากหญ้า ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พวกเขาประท้วงคือการที่ผู้นำฝรั่งเศสจะขึ้นภาษีน้ำมันดีเซล ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ที่ชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่แล้วต้องแบกรับค่าครองชีพสูงขึ้นไปอีก

มาครงถูกกล่าวหาว่านโยบายของเขาไม่เห็นอกเห็นใจคนรากหญ้า มีการลดเงินอุดหนุนที่อยู่อาศัยแก่คนจนและนักศึกษา ลดจำนวนข้าราชการและระงับการขึ้นเงินเดือน

แต่กลับออกมาตรการช่วยเหลือคนรวย และที่น่าเกลียดเข้าไปอีกคือพยายามหาตำแหน่งอย่างเป็นทางการให้ภรรยา

ซึ่งสุดท้ายต้องยกเลิกเพราะถูกสาธารณชนต่อต้าน

 

ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้เพียง 100 วันแรกที่อยู่ในตำแหน่ง คะแนนนิยมของมาครงดิ่งลงอย่างรุนแรง จากที่เคยชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย 65% เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ก็รูดต่ำอย่างรวดเร็วเหลือ 35% ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ทำสถิติคะแนนนิยมต่ำสุดในบรรดาผู้นำฝรั่งเศสด้วยกัน

สื่อฝรั่งเศสต่างพากันพาดหัวข่าวว่า “ฝรั่งเศสหมดรักมาครงใน 100 วัน” ซึ่งเป็นภาพที่ไม่น่าเกิดขึ้น เพราะมาครงเป็นผู้นำฝรั่งเศสอายุน้อยที่สุด และชาวฝรั่งเศสคาดหวังจะได้พบสิ่งใหม่ๆ จากเขา

แต่ทว่ามาครงน้ำเน่ามากกว่าผู้นำฝรั่งเศสแก่ๆ หลายคนก่อนหน้าเสียอีก โดยเฉพาะการติดในระบบอุปถัมภ์ พวกพ้อง เช่นกรณีจะหาตำแหน่งทางการให้ภรรยาทั้งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ ซึ่งหากตั้งตำแหน่งให้ภรรยาก็หมายถึงต้องมีการตั้งเงินเดือนให้ด้วย

ยังไม่นับความฟุ่มเฟือยต่างๆ นานา ที่ค่อยๆ ทำลายศรัทธาในตัวเขา

การประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองจึงปะทุขึ้น ถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่และมีความรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี มีผู้เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บอีกหลายร้อย อาคารร้านค้า รถยนต์ ทรัพย์สินต่างๆ ถูกทำลาย

 

ถึงแม้ในที่สุดมาครงจะยอมถอย ด้วยการระงับขึ้นภาษีน้ำมัน พร้อมกับจะเพิ่มค่าแรงให้อีกเดือนละ 100 ยูโร รวมทั้งลดภาษีแก่พลเมืองที่อยู่ในวัยเกษียณ ตลอดจนเสนอไอเดียให้มี “แกรนด์ ดีเบต” หรือเปิดเวทีปรึกษาหารือทั่วประเทศในทุกระดับในปมปัญหาที่ประชาชนข้องใจหรือต้องการให้มีการแก้ไข

แต่ทว่าการถอยที่ช้าไปของเขา รวมทั้งท่าทีหยิ่งยโสไม่แยแสต่อผู้ประท้วงในตอนแรก ทำให้อารมณ์ของม็อบ “ติดลมบน” กู่ไม่กลับ ยังคงเดินหน้าประท้วงกดดันให้ลาออกสถานเดียว

แน่นอนว่าการประท้วงที่ยืดเยื้อก่อความเสียหายแก่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่ควรเป็นช่วงที่ฝรั่งเศสจะกอบโกยเงินจากนักท่องเที่ยว แต่กลายเป็นว่าสถานที่ท่องเที่ยวและย่านช้อปปิ้งสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของฝรั่งเศส ทั้งประตูชัย ถนนชองป์เอลิเซ่ ฯลฯ กลายสภาพเป็นสนามรบระหว่างตำรวจและผู้ประท้วง ร้านรวงไม่สามารถเปิดทำการปกติเพราะเกรงอันตราย ถนนหนทางถูกผู้ประท้วงบล๊อกไว้

ถึงแม้การประท้วงส่วนใหญ่จะเป็นไปอย่างสงบ แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่ก่อความรุนแรงดังกล่าว จึงส่งผลกระทบต่อชาวบ้านทั่วไปด้วย

ดังนั้น ในการประท้วงสัปดาห์ที่ 11 เมื่อปลายเดือนมกราคม ของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง ซึ่งยังมีผู้เข้าร่วมมากถึงเกือบ 70,000 คน จึงเกิด “ม็อบต้านม็อบ” ขึ้นมาโดยกลุ่มที่ใช้สัญลักษณ์ “ผ้าพันคอแดง”

 

จุดประสงค์ของม็อบ “ผ้าพันคอแดง” คือเรียกร้องให้เสื้อกั๊กเหลืองเลิกประท้วงและเลิกใช้ความรุนแรงและกีดขวางการจราจร เพราะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา ไม่สามารถขับรถไปทำงานหรือไปส่งลูกที่โรงเรียนได้อย่างสะดวก ไม่สามารถสัญจรไปประกอบธุรกิจการงานได้อย่างราบรื่น ธุรกิจเสียหาย หลายคนไม่กล้าออกจากบ้านเพราะกลัวอันตราย

นอกจากนี้บางคนบอกว่า พวกเขาถูกเสื้อกั๊กเหลืองต่อว่าเมื่อไม่ยอมใส่เสื้อกั๊กเพื่อแสดงออกถึงการเป็นพวกเดียวกัน บางคนบอกว่าถูกบังคับให้ถือป้ายเรียกร้องให้มาครงลาออกเพื่อแลกกับการผ่านทาง

ม็อบผ้าพันคอแดงที่ร่วมประท้วงในวันนั้นมีประมาณ 10,000 กว่าคน อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผ้าพันคอแดงเอง ก็เสียงแตกในประเด็นที่ว่าพวกเขาควรแสดงออกว่าสนับสนุนมาครงหรือไม่ เพราะผู้จัดชุมนุมผ้าพันคอแดงบางคนเชิญชวนให้ประชาชนออกไปบนท้องถนนเพื่อสนับสนุนมาครง

แต่ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเสื้อเหลือง ก็ใช่ว่าจะกระโดดไปร่วมกับกลุ่มผ้าพันคอแดงเพื่อสนับสนุนมาครง เนื่องจากประชาชนเหล่านี้ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยกับวิธีการของกั๊กเหลือง แต่ยังสนับสนุนประเด็นที่เสื้อเหลืองประท้วง การที่พวกเขาต่อต้านกั๊กเหลือง ก็ไม่ได้หมายถึงว่าพวกเขาสนับสนุนมาครงแต่อย่างใด

ดังนั้น จึงมีผู้นำผ้าพันคอแดงบางคนเตือนไม่ให้สมาชิกเข้าร่วมกับกลุ่มนั้น เพราะเกรงจะกลายเป็นเครื่องมือสนับสนุนมาครงไปแบบไม่ตั้งใจ

 

ถึงแม้จะมีผู้ไม่พอใจกั๊กเหลือง แต่ก็ยังปรากฏว่าสาธารณชนราว 67% มีความรู้สึกดีๆ ต่อกั๊กเหลือง กล่าวง่ายๆ ก็คือ ยังมีแรงสนับสนุนอยู่มากนั่นเอง

แกรนด์ดีเบตของมาครง ถูกมองด้วยสายตาเคลือบแคลงว่าเป็นเพียงแผนเจ้าเล่ห์ของมาครงเพื่อเอาชนะม็อบ หรือเป็นความจริงใจที่จะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับประชาชนและประเทศอีกครั้ง

นั่นเป็นม็อบเสื้อเหลือง-ผ้าพันคอแดง เวอร์ชั่นฝรั่งเศส ที่ดูไปแล้วคล้ายจะลอกเลียนเมืองไทย และน่าลุ้นว่าจะจบลงอย่างไร

ปรากฏการณ์ที่ฝรั่งเศส ให้บทเรียนอีกครั้งว่า บางทีผู้นำหนุ่มๆ สาวๆ ก็ไม่ได้นำสิ่งดีๆ ใหม่ๆ มาสู่ชีวิตและประเทศชาติดีไปกว่าผู้อาวุโส