วิกฤติศวรรษที่21 : สงครามนวัตกรรมจีน-สหรัฐ

วิกฤติประชาธิปไตย (41)

วันที่ 3 มกราคม 2019 ยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-4 ของจีนได้ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ด้านที่ห่างไกล หรือ “ด้านมืด” สำเร็จ และได้เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก

กลบความเป็นเจ้าแห่งการสำรวจดวงจันทร์ของสหรัฐเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว

สหรัฐเป็นชาติเดียวที่ประสบความสำเร็จในการส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์และกลับมายังโลกได้หลายครั้ง

ครั้งแรกปี 1969 พร้อมนำหินจากดวงจันทร์มาด้วย (น้ำหนัก 21.55 กก.) เป็นชัยชนะเด็ดขาดเหนือสหภาพโซเวียตในการสำรวจดวงจันทร์

สหรัฐส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ครั้งสุดท้ายปี 1972 รวมทั้งหมด 12 คน

สำหรับสหภาพโซเวียต (รัสเซียปัจจุบัน) สามารถส่งยานลงกระทบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในปี 1959 และสามารถส่งยานดาวเทียมไปถ่ายภาพ ด้านไกลของดวงจันทร์สำเร็จเป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน

และสามารถส่งยานอวกาศไปลงบนดวงจันทร์อย่างนิ่มนวลได้ในปี 1966

จีนเริ่มส่งยานสำรวจดวงจันทร์ตั้งแต่ปี 2007 ตามหลังสหรัฐและรัสเซียหลายสิบปี เริ่มจากการโคจรรอบดวงจันทร์ สู่ขั้นการลงจอดและส่งยานสำรวจไปบนพื้นดิน (ฉางเอ๋อ-4 อยู่ในขั้นนี้)

ขั้นต่อไปจะลงบนดวงจันทร์นำตัวอย่างหินกลับมา ที่การลงสู่ดวงจันทร์ของจีนได้เป็นข่าวใหญ่ของโลก เนื่องจากมีความพิเศษหลายประการ ได้แก่

ข้อแรก เป็นการลงสำรวจด้านไกลของดวงจันทร์ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพราะว่าดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองช้ามาก เท่ากับการโคจรรอบโลก ดังนั้น จึงหันด้านหนึ่งมายังโลกเสมอ เป็นด้านที่มนุษย์มองเห็นเรียกว่าด้านใกล้ ส่วนอีกด้าน มีพื้นที่เกือบร้อยละ 50 มองไม่เห็น เรามีความรู้ความเข้าใจน้อยเรียกว่าด้านไกลหรือ “ด้านมืด” ทำให้เข้าใจผิดไปว่า ด้านนั้นไม่ได้รับแสงอาทิตย์เลย

ด้านไกลของดวงจันทร์นั้นยังเป็นด้านอับสัญญาณติดต่อกับโลก

จีนแก้ปัญหานี้ด้วยการส่งดาวเทียมสื่อสารเชวี่ยเฉียว (แปลว่าสะพานนกกางเขน) ไปตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2018 ทำหน้าที่เป็นเหมือนสะพานการสื่อสารระหว่างศูนย์ควบคุมบนพื้นโลกกับยานฉางเอ๋อ-4 ที่ลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์ เป็นนวัตกรรมสำคัญทางการสำรวจดวงจันทร์

ข้อต่อมา คือพื้นที่ที่ยานฉางเอ๋อ-4 ลงจอดได้แก่ แอ่งเอตเคนขั้วใต้ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2,500 ก.ม. ลึก 13 ก.ม. เกิดจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยเมื่อหลายพันล้านปีมาแล้ว

ความแรงของการชนทะลุไปจนถึงเนื้อชั้นในของดวงจันทร์ เป็นพื้นที่ที่สามารถศึกษาหินชั้นภายในและรู้โครงสร้างภายในของดวงจันทร์ได้ดีขึ้น

การสำรวจพื้นที่ด้านไกลของดวงจันทร์ยังช่วยให้เข้าใจการก่อตัวของดวงจันทร์

นอกจากนี้ยังเชื่อว่าบริเวณดังกล่าวอาจมีน้ำอยู่

อีกข้อหนึ่ง คือด้านไกลของดวงจันทร์เป็นด้านที่เหมาะในการทดลองด้านดาราศาสตร์วิทยุ สามารถตรวจจับคลื่นวิทยุจากอวกาศได้อย่างดีเยี่ยม เนื่องจากไม่มีคลื่นวิทยุรบกวนจากโลก

ข้อท้ายสุด การสำรวจนี้ยังมีการทดลองทางชีววิทยา ใช้เทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง โดยจีนส่งเมล็ดพันธุ์พืชหลายสายพันธุ์ ยีสต์ และไข่แมลงวันผลไม้ เพื่อทดลอง ว่าจะสามารถสร้างระบบนิเวศขนาดเล็กบนดวงจันทร์ได้หรือไม่

ผลปรากฏว่าเป็นไปได้ โดยเมล็ดฝ้ายที่ส่งไปกับยานฉางเอ๋อ-4 ได้แตกตาและโตเป็นต้นกล้าได้

โครงการสำรวจอวกาศของจีนนี้ มีหลายชาติที่ร่วมมือในการสำรวจดวงจันทร์ของจีน ได้แก่ เยอรมนี สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ซาอุดีอาระเบียและรวมทั้งสหรัฐ

นายอู๋เว่ยเหริน นักวิทยาศาสตร์หัวหน้าโครงการสำรวจดวงจันทร์ กล่าวให้ความเห็นว่า “พวกเขา (นักวิทยาศาสตร์สหรัฐ) ต้องการวัดผลกระทบของอุกกาบาตบนดวงจันทร์ ตอนนี้เรามีโอกาสดีที่จะทำเช่นนั้น พวกเขาไม่ต้องการพลาดโอกาสนี้ และเราก็ต้องการทำงานกับเขา”

และยังเปิดเผยว่า นักวิทยาศาสตร์สหรัฐต้องการให้จีนยืดอายุการทำงานของดาวเทียมเชวี่ยเฉียน และให้สหรัฐนำเครื่องบอกตำแหน่งไปติดตั้งที่ฉางเอ๋อ-4 เพื่อว่าสหรัฐจะได้อาศัยใช้ในการนำยานสำรวจลงดวงจันทร์ด้านไกลบ้าง

แม้ว่าในปี 2011 สภาคองเกรสสหรัฐได้ผ่านกฎหมายจำกัดความร่วมมือการสำรวจอวกาศระหว่างสหรัฐกับจีน (ดูรายงานข่าวของ Laurie Chen ชื่อ NASA wanted to use China”s spacecraft to plan a new American moon mission, top Chinese scientists says ใน scmp.com 16.01.2018)

ผู้เชี่ยวชาญที่องค์การนาซาของสหรัฐยอมรับว่า การลงจอดที่ดวงจันทร์ด้านไกลครั้งนี้เป็น “ครั้งแรกของมนุษยชาติและความสำเร็จที่น่าทึ่ง” ซึ่งสมใจของจีนที่ไม่ต้องการไล่ทัน หากต้องการเหนือกว่าตะวันตกทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความต้องการเหนือกว่านี้นำไปสู่การแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตายอย่างเลี่ยงได้ยาก

คาดว่าการแข่งขันด้านสำรวจอวกาศโดยเฉพาะ และการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีระหว่างสหรัฐ-จีน โดยทั่วไปจะเข้มข้นขึ้นโดยลำดับ

ดัชนีนวัตกรรมโลก

ดัชนีนวัตกรรมเป็นการแสดงภาพรวมของโลกให้เห็นระดับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศต่างๆ มีสถาบันการศึกษาและสถาบันทางทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ มหาวิทยาลัยคอร์เนล วิทยาลัยธุรกิจ การค้านานาชาติ (INSEAD) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้ร่วมกันทำดัชนีนวัตกรรมโลก ใช้ตัวชี้วัด 80 ตัว คืออัตราการขอจดสิทธิบัตร การสร้างแอพพลิเคชั่นมือถือ การใช้จ่ายทางการศึกษา และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับ เป็นต้น

“รายงานดัชนีนวัตกรรมโลก” จัดทำต่อเนื่องมา 10 ปีแล้ว ฉบับท้ายสุดประจำปี 2018 เป็นการจัดอันดับ 126 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจว่ามีการพัฒนาทางนวัตกรรมอย่างไร ชื่อรายงาน “เพิ่มพลังโลกโดยนวัตกรรม” ให้ความสำคัญแก่เทคโนโลยีการสื่อสาร ปัญญาประดิษฐ์ และพลังงานที่ขับเคลื่อนทุกสิ่ง

รายงานดังกล่าวมีลักษณะเด่นบางประการได้แก่ เป็นการมองด้านดี หวังกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น และมีลักษณะชี้นำ เช่น ในฉบับล่าสุดนี้ชี้ให้เห็นความสำคัญของนวัตกรรมด้านพลังงาน การชี้นำกลายๆ อีกอย่างหนึ่งคือการให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่มีรายได้ปานกลาง ยึดถือการปฏิบัติของประเทศที่มีรายได้สูงในยุโรปและสหรัฐ เป็นต้น เป็นตัวแบบของการสร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

แต่รายงานฉบับนี้ดูจะชี้ว่าประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต่างสร้างแบบการพัฒนาของตนเองขึ้นมา

รายงานนี้ชี้ว่า การรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วของจีนได้แสดงหนทางการพัฒนาแก่ประเทศรายได้ปานกลางอื่น กล่าวว่า ประเทศหรือเศรษฐกิจที่มีรายได้สูงโดยทั่วไปจะเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมทั้งในด้านอินพุตและเอาต์พุต

เช่น ในปี 2018 ที่ติด 5 อันดับของโลก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน อังกฤษ และสิงคโปร์ ตามลำดับ (สหรัฐอยู่ที่อันดับ 6 อนึ่ง ประเทศที่ติด 5 อันดับแรกมักมีขนาดเล็กและกลาง)

แต่การขยับอันดับด้านนวัตกรรมอย่างรวดเร็วของจีนที่เป็นประเทศใหญ่มากนับแต่ปี 2016 เป็นไปอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

โดยในปีนั้นจีนติดอันดับในกลุ่ม 1 ใน 25 ของโลก ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 22 ในปี 2017 และอันดับ 17 ในปี 2018 มีประเทศรายได้ปานกลางอีกเพียงประเทศเดียวที่ก้าวมาใกล้ 25 อันดับแรกได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งอยู่ในอันดับ 35 (ไทยอยู่ที่อันดับ 44 ดีพอสมควร เหนือกว่าหลายชาติ เช่น บราซิล อินโดนีเซีย เวียดนามตามติดที่ 45 และกำลังรุ่งขึ้นทางนวัตกรรม)

ความยอดเยี่ยมทางนวัตกรรมของจีนแสดงออกในหลายด้าน

เช่น การวิจัยและพัฒนาของบริษัทมีการขยายตัวสูงกว่าใคร การนำเข้าไฮเทค คุณภาพของงานวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงจำนวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ถ้าพิจารณาในด้านค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา จำนวนนักวิจัย การรับสิทธิบัตรและงานวิจัยและพัฒนาที่ได้รับการตีพิมพ์ จีนอยู่ในอันดับที่ 1 และ 2 ของโลก ทิ้งห่างประเทศรายได้สูงเกือบทั้งหมด ขณะที่จีนกำลังเร่งก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูงก็ยิ่งให้ความสำคัญแก่คุณภาพและผลกระทบของนวัตกรรม

งานวิจัยนี้ยังพบว่ามีอีก 20 ประเทศรายได้ปานกลางที่มีการปรับปรุงทางด้านนวัตกรรม สูงกว่าระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ-การเมือง ซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลก รวมทั้งในแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายสะฮาราที่ถือว่าเป็นภูมิภาคยากจน ประเทศอยู่ในกลุ่มนี้ 5 อันดับแรกได้แก่ มอลโดวา เวียดนาม อินเดีย เคนยา และอาร์เมเนีย ทั้งหมดอยู่ในกลุ่มมีรายได้ปานกลางข้างต่ำ

(ดูรายงานชื่อ Global Innovation Index 2018- Energizing the World with Innovation โดยเฉพาะบท Key Findings of the Global Innovation 2018 ใน World Intellectual Property Organization, เผยแพร่เดือนกรกฎาคม 2018)

ถ้าพิจารณาเฉพาะยอดรวมการขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกได้จัดทำเป็นรายงานโดยประมวลจากการขอจดทะเบียนในชาติ/เขตเศรษฐกิจต่างๆ ได้แก่ “ดัชนีทรัพย์สินทางปัญญาโลก ปี 2017” พบว่ายอดรวมการขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในสามประเภทสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีจีนเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ

ทรัพย์สินทางปัญญาทั้ง 3 ประเภท คือ ประเภทสิทธิบัตร มีการขอจดทะเบียนถึง 3.17 ล้านรายการ ประเภทเครื่องหมายการค้า ขอจด 12.39 ล้านชนิด และประเภทการออกแบบทางอุตสาหกรรม 1.24 ล้านรายการ จีนได้ขอจดทะเบียนนำหน้าทุกประเทศในทุกประเภท

ในด้านสิทธิบัตร จีนขอจดสิทธิบัตรถึง 1.38 ล้านรายการ สหรัฐตามมาห่างๆ ที่ 606,956 รายการ ที่ตามมา ในหนึ่งในห้าได้แก่ ญี่ปุ่น (318,479) เกาหลีใต้ (204,775) และสำนักสิทธิบัตรยุโรป (166,585) รวมห้าประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สูงถึงร้อยละ 84.5 ของทั้งโลก และเห็นได้ชัดว่าเอเชียได้ก้าวขึ้นสู่ฐานะนำในกิจกรรมสิทธิบัตร ในปี 2017 ยอดรวมในการขอจดสิทธิบัตรในภูมิภาคนี้สูงถึงร้อยละ 65.1 ของโลก ในภูมิภาคอเมริกาเหนือมีเพียงร้อยละ 20.3 ส่วน ยุโรปมีเพียงร้อยละ 11.2

อย่างไรก็ตาม ในด้านการจดสิทธิบัตรข้ามแดน สหรัฐยังคงมีบทบาทนำ ปี 2017 มีการขอจด 230,931 รายการ ตามติดด้วยญี่ปุ่น (200,370) เยอรมนี (102,890) เกาหลีใต้ (67,484) และจีน (60,310)

แต่ตัวเลขของจีนนี้เมื่อเทียบกับปี 2016 มีอัตราเติบโตสูงสุดของโลก นั่นคือเติบโตถึงร้อยละ 15 เทียบกับญี่ปุ่นที่โตเพียงร้อยละ 2.1 สหรัฐ ร้อยละ 2 เยอรมนี ติดลบร้อยละ 0.6 เกาหลีใต้ (-4.1%)

ในด้านการจดเครื่องหมายการค้า จีนขอจดสูงสุดที่ 5.7 ล้าน ตามห่างด้วยสหรัฐ (613,921) ญี่ปุ่น (560,269) สหภาพยุโรป (371,508) และอิหร่าน (385.353) เอเชียก็ยังคงเป็นภูมิภาคนำในการจดเครื่องหมายการค้า ในปี 2017 คิดเป็นถึงร้อยละ 66.6 ของที่ขอจดทั่วโลก เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนมากที่สุด ได้แก่ ประเภทการโฆษณาและบริหารธุรกิจ เสื้อผ้า คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ รวมถึงการศึกษาและการบันเทิง ตามลำดับ ในปัจจุบันมีเครื่องหมายการค้าที่ยังใช้อยู่ทั่วโลก 43.2 ล้านยี่ห้อ อยู่ในจีน 14.9 ล้าน สหรัฐ 2.2 ล้าน

ในด้านการออกแบบอุตสาหกรรม ในปี 2017 จีนได้ขอจดทะเบียนการออกแบบอุตสาหกรรม 628,658 แบบ คิดเป็นร้อยละ 50.6 ของโลก ตามด้วยสหภาพยุโรปและเกาหลีใต้ ตุรกีมาเป็นที่สี่อยู่ที่ 45,875 แบบเหนือกว่าสหรัฐ ที่มาเป็นที่ห้า (45,881) ภูมิภาคเอเชียมีฐานะนำในการออกแบบอุตสาหกรรมของโลก มีกิจกรรมด้านนี้คิดเป็นร้อยละ 67.9 ของทั้งหมด ตามด้วยยุโรป (ร้อยละ 24.4) ภูมิภาคอเมริกาเหนือมีเพียงร้อยละ 4.2

และแม้พิจารณาจากดัชนีอื่น เช่น การเพาะพันธุ์พืชใหม่ จีนก็ติดอันดับที่หนึ่ง ตามด้วยสหภาพยุโรป สหรัฐมาเป็นที่สาม โดยจีนมีอัตราการเติบโตในปี 2017 สูงถึงร้อยละ 52.8 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่สหรัฐลดลงร้อยละ 2.9 ในเวลาเดียวกัน หรือในด้านดัชนีทางภูมิศาสตร์ที่ผลิตภัณฑ์หลายอย่างมีลักษณะเฉพาะของตน ส่วนใหญ่เป็นประเภทไวน์และสุรา และผลผลิตการเกษตรและอาหาร เช่น ไวน์จากบางพื้นที่ในฝรั่งเศส หรือเหล้าตากีลาร์จากเม็กซิโก หรือเนยแข็ง กรูแยร์จากสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น จีนก็อยู่ในอันดับต้นๆ มาเป็นที่สามรองจากเยอรมนีและออสเตรีย (ดูรายงานชื่อ World Intellectual Property Indicators : Filings for Patents, Trademarks, Industrial Designs Reach New Records on Strength in China ใน World Intellectual Property Organization 03.12.2018)

ดูจากภาพกว้างแล้วฉบับต่อไปจะกล่าวการต่อสู้จีน-สหรัฐในบางโครงการ ได้แก่ “เส้นทางสายไหมดิจิตอล” และศึก 5G