นิธิ เอียวศรีวงศ์ : การเมืองอัตลักษณ์หลังสงครามเย็น

นิธิ เอียวศรีวงศ์

กลับมาอ่าน The Clash of Civilizations ของ Samuel Huntington ใหม่อีกครั้ง ผมพบด้วยความประหลาดใจว่า ครั้งนี้เห็นด้วยกับหลักใหญ่ๆ ของเขามากกว่าเมื่ออ่านครั้งแรก อาจเป็นเพราะ 20 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งในโลกดูจะส่อไปในทางคำอธิบายของเขาอย่างชัดเจนมากขึ้นก็ได้

Huntington ไม่ได้ตั้งใจจะทำนายอุบัติการณ์ในอนาคตอย่างเจาะจง เขาเพียงแต่เสนอกระบวนทรรศน์ใหม่ (paradigm) ในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลังจากกระบวนทรรศน์เก่าคือสงครามเย็นได้ยุติไปแล้ว ความขัดแย้งด้านอุดมการณ์, ระบอบการเมืองและเศรษฐกิจ, การสร้าง “ค่าย” เพื่อเผชิญหน้ากัน ฯลฯ อย่างที่เป็นลักษณะเด่นในยุคสงครามเย็น ไม่ช่วยอธิบายความขัดแย้งระหว่างประเทศได้อีกต่อไป

แทนที่ผู้คนจะนิยามตนเองว่าเขาเป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตย หรือเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ เขากลับหันไปนิยามตนเองตาม “อารยธรรม” (และ/หรือวัฒนธรรม เพราะสองอย่างนี้ในทัศนะของ Huntington แยกออกจากกันไม่ได้) ที่เขาสังกัดอยู่ เขารู้สึกตัวว่าเป็นมุสลิม, เป็นคนตะวันตก, เป็นคนจีน, เป็นมลายู ฯลฯ มากกว่าว่าอยู่กับค่ายเสรีประชาธิปไตยหรือคอมมิวนิสต์

คนไทยจำนวนหนึ่งคงแย้งว่า ไม่น่าจะจริง เพราะสี่-ห้าปีที่ผ่านมา พวกเราขัดแย้งกันด้วยฝ่ายหนึ่งยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตย ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งยึดถืออุดมการณ์ไม่ประชาธิปไตย ไปจนถึงเผด็จการไม่ใช่หรือ

ผมคิดว่าในระดับปรากฏการณ์ก็ใช่ครับ แต่ขอให้สังเกตด้วยว่า พื้นฐานของความขัดแย้งนั้น ไม่ได้อยู่ที่ว่าสองระบอบนี้ อย่างไหนดีกว่ากัน แต่เราขัดแย้งกันด้วยคำถามว่า ระบอบไหนเหมาะกับประเทศไทยหรือ “ความเป็นไทย” มากกว่ากัน ฝ่ายประชาธิปไตยบอกว่า “ความเป็นไทย” ถ้ามีอยู่จริง ก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว ระบอบปกครองที่อาศัยอำนาจของบุคคลจึงไม่เหมาะอีกต่อไป ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งยืนยันว่าแก่นแกนของ “ความเป็นไทย” ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง และจะดำรงคงอยู่ตลอดไป

ทั้งนี้ ทำให้ข้อสนับสนุนเผด็จการทหารในครั้งนี้ ต่างออกไปจากที่เคยใช้กันมาในอดีต

ข้อถกเถียงสำคัญของเผด็จการทหารสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสก็คือประชาธิปไตยจะตั้งมั่นได้ก็ต้องมีคนชั้นกลางเป็นแกนหลัก จึงต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดนายทุนและคนชั้นกลางที่เป็นคนไทยก่อน ฉะนั้น ระบอบเผด็จการของเขาคือระบอบชั่วคราวซึ่งจะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคงในอนาคต (อันอาจอยู่ห่างไกลข้างหน้า)

นี่ไม่ใช่ข้อถกเถียงของ คสช.นะครับ เขาร่างรัฐธรรมนูญที่ (ถ้ายังใช้อยู่) ก็ปิดประตูตายแก่ประชาธิปไตยไทยไปเลย เขาร่างยุทธศาสตร์ 20 ปีซึ่งมีอำนาจทางการเมืองเหนือการตัดสินใจของประชาชน (20 ปีเท่ากับ 2/3 ของชั่วอายุคน) เผด็จการของ คสช.จึงไม่ใช่ภาวะชั่วคราว ไม่มีอุดมคติประชาธิปไตยรออยู่ข้างหน้า หัวหน้า คสช.ย้ำเสมอว่า การเมืองแบบที่มีการแข่งขันโดยเสรี จะนำประเทศกลับไปสู่ความขัดแย้งวุ่นวายเหมือนเดิม

ถ้าจะใช้ยี่ห้อในการเรียกความขัดแย้งในเมืองไทยเวลานี้ ก็ต้องเรียกว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างเสรีประชาธิปไตยกับชาตินิยมเชิงวัฒนธรรม ซึ่งแตกต่างจากชาตินิยมทางการเมืองสมัยก่อนนะครับ คือไม่โบกธงท้าตีท้าต่อยกับใคร แต่โบกธงให้ผู้คนภายในประเทศปลื้มอกปลื้มใจกับ “ความเป็นไทย” ของเรา

(อย่างเดียวกับที่คนอังกฤษตัดสินใจออกจากอียู ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน แต่เพื่อคงความเป็นคนอังกฤษเอาไว้ หรือคนอเมริกันเลือกทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เพราะเขาคือคนเดียวที่จะรักษาความเป็นอเมริกันที่ยิ่งยงให้ดำรงอยู่ตลอดไป หรือลีกวนยิว, ไต้หวันและจีน ต่างประกาศด้วยความเชื่อมั่นว่า พื้นฐานความสำเร็จทางเศรษฐกิจของตนมาจากปรัชญาขงจื๊อ)

ย้อนกลับไปดูการเคลื่อนไหวของ กปปส.ซึ่งนำมาซึ่งรัฐประหารครั้งนี้ แม้ผมยอมรับว่ามี “เบื้องหลัง” ของการเคลื่อนไหวนั้นหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ในปัจจุบัน แต่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อยทีเดียวได้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวโดยไม่เกี่ยวกับ “เบื้องหลัง” เหล่านั้น อะไรในการเคลื่อนไหวของ กปปส.ที่เป็นแรงดึงดูดคนเหล่านี้

ผมอยากสรุปว่าคือ “ความเป็นไทย” แบบที่เรียนรู้กันมานั่นแหละครับ (โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลางซึ่งได้ไปโรงเรียนนานหน่อย และรับสื่อมากหน่อย) ไม่เคยมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมวลชนครั้งไหนที่ปฏิเสธประชาธิปไตยและค่านิยมของประชาธิปไตยอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาเหมือนครั้งนี้

แกนนำ กปปส.กล้าประกาศอย่างเปิดเผยว่าคนไม่เท่ากัน และด้วยเหตุดังนั้นจึงต้องสร้างระบอบปกครองที่ถ่วงอำนาจระหว่างคนดี, คนฉลาด, คนรอบรู้ กับฝูงชนซึ่งไม่สู้จะดีนัก, ค่อนข้างไม่ฉลาด และไม่มีความรู้ การเลือกตั้งที่ให้สิทธิทางการเมืองแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จึงฝืนความจริงและเป็นเหตุให้การเมืองไทยล้าหลังมานาน นอกจากนี้ แกนนำทุกคนต่างถือว่าสถาบันตามประเพณีทุกสถาบัน คือสาระสำคัญที่ขาดไม่ได้ของความเป็นไทย และต้องเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจนำในสังคมไทยตลอดไป

อันที่จริงทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความคิดใหม่อะไร เพียงแต่หลัง 2475 เป็นต้นมา ไม่มีชนชั้นนำคนใดฝ่ายใดกล้าพูดออกมาตรงๆ เช่นนี้ แต่เมื่อข้อความนี้ถูกประกาศบนเวทีของ กปปส. แทนที่จะมีคนผงะถอยหนี กลับยิ่งดึงดูดผู้คนให้เข้าร่วม และที่เข้าร่วมแล้วต่างพากันยึดหลักการคนไม่เท่ากันเป็นจุดยืนที่พึงอวดแก่คนอื่นๆ เป็นการทั่วไป กลายเป็นกระบวนทรรศน์ใหม่ที่สามารถอธิบายสังคมและการเมืองจากขั้วคนดี-คนเลว, คนฉลาด-คนโง่, คนรู้-คนไม่รู้, รัฐ-ประชาชน (“ชาติ” หายไป)

ผมไม่คิดว่า ส่วนใหญ่ของผู้เข้าร่วมการชุมนุมของ กปปส.เข้าใจเรื่องความเสมอภาค แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ไม่คิดว่าเขาเข้าใจความไม่เสมอภาคด้วย เพราะบนความไม่เสมอภาคนั้น ส่วนใหญ่ของพวกเขาไม่ได้เป็นแม้แต่พลเมืองชั้นสองด้วยซ้ำ โน่นละครับที่ยืนของพวกเขา ตั้งแต่ชั้นสามชั้นสี่ลงไปเท่านั้น

แต่พวกเขาน่าจะเข้าใจหรืออย่างน้อยก็รู้สึกว่า ไม่ต้องตามก้นฝรั่งเสียที

Huntington บอกว่า ในบรรดาอารยธรรมทั้งหมด มีแต่อารยธรรมตะวันตกเท่านั้นที่คิดว่าอารยธรรมและค่านิยมของตนเป็นสากล ใช้ได้กับคนทั่วโลก ยิ่งในยุคล่าอาณานิคม ด้วยอำนาจทางทหารและเทคโนโลยีของตะวันตก ยิ่งทำให้โลกนอกตะวันตกต้องยอมรับความเป็นสากลของแนวคิดและค่านิยมตะวันตกไปด้วย

ในเมืองไทยก็นับตั้งแต่ ร.4 ลงมา ที่ความรู้ตะวันตกเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของการเป็นชนชั้นนำ ซ้ำมาเผชิญยุคสงครามเย็น ก็ยิ่งต้อง “ตามก้นฝรั่ง” อย่างไม่มีทางเลือก แม้มีเสียงบ่นว่าเหม็นอยู่บ้างก็ตาม

มองในแง่นี้ ผมเข้าใจ (ซึ่งอาจผิด) ว่า อารมณ์ของฝูงชน-กปปส.จึงเหมือนประชาชนที่เพิ่งได้รับการปลดแอก รู้สึกฮึกเหิมและพร้อมจะ “ปฏิวัติ” ไปกับแกนนำ ไม่ว่าบุกรุกสถานที่ราชการหรือขัดขวางการเลือกตั้ง… แม่จ๋า เราชนะแล้ว

และคงจำกันได้ว่า ไม่มีการยึดอำนาจของกองทัพครั้งใด ที่มีท่าทีเป็นอริกับตะวันตกยิ่งไปกว่าการยึดอำนาจของ คสช.

อย่างไรก็ตาม น่าประหลาดที่ในการเลือกตั้งซึ่งกำลังจะมาถึง ไม่มีพรรคการเมืองใดชูเรื่องความเป็นไทยหรืออัตลักษณ์ไทยเป็นนโยบายเด่นเลยสักพรรคเดียว อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยถึงจุดใกล้วิกฤต ทุกพรรคจึงหันไปเน้นเรื่องเศรษฐกิจกันหมด

แม้กระนั้น ถ้ามองประชาธิปไตยเป็นฝ่าย “ไม่ไทย” และฝ่ายไม่ประชาธิปไตยเป็นฝ่าย “ไทย” การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ยังเป็นการแข่งขันกันด้านอัตลักษณ์อยู่นั่นเอง (แต่มองอย่างนี้แล้วจะช่วยอธิบายอะไรได้ดีขึ้นหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

การเมืองอัตลักษณ์ (ผู้พิการ, ผู้หญิง, เพศทางเลือก, วัยรุ่น, ชาวนา, ชนกลุ่มน้อย ฯลฯ) เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันทางการเมืองของโลกปัจจุบัน และมีความสำคัญมากขึ้นในการเมืองไทยตลอดมา แต่ในทัศนะของ Huntington อัตลักษณ์ที่มาจาก “อารยธรรม” ซึ่งไม่เคยมีความสำคัญมาก่อน กำลังเป็นอัตลักษณ์ที่เข้ามาอยู่ในสำนึกของผู้คนอย่างเด่นชัดขึ้น จนเป็นผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศ

ผมคิดว่า หากมีความสำคัญในสำนึกของผู้คน ก็ย่อมมีผลกระทบต่อการเมืองในประเทศด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การต่อสู้แข่งขันไม่น่าจะอยู่ที่การเอาหรือไม่เอาความเป็นไทย แต่อยู่ที่ต้องนิยามความเป็นไทยใหม่ให้ “ก้าวหน้า” และประสานสอดคล้องกับโลกยุคใหม่อย่างแท้จริง

ความหมายของความเป็นไทยที่ยึดถือกันอยู่ในเวลานี้ก็ไม่ได้มีมาเองตามธรรมชาติ แต่ถูกนิยามขึ้นโดยคนกลุ่มต่างๆ ในระยะเวลาไม่เกิน 150 ปีมานี้เอง ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่คนกลุ่มใหม่จะเข้ามานิยามความหมายให้แตกต่างออกไป (ที่ไม่ถูกนิยามใหม่เลยต่างหาก ที่ดูจะผิดปกติ)

ผมขอยกตัวอย่างรูปธรรมเพื่อความเข้าใจ ทรัพยากรในประเทศไทยเคยถูกกระจายผ่านความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับความสัมพันธ์เชิงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (คณะสงฆ์ทั้งองค์กรอยู่รอดมาได้เป็นหลายร้อยปีในเมืองไทยก็เพราะได้รับทรัพยากรจากความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่) อุปถัมภ์คือพึ่งพาผู้มีอำนาจและทรัพย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คือพึ่งพาคนอื่นที่เท่าเทียมกับตน แทนที่เราจะนิยามความเป็นไทยด้วยความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ (มีเด็ก มีผู้ใหญ่, เจ้าบุญนายคุณ, ค่อยก้มประณมกร ฯลฯ) เราก็อาจนิยามด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนเสมอกันได้ การเอาเงินของผู้เสียภาษีไปบำรุงคนตกทุกข์ได้ยาก นั่นแหละคือความเป็นไทย เป็นต้น

หากความเป็นไทยคือประเด็นหลักของการแข่งขันทางการเมือง คงถึงเวลาที่ฝ่ายประชาธิปไตยต้องหันมาเล่นเกมนี้เหมือนกัน เพียงแต่ต้องนิยามความหมายใหม่ให้เป็นที่ยอมรับเสียยิ่งกว่าความหมายเก่าให้ได้