วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/ ร่วมคิด ร่วมต่อสู้ ในที่สุด ‘ประชาชาติ’ ได้อุบัติขึ้น

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

ร่วมคิด ร่วมต่อสู้ ในที่สุด ‘ประชาชาติ’ ได้อุบัติขึ้น

 

ด้วยความมุ่งมั่นของขรรค์ชัย บุนปาน ที่จะรื้อฟื้นนังสือพิมพ์รายวันการเมืองขึ้นอีกครั้ง เมื่อชื่อ “ประชาชาติ” หรือ “รวมประชาชาติ” ซึ่ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หนังสือพิมพ์ที่ถูกปิดไปแล้วไม่ควรให้มีออกมาอีก แม้สถานการณ์การเมืองภายในประเทศคลี่คลายไปมากแล้ว ทั้งยืนยันว่า

“การพิจารณาหนังสือพิมพ์ที่ถูกปิดไปเมื่อเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา นั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะทบทวนเสียใหม่ว่า หนังสือพิมพ์เหล่านั้นมีความผิดหรือกระทำอะไรบ้าง อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือมุ่งหวังล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือสร้างความแตกแยกให้เกิดในแผ่นดิน”

ประกอบกับเมื่อจะออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่โดยใช้ชื่อ “เข็มทิศ” เพื่อไม่ให้เป็นที่ระคายเคืองกับคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน แม้ครั้งนี้ถึงกับพยายามคิดชื่อให้ใกล้เคียงกับ “ประชาชาติ” จึงให้วิยะดา ประสาทกิจ หนึ่งในผู้สื่อข่าวเข็มทิศไปขอหัวหนังสือชื่อนี้

แต่ทราบมาว่ามีผู้ตัดหน้าชิงขอชื่อนี้ก่อนแล้ว

 

ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงก่อนปีใหม่ธันวาคม 2520 พวกเราผู้บริหารหนังสือพิมพ์เข็มทิศ และผู้สื่อข่าวจึงระดมสมองสุมหัวกันหาชื่อให้ใกล้เคียงกับชื่อเดิม “ประชาชาติ”

ที่สุดใครบางคนนำคำว่า “มติ” จาก “ประชามติ” มารวมกับ “ประชา” หรือ “ชน” หมายถึงประชาชน เป็น “มติชน”

เมื่อนำมารวมกันแล้ว ชื่อหนังสือแม้ออกเสียงเป็น 3 พยางค์ คือ “มะ-ติ-ชน” นับเป็นตัวอักษรแล้วได้เพียง 4 ตัว ชื่อหนังสือพิมพ์ดูเหมือนว่า “สั้น” กว่าใครเขา

สุมหัวกันหลายครั้งเข้า นำชื่อ “มติชน” วางตรงกลางโต๊ะ เดินผ่านไปผ่านมาก็เหลือบมองทีหนึ่ง บางคนถึงกับจ้องมองเอาจริงเอาจัง เพื่อให้ขนาดหัวหนังสือ “มติชน” ดูกว้างออกไปอีก

ที่สุดของที่สุด อาจารย์ป๋อง-พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ซึ่งดูจะเอาใจใส่กับหัวหน้าสือพิมพ์ “มติชน” กว่าใครเพื่อน ก่อนบ่ายวันนั้น ระหว่างสุมหัวเดินเวียนเข้าเวียนออกจากโต๊ะที่วางชื่อ “มติชน” ไว้กลางโต๊ะ อาจารย์ป๋องจึงโพล่งออกมาว่า “เอาชื่อมติชน ใส่ไว้ในแคปซูลดีไหม”

ผลทุกคน ณ ที่นั้นเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์ หลังจากที่วาดแคปซูลครอบบนชื่อ “มติชน”

 

เข็มทิศฉบับประจำวันที่ 14-16 ธันวาคม 2520 หน้า 11 จึงมีล้อมกรอบโฆษณา

เราเป็นผู้อาสา / ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ / ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

ล่างลงมาเป็นรูปฝ่ามือขวาขนาดเท่าจริงตัดแค่ข้อมือหงายขึ้น กลางฝ่ามือมีตัวอักษรในแคปซูลว่า

“มติชน” ตรงปลายข้อมือมีประโยคว่า หนังสือพิมพ์รายวันฉบับใหม่ / ขนาดคอมพิวเตอร์ / จัดทำโดยทีม (รวม) ประชาชาติ / ชุดเก่า วางจำหน่าย 9 ม.ค. 21

หนังสือพิมพ์เข็มทิศจากนั้น มีคอลัมน์ของนักเขียนในกลุ่ม (รวม) ประชาชาติผ่านเข้ามานำเสนอด้วย เช่น “จ่าบ้าน” และ “ราษฎรครึ่งขั้น” พุ่มพวง เสมอสมร เขียนถึงหนังสือ

ขณะที่โฆษณาหนังสือพิมพ์รายวัน “มติชน” เข้มข้นขึ้นจากการนำนามของขรรค์ชัย บุนปาน พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ขึ้นป้าย นำทีมหนุ่มสาวผู้มีผลงานอันลือลั่นจากประชาชาติ เข็มทิศ มาพบกับคุณผู้อ่านในผลงานชิ้นใหม่ “มติชน” ล้อมกรอบแคปซูล หนังสือพิมพ์รายวันฉบับเช้า

9 มกรา เดินหน้าเต็มตัว แน่นอน

เราเป็นผู้อาสา / ท่านเป็นผู้ตัดสิน

ความชุลมุนวุ่นวายเกิดขึ้นมาหลายวันแล้ว ทั้งกองบรรณาธิการเข็มทิศยังปฏิบัติหน้าที่เพื่อจัดให้มีหนังสือฉบับต่อไปต่อเนื่องกับ “มติชน” วันที่ 9 มกราคม 2521 ประกอบกับเป็นระหว่างสิ้นปีเก่า 2520 ขึ้นปีใหม่ 2521 เพื่อนร่วมงานทั้งช่างเรียง ช่างพิมพ์ ช่วงพับ นักข่าว นักเขียน ไปถึงหัวหน้าข่าว บรรณาธิการ และผู้ที่ต้องติดตามหัวหนังสือพิมพ์ที่คงใช้ชื่อ “มติชน” ไม่ได้ เพราะตำรวจเขาไม่อนุญาตให้ออกในชื่อใหม่

แล้วจะยังไง

ในที่สุดทางออกหหนึ่งคือต้องหาหัวหนังสือพิมพ์รายวันที่มีอยู่เดิมมาปรับเปลี่ยนชื่อใหม่

ชื่อหัวหนังสือที่มีบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา เป็นตัวขนาดเล็ก ฝังไว้ตรงขอบแคปซูล ชื่อ

“ตลาดหลักทรัพย์”

 

เรื่องของหัวหนังสือพิมพ์ หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อ 20 ตุลาคม 2500 แล้วมีคำสั่งหรือประกาศคณะปฏิวัติไม่ให้มีการออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่

หนังสือพิมพ์ขณะนั้นจึงล้มหายตามจากไปหลายฉบับ นับแต่เดลิเมล์รายวัน เปลี่ยนมาเป็น แนวหน้า แห่งยุคเดลิเมล์ หรือแห่งยุคเดลินิวส์ – ขออภัยจำไม่ได้ แล้วจะค้นคว้ามาเรียนให้ทราบ (และน่าจะเป็น) ข่าวภาพ ซึ่งต่อมาไปได้หัวหนังสือชื่อ เสียงอ่างทอง จากจังหวัดอ่างทองมาออกติดต่อกันสักพัก ได้รับคำสั่งไม่ให้หนังสือจากต่างจังหวัดมาออกในกรุงเทพฯ จึงต้องใช้หัว “ไทยรัฐ”

ส่วนเข็มทิศรายวัน เตรียมตัวไม่ทัน จึงต้องใช้ชื่อ “เข็มทิศฉบับมติชน” มีพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร รักษาการบรรณาธิการ แสงไทย เค้าภูไทย เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา

เมื่อแรกวางตลาด “มติชน” ยังมีชื่อ “เข็มทิศ” ติดไว้บนตัว “ม” ส่วนข้อเขียนภายในใช้คำว่า “มติชน” ตลอดทั้งฉบับ รวมทั้งลงข้อความแสดงความยินดีกับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้

 

มติชนฉบับแรก แถมฉบับพิเศษ บ่งบอกถึงความเป็นไป ตั้งแต่หน้าแรก “เส้นทางเดินจากประชาชาติถึงมติชน”

ข้อความจากนั้น บอกกล่าวถึงความเป็นไปของคนหนังสือพิมพ์จากสายตาของผู้อ่าน ทั้งยืนยันว่า การประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์เพื่อให้เป็นหนังสือพิมพ์ที่แท้จริงนั้น ต้องกระทำตัวด้วยสำนึกที่ว่า เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และของชาติเป็นที่สุด

การก่อกำเนิดหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน เกิดเพราะเหตุดังกล่าวเบื้องต้น ต่อมากลายเป็นความจำเป็นและหน้าที่รับผิดชอบที่เราต้องกระทำให้เกิดขึ้นจงได้อย่างไม่หยุดยั้ง

หม่อมราชวงศ์สุนิดา บุณยรัตพันธ์ สุทธิชัย หยุ่น พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ คือผู้ร่วมคิด ร่วมค้น ร่วมต่อสู้ เพื่อให้เกิดหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ ตามความคิดเห็นข้างต้น

ประชาชาติรายสัปดาห์ ออกสู่สายตามหาชนเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2516 และในที่สุดหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง คือ ประชาชาติ ได้อุบัติขึ้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2517