รัฐประหาร 2549 ถึง 2557 “ปฏิรูปตำรวจ” ในมือ “รัฐบาลทหาร” มิชชั่นที่ไม่มีวันคอมพลีต!?

ตลอดระยะเวลามากกว่า 4 ปีภายใต้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

แต่นั้นเป็นต้นมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เสียงบประมาณไปมหาศาลกับเรื่อง “ปฏิรูปตำรวจ” จ่ายไปกับค่าดำเนินการ แค่เพียงเบี้ยประชุม เบี้ยเลี้ยงของคณะกรรมการ คณะทำงานหลัก คณะทำงานย่อยในภารกิจปฏิรูปตำรวจในนามรัฐบาล ก็จ่ายไปหลายหลัก

ทว่าห้วงนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยุค คสช. กำลังนับถอยหลัง เปลี่ยนฉากสู่การเลือกตั้ง สู่รัฐบาลใหม่ พล.อ.ประยุทธ์จะคัมแบ๊กมานั่งเก้าอี้ผู้นำรัฐบาลอีกหรือไม่นั้น ไม่ทราบ

แต่ตอนนี้ “ภารกิจปฏิรูปตำรวจ” ในนามรัฐบาล คสช.กำลังคว่ำไม่เป็นท่า ภารกิจล้มเหลว!!

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. … ซึ่งเป็นร่างกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อการแก้ไขปรับปรุงองค์กรตำรวจตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ ออกแบบและเขียนโดยคณะกรรมการในคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ไม่สามารถเสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้พิจารณาออกเป็นกฎหมายได้ทันในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

สถานภาพร่าง 2 ฉบับจึงเก็บพับเข้าลิ้นชักเรียบร้อย กลายเป็นร่างค้างเติ่ง ไปได้ไกลสุดเพียงในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวน ไม่ทันเข้าลิสต์กฎหมายพิจารณาใน สนช.ชุดนี้ รอความหวังรัฐบาลใหม่หยิบมาปัดฝุ่น

“การปฏิรูปตำรวจ” ถูกตีปี๊บเป็นหนึ่งในการบ้านสำคัญของการปฏิวัติโดย “ทหาร” ทุกครั้ง

ย้อนไปแค่ในห้วง 2 ทศวรรษ การปฏิวัติ 2 ครั้ง ทั้งในปี 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก และล่าสุดในปี 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ งานผ่าตัดใหญ่องค์กรตำรวจถูกหยิบยกเป็นวาระสำคัญ

จากกรมตำรวจ สู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) องค์กรตำรวจพัฒนาตัวเอง ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร ตรากฎหมาย พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ซึ่งปรับและยังคงใช้เป็นหลักจนถึงวันนี้

ในหนังสือการบริหารจัดการตำรวจและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อการดูแลความปลอดภัยสาธารณะ ราชอาณาจักรไทย โดย พล.ต.ท.ดร.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร.และคณะ หนึ่งในหนังสือในชุดวิจัยโครงการการศึกษาเปรียบเทียบการบริหารจัดการงานตำรวจและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อการดูแลความปลอดภัยสาธารณะ ระบุไว้ตอนหนึ่ง ถึงองค์กรตำรวจในปัจจุบัน โดยชี้ว่า หลังมี พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 ที่พัฒนาการบริหารจัดการตำรวจไปหลายส่วน

“แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการ เช่น การแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ปัญหาการบริหารงานบุคคล ปัญหาด้านงบประมาณ ทรัพยากรทางการบริหาร จึงมีหลายฝ่ายต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง การปฏิรูปตำรวจถูกยกเป็นนโยบายสำคัญ”

ตอนหนึ่งจากหนังสือการบริหารจัดการงานตำรวจฯ ราชอาณาจักรไทย

หลัง “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิรัฐประหารคว่ำรัฐบาล “นายทักษิณ ชินวัตร” ในเดือนกันยายน ปี 2549 นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 230/2549 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549 แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ผู้ล่วงลับ เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและนอกองค์กรตำรวจ

ข้อครหาใหญ่ในการปฏิรูปตำรวจครั้งนั้น ส่วนหนึ่งคือสารพัดปัญหาที่กล่าวในข้างต้น อีกส่วนสำคัญคือ การลดพลังตำรวจ ในยุคที่คำว่า “รัฐตำรวจ” ดังกระหึ่มในช่วงรัฐบาลทักษิณ

ผลการศึกษาของคณะกรรมการมีข้อเสนอให้มีการปฏิรูปตำรวจ 10 ประเด็น คือ

1. เรื่องการกระจายอำนาจการบริหาร

2. การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับดูแลการบริหารงานตำรวจ

3. การสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจ

4. การโอนถ่ายภารกิจที่ไม่ใช่งานหลักของตำรวจ

5. ปรับปรุงพัฒนาระบบงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

6. ปรับปรุงการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ

7. พัฒนากระบวนการในการสรรหา ผลิต และพัฒนาบุคลากรตำรวจ

8. การปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทนและสวัสดิการตำรวจให้มีฐานะเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับพนักงานอัยการหรือศาล

9. การส่งเสริมความก้าวหน้าของตำรวจชั้นประทวน

และ 10. การจัดตั้งหน่วยงานในการปรับปรุงพัฒนากระบวนการยุติธรรม

10 ข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจชุดนี้ จบตรงนั้น ไม่ได้ดำเนินการต่อ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง

ต่อมาเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิวัติรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเดือนพฤษภาคม 2557 ชูธงปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง ดังเนื้อเพลงปลุกประโลม “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา…” โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญคือการปฏิรูปตำรวจ สอดรับกับแรงกระทุ้งก่อนปฏิวัติ ที่ กปปส.โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.และพวก ขยี้ปมปัญหาตำรวจและเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจ

การแทรกแซงทางการเมืองและด้านมืดในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจถูกโฟกัสเป็นปัญหาใหญ่ ท่ามกลางการเติบโตอีกครั้งของรัฐตำรวจ กลายเป็นเหตุหลักที่ต้อง “ปฏิรูปตำรวจ” ในครั้งนี้

ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. มีข้อเสนอปฏิรูปตำรวจจากคณะกรรมการและคณะทำงานหลายฝ่าย ตั้งแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ต่อมาในปี 2560 มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 บัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจไว้ในมาตรา 258 ง. กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม โดยให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจ หน้าที่ และภารกิจตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงการบริหารงานบุคคลของตำรวจให้มีประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เหมาะสมแก่ภารกิจ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย

พล.อ.ประยุทธ์ตั้งรุ่นพี่โรงเรียนเตรียมทหาร พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ นายพลทหารผู้ผ่านการปฏิรูปกองทัพมาแล้วเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ตามรัฐธรรมนูญ มีกรรมการเป็นตำรวจและคนนอกในสัดส่วนสมดุล

ชุดนี้ใช้เวลาตามกรอบรัฐธรรมนูญภายใน 1 ปีออกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ผลผลิตจากคณะอนุกรรมการ 6 ชุด สำเร็จเรียบร้อยส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยรับหลักการ

แต่แล้วก็สั่งรื้อใหม่ โดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ขึ้นมาในชั้นของกฤษฎีกา นั่นคือชุดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ มีกรรมการเป็นตำรวจเพียง 2 คน คือ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 และ พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกกฎหมาย 2 ฉบับ เนื้อหาภายใน 173 มาตรา เขียนกรอบการแต่งตั้งตำรวจไว้ค่อนข้างละเอียด ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นร่างฉบับตั้งธง มีพิมพ์เขียวมาล่วงหน้า และเสียงค้านขรมจากเหล่าสีกากี

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายชุดนายมีชัย บอร์ดปฏิรูปตำรวจชุดสุดท้ายในนามรัฐบาล คสช.ก็ถูกพับเก็บเข้าลิ้นชักไปแล้วโดยปริยายเมื่อไม่สามารถออกเป็นกฎหมายได้ทันสภา สนช. ต้องรอรัฐบาลหลังเลือกตั้ง!!

คล้ายว่าเข้าอีหรอบเดิม

กว่า 4 ปีของ คสช.ปฏิรูปตำรวจไม่เสร็จ!!

ภารกิจใหญ่ของรัฐบาลทหารที่มาจากรัฐประหาร งาน “ปฏิรูปตำรวจ” ทั้ง 2 ครั้ง มิชชั่นที่ไม่คอมพลีต ต้องหาคำตอบว่าเพราะอะไร…