โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญรุ่นแรก 2540 หลวงปู่คำภา กัลยาโณ พระเกจิรุ่นเก่าสารคาม

หลวงปู่คำภา กัลยาโณ

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญรุ่นแรก 2540

หลวงปู่คำภา กัลยาโณ

พระเกจิรุ่นเก่าสารคาม

“พระครูคำภา พรหมสโร” หรือ “หลวงปู่คำภา กัลยาโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมรังษี ต.กุดปลาดุก อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม เป็นพระสงฆ์รุ่นเก่าอีกรูปหนึ่งของเมืองมหาสารคาม มีชื่อเสียงโด่งดังในพื้นที่มาตั้งแต่ช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ร่วมสมัยกับอดีตพระเกจิอาจารย์ในพื้นที่หลายรูป อาทิ พระครูสีหราช อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านแก่นท้าว, หลวงปู่ต้น ปุญญวัณโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านดงเค็ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นต้น

ในปี พ.ศ.2525 หลังหลวงปู่คำภามรณภาพไปนานกว่า 40 ปี วัดธรรมรังษี พร้อมคณะศิษยานุศิษย์บ้านกุดปลาดุก มีโครงการที่จะพัฒนาสาธารณูปโภคภายในวัดที่เสื่อมโทรม แต่ยังขาดจตุปัจจัยเป็นจำนวนมาก

จึงมีมติจัดสร้างวัตถุมงคลเหรียญรูปเหมือน นับเป็นเหรียญรุ่นแรก เพราะช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่เคยมีการจัดสร้างแต่อย่างใด

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วงยกขอบ จัดสร้างประมาณ 2,000 เหรียญ เป็นชนิดเนื้อทองแดงผิวไฟชนิดเดียว

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงปู่คำภาครึ่งองค์ ด้านล่างสุดเขียนว่า “พระครูคำภา”

ด้านหลัง มีตัวอักษรเขียนว่า “วัดธรรมรังสี ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม” จะไม่บอกปีพุทธศักราชที่จัดสร้าง แต่เป็นที่ทราบกันดีของนักสะสมนิยมพระเครื่องในพื้นที่สารคาม

วัดธรรมรังษี ประกอบพิธีพุทธาภิเษกขึ้นภายในอุโบสถ มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของภาคอีสานหลายรูปที่เข้าร่วมพิธีนั่งปรกอธิษฐานจิต

เมื่อนำออกให้พุทธศาสนิกชนเช่าบูชาตามกำลังศรัทธา ปรากฏว่าได้รับความนิยม ถึงแม้จะเป็นเหรียญตาย ที่สร้างหลังมรณภาพไปแล้วก็ตาม

ปัจจุบัน เริ่มหายาก ส่วนใหญ่ถูกตามเก็บเข้ากรุ

เหรียญหลวงปู่คำภา (หน้า)

 

สําหรับประวัติหลวงปู่คำภา มีบันทึกไว้น้อยมาก จากการสืบค้นข้อมูลจากทางวัดทราบเพียงว่า นามเดิม คำภา เกิดประมาณปี พ.ศ.2394 ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ส่วนบิดา-มารดา ไม่ทราบชื่อ

ช่วงวัยเด็ก ช่วยงานครอบครัวทำไร่ทำนา ตามวิถีชีวิตของคนอีสาน

เมื่ออายุ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดบึง จ.นครราชสีมา ศึกษาเล่าเรียนมูลกัจจายน์ บาลี อักขระโบราณ ที่สำนักเรียนวัดบึง มุมานะเล่าเรียนอยู่หลายปีจนมีความรู้แตกฉาน

เนื่องจากอุปนิสัยชอบความสงบวิเวก เคยออกเดินธุดงค์เข้าไปในเขตประเทศกัมพูชา พร้อมกับศึกษาวิทยาคมจากพระเกจิอาจารย์สายเขมรหลายรูป

สมัยเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา บ้านกุดปลาดุก ต.กุดปลาดุก อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม ยังมีสภาพเป็นบ้านป่า ยุคนั้นมีประชาชนจากทุกสารทิศเข้ามาหักร้างถางพงจับจองที่ดินเป็นที่ทำกิน และบรรดาญาติพี่น้องของหลวงปู่คำภา จาก จ.นครราชสีมา ก็เดินทางเข้ามาจับจองที่ดินทำกินที่บ้านกุดปลาดุกเช่นกัน

ประมาณปี พ.ศ.2432 หลังจากที่หลวงปู่คำภาทราบข่าว ท่านจึงตัดสินใจเดินทางมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านกุดปลาดุก ปฏิบัติธรรมอยู่ตราบจนวาระสุดท้ายของท่าน

เหรียญหลวงปู่คำภา (หลัง)

 

การที่เป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีพุทธาคมที่แก่กล้า ทำให้เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังในวงกว้างอย่างรวดเร็ว แต่ละวันจะมีผู้เดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรมและปะพรมน้ำพระพุทธมนต์อย่างล้นหลาม

นอกจากนี้ได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนา โดยปัจจัยที่ได้จากการบริจาค หาได้เก็บงำไว้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวไม่ ท่านนำมาพัฒนาสร้างความเจริญให้กับวัด โดยท่านขอแรงญาติโยมช่วยกันสร้างสาธารณูปโภคในวัดจนแล้วเสร็จลงด้วยดี

ยังให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณร ตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรม เนื่องเพราะการบวชเรียนเป็นทางเลือกหนึ่งของคนยากคนจน ทำให้มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนสูงขึ้นยุคสมัยนั้น นอกจากจะรับหน้าที่เป็นครูสอนแล้ว ท่านยังจัดหาพระสงฆ์และฆราวาสที่มีความรู้มาเป็นครูสอน ทำให้สำนักเรียนวัดบ้านกุดปลาดุก ยุคนั้นมีชื่อเสียงโด่งดัง

แต่ละปีมีพระภิกษุ-สามเณร ศึกษาเล่าเรียนจำนวนมาก ด้วยสมัยนั้นสำนักเรียนมีน้อย เพราะอยู่ห่างจากตัวอำเภอกว่า 30 กิโลเมตร เส้นทางก็ทุรกันดาร

หากรูปใดตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ก็จะมีทุนการศึกษาให้ พร้อมกับสนับสนุนให้เรียนสูงยิ่งขึ้น

 

ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธรรมรังสี (วัดบ้านกุดปลาดุก) ในปี พ.ศ.2475 เป็นเจ้าอาวาสรูปที่สาม

ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด ปฏิบัติหน้าที่ปกครองพระภิกษุ-สามเณรอย่างเคร่งครัด รวมทั้งออกเผยแผ่หลักธรรมทางพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ

ล่วงเข้าปัจฉิมวัย ท่านเริ่มอาพาธหลายโรค เนื่องด้วยในสมัยนั้นการสาธารณสุขยังไม่เจริญ ทำให้โรคกำเริบอย่างรวดเร็ว แต่ท่านยังรับงานนิมนต์เป็นปกติ บางครั้งอาการกำเริบหนัก ท่านยังฝืนสังขารไปตามกิจนิมนต์ที่รับไว้

สุดท้าย มรณภาพอย่างสงบ เมื่อปี พ.ศ.2477 สิริอายุ 83 ปี พรรษา 63