รัฐประหาร l สอบตก “โกง”

ไม่ถูกที่ ไม่ถูกเวลา เอาเสียเลย

สำหรับองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ

ที่เลี้ยงส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากนักการทหาร ไปสู่นักการเมือง

ด้วยคำประกาศผลอันดับการจัดทำดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี 2018

ที่ปรากฏว่าปีนี้ไทยมีคะแนนแย่ลงกว่าปีที่แล้ว

และยัง “สอบตก” ได้ 36 จากคะแนนเต็ม 100

หล่นมาอยู่อันดับ 99 จาก 180 ประเทศ

ยิ่งกว่านั้น เมื่อพิจารณาย้อนหลังไป 5 ปี

ปี 2560 เคยได้ 37 คะแนน (อันดับ 96)

ปี 2559 ได้ 35 คะแนน (อันดับ 101)

ปี 2558 ได้ 38 คะแนน (อันดับ 76)

ปี 2557 ได้ 38 คะแนน (อันดับ 85)

ปี 2556 ได้ 35 คะแนน (อันดับ 102)

จะพบว่า ในห้วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ และตั้งตนเองเป็นรัฐบาลบริหารประเทศมาตั้งแต่ปี 2557 นั้น

อันดับการจัดทำดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นไม่ได้ดีขึ้น

อย่างที่ทุกคนคาดหวัง

ต้องไม่ลืมว่า เหตุผลหลักของการยึดอำนาจคือ การทุจริตคอร์รัปชั่น

ถึงขนาดมีการประกาศร่างรัฐธรรมนูญฉบับโกงขึ้นมา

มีการเพิ่มมาตราเหล็กต่างๆ มากมาย

มีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มาตรา 44 อย่างไม่ยั้ง

มีการโยกย้ายข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมืองหลายร้อยคน

แต่เอาผิดใครอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังไม่ได้

มิหนำซ้ำยังมีกรณีอื้อฉาวนาฬิกาแพง การรั่วไหลของเงินที่ผ่านโครงการประชารัฐมากมาย

ขณะที่หน่วยงานที่ทำงานด้านการปราบโกง ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ในแง่เข้มงวดกับฝ่ายตรงข้าม แต่เอื้ออาทรกับฝ่ายตัวเอง

นี่จึงทำให้ดัชนีการคอร์รัปชั่นไม่ไปไหน

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ข้อมูลว่า

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ให้คะแนนและจัดอันดับไทย โดยพิจารณาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่งข้อมูล

ไทยได้คะแนนเท่าเดิม 6 แหล่ง

คะแนนลดลง 3 แหล่ง คือ

1. ด้านพัฒนาการจัดการสถาบันระหว่างประเทศ

2. ด้านการให้คำปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ

และ 3. ด้านความหลากหลายของโครงการประชาธิปไตย ซึ่งพิจารณาจากการถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

ทั้งนี้ ที่คะแนนลดลง น่าจะเป็นเพราะปีที่ผ่านมาสังคมโลกมองว่าไทยยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

มีข้อจำกัดเรื่องสิทธิเสรีภาพบางประการเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ

ทำให้การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และกระบวนการยุติธรรมยังไม่ชัดเจน

ในข้อ 3 นี้ อ่านอย่างไรก็ไม่อาจปฏิเสธว่า แท้ที่จริง “รัฐประหาร” คือตัวถ่วงในการปราบโกง

ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่าต้องรัฐประหารเพื่อปราบโกง ใช้ไม่ได้ผลแล้ว-เสียของแล้ว

ดังนั้น ใครจะอวยไส้แตก ทำนองว่า

…จึงถูกต้องแล้ว ที่ผู้นำรัฐประหารจะเขยิบเข้าไปสู่การเป็นนักการเมือง เพราะรัฐประหารไม่ใช่คำตอบการปราบโกงแล้ว

ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์

แต่หายาแดงมาทาสีข้าง ที่ถลอกปอกเบิกเอาเอง!