วิเคราะห์การเมือง : สแกนชื่อชิงนายกฯ แต่ละพรรค จุดแข็ง-จุดขาย เลือกตั้ง 24 มี.ค.

ระฆังเลือกตั้งดังขึ้น ถึงเวลาที่พรรคการเมืองต้องออกมาขยับ ยืดเส้นยืดสาย หลังจากที่ต้องนั่งขดอยู่ข้างสนาม เป็นผู้ชมมาเกือบ 5 ปี

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันที่ 24 มีนาคม เป็นวันเลือกตั้งประเทศไทย บรรยากาศการเมืองจึงคึกคักขึ้นมาทันที โดยพรรคการเมืองต่างๆ ขานรับด้วยความปีติยินดี เพราะเป็นการรอคอยการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี นับจากการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554 ไม่นับการเลือกตั้งปี 2557 ที่เป็นโมฆะไป

เป็นที่คาดกันว่าหลังเลือกตั้งครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้รัฐบาลผสม ที่มาจากหลายพรรคการเมือง

ไม่มีทางที่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจะได้คะแนนเสียงท่วมท้นจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามลำพัง เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เขียนโดยปรมาจารย์นักกฎหมายอย่าง “นายมีชัย ฤชุพันธุ์” อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ออกแบบนวัตกรรมระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่เฉลี่ยคะแนนให้อย่างทั่วถึงทุกพรรค

นายมีชัยและพวกยังบัญญัติรัฐธรรมนูญแบบพิสดารอีกประเด็นคือ ในส่วนของการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้น ให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ ได้ไม่เกิน 3 คน โดยทั้ง 3 คน ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.หรือสมาชิกพรรค

ประเด็นนี้ถูกด่าตั้งแต่ต้นแล้วว่าเป็นการปูทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมามีอำนาจในฐานะนายกฯ หลังการเลือกตั้งอีกครั้ง เพราะไม่ง่ายที่คนอย่าง “บิ๊กตู่” จะเข้าสังกัดพรรคการเมือง หรือลง ส.ส.

ฉะนั้น วิธีนี้จึงเป็นทางออก หากไม่อยากให้ทุกอย่างเสียของ

เรื่องร้อนที่ต้องจับตาในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นอนาคตทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” ที่ต้องฝากความหวังไว้กับพรรคการเมืองหน้าใหม่แต่ไฟแรงอย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่าจะสามารถไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

พรรค พปชร.เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนหลายกลุ่ม แต่จุดประสงค์เดียวคือ การสานต่องานของรัฐบาล “บิ๊กตู่” ซึ่งตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ต่างได้รับความชื่นชมและเสียงวิจารณ์ เรียกว่ามีทั้งคนชอบและคนเกลียด

พรรค พปชร.เสนอ 3 ชื่อในบัญชีนายกฯ โดยมี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นชื่ออันดับ 1 ตามด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค

กระนั้นก็ตาม แม้จะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่อลังการในช่วงแรก แต่หลังๆ มานี้พรรค พปชร.เกิดความไม่มั่นใจสูงว่าจะสามารถกำชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้หรือไม่ เพราะถนนการเมืองการเลือกตั้งนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด และต้องยอมรับว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้สร้างความประทับใจให้ประชาชนเท่าที่ควร

จึงไม่แปลกที่จะปรากฏชื่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรค เพราะเป็นการประเมินแล้วว่า แค่ชื่อ “บิ๊กตู่” คงไม่สามารถขายได้

มีเสียงซุบซิบด้วยว่า อดีต ส.ส.ที่ย้ายจากพรรคอื่นไปอยู่พรรค พปชร.บางคนยังไม่กล้าบอกกับประชาชนว่าตัวเองย้ายพรรค

ขณะที่บางคนไม่กล้าใส่เสื้อพรรค โดยเฉพาะทางอีสาน ที่ผู้สมัครต้องพยายามโปรโมตชื่อตัวเอง มากกว่าจะบอกว่าอยู่พรรคใด

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้มีชื่อ “นายสมคิด” โผล่ขึ้นมา เพราะนายสมคิดถือเป็นนักการเมืองภาพลักษณ์ดี มีภูมิความรู้ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะสามารถช่วยพรรคได้ไม่มากก็น้อย

พรรค พปชร.มีกองหนุนประกอบด้วย พรรครวมพลังประชาชาติไทย นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พรรคประชาชนปฏิรูป นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน โดยทั้งสองพรรคมีมติไม่ส่งรายชื่อนายกรัฐมนตรี หากแต่จะคอยยกมือสนับสนุน “บิ๊กตู่” ในสภา

พรรคคู่แข่งสำคัญของ พปชร.คือพรรคการเมืองอันดับหนึ่งอย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคเพื่อไทย (พท.) ชูว่าที่นายกฯ 3 คน ซึ่งมีพลังที่แตกต่างกัน 1.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 2.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 3.นายชัยเกษม นิติสิริ

มี 3 ตัวเลือก ย่อมดีกว่าตัวเลือกเดียว เพราะในขณะที่คุณหญิงหน่อยซึ่งเป็นนักการเมืองรุ่นเก๋า มีประสบการณ์ท่วมท้น โชกโชนจากสนามการเลือกตั้งหลากหลาย อีกทั้งยังมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้คนมากมายหลายวงการ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่ดีของคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีเมืองไทย

ขณะเดียวกันก็ต้องมีตัวเลือกที่แตกต่าง โดยนายชัชชาติเป็นผู้ที่มาตอบโจทย์นั้น เพราะเขาเป็นตัวแทนของนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ไมสาดโคลนทางการเมือง สร้างตัวตนจนมีกระแสอย่างสูงในสังคมออนไลน์ ยิ่งบวกกับการที่มีภูมิความรู้ด้านเศรษฐกิจ ยิ่งทำให้นายชัชชาติน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น

ส่วนพรรคแนวร่วมของพรรคเพื่อไทย อย่างพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ชื่อย่อก็บอกแล้วว่า “ทักษิณ ชินวัตร” ไม่งั้นคงใช้ชื่อย่อ “ทรช.” ไปแล้ว

“ไทยรักษาชาติ” ที่ว่ากันว่าเป็นพรรคตัวแทนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะมีอดีตคนใกล้ชิด “เจ๊ปู” ร่วมทีมคับคั่ง พรรคนี้มาในคอนเซ็ปต์เดียวกับพรรคเพื่อไทย (พท.)

ที่สำคัญได้ชูหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่อย่าง “ป๋อม” ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช และมีนักการเมืองรุ่นเก๋ามากประสบการณ์อย่าง “อ๋อย” นายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่มีภาพของการเป็นนักการเมืองที่ยึดหลักประชาธิปไตยชัดเจน อาจจะอยู่ในบัญชีนายกฯ เพื่อหวังฐานเสียงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งแรก และคนรุ่นเก่าที่ติดตามการเมืองมายาวนาน

ซึ่งนับเป็นอีกวิธีคิดที่ชาญฉลาด

ส่วนพรรคขนาดกลางๆ เช่น พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยังคงชูหัวหน้าพรรคอย่าง “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล แบเบอร์มาคนเดียว เพื่อง่ายแก่การบริหารจัดการ

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เมื่อ “มังกรเติ้ง” คุณพ่อบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยจากไป ก็มีลูกสาวอย่าง “หนูนา” กัญจนา ศิลปอาชา ขึ้นมาเป็นผู้นำทัพแทน

ส่วนพรรคการเมืองใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญอย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังคงเหนียวแน่น โดยยืนหยัดชู “หัวหน้ามาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพียงชื่อเดียวในบัญชีนายกฯ เพราะนาทีนี้ไม่มีใครจะเทียบรัศมีของ “หัวหน้ามาร์ค” ได้อีกแล้วเมื่อชนะศึกได้กลับมานั่งเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.อีกสมัย

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เลือกตั้งครั้งนี้มั่นใจว่าจะต้องได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลังจากที่พรรคไม่เคยชนะเลือกตั้งเลย นับแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ก็ปาเข้าไปเกือบ 30 ปีแล้ว

เลือกตั้งครั้งนี้ ยังจะเป็นเครื่องมือวัดศักยภาพของหัวหน้าพรรคได้เป็นอย่างดี เพราะหากพรรคชนะการเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาล ทุกอย่างก็จะจบลงอย่างสวยงาม แต่หากแพ้เลือกตั้ง หัวหน้าพรรคจะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรค เปิดทางให้คนอื่นๆ ได้เข้ามาทำหน้าที่นี้แทน

เพราะภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ ถ้าแพ้เลือกตั้งครั้งนี้ก็เท่ากับว่าแพ้ครั้งที่ 3 โดยครั้งแรกคือปี 2550 และปี 2554 ที่แพ้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่คาดกันว่า นายอภิสิทธิ์จะลาออกทันทีเมื่อพรรคประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งหนนี้ เพื่อเปิดทางให้หัวหน้าพรรคคนใหม่นำ ปชป.ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เพราะถึงอย่างไร การได้เป็นรัฐบาลก็ยังเป็นประโยชน์อยู่กับพรรค ปชป.

ส่วนชื่อไหนจะเข้าป้ายได้นั่งเป็นนายกฯ หลังกาบัตรวันที่ 24 มีนาคม จะได้รู้กัน