บทวิเคราะห์ : อาเซียนกับอิทธิพลทางทหาร ของสหรัฐอเมริกา

ผมอ่านพบข้อเขียนของ ดร.แดน สไตน์บ็อก ว่าด้วยเรื่องความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงในแนวนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาต่อเอเชีย โดยเฉพาะต่ออาเซียนชิ้นนี้ ในมะนิลา ไทม์ส เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา

ประการแรกสุดที่ผมสังเกตเห็นก็คือ สไตน์บ็อกเป็นนักวิชาการที่ทำงานวิชาการอยู่ในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มวิชาการที่เรียกตัวเองว่า “ดิฟเฟอเรนซ์ กรุ๊ป”, เคยทำงานทั้งในอินเดีย, จีน และให้สถาบันอเมริกา ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งสถาบันเซี่ยงไฮ้เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในจีน และอียู เซ็นเตอร์ ในประเทศสิงคโปร์อีกด้วย

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแนวความคิดที่นำเสนอไว้ของสไตน์บ็อกจะน่าสนใจน้อยลงแต่อย่างใด

 

ดร.สไตน์บ็อกเริ่มต้นจากจุดของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งในทางหนึ่ง ก่อประโยชน์ระยะสั้นให้กับประเทศอย่างไทยและเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้งหลายอยู่บ้าง แต่ในระยะยาวแล้ว น่ากังวลว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะส่งผลกระทบ “ข้างเคียง” ต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งหลายในอาเซียน

จากจุดนั้น สไตน์บ็อกชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้สงครามการค้าในรูปแบบ “ที่เลวร้ายที่สุด” จะสามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอาเซียนจะหมดกังวลกับสหรัฐอเมริกา ด้วยแนวโน้มที่ว่า ลัทธิกีดกันทางการค้าใหม่ของโดนัลด์ ทรัมป์นั้นเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเพิ่มพูนท่าทีและสร้างอิทธิพลทางทหารควบคู่กันไปด้วย

แล้วก็ยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับภูมิภาคแอฟริกามาเป็นอุทาหรณ์ว่า กำลังจะเกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก

ซึ่งรวมถึงเอเชียด้วยเช่นกัน

 

สไตน์บ็อกระบุว่า ในปี 2017 สหรัฐอเมริกาเคยค้าขายกับกลุ่มประเทศที่เรียกว่า “ซับ-ซาฮารา คันทรี” ในแอฟริกา คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 39,000 ล้านดอลลาร์ ขาดดุลการค้าอยู่ราว 10,800 ล้านดอลลาร์ เคยลงทุนในภูมิภาคเดียวกันนี้สูงมากในยุคประธานาธิบดีบุช แต่การลงทุนกลับล่มสลายไปในช่วงของประธานาธิบดีบารัค โอบามา

ยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคแอฟริกาเคยมุ่งไปในด้านความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ต่อด้วยเรื่องการให้ความช่วยเหลือ แล้วถึงจะเป็นเรื่องของความร่วมมือทางทหาร

ในยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐอเมริกา ทุกอย่างกลับหัวกลับหาง ความร่วมมือทางทหารกลับมามีความสำคัญเป็นลำดับแรกสุด

สาเหตุหลักนั้น สไตน์บ็อกชี้ว่า เป็นเพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจของจีนกับแอฟริกาขยายตัวขึ้นสวนทางกับสหรัฐอเมริกา ในปี 2016 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับแอฟริกาก็พุ่งขึ้นเป็น 128,000 ล้านดอลลาร์แล้ว เมื่อนับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือโอบีโออาร์ของจีนแล้ว จีนก็กลายเป็นแหล่งที่มาของเงินทุนและความช่วยเหลือที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนั้นไปแล้ว

สไตน์บ็อกเชื่อว่า สิ่งเดียวกันกำลังส่อเค้าว่าจะเกิดขึ้นกับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีความสำคัญกว่าแอฟริกามากทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและในแง่ของยุทธศาสตร์

เขาชี้ว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกากับอาเซียนตกลงอย่างต่อเนื่อง ตรงกันข้ามกับความสัมพันธ์กับจีน

ตามข้อมูลของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา มูลค่าการค้าสหรัฐ-อาเซียนในปี 2016 อยู่ที่ 234,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าแอฟริกาถึง 6 เท่าตัว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน ซึ่งพุ่งพรวดขึ้นเป็น 515,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2017

สัดส่วนที่จีนค้าขายกับอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของการค้าทั้งหมดของอาเซียน เกือบเท่าๆ กับมูลค่าการค้าระหว่างชาติอาเซียนด้วยกันเอง ซึ่งอยู่ที่ 22 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการค้าทั้งหมดอาเซียน เม็ดเงินลงทุนจากจีนและฮ่องกงในชาติอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของอาเซียนทั้งหมด

นั่นคือนัยสำคัญของจีนต่อภูมิภาคอาเซียนครับ

 

ในเวลาเดียวกัน อาเซียนได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐอเมริกา (92,000 ล้านดอลลาร์) มากกว่าที่สหรัฐอเมริกาเสียเปรียบดุลการค้าให้กับเม็กซิโก, ญี่ปุ่น หรือเยอรมนีด้วยซ้ำไป

โดยที่ไทยได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนต่อจากเวียดนามและมาเลเซีย

ซึ่งถ้าคำนึงถึงนโยบาย “อเมริกาเฟิร์สต์” ของทรัมป์ การ “ปรับสมดุล” เรื่องนี้ใหม่กับอาเซียนก็คงจะเกิดขึ้นในไม่ช้าไม่นาน

เมื่อนำมาประเมินร่วมกับแผนยุทธศาสตร์ใหม่ของทรัมป์เมื่อปี 2017 ที่มองจีนว่าเป็น “ปรปักษ์” มากกว่าที่จะเป็น “หุ้นส่วน” เหมือนยุคโอบามา ความพยายามสร้างอิทธิพลทางทหารของสหรัฐอเมริกาจึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงได้ยากในทัศนะของสไตน์บ็อก

แม้ว่าโดยความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ไทยและอาเซียนต้องการคือพัฒนาการทางเศรษฐกิจมากกว่าการสร้างอิทธิพลทางทหาร การหันกลับมาสั่งสมอาวุธใหม่ (รีอาร์มาเมนต์) ที่รังแต่จะก่อให้เกิดสภาวะไร้เสถียรภาพก็ตามที