วงค์ ตาวัน : วิเคราะห์สนามเลือกตั้ง ใครมีความหวังที่สุด ?

วงค์ ตาวัน

สถานการณ์ใหม่ในสนามเลือกตั้ง

วิกฤตการเมืองในช่วงปี 2556 ที่นำไปสู่การรัฐประหาร 2557 นั้น ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อแนวโน้มการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ โดยเฉพาะผู้คนที่โดดเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อต่อต้านระบอบทักษิณและน้องสาวทักษิณในหนนั้น

หลังเข้าสู่ยุคปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ภายใต้รัฐบาล คสช. กลับกลายเป็นว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้ประจักษ์ชัดแล้วว่าอะไรเป็นอะไร

จะตีความว่า ลงเอยการปฏิรูปไม่มีความคืบหน้าชัดเจนเลย

“หรือจะตีความว่า ทั้งหลายทั้งปวงก็แค่เกมชิงอำนาจทางการเมืองเท่านั้น ก็ไม่ผิดแต่อย่างใด”

ลงเอยคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าร่วมเป่านกหวีด ตกอยู่ในสภาพอกหัก ผิดหวัง และไม่สามารถอธิบายกับคนรอบข้างที่ชักชวนกันไปร่วมต่อสู้ได้

จนกระทั่งเมื่อรัฐบาล คสช.เดินมาถึงจุดที่ต้องคืนประชาธิปไตยกลับมาสู่สังคมไทย การเลือกตั้งในปี 2562 ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แถม คสช.ยังคงดำเนินการทุกอย่างเพื่อจะไปต่อ เป็นรัฐบาลต่อไปให้ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้

คนที่ผิดหวังจากการเข้าร่วมล้มรัฐบาลเพื่อไทยในปี 2556-2557 ก็ยิ่งสิ้นหวังซ้ำเข้าไปอีก เพราะการเกิดของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อภารกิจไปต่อของ คสช. ยิ่งขัดแย้งกับคำว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

“ในภาวะเช่นนี้เอง การเกิดของพรรคการเมืองพรรคใหม่ๆ ที่มีแนวคิดอุดมการณ์แหลมคม จึงกลายเป็นทางออกที่ช่วยให้คนเหล่านี้โล่งอกอย่างยิ่ง ทดแทนความผิดหวังได้อย่างพอดี!”

แน่นอนว่า ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นมา และมาแรงหลายพรรค

เช่น พรรคพลังประชารัฐ ก็ต้องยอมรับว่ามาแรงอย่างมาก ด้วยพลังดูดและด้วยกระสุนไม่อั้น ทำให้กลายเป็นพรรคที่ถูกจัดอันดับว่าจะสามารถเป็นคู่ชิงแชมป์กับเพื่อไทยที่น่าสนใจทีเดียว

ประมาณกันว่าพรรคพลังประชารัฐน่าจะได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 2 หรือ 3 เลยทีเดียว น่าจะเหนือกว่าพรรคระดับกลาง เช่น ภูมิใจไทย โดยขึ้นมาเทียบเคียงกับอันดับ 2 เดิมคือประชาธิปัตย์ได้อย่างสูสี

“พูดง่ายๆ ว่า การประเมินผลเลือกตั้งถึงขณะนี้ ยังมองว่าพรรคเพื่อไทยยังน่าจะรักษาแชมป์เอาไว้ได้ ส่วนที่มาเป็นอันดับ 2 และ 3 ไม่พ้นประชาธิปัตย์ กับพรรคพลังประชารัฐนี่เอง”

แต่สำหรับคนที่เคยเข้าร่วมผลักดันกระบวนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ร่วมกระบวนการชัตดาวน์ จนทำให้ประชาธิปไตยต้องสะดุดมาแล้ว

ในภาวะที่อกหักผิดหวังเช่นนี้ ย่อมเบือนหน้าหนีพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่ๆ

“ตัวอย่างอันชัดเจนที่สะท้อนมุมมองของคนในส่วนนี้ก็คือ จดหมายจากหม่อมอุ๋ย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ระบุถึง “8 เหตุผลที่ผมไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีก”

กล่าวได้ว่า เป็นเสียงสะท้อนในนามชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในเมืองหลวง ที่เคยต่อต้านระบอบทักษิณ จนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ล้มคว่ำ

แล้ววันนี้ก็ต้องประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อีกต่อไป

ขณะพรรคการเมืองแนวใหม่ มีอุดมการณ์สไตล์คนรุ่นใหม่ อย่างเช่นพรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ กลายเป็นทางออกที่ได้รับความสนใจจากคนส่วนนี้ไปในทันที

พรรคอนาคตใหม่ โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับคะแนนนิยมจากคนรุ่นใหม่ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปจนถึงคนรุ่นที่เพิ่งพ้นจากวัยเรียนเข้าสู่วัยทำงานใหม่ๆ อย่างท่วมท้น ด้วยความรู้สึกที่ว่าเป็นคนรุ่นใหม่จริงๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองยุคเก่าที่ผ่านๆ มา

ที่สำคัญชูธงความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองที่แจ่มชัด

ชนิดที่เรียกว่าไปปรากฏตัวตามเวทีไหนที่มีคนฟังเป็นวัยหนุ่มสาว ถึงขั้นเรียกเสียงกรี๊ดได้ราวกับศิลปินดารา

แต่แน่นอนว่าการชูความคิดและอุดมการณ์ของพรรคนี้ คือจุดสำคัญที่ทำให้ได้รับความสนใจอย่างมาก

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลายเป็นพรรคที่เป็นทางออกให้กับชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง ที่เคยไปร่วมชัตดาวน์ สามารถให้คำตอบกับคนรอบข้างได้ว่า ที่ไปต่อสู้ไม่เอาพรรคเพื่อไทย และต้องการปฏิรูปการเมืองนั้น ก็คือต้องการพรรคการเมืองในแนวทางแบบอนาคตใหม่นี่แหละ”

ผลประเมินเลือกตั้งคาดว่าอนาคตใหม่จะได้คะแนนเสียงจากคนกรุงเทพฯ เขตชั้นในเป็นกอบเป็นกำ รวมไปถึงหัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่

“คาดหมายว่าจะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งอย่างพอสมควรเลยทีเดียว จะกลายเป็นพรรคขนาดกลางในสภาที่น่าสนใจอย่างมาก!”

ส่วนพรรคประชาชาติ นำโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นักการเมืองผู้คร่ำหวอดในสนามชายแดนใต้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ถือเป็นพรรคใหม่อีกพรรค ที่สร้างเอกลักษณ์ได้โดดเด่น แสดงให้เห็นจุดเด่นชัดเจน คือ เชิดชูความหลากหลายทางเชื้อชาติ และน่าจะปักธงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างแน่นอน รวมถึงขึ้นมายังภาคใต้ตอนบนบางส่วนได้อีกด้วย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์การเมืองเชื่อว่า พื้นที่เลือกตั้งภาคใต้ กลายเป็นจุดอ่อนไหวที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างครั้งใหญ่ผ่านการเลือกตั้งหนนี้

“ด้วยความที่เป็นภาคซึ่งเข้าร่วมการเป่านกหวีดอย่างทุ่มเทที่สุด แต่ผิดหวังที่สุด โดยเฉพาะราคายางที่ตกต่ำยิ่งกว่ายุคยิ่งลักษณ์ ราคาปาล์ม ราคามะพร้าวตกฮวบ รวมไปถึงมาตรการแก้ปัญหาประมงของ คสช. ซึ่งทำให้ประชากรชาวประมงประสบปัญหารุนแรงที่สุด”

ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลต่อพรรคการเมืองเดิมที่เคยครองพื้นที่ภาคใต้อย่างแน่นอน เพราะชาวปักษ์ใต้เริ่มหันมาหาพรรคใหม่ที่ทดแทนความผิดหวัง

กลายเป็นว่าภาคนี้จะถูกเจาะได้โดยอนาคตใหม่ ที่มีแนวทางการเมืองแหลมคม สอดรับกับคนปักษ์ใต้ที่หลงใหลการเมืองและเริ่มเบื่อพรรคเก่า

อีกส่วนก็จะเทไปให้กับพรรคประชาชาติ พรรคใหม่ที่มีแนวทางชัดเจน และครองใจชาวมุสลิมได้กว้างขวาง

สถานการณ์เลือกตั้งในภาคใต้ จะเป็นอีกพื้นที่ที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่และพรรคประชาชาติเกิดได้เลยทีเดียว!

ยังมีพรรคการเมืองใหม่ที่น่าจะประสบความสำเร็จไม่น้อย ได้แก่ พรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งระดมแกนนำจากเพื่อไทยส่วนหนึ่งมาสังกัดพรรคนี้ ทำให้กลายเป็นพรรคคุ้นตาชาวบ้านได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น จาตุรนต์ ฉายแสง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ปรีชาพล พงษ์พานิช

อีกทั้งตัวย่อและโลโก้พรรค เห็นแล้วก็คุ้นมากๆ นึกถึงความเป็นไทยรักไทยขึ้นมาได้ทันที

สำหรับไทยรักษาชาติ เป็นที่รู้กันว่า จะเป็นพรรคที่เดินเคียงคู่ไปกับพรรคเพื่อไทย

“โดยคาดได้ว่า เพื่อไทยจะเน้นที่ ส.ส.เขต ส่วนไทยรักษาชาติจะเน้นที่ปาร์ตี้ลิสต์ เป็น 2 แนวรบที่เดินประสานไปด้วยกัน!”

นอกจากนี้ยังมีพรรคเพื่อชาติ ที่มีลักษณะเป็นแนวร่วมกันแบบห่างๆ ซึ่งพรรคเพื่อชาติมีนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หรือเสี่ยสงครามที่คุ้นเคยในหมู่ชาวเสื้อแดงเป็นหัวหน้า พร้อมกับทีมงานที่สนับสนุนออกหน้าก็คือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งมีมวลชนเป็นแฟนคลับอยู่ไม่น้อย

ขณะที่เชื่อกันว่าพรรคเพื่อไทยยังรักษาแชมป์ในการเลือกตั้งหนนี้เอาไว้ได้ เพราะฐานมวลชนทั้งอีสานยังแน่นปึ้ก ไปจนถึงภาคเหนือตอนบนด้วย

“ประสานเข้ากับพรรคที่เดินร่วมกันไป คือ พรรคไทยรักษาชาติ รวมทั้งแนวร่วมอย่างเพื่อชาติ”

รวมๆ แล้วการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งหนนี้ จึงมีพรรคฝ่ายประชาธิปไตย 3-4 พรรค และพรรคที่เป็นแนวประชาธิปไตยด้วยกันที่มาแรงคือพรรคอนาคตใหม่

ต่อสู้กับอีกฝ่ายที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมาแรงทุกด้าน ทั้งด้วยการดูดอดีต ส.ส. ความพร้อมในด้านกระสุน ด้านอำนาจรัฐ

โดยมีตัวแปรก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย

“แต่แนวโน้มการเลือกตั้งยังจะต้องผ่านการประเมินอีกหลายรอบ อย่างน้อยก็เมื่อเปิดตัวผู้สมัครทั้งหมด ไปจนถึงเปิดบัญชีว่าที่นายกฯ จากพรรคใหญ่ๆ ออกมาแล้ว”

โดยที่เปลี่ยนแปลงแน่ๆ ก็คือ กระแสความผิดหวังของเหล่าผู้ร่วมเป่านกหวีด และคนที่ต้องการการเมืองแนวใหม่ๆ

ทำให้พรรคการเมืองใหม่กลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ลงตัว และจะส่งผลให้พรรคการเมืองเก่าบางพรรคต้องสั่นสะเทือนอย่างมาก!