จิตต์สุภา ฉิน : โซเชียลทำให้เหงา (หรือเราแค่มีเพื่อนแย่)

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

โซเชียลมีเดียถูกออกแบบมาเพื่อให้คนทั่วโลกเชื่อมโยงถึงกันได้ เราสามารถพูดคุยสื่อสารกับคนในครอบครัวที่อยู่ห่างไกลได้อย่างใกล้ชิด เราหาเพื่อนเก่าสมัยเรียนที่เราเคยนึกว่าจะต้องจากกันตลอดกาลแล้วเจออีกครั้งหนึ่ง และเราได้ทำความรู้จักคนใหม่ๆ ที่ในชีวิตจริงอาจจะไม่เคยได้เจอหรือไม่มีวันได้เจอ เพราะฉะนั้น โซเชียลมีเดียก็น่าจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือแก้เหงาให้เราได้จริงไหมคะ

แต่ปรากฏว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย โซเชียลมีเดียกลับทำให้เราเหงากว่าเดิม

เมื่อเร็วๆ มานี้ฉันมีประสบการณ์บนเฟซบุ๊กที่ไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่

ปกติแล้วเฟซบุ๊กสำหรับฉันคือการแบ่งเพื่อนออกเป็นหมวดหมู่อย่างระมัดระวัง คนนี้ครอบครัว คนนี้เพื่อนสนิท คนนี้เพื่อนห่างๆ คนนี้แค่คนรู้จักที่ไม่อาจเรียกว่าเพื่อน ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะทำให้การโพสต์ของฉันสามารถเป็นการโพสต์อะไรก็ได้ บางทีก็สาระ บางทีก็เพ้อเจ้อ เขียนเรื่อยเปื่อยตามอารมณ์โดยที่ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าจะเหมาะหรือไม่เหมาะสมเพราะฉันได้เลือกกลุ่มผู้ชมที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละโพสต์เอาไว้แล้ว

แต่จู่ๆ โพสต์แนวจิกกัดเสียดสีสังคมตามปกติของฉันก็กลับถูกคนที่จัดอยู่ในลิสต์เพื่อนที่ใกล้ชิดที่ฉันไว้ใจยอมให้อ่านได้ทุกโพสต์โจมตีกลับมาโดยไม่มีเหตุผล

คาดว่าคำบางคำที่ฉันใช้มันคงไปกระตุกต่อมอารมณ์เสียดสีของเขาด้วยเหมือนกัน

เขาก็เลยซัดคำพูดที่แสนจะห้วนและกระด้างกลับมาโดยที่ฉันไม่ทันตั้งตัว

ไม่ใช่ว่ารับความคิดที่แตกต่างไม่ได้ แต่นี่ไม่ใช่การคิดต่าง และการโจมตีคราวนั้นมันแสนจะไม่จำเป็น

เหมือนเป็นการระบายอารมณ์ฉุนเฉียวของเพื่อนที่คั่งค้างมาจากเรื่องอื่นมากกว่า ถึงจะรู้ว่าปัญหาน่าจะอยู่ที่เขามากกว่าฉัน

แต่ประสบการณ์คราวนั้นก็ทำให้ฉันรู้สึกแขยงเฟซบุ๊กไประยะหนึ่งจนต้องลบแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กออกจากมือถือ เพราะรู้สึกว่าถ้าจิตใจเราถูกรบกวนจากคอมเมนต์แค่คอมเมนต์เดียวมากขนาดนี้ มันน่าจะแปลว่าฉันเสพติดเฟซบุ๊กเกินไปเสียแล้ว

และฉันอยากจะถอยออกมาตั้งหลักว่าฉันควรจะทบทวนตัวตนบนโซเชียลมีเดียของตัวเองหรือไม่

ก็พอดีมาเจอเข้ากับผลวิจัยหนึ่งที่ฉันคิดว่าน่าจะช่วยอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ้าง

 

นักวิจัยจาก University of Pittsburgh Center for Research on Media Technology and Health (ชื่อยาวมาก) หรือเรียกสั้นๆ ว่า MTH ได้ทำการทดลองกับนักศึกษากว่า 1,178 คน ช่วงอายุตั้งแต่ 18-30 ปี โดยให้กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้คอยรายงานว่าประสบการณ์บนโซเชียลมีเดียของพวกเขาทั้งดีและไม่ดีคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้อย่างไรบ้าง

ผลการศึกษาพบตัวเลขที่น่าสนใจว่า ทุกๆ ครั้งที่ประสบการณ์ด้านบวกบนโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ ระดับของความรู้สึกเหงากลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทันทีที่เกิดประสบการณ์ด้านลบขึ้นในเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากันกลับก่อให้เกิดความรู้สึกเหงาเพิ่มขึ้นถึง 13 เปอร์เซ็นต์

การค้นพบครั้งนี้ก็เป็นการยืนยันการศึกษาครั้งที่แล้วจากสถาบันเดียวกันนี้ว่าการใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเหงาที่เพิ่มขึ้นจริงๆ

นักวิจัยจากการทดลองนี้เขาบอกว่าโซเชียลมีเดียถูกออกแบบมาให้คนเชื่อมโยงเข้าถึงกันได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่การเข้าถึงนั้นกลับกลายเป็นความรู้สึกเหงามากกว่าจะเติมเต็มให้รู้สึกเอมอิ่ม ความเหงาหรือความรู้สึกว่าตัวเองถูกโดดเดี่ยวออกจากสังคมจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่างๆ อีกมากมาย ทั้งโรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจ หรือโรคซึมเศร้า

คนเรามีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักกับประสบการณ์ด้านลบมากกว่าประสบการณ์ด้านบวก

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า หากเราได้คอมเมนต์สรรเสริญเยินยอเป็นสิบๆ คอมเมนต์ แต่มีคอมเมนต์ด้านลบเพียงแค่คอมเมนต์เดียว ใจเราก็มักจะไปจดจ่ออยู่ที่คอมเมนต์ด้านลบนั้นและเก็บมันมาขบคิดอย่างเกรี้ยวกราดจนแทบไม่เป็นอันกินอันนอน ซึ่งนักวิจัยเขาบอกว่าเป็นเรื่องปกติมากที่จะเกิดอาการแบบนี้บนโซเชียลมีเดีย

ประสบการณ์ด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้นก็อย่างเช่น การถกเถียงกันบนโซเชียลมีเดียจนนำไปสู่อาการ “หัวร้อน” และทำให้เกิดการกระทบกระเทือนจิตใจที่ตามติดตัวออกมาสู่โลกออฟไลน์ด้วย ส่วนการจะบอกชัดๆ ว่าอะไรจริงกว่ากันระหว่างคนที่รู้สึกเหงาในโลกความเป็นจริงอยู่แล้วมักจะดึงดูดประสบการณ์ด้านลบบนโซเชียลมีเดียเข้าหาตัว หรือคนที่มีประสบการณ์ด้านลบบนโลกโซเชียลจะนำไปสู่ความรู้สึกเหงา ก็อาจจะไม่สามารถบอกได้ชัดเจน

รู้แต่ว่าสองอย่างนี้มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันแน่นอน

 

อ่านผลวิจัยนี้จบก็ทำให้ฉันเกิดตั้งคำถามขึ้นมามากมายว่าเรากำลังคลุกคลีกับสังคมโซเชียลมีเดียมากเสียจนตัวตนบนนั้นสำคัญกว่าตัวตนที่แท้จริงไปแล้วหรือเปล่า ประสบการณ์ด้านลบเพียงเล็กน้อยถึงได้สามารถฝากบาดแผลที่ยาวนานหลายวันในชีวิตจริงได้ และอีกคำถามที่สำคัญคือ ถ้าสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้มนุษย์หายเหงา กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราเหงากว่าเดิม แล้วอะไรจะช่วยให้เราหายเหงาได้ล่ะ

ดูเหมือนกับว่าทางออกที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือการลดปริมาณการอยู่บนโซเชียลมีเดียให้น้อยลงจนถึงระดับที่ไม่ส่งผลต่อสุขภาพกายหรือสุขภาพใจ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ก็แทบจะยากพอๆ กับการเลิกการเสพติดอย่างอื่นในโลกนี้ อย่างบุหรี่ เหล้า หรือในกรณีของฉันก็คงเป็นโกโก้เย็นนั่นแหละ

อีกผลวิจัยหนึ่งใน Cyberpsychology, Behavior and Social Networking เขาบอกว่าการเลิกใช้โซเชียลมีเดียจะก่อให้เกิดอาการลงแดง ทั้งความต้องการกระหายอยากจะเสพ ความรู้สึกเบื่อหน่าย หรืออารมณ์ที่ไม่คงเส้นคงวา นี่เขาขอให้อาสาสมัครเลิกเล่นเฟซบุ๊กแค่เจ็ดวันเท่านั้นยังออกอาการกันขนาดนี้

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เราถอนตัวออกจากโซเชียลมีเดียไม่ได้สักที แม้ว่ามันจะส่งผลลัพธ์ทางบวกหรือลบให้เราก็ตาม ก็คือสิ่งที่เรียกว่า FOMO (Fear of Missing Out) หรือการกลัวว่าตัวเองจะตกข่าว เราคิดไปว่าเราอยู่ภายใต้แรงกดดันจากคนรอบข้างที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์ตอบกลับทางโซเชียลมีเดียทันที และถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็อาจจะพลาดอะไรบางอย่างไปได้ สิ่งนี้แหละที่ทำให้เราต้องอยู่กับมันต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งเหงาก็ยิ่งเล่น ยิ่งเล่นก็ยิ่งเหงา วนเวียนไปแบบนี้

สำหรับฉันหลังจากหยุดพักมาหลายวันก็ได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่ฉันต้องทำอย่างเร่งด่วน นอกจากจะเป็นการลดจำนวนชั่วโมงการใช้โซเชียลมีเดียลงอย่างสมเหตุสมผลแล้ว ฉันจะต้องจัดที่จัดทางใหม่ให้เพื่อนที่เป็นพิษต่อชีวิตด้วย

ที่ทางนั้นก็คือไกลจากตัวฉันที่สุดเท่าที่จะไกลได้นั่นแหละ