หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘พลาด’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ควายป่า - ในแต่ละวัน ควายป่าใช้เวลาในการนอนแช่น้ำมาก พวกมันมีจมูกรับกลิ่นดี ส่วนใหญ่จะตื่นหนีเมื่อได้กลิ่นคน

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘พลาด’

 

ในการคุยกันทางโทรศัพท์เมื่อสัปดาห์ก่อน กับอาแซ มาเสะ ผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านตาเปาะ เชิงเขาบูโด

ก่อนที่เขาจะถามผมว่า “เมื่อไหร่จะมา”

และผมตอบเขาว่า “ไม่รู้”

การสนทนาของเราก่อนหน้า มีประโยคที่อาแซถามผมว่า

“แด แน แต ล่ะ ยังอยากขึ้นไปอยู่ไหม”

วันหนึ่ง ตอนที่ทีมศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกส่วนภาคใต้ เข้าไปสำรวจป่าแถบหมู่บ้านไอร์กือเนาะ อำเภอศรีสาคร ผมร่วมทีมไปด้วย

กระท่อมในสวนร้างผู้คน ลองกองสุกร่วงหล่น

“เจ้าของเขากลัวไม่กล้าอยู่ พวกพี่ใช้ที่นี่เป็นที่พักได้” ฮาบิ ชายหนุ่มผิวคล้ำเจ้าถิ่นบอกเรา หลังกระท่อมเป็นลำธารใส ไกลลิบๆ เป็นแนวเขาสูงทะมึน ทอดตัวยาวเหนือ-ใต้

“ทิวนั้นเราเรียก แด แน แต” อาแซชี้ให้ดู

“เราเคยเที่ยวอยู่แถวนั้นหลายปี” ก่อนหน้าจะมาอยู่กับทีมนกเงือก เขาใช้ชีวิตโชกโชน

“ป่าใหญ่มาก ยอดสูงกว่าบูโด ติดเขตมาเลย์”

วันนั้นผมมองทิวเขาไกลลิบๆ

“เราเคยเจอรอยกระซู่” เขาพูดเสียงเรียบ

ผมมองทิวเขา

“ลองขึ้นไปดูกันครับ” อาแซพยักหน้า

ทิวเขาทะมึน คล้ายเป็นแหล่งอาศัยอันเหมาะสมของกระซู่ หนึ่งในสองชนิดของแรด ที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์

ผ่านมานานแล้ว เรายังไม่ได้ไปที่นั่น

 

อาแซพูดถึง “แด แน แต” ทิวเขาที่จะพาผมไป

นั่นทำให้ผมนึกถึงคำว่า “พลาด” ดั้นด้นเดินทางอย่างยากลำบาก ผมไม่แน่ใจนักหรอกว่า ถ้ามีโอกาสได้พบสิ่งที่ตามหา ผมจะทำพลาดไหม

ครั้งที่ผมตามหาควายป่า หลังจากเฝ้ารอกว่าเดือน ก็มีโอกาสได้พบ แต่ในการพบกันครั้งแรก เหตุการณ์ไม่น่าประทับใจเอาเสียเลย

พลบค่ำวันนั้น อากาศกลางฤดูร้อนอบอ้าว ในซุ้มบังไพรรับแดดยามบ่ายเต็มที่ อุณหภูมิร่วม 40 องศา

ผมเดินเลาะลำห้วยมุ่งหน้ากลับแคมป์

ควายป่าตัวหนึ่งนอนแช่น้ำอยู่ในแอ่งน้ำกลางลำห้วย ที่ระดับน้ำช่วงอื่นๆ ตื้นเขิน แค่ท่วมข้อเท้า

ผมก้มหน้าเดิน อยู่ในซุ้มบังไพรอันอบอ้าวทั้งวัน ทำเอาล้าไม่น้อย

ควายป่าพรวดพราดลุกขึ้น คงเพราะได้กลิ่นคน

มันเขม้นมองผมที่หยุดยืนนิ่ง มันเงยหน้าสูดกลิ่น ถอยหลัง 2-3 ก้าว และวิ่งตรงเข้ามาหา

เหลืออีกสัก 3 เมตรจะถึงตัว มันหยุด เมื่อได้ยินเสียงตะโกน

ผมไม่รู้แน่ชัดหรอกว่า ทำไมมันถึงเปลี่ยนใจหยุด หันหลังวิ่งเข้าชายป่า

อาการวิ่งเขยกๆ เหมือนบาดเจ็บขาหลังด้านซ้าย ทำให้เข้าใจไม่ยากว่า ทำไมมันขี้โมโห

เข้าใจได้ และไม่น่าแปลกใจ ถ้าใครจะใช้ความก้าวร้าวปกปิดความอ่อนแอที่มี

สัตว์ป่านั้น ความสมบูรณ์ของร่างกายคือปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต

ร่างกายใหญ่โต น้ำหนักร่วมตัน ใช่ว่าเสือโคร่งจะล้มไม่ได้ ยิ่งหากบาดเจ็บ เดินหรือวิ่งไม่คล่อง โอกาสตกเป็นเหยื่อก็สูงขึ้น

 

พบกับสัตว์ป่าที่ใช้เวลารอเป็นเดือนครั้งแรก

ผมไม่ทันยกกล้องขึ้นมาด้วยซ้ำ มันเป็นควายป่าที่ผมจำได้ดี รอยตีนกว้างกว่าฝ่ามือ มีรอยลากตรงขาหลังซ้าย ในเวลาต่อมาที่พบ ผมจำได้เสมอ

การพบกัน แม้ว่าจะไม่น่าประทับใจ แต่ทำให้ผมรู้ว่า การเฝ้ารอ ใกล้สิ้นสุด ฝูงใหญ่คงอยู่ไม่ไกล

แม้จะเป็นสัตว์โทน แต่การอยู่ไม่ไกลฝูงนัก คือสิ่งที่พวกมันเลือก

เย็นวันรุ่งขึ้น ควายป่า 18 ตัวเดินพ้นโค้งลำห้วยมาให้เห็น พวกมันเดินเล็มหญ้าอยู่หน้าซุ้มบังไพร ตั้งแต่บ่ายกระทั่งดวงอาทิตย์ลับสันเขา

ค่ำนั้น ผมเดินกลับแคมป์ในเส้นทางเดิม โคลนแห้งริมฝั่ง มีรอยตีนช้างเป็นหลุมๆ

ดวงจันทร์เกือบเต็มดวงโผล่พ้นสันเขา

ผ่านแอ่งน้ำเมื่อวาน ผมเขม้นมอง หวังให้ควายป่าตัวนั้นแช่น้ำอยู่ แอ่งว่างเปล่า

บางสิ่งบางอย่าง เราอาจมีโอกาสเพียงครั้งเดียวในชีวิต

 

“มีกระซู่แน่เหรอ” ผมถามอาแซ

“รอยบาเดาะ ซูมู หรือเปล่า” ผมหมายถึงสมเสร็จ รอยตีนพวกมันคล้ายคลึงกัน

“อยากรู้ต้องขึ้นไปดู” อาแซหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

ในร้านกาแฟ มีเสียงคุยด้วยภาษาที่ผมคุ้นเคย ดังแทรกโทรศัพท์มา

ผมไม่รู้หรอกว่า บนเขาทะมึนนั้นจะมีอะไรบ้าง จะมีกระซู่ไหม

ไม่รู้ ไม่ได้หมายความว่าไม่มี

ในการพูดคุย ผมไม่ได้ตอบคำถามอาแซ

ผมนึกถึงทิวเขาสูงลิบ ป่าดิบรกทึบ เดินทางไปที่นั่น ต้องพบกับสภาพเช่นไร ไม่ใช่เรื่องยากจะเดาได้

บนนั้น อาจมีกระซู่ แต่ผมไม่แน่ใจนักว่า ถ้าพบกัน ผมจะทำสำเร็จ ถ่ายรูปมันได้

 

ควายป่าตัวหนึ่งเคยสอนผมให้เข้าใจแล้วว่า

บางครั้งเราอาจมีโอกาสเพียงครั้งเดียวในชีวิต

โอกาสครั้งเดียวนี้แหละ ที่เรามักทำ “พลาด” เสมอ…