การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์/ โคโนะโดริ เล่ม 2 การทำแท้ง การทำแท้ง

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

โคโนะโดริ เล่ม 2 การทำแท้ง

การทำแท้ง

 

“สูตินรีแพทย์เป็นแพทย์สาขาเดียวเท่านั้นที่ได้รับสิทธิ์ให้สามารถพรากชีวิตมนุษย์ได้”

ขึ้นหน้าแรกแบบนี้เป็นได้วงแตกในบ้านเรา หรือในบางศาสนา “นอกจากจะต้องทุ่มเทสุดความสามารถเพื่อช่วยเหลือชีวิตน้อยๆ แล้ว บางครั้งก็ต้องลงมือเพื่อปลิดชีวิตน้อยๆ นั้นเหมือนกัน”

โอย

ในญี่ปุ่นมีเคสทำแท้ง 200,000 เคสต่อปี เท่ากับ 1 ใน 5 ของเคสทำคลอด

นี่เป็นตัวเลขที่การ์ตูนบอก  ลองเปิดวิกิพีเดียดู พบว่าในปี 1995 มีการทำแท้ง 343,024 ราย อัตราการทำแท้งต่อทารกคลอดมีชีวิตลดลงจาก 353 เหลือ 298 ระหว่างปี 1975-1995

เกือบทั้งหมดมีข้อบ่งชี้ว่าทำไปเพื่อประโยชน์ของสุขภาพมารดา

ตัวเลขเหล่านี้ในทุกประเทศมักต่ำกว่าความเป็นจริงด้วยเหตุผลต่างๆ กันไปในแต่ละประเทศ ที่เหมือนกันคือเพื่อสุขภาพของผู้เป็นมารดา

อันเป็นข้อบ่งชี้เดียวที่ชวนให้ตั้งข้อสงสัยน้อยที่สุด

 

ทาเคชิและมิโฮเพิ่งจะเรียนมัธยมปลาย มิโฮไปตรวจครรภ์กับคุณหมอโคโนะโดริ จึงทราบว่าอายุครรภ์ 13 สัปดาห์ เธอแจ้งความจำนงที่จะยุติการตั้งครรภ์

แต่คุณหมออธิบายว่า เพราะทั้งสองฝ่ายเป็นนักเรียน จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากพ่อ-แม่ของทั้งสองฝ่าย

และนี่เป็นอายุครรภ์ที่มากกว่า 12 สัปดาห์ จำเป็นต้องทำแท้งระยะกลาง

“การทำแท้งระยะกลางเราจะต้องถ่างปากมดลูกเพื่อกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บท้องคลอดเทียม ดังนั้น จึงไม่ต่างจากการคลอดลูกตามปกติ คุณจำเป็นต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายวัน” คุณหมออธิบาย

ตามด้วย “แล้วต้องยื่นเอกสารแสดงว่าทารกเสียชีวิตให้แก่ทางราชการด้วยครับ เพื่อทำฌาปนกิจต่อไป”

ว่าแล้วคุณหมอโคโนะโดริยื่นภาพถ่ายอัลตราซาวด์ทารกให้แก่มิโฮแล้วพูดต่อไปว่า “กลับไปปรึกษาคุณพ่อคุณแม่เถอะครับ แล้วรีบกลับมาเร็วที่สุด ผมจะรอ”

ผมจะรอ

คำพูดนี้มีความสำคัญและมีค่ามากสำหรับผู้ป่วยทุกชนิด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่หมดทางไป

 

เวลาที่ผู้เขียนพบผู้ป่วยที่มีความคิดฆ่าตัวตายแจ่มชัด วางแผนไว้แล้วเรียบร้อย หรือแม้กระทั่งบอกลาตายแก่ผู้เขียนแล้ว ผู้เขียนมักยื่นใบสั่งยาและใบนัดให้แก่ผู้ป่วยรับกับมือด้วยตนเอง มองหน้าผู้ป่วย และพูดคำนี้เสมอ “ผมจะรอ”

หมอจะรอพบคุณวันพุธหน้านะครับ ที่นี่ บอกเขาชัดๆ ว่ามีคนหนึ่งจะรอ ที่นี่ และพร้อมจะช่วยเหลือ

ทุกรายกลับมา

มิโฮพาพ่อ-แม่กลับมา เธอปฏิเสธไม่บอกว่าพ่อเด็กเป็นใคร คุณหมอจึงอธิบายถึงขั้นตอนการทำแท้งให้ทุกคนฟังอีกครั้ง การใช้ยาเร่งคลอดและขยายปากมดลูกนี้อาจจะใช้เวลาได้ถึงหนึ่งสัปดาห์ และอาจจะมีผลทำให้มดลูกฉีกขาดหรือทะลุได้ แต่คุณหมอจะทำงานอย่างดีที่สุด เมื่อพ่อ-แม่ของมิโฮออกไปแล้ว คุณหมอจึงพูดกับมิโฮสองต่อสอง

“เมื่อกี้ผมลืมอธิบายความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดไป มันเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจของคุณน่ะครับ คุณมิโฮ การทำแท้งคือการฆ่าคนนะครับ”

โอย

“มีคนเรียกการกระทำแบบนั้นว่าอย่างนั้นอยู่” คุณหมอพูดต่อ หลังจากหยุดพูดไปสามหน้า “แต่ผมคิดว่าการทำแท้งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แบบนั้นหรอกครับ”

คุณหมอโคโนะโดริอธิบายต่อไปว่า ตอนที่เธอปวดเบ่ง ความรู้สึกนั้นจะเหมือนแม่ที่กำลังคลอด แต่การคลอดเป็นกำเนิดชีวิตใหม่ ในขณะที่เธอจะคลอดเด็กที่ตายแล้วออกมา มากกว่านั้นคือบางครั้งคนเป็นแม่มีน้ำนมออกมาด้วย ความรู้สึกทั้งหมดนี้เป็นเธอคนเดียวที่จะต้องแบกรับไว้

“เราจึงอยากให้พ่อของเด็กในครรภ์มาร่วมรับผิดชอบด้วยครับ”

นับเป็นสูติแพทย์ที่เข้าใจแก่นของเรื่องทะลุปรุโปร่งจริงๆ

 

ทาเคชิพาพ่อ-แม่ของตัวมาพบพ่อ-แม่ของมิโฮที่โรงพยาบาลในวันต่อมา ฉากถัดมาเป็นฉากดราม่าระหว่างพ่อ-แม่-ลูกชาย พ่อ-แม่-ลูกสาว และระหว่างครอบครัว โดยมีคุณหมอและทีมงานรอฟังคำตอบอยู่นอกห้อง

“การที่เด็กมอปลายจะคลอดลูกและเลี้ยงดูเด็กทารกนั้น จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพ่อ-แม่ทั้งสองฝ่าย” โคโนะโทริพูดกับพ่อของมิโฮ “ดังนั้น เด็กทารกที่อยู่ในท้องของมิโฮนั้น ไม่ใช่ลูกของคุณมิโฮกับแฟนเขาหรอกครับ แต่เป็นลูกของครอบครัวพวกคุณ”

อดคิดไม่ได้ว่าคุณหมอโคโนะโดริเป็นเด็กกำพร้าจึงดูเหมือนจะเข้าใจความรู้สึกของการถูกทอดทิ้งได้ดี แต่เขาไม่เอาความรู้สึกนั้นมาปนเปกับมาตรฐานการแพทย์ เขาเริ่มต้นด้วยมาตรฐานเสมอ และแม่นข้อมูลมากพอจะอธิบายมาตรฐานการทำงานให้ผู้ป่วยฟังเสมอด้วย

ตอนนี้จบได้ดีทีเดียว