โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/โลกนอก โลกใน ในวันฝุ่นละออง

โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

โลกนอก โลกใน ในวันฝุ่นละออง

 

ทั่วทุกแห่งในบริเวณบ้านเต็มไปด้วยฝุ่นละออง ฟุ้งอยู่ในอากาศ เปิดประตูเข้าบ้านไป เหมือนเป็นห้องดักฝุ่น แม้ว่าบ้านที่อยู่นี้จะอยู่เกือบสุดซอยลึกเข้ามาจากถนนใหญ่ หน้าบ้านมีต้นไม้ใหญ่น้อย แต่เดิมมาสองอาทิตย์ผ่านไปไม่ได้ถูบ้านก็ยังอยู่ได้

แต่มาบัดนี้ไม่เหมือนเดิม

นึกหวนไปถึงนิยายญี่ปุ่นเล่มหนึ่งดูเหมือนจะชื่อ Woman in the Sand เป็นเรื่องของผู้หญิงที่อยู่ในหลุมทราย และใช้ชีวิตทั้งชีวิตตักทรายออกจากที่อยู่ มีผู้ชายคอยช่วยและไม่สามารถจะขาดผู้ชายคนนี้ได้เพราะจะไม่มีคนช่วยตักทราย

เหตุการณ์ในหนังสือนี้เป็นเรื่องเชิงสัญลักษณ์ที่บอกว่ามนุษย์นี้ไปไหนไม่รอดต้องติดกับอยู่กับอะไรบางอย่าง

เหมือนเวลานี้ที่คนกรุงเทพฯ ติดกับอยู่กับฝุ่นละอองขาวฟุ้งทั้งเมือง

ในเมื่อชีวิตต้องอยู่กับครอบครัว ทำมาหากิน ลูกต้องไปโรงเรียน พ่อ-แม่ต้องทำงาน ย้ายไปไหนไม่ได้ ช่วยตัวเองอยู่ได้เพียงซื้อหน้ากากที่คิดว่าดีที่สุดมาใส่ แต่ฝุ่นก็ยังไม่วายเล็ดลอดเข้าไป

จมูกแสบ คอฝืด ตาแสบ ต้องสระผมทุกวัน และเสื้อผ้าต้องซักบ่อย แต่ก็ยังไปไหนไม่รอด ยังต้องอยู่ตรงนี้

เขา (ทางรัฐบาล) บอกเราว่าทำโน่นทำนี่สารพัด แต่ดูเหมือนจะยังเกาไม่ถูกที่คัน หรือไม่ก็เกาไปเจอตอ จึงทำอะไรที่จะแก้ปัญหาได้นิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น

เขา (รัฐบาล) จึงบอกว่าให้เราดูแลตัวเองให้ดี กินอาหารที่มีประโยชน์ จะได้มีภูมิต้านทาน ก็ทำไมเราจะไม่ทำล่ะ ก็ตัวของเรา เราก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว

แล้วเราก็เหมือนคนไทยทั่วๆ ไปที่ต้องฝึกตัวเองให้ทนยอมรับสภาพหลายๆ อย่าง อยู่ไปเงียบๆ ไม่มีปากมีเสียง จะตายผ่อนส่งก็ให้มันรู้ไป

 

ในสภาพที่เป็นอยู่เราก็หาตัวช่วยไปเรื่อยๆ เท่าที่จะหาได้ เช่นว่านอกจากหน้ากากแล้วเวลานอนเราก็ใช้เครื่องฟอกอากาศ ไปข้างนอกกลับมาก็ล้างจมูก นั่นเท่ากับเราช่วยตัวเองตามกายภาพ แต่จิตใจของเราล่ะ ต้องเยียวยาหรือเปล่า

หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เป็นหนังสือของคุณหมออมรา มลิลา ชื่อ “โลกนอก โลกใน” ช่างเหมาะเจาะกับสภาพตอนนี้เหลือเกิน

ตามปกติเวลาที่เราพูดถึง โลกนอก เรามักหมายถึง ความวุ่นวายที่เป็นวิถีของโลกทั่วๆ ไป อย่างที่คุณหมออมราเขียนไว้ว่า

“อาจารย์สิงห์ทองให้เรามองดูโลกนี้ว่าแบ่งเป็นสองครึ่ง ครึ่งหนึ่งคือภายในกายในใจเรา ถ้าเกินหนังกำพร้าออกไปแล้วถือเป็นโลกนอกทั้งหมด”

วันนี้เกินหนังกำพร้าออกไปเราเห็นแต่ฝุ่นในอากาศที่เราไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะหายใจเข้าไปหรือไม่ เพราะยังไงเราก็ต้องหายใจ

คุณหมออธิบายต่อว่า “โลกในก็คือกายกับใจของเรา อะไรที่เกิดขึ้นกับเรา พอพิจารณาจบแล้ว ให้นึกถึงโลกนอกอีกครึ่งหนึ่ง รวมสรรพสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตนอกผิวหนังเรา เป็นต้นว่า ถ้ามีอะไรมากระทบใจแล้วเราโกรธ พอพิจารณาดูก็ จะโกรธไปทำไม นกก็ต้องบิน ปลาก็ต้องว่ายน้ำ”

ในโลกนอกของเราตอนนี้ ฝุ่นมันก็มี และเขา (รัฐบาล) ก็ทำได้เท่านี้

ก็เลยได้คิดว่า โลกนอก (ที่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง) จะเป็นอย่างไร โลกในของเราก็สงบนิ่งเอาไว้

ที่ลำบากก็คือ ปกติมีปัญหา เครียด เสียใจ เราก็กลับมาอยู่กับลมหายใจ แล้วก็จะสบาย แต่ตอนนี้พออยู่กับลมหายใจก็รู้ว่าลมหายใจนี้หนอเต็มไปด้วยฝุ่นละออง ใจเลยไม่ค่อยสงบ ไม่ค่อยสบาย พึ่งลมหายใจเลยไม่ค่อยจะได้

ตามปกติแล้ว เมื่อเรารู้ว่าชีวิตต้องดำเนินต่อไป แม้โลกนอกจะเป็นอุปสรรคมากมายเพียงไหน เราก็จะพึ่งโลกในที่ใจเราได้เสมอ

เหมือนพระที่ทำใจให้สงบไม่ว่าโลกภายนอกจะวุ่นวายเพียงใด

 

ตัวช่วยให้สงบสำหรับคนธรรมดาอย่างเราก็คือการอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำงาน สวดมนต์ มัน ดูแลคนในครอบครัว ทำงานสร้างสรรค์ ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์กับตัวเองและผู้อื่น

อากาศคือสิ่งจำเป็นพื้นฐานอันดับแรกของชีวิต มันลอยอยู่รอบตัวเรา และเราสูดเข้าไปเพื่อนำพาออกซิเจนเข้าไปสู่ร่างกายเพื่อฟอกโลหิตและทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ เป็นเรื่องลืมยากว่าเราไม่ได้อยู่กับมัน แต่เราก็ต้องไม่คิดถึงมันเพื่อทำให้โลกในของเราสงบ

นี่เป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก

ซึ่งก็เหมือนในกรณีอื่นๆ ที่โลกภายนอกกระทบใจเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนถึงเข้านอน โลกภายในของเราถ้าคลอนแคลนหวั่นไหวไปเสียหมด ก็จะทุกข์

ในที่สุดแล้วมันก็คือการอยู่กับโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองโดยไม่ให้ทุกข์

ซึ่งนี่ก็ไม่ได้หมายความว่ามองดูฝุ่นละอองเต็มพื้นบ้านโดยไม่กวาดไม่ถู ไม่ปัดฝุ่นบนชั้น ตามหนังสือ และสิ่งของต่างๆ ที่อยู่นอกตู้

ก็ทำไปตามหน้าที่ ตามความจำเป็น แต่ใจไม่จำเป็นต้องขุ่นมัว

แยกโลกนอก โลกในได้แล้ว ใจก็สบายขึ้น