วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์ /ตัวพิมพ์ : หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (3)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

ตัวพิมพ์ : หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (3)

ตัวพิมพ์ : จากโรงพิมพ์สู่โรงหล่อ

 

โรงพิมพ์และโรงหล่อตัวพิมพ์ตงเซียม ก่อตั้งโดยโง้ว เพ็ก ง้ำ เขาเคยทำหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่ถูกรัฐบาลสยามสั่งปิดหนังสือพิมพ์และเนรเทศออกจากประเทศในปี พ.ศ.2479

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โง้ว เพ็ก ง้ำ กลับมาประเทศไทย เขาได้ยุติธุรกิจการทำหนังสือพิมพ์และหันมาดำเนินกิจการโรงหล่อตัวพิมพ์อย่างจริงจังในเวลานั้น

ทุกอย่างก้าวเข้าสู่สภาพใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว กิจการการพิมพ์เฟื่องฟูขึ้นเป็นอันมาก

ตงเซียมได้ขยายตัวจนกลายเป็นแหล่งตัวพิมพ์ที่โรงพิมพ์ทั้งหลายพึ่งพา มีทั้งมาซื้อตัวเรียงและจ้างเรียง ต่อมากลายเป็นโรงหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

ตงเซียมได้ขยายตัวในลักษณะที่ให้ผู้เคยร่วมงาน เช่น ญาติพี่น้อง ออกไปตั้งกิจการของตนเอง เช่น ห้างสมุด ผลศึกษา ศรีอักษร และอักษรกิจ และดำเนินกิจการเรื่อยมาอีกสามสิบปี หรือเมื่อสิ้นสุดยุคตัวพิมพ์ตะกั่ว

ในขณะเดียวกัน เครื่องจักรและวัตถุดิบที่ใช้การพิมพ์ รวมทั้งเครื่องหล่อตัวพิมพ์ยี่ห้อต่างๆ เช่น โกอิเกะและซูโดของญี่ปุ่น (และต่อมาคือไต้หวัน) ส่งผลให้มีโรงหล่อมากขึ้นและตัวพิมพ์มีราคาถูกลง

 

ในเอกสารซึ่งแจกให้แก่โรงพิมพ์ที่เป็นลูกค้าของโมโตยา หนึ่งในบรรดาบริษัทขายเครื่องหล่อตัวพิมพ์ ระบุว่าตัวพิมพ์ไทยมีจำนวนมากถึง 162 ตัว รวมทั้ง สระ วรรณยุกต์ การันต์ เลขไทย และสัญลักษณ์สากล และทุกตัวมีรหัสที่แน่นอน เช่น พยัญชนะมีอย่างน้อยตัวละ 2 แบบ บางตัวมี 3 แบบ

เอกสารดังกล่าวบอกด้วยว่า ทั้งหมดเป็นตัวพิมพ์ที่ทำจากแม่ตัวพิมพ์ซึ่งแกะด้วยเครื่องเบ็นตัน (Ben-ton) ระบบนี้มาแทนพั้นช์หรือการหล่อด้วยมือ

สามารถสร้างเบ้าทองแดงโดยการถ่ายแบบตัวพิมพ์ที่วาดบนกระดาษและหล่อตัวตะกั่วออกมาได้อย่างรวดเร็ว

ความรุ่งเรืองของการพิมพ์สัมพันธ์กับการหล่อตัวพิมพ์ด้วยเครื่องจักร ในบทความที่เกี่ยวกับตัวพิมพ์ในเอเชียตะวันออก ของ มาร์ติน เจ. ฮายจ์ดรา (Martin J. Heijdra) ชื่อ The Development of Modern Ty-pography in East Asia 1850-2000

ผู้เขียนพูดถึงเบ็นตันว่าถูกจดทะเบียนในสหรัฐมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 และเข้มงวดในเชิงลิขสิทธิ์มาก แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เจ้าของเครื่องจึงอนุญาตให้บริษัทซึกามิ เซซากุโจ (Tsugami Seisakujo) ของญี่ปุ่นสร้างเครื่องนี้ และทำให้งานแกะพั้นช์ง่ายขึ้นมาก

เมื่อบริษัทนำออกสู่ตลาดทั้งในและนอกประเทศ ขายได้หลายร้อยเครื่อง ผู้เขียนบอกด้วยว่าในช่วงนั้น ญี่ปุ่นนำหน้าในเรื่องเครื่องหล่อตัวพิมพ์มากกว่าจีนและเกาหลี ซึ่งต้องปรับภาษาให้เข้ากับระบบและต้องนำเข้ามาจากญี่ปุ่น

ดังนั้น ในขณะที่บริษัทตะวันตก เช่น โมโนไทป์และไลโนไทป์กำลังใช้เครื่องหล่อตัวพิมพ์อัตโนมัติ และพัฒนาการเรียงพิมพ์ด้วยแสงหรือตัวโฟโต้ บริษัทตัวพิมพ์ต่างๆ ในญี่ปุ่นและไต้หวัน กำลังพัฒนาเครื่องหล่อตัวพิมพ์แบบเบ็นตันและเป็นที่นิยมใช้กันในประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออก ตัวพิมพ์จึงหาง่ายขึ้นและมีราคาถูกลง

ในช่วงนี้ นอกจากเพราะมีการพัฒนาด้านการคมนาคมหรือสายส่งแล้ว การลอกเลียนแบบตัวพิมพ์ด้วยเครื่องก็สำคัญมากด้วย ทั้งสองสิ่งก่อรูปเป็นระบบใหม่ ที่ทำให้การพิมพ์เติบโตมากเป็นพิเศษ

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะแก้ปัญหาแม่พิมพ์ได้แล้ว ก็ยังมีเสียงบ่นกันมากว่าตะกั่วที่ใช้หล่อตัวพิมพ์ มีส่วนผสมที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่คงที่ นอกจากนั้น การพัฒนาทางด้านรูปแบบของตัวพิมพ์ยังจำกัดมาก ตัวพิมพ์ที่ว่าหาง่ายเป็นตัวพื้น หรือตัวธรรมดา ซึ่งมีขนาด 19 1/2 พอยต์ (กำธร สถิรกุล, ตัวหนังสือและตัวพิมพ์ 2515)

อีกปัญหาคือ ถ้านับจากช่วง พ.ศ.2470 หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ตัวพิมพ์ไทยแบบใหม่ๆ แทบจะไม่ปรากฏขึ้นเป็นเวลากว่าสามสิบปี ตัวพิมพ์ไทยแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะตัวหัว (Head) สำหรับพาดหัวข่าว ชื่อคอลัมน์ คำบรรยายภาพ และโฆษณาในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ โฆษณา และป้ายตามอาคารต่างๆ ยังขาดแคลนมาก

ดังนั้น แม้จะอยู่ในยุคของการก่อรูปเป็นอุตสาหกรรม แต่การพิมพ์ก็ยังไม่เติบใหญ่ไปถึงขั้นที่จะสร้างตัวพิมพ์ตะกั่วได้หลายแบบ

 

บล๊อก : จากคณะสู่สำนักงานช่าง

 

ในขณะที่เทคโนโลยีการพิมพ์ก้าวเข้าสู่การใช้เครื่องจักร เช่น ใช้แท่นโรตารีและแท่นลม เครื่องหล่อตัวพิมพ์ และเครื่องทำบล๊อกด้วยกรรมวิธีเคมี การมองอักษรเป็นคำคำ หรือสไตล์ ก็ทวีความสำคัญ ตลาดสิ่งพิมพ์จึงขยายตัวไปพร้อมกับการที่ภาพหรือวิช่วลมีความหมายมากขึ้น

ดังนั้น เมื่อยังไม่สามารถสร้างตัวพิมพ์ตะกั่วได้มาก ทางออกที่นิยมกันมากคือ “ตัวประดิษฐ์” หรือการวาดตัวอักษรด้วยมือ แล้วนำไปทำแม่พิมพ์โลหะที่เรียกว่าบล๊อก ตัวประดิษฐ์และบล๊อกโลหะ กลายเป็นเทคโนโลยีทดแทนตัวพิมพ์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการเปลี่ยนแปลงทางการพิมพ์ที่สำคัญ เช่น ทำให้การออกแบบและช่างวาดสามารถแยกตัวออกมาจากโรงหล่อตัวพิมพ์และโรงพิมพ์มากขึ้น

นอกจากนั้น ยังบุกเบิกแนวทางหรือช่วยสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ เช่น ทำให้อักษรไทยเปลี่ยนจากลักษณะของตัวพิมพ์เดิม ซึ่งเน้นเส้นตรงหรือโค้งซึ่งทำมุมกันอย่างแน่นอนในแต่ละชุด มาเป็นการบอกบุคลิกและอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้น

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ช่างวาดและศิลปินสาขาต่างๆ มารวมตัวกันในนาม “คณะ” ต่อมา หลังสงคราม คณะเหล่านี้ได้ตั้งตัวเป็นค่ายที่ชัดเจนขึ้นและเรียกตัวเองว่า “สำนักงานช่าง” ซึ่งมีฐานการตลาดที่กว้างใหญ่ขึ้น เช่น ทำภาพข่าวให้หนังสือพิมพ์ และทำปกและภาพประกอบให้สำนักพิมพ์ต่างๆ

บรรดาช่างวาด ศิลปิน และนักวาดการ์ตูนทั้งหลาย จึงมีบทบาทด้านประดิษฐ์ตัวหนังสือด้วย ร้านบล๊อกที่มีชื่อเสียง ได้แก่ คณะช่าง คณะเหม ศิลปกรรม ศิลปาคาร ห้องศิลป เสน่ห์ศิลป สยามศิลป ทาร์ซาน

ต่างเป็นสำนักที่รวมเอาช่างที่มีฝีมือดีๆ ไว้ในสังกัด