“รศ.ปณิธาน วัฒนายากร” วิเคราะห์ “โดนัลด์ ทรัมป์” อำนาจสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย

การเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา กลายเป็นปรากฏการณ์ที่มีการพูดถึง วิเคราะห์ในชัยชนะ “โดนัลด์ ทรัมป์” มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ จากพรรครีพับลิกัน ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่

ในเรื่องนี้ รศ.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาฯ วิเคราะห์ว่า เป็นปรากฏการณ์ใกล้เคียงกับหลายประเทศที่กลุ่มคนรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่สามารถได้ประโยชน์จากการค้าเสรีในยุคโลกาภิวัตน์

คนจำนวนนี้ในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว ชนชั้นกลาง ทำงานใช้แรงงานจำนวนมากรู้สึกว่าความมั่นคงเรื่องเศรษฐกิจลดลง งานที่เคยทำย้ายไปอยู่ต่างประเทศหมด ส่วนงานที่เหลืออยู่ในประเทศ แรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งงานทำ

คนจำนวนนี้หลายปีที่ผ่านมาในการเลือกตั้งในสหรัฐหลายครั้งเขารู้สึกว่าเสียงเขาไม่ได้รับการสะท้อน เวลาหาเสียงบอกว่าจะช่วย แต่แล้วก็ไม่ช่วยอย่างจริงจัง ที่ผ่านมา ไปช่วยคนในเมืองที่ได้ประโยชน์จากการค้าสากลมากกว่า จึงเกิดความหงุดหงิด โกรธ

ปรากฏการณ์ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” เกิดจากการประท้วงของคนกลุ่มนี้อย่างรุนแรง ชัดเจน ได้ปลดความรู้สึกที่เขาไม่ได้รับความยุติธรรม

 

ส่วนผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียภายหลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ “รศ.ปณิธาน” มองว่า ยังไม่ชัดเจนมากนัก

เพราะที่ผ่านมา 8 ปี “บารัค โอบามา” ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบันที่จะสิ้นสุดลงนั้น ให้ความสำคัญต่อเอเชียมาก เป็นผู้นำสหรัฐที่มาเยือนเอเชียมากสุดในหลังยุคสงครามเย็นสิ้นสุดลง พบผู้นำอาเซียนเป็นสิบครั้ง มาประชุมผู้นำอาเซียน 7 ครั้ง มีนโยบายสร้างความสัมพันธ์เอเชียและอาเซียนอย่างแน่นแฟ้นอย่างชัดเจน

แต่หลังจากนี้การให้ความสำคัญดังกล่าวจะอยู่ต่อหรือไม่ต้องดูให้ดี อาทิ จะถอนตัวจากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก (ทีพีพี)

ขณะที่เรื่องเกาหลีเหนือกลายเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ หลายฝ่ายห่วงว่าเกาหลีเหนือจะเปิดศึกกับเกาหลีใต้ในเรื่องนี้ในที่สุดแล้วจะทำให้ “โดนัลด์ ทรัมป์” กลับมาดูเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะใช้วิธีการอะไรใหม่ๆ หรือไม่ เรื่องนี้ก็น่าคิด เพราะในการประชุมเจรจา 6 ฝ่าย จำนวนนี้มีรัสเซียและจีนอยู่ด้วย

ถ้า “โดนัลด์ ทรัมป์” สามารถทำให้รัสเซียมาทำงานร่วมกันได้ ทางจีนและเกาหลีเหนืออาจมีท่าทีที่อ่อนลง

 

ขณะนี้ทุกประเทศกำลังศึกษาการเปลี่ยนแปลง “อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ได้ยกกรณี ดร.เฮนรี่ คิสซินเจอร์ นักการทูตชาวอเมริกัน อายุ 93 ปี ที่ดูการเปลี่ยนแปลงเรื่องการต่างประเทศมากกว่า 70 ปี ศึกษาเรื่องจีน 30 ปี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ข้อแรก เกือบทุกประเทศขณะนี้ตั้งตัวไม่ติดต้องกลับไปศึกษาเรื่องของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ และวางนโยบายให้สอดคล้องคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยที่รัสเซียก้าวหน้าไปแล้วเพราะได้แสดงไมตรีก่อนที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะชนะเลือกตั้งทำให้รัสเซียเดินหน้าได้เร็วกว่า ขณะที่จีน ญี่ปุ่น จะช้ากว่า แต่ญี่ปุ่นจะได้พบกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ในเร็วๆ นี้”

“ดร.เฮนรี่ คิสซินเจอร์ ยังระบุว่า ในช่วงนี้ต้องระวังกลุ่มหัวรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มไอซิส จะถือโอกาสโจมตีสหรัฐ เพื่อดูปฏิกิริยา โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะมีการตอบสนองและโต้ตอบกลุ่มไอซิสอย่างไร จะกลายเป็นเงื่อนไขผูกมัดไออีก 4 ปี”

“ดังนั้น ช่วงนี้เป็นช่วงที่เปราะบางมากที่สหรัฐต้องระวังผลประโยชน์ของตน นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า หากสหรัฐและรัสเซียไม่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ได้อย่างจริงจัง ถ้าสหรัฐไม่เข้มแข็งกับรัสเซียหรือเอนอ่อน มีสัญญาณอะไรที่ผิดพลาด ปี “60 รัสเซียอาจขยายบทบาทในทวีปยุโรป”

“และสุดท้ายเรื่องภูมิภาคเอเชีย ประเทศที่จะกำหนดเสถียรภาพความมั่นคงในเอเชียในโลกต่อไป หนีไม่พ้นสหรัฐกับจีน 2 ประเทศเท่านั้น ไม่ว่าจะร่วมมือกันหรือเกิดความขัดแย้งจะส่งผลกับเอเชียทั้งหมด”

 

“รศ.ปณิธาน” เชื่อว่าในแง่ของภูมิภาคเอเชีย อาเซียนและไทย จะมีการเปลี่ยนแปลง

ประเด็นแรก ในแง่ของจุดเน้น ผมคิดว่านโยบายเดิมของสหรัฐไม่น่าจะเปลี่ยนที่จะรักษามหาอำนาจในเอเชียไว้ ถึงเปลี่ยนผู้นำ เปลี่ยนรัฐบาล แต่ความต้องการสหรัฐที่ต้องการเป็นมหาอำนาจซึ่งในเรื่องนี้ผู้นำในเอเชียเห็นชัดเจน โดยการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐในเอเชียยังคงเหมือนเดิม

แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในแง่จุดเน้นและเฉพาะด้าน เพื่อให้สอดคล้องการหาเสียงของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ และความรู้สึกของคนสหรัฐมากขึ้น

คือ การลดบทบาทบางส่วนเพื่อออมแรงและใช้เวลาพัฒนาประเทศตนเองมากขึ้น

กดดันให้ประเทศพันธมิตรให้ทำงานเพิ่มมากขึ้น ใช้วิธีการบีบให้บริษัทในเอเชียกลับไปลงทุนในในสหรัฐมากขึ้น ซึ่งญี่ปุ่นเคยทำแบบนี้มาก่อน โดยนำเงินไปซื้อตึก ซื้อพันธบัตรสมัย “โรนัลด์ เรแกน” ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ

“ส่วนความสัมพันธ์ไทยสหรัฐ ลุ่มๆ ดอนๆ มา 7-8 ปี เพราะสหรัฐใช้เรื่องสิทธิมนุษยชนและเรื่องการต่างประเทศต่อไทย หลายฝ่ายคิดว่าเรื่องนี้น่าจะดีขึ้น น่าจะมีน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐอาจจะไม่เน้นด้านนี้ซึ่งทำให้เปิดโอกาสให้ไทยกับสหรัฐเข้าใจและทำงานด้วยกันมากขึ้นหากสหรัฐลดทหารลงและต้องการให้อาเซียนมีบทบาทมากขึ้นในการรักษาความมั่นคง โดยไทยได้อยู่ตั้งแต่เปิดศูนย์ที่เกี่ยวข้องกับการทหารอาเซียนในไทย ศูนย์การแพทย์ทหาร น่าจะทำให้เราดูดีและมีความสำคัญในสายตาสหรัฐ แต่สิ่งที่ต้องระวังเรื่องภาษีของสหรัฐจะสูงขึ้น”

นอกจากนี้ การพูดถึงเรื่องตัวบุคคล ในกระทรวงต่างประเทศสหรัฐในรัฐบาลชุดเก่าและชุดใหม่ เป็นที่ชัดเจนตัวบุคคลรัฐบาลชุดเก่าที่ใกล้ชิด “ฮิลลารี คลินตัน” บางคนมีบทบาทสำคัญในไทย มีการคาดการณ์ว่าอาจถูกสลับสับเปลี่ยนโยกย้าย เมื่อประธานาธิบดีคนใหม่เข้ามาทำงาน จะมีการสลับสับเปลี่ยนโยกย้ายคนสำคัญในวงการการทูตระดับสูงถือเป็นธรรมเนียนที่ปฏิบัติ

สุดท้ายต้องดูว่าใครจะเป็นผู้บริหารงาน ใครเป็นคนดูแลภูมิภาคเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำงานร่วมกับไทย