คนมองหนัง : “อภิชาติพงศ์” กับรางวัลอินเตอร์ล่าสุด “Artes Mundi Prize” ของสหราชอาณาจักร

คนมองหนัง

“อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ผู้กำกับภาพยนตร์และศิลปินชาวไทย ได้รับรางวัล Artes Mundi รางวัลศิลปะร่วมสมัยที่สำคัญที่สุดของสหราชอาณาจักร พร้อมเงินรางวัล 4 หมื่นปอนด์ (ราว 1.6 ล้านบาท)

รางวัลดังกล่าวจะมอบให้แก่ศิลปินนานาชาติ ที่ผลิตงานซึ่งมีเนื้อหาข้องเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์, ความเป็นจริงทางสังคม และประสบการณ์ชีวิต

โดยอภิชาติพงศ์คือศิลปินหนึ่งในห้าคนที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล

ในนิทรรศการ Arte Mundi Prize ประจำปีนี้ อภิชาติพงศ์ได้ส่งผลงานวิดีโอเมื่อปี 2016 ของตนเองชื่อ “Invisibility” ไปร่วมจัดแสดง

คณะกรรมการตัดสินรางวัลนิยามวิดีโอชิ้นนี้ว่าเป็น “อาวุธอันทรงพลังในยุคสมัยแห่งความสับสนอลหม่าน”

“ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก มีหลายคราว ที่การพูดจาเรื่องการเมืองอย่างตรงไปตรงมากลายเป็นสิ่งไม่ปลอดภัย อภิชาติพงศ์ได้มอบเครื่องมือการต่อสู้ต่อต้านอันบอบบางทว่าเฉียบแหลมให้แก่พวกเรา” คณะกรรมการยกย่อง

ผลงานวิดีโอดังกล่าวเพิ่งจัดแสดงในสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคาร์ดิฟฟ์ โดยนำเสนอภาวะประหนึ่งความฝัน ผ่านจอภาพสองจอ ซึ่งฉายให้เห็นตัวละครสองรายบนเตียงนอนที่ตั้งอยู่ในคนละห้อง

เว็บไซต์คิกเดอะแมชชีนของอภิชาติพงศ์อธิบายว่าผลงานชิ้นนี้เป็นดังกระจกที่ส่องสะท้อนให้เห็นถึง “สภาพปัญหา” ของการเมืองไทย

“งานชิ้นนี้นำเสนอภาพจินตนาการถึงอนาคตที่ค่อยๆ เสื่อมสลายลง ในขณะที่ใครบางคนต้องการจะหลีกเลี่ยงความเป็นจริงไปตลอดกาล ประสบการณ์การรับชมผลงานชิ้นนี้จะสลับสับเปลี่ยนระหว่างการมองเห็นและการมองไม่เห็น, ข้อเท็จจริงกับเรื่องแต่ง, พื้นที่และความว่างเปล่า”

คิกเดอะแมชชีนบรรยาย

คณะกรรมการตัดสินรางวัล Arte Mundi ระบุถึงผลงานในภาพรวมของนักทำหนังชาวไทยว่า

“แม้ในโลกตะวันตก อภิชาติพงศ์อาจเป็นที่รู้จักของคนจำนวนมาก ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ขนาดยาว แต่พวกเราปรารถนาที่จะแสดงความคารวะต่อการมุ่งมั่นตั้งคำถามอย่างกระตือรือร้น ผ่านผลงานศิลปะในแกลเลอรี ทั้งที่เป็นภาพเคลื่อนไหว, การเล่าเรื่อง ตลอดจนการประกาศตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมและการเมือง ของศิลปินผู้นี้

“ผ่านการละเล่นกับเวลาและแสง อภิชาติพงศ์ได้สร้างสะพานที่แทบไม่มีใครมองเห็น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถเดินทางท่องข้ามระหว่างโลกความจริงกับโลกแห่งจินตนาการ”

ด้านผู้กำกับฯ ชาวไทย ได้กล่าวความในใจ ภายหลังรับรางวัล Artes Mundi ว่า

“นี่คือวันที่แสนพิเศษ ซึ่งทำให้ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ก่อนหน้านี้ ผมนึกขอบคุณที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลร่วมกับศิลปินท่านอื่นๆ ที่ทั้งน่าประทับใจและช่วยสร้างสรรค์แรงบันดาลใจ

“ทว่าการได้รับรางวัลกลับถือเป็นเรื่องที่ผมคาดไม่ถึง การทำงานศิลปะของผมนั้นมีความเป็นส่วนตัวค่อนข้างสูง และผมก็อยากจะขอบคุณ Artes Mundi เหลือเกิน ที่เป็นเวทีซึ่งช่วยให้ผลงานของผมสามารถเข้าถึงและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนจำนวนมากจากทั่วโลก

“การชนะเลิศรางวัลเช่นนี้ได้กระตุ้นให้ผมมุ่งมั่นทำงานต่อไป และไม่หยุดยั้งที่จะตั้งคำถามต่อโลกที่พวกเราทุกคนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน Artes Mundi ช่วยย้ำเตือนเรื่องสำคัญให้พวกเราตระหนักว่า ศิลปินควรได้รับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพสังคมและการเมืองของโลกที่เราอาศัยอยู่

“ที่ประเทศไทย โฆษณาชวนเชื่อนั้นปรากฏอยู่ทั่วทุกหนแห่งในรูปแบบอันหลากหลาย ด้วยเหตุนี้ ความจริงประเภทต่างๆ ที่ไหลเลื่อนล่องลอยอยู่รายรอบ จึงทั้งก่อรูปและทุบทำลายอัตลักษณ์ของคุณ

“ศิลปะคือปฏิบัติการที่ช่วยให้แต่ละคนค้นพบเสียงของตนเอง เพื่อที่คุณจะสามารถพูดจาสื่อสารได้อย่างซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา ความจริงในศิลปะยังช่วยหล่อเลี้ยงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเอาไว้ และในโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ พวกเราต่างต้องการความรู้สึกเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มากพอๆ กับต้องการศิลปะที่สื่อสารความจริงแท้ๆ ออกมา

“แรกเริ่มเดิมที ผมเลือกทำงานกับสื่อภาพยนตร์เพราะต้องการจะหลบหนี แต่ต่อมา ผมก็ค้นพบว่าภาพยนตร์มีศักยภาพในการกร่อนเซาะอำนาจ ศิลปะประเภทนี้คือภาษา ซึ่งสามารถทำได้มากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งมีประสิทธิภาพในการสะท้อนภาพความหวาดกลัวและความคาดหวัง

“ภาพยนตร์ได้ก่อสร้างอัตลักษณ์ในอีกลำดับชั้นหนึ่งขึ้นมา เพื่อต่อต้านเรื่องเล่าประเภทอื่นๆ บนโลกของเรา ซึ่งดูคล้ายจะหยุดนิ่งปราศจากพลวัต”

เนื้อหาจาก https://www.bbc.com/news/uk-wales-46947242

https://www.theguardian.com/culture/2019/jan/24/thai-film-maker-wins-uk-contemporary-art-prize-artes-mundi

https://www.creativecardiff.org.uk/apichatpong-weerasethakul-named-winner-artes-mundi-8-prize

ภาพประกอบจาก http://www.kickthemachine.com/downloads/index.html