เปิดม่านเมืองท่า… มหานครเทียนจิน

เมื่อเอื้อนเอ่ยถึงเทียนจิน ถิ่นฐานทางเหนือค่อนไปทางฝั่งตะวันออกที่ได้รับการยกระดับให้เป็นมหานครของจีนแล้ว ก็นับได้ว่าเป็นชื่อที่หลายคนคุ้นเคยกันดี

แต่อีกหลายคนก็อาจจะยังคุ้นหูกับชื่อที่เรียกตามความนิยมแต่เก่าก่อนในไทยว่าเทียนสินอยู่ไม่มากก็น้อย

ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ทั้งสองชื่อนี้ต่างก็หมายถึงเมืองแห่งเดียวกันนั่นเอง

เทียนจินเป็นชื่อทางการตามสำเนียงเสียงจีนกลางที่ใช้ขานเรียกหนึ่งในสี่มหานครยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งได้รับการแบ่งอำนาจให้เป็นเมืองที่มีสถานะเทียบเท่ามณฑลด้วยเหตุผลกลไกต่างๆ ทั้งในด้านกายภาพและศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ติดอันดับชั้นแถวแนวหน้าของมังกรผู้กำลังผงาดฟ้าท้าโลกอยู่ในขณะนี้

ซึ่งหากไล่เรียงกันไปแล้ว ก็จะได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน และฉงชิ่ง ที่ต่างก็มีความสำคัญ

และถือเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจตามแต่ละส่วนบนลำตัวมังกร

 

สําหรับเทียนจินเองนั้น แม้จะเป็นมหานครที่มีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่นัก แต่ก็มีกำลังวังชากล้าแกร่งในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคเหนือ

และยังมีที่ตั้งอันดีเยี่ยมชนิดประชิดติดกับเมืองหลวงอย่างปักกิ่งด้วย ทำให้ได้รับการวางตัวให้เป็นอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาระดับประเทศ

อันที่จริง เทียนจินก็เจริญเติบโตเรื่อยมานับแต่ในอดีตด้วยอัตราที่เร็วบ้างช้าบ้างต่างกันไปตามแต่ยุคสมัย แต่ก็นับว่ามีภาษีดีกว่าเมืองอื่นอยู่พอควร เนื่องจากเป็นเมืองท่า จึงได้รับอิทธิพลจากการไปมาหาสู่กับโลกภายนอกได้มากกว่า

แต่ที่มาได้รับการอุ้มชูดูแลและอัดฉีดเม็ดเงินอย่างเห็นได้ชัดนั้น ก็จะเป็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุด้วยผลที่น่าสนใจว่า เนื่องจากเป็นบ้านเกิดของเวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีในสมัยผู้นำรุ่นที่ 4 ของจีน

จุดอันโดดเด่นเป็นสง่าของเทียนจินในทางเศรษฐกิจมีอยู่หลายประการพอควร ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดทางตอนเหนือ ถือเป็นเมืองท่าที่มีความพร้อมและมีความสำคัญในลำดับต้นๆ ของประเทศ การเป็นฐานอุตสาหกรรมหลายสาขา ทั้งอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมสมัยใหม่อย่างไอที

นอกจากนี้ ยังมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจหลายด้าน และล่าสุดยังได้ร่วมกับสิงคโปร์ลงทุนสร้างเมืองสีเขียวในเขตเศรษฐกิจใหม่ปินไห่ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ทั้งนำร่องด้านสิ่งแวดล้อมและดึงดูดเงินทุนจากในและนอกประเทศมาได้มหาศาล

อีกทั้งยังเอื้อต่อการพยายามสร้างภาพลักษณ์รักษ์ธรรมชาติของรัฐบาลจีนด้วย

 

แต่นอกจากเทียนจินจะเป็นที่รู้จักในแง่มุมเชิงเศรษฐกิจแล้ว ในด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ที่นี่ก็มีดีไม่น้อย อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบตรงที่อยู่ใกล้กับปักกิ่ง ซึ่งทุกวันนี้การเดินทางมาเทียนจินก็แสนจะสะดวกสบาย

เช่นว่าถ้าขับรถมาจากปักกิ่ง ก็แค่ร้อยกว่ากิโลเมตรบนทางหลวง หรือถ้านั่งรถไฟหัวจรวดความเร็วสูง ก็ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเศษ

หรือถ้าจะมาจากที่ไกลอีกนิด ก็มีท่าอากาศยานนานาชาติที่รองรับเที่ยวบินทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศบ้านติดชิดใกล้ด้วย

หากได้มาเยี่ยมเยือนเทียนจินแล้วไซร้ จะมีสถานที่ติดอันดับความประทับใจชนิดไม่ไปไม่ได้อยู่จำนวนหนึ่ง

ที่ขึ้นชื่อประเดิมเริ่มแรกก็คือ ถนนวัฒนธรรมโบราณ ถนนดั้งเดิมที่เติมเต็มกลิ่นอายวัฒนธรรมจีน ปัจจุบันเป็นถนนคนเดินเก่าแก่ที่มีร้านรวงร่วมร้อยเรียงรายกันไปตลอดความยาวกว่าครึ่งกิโลเมตร จำหน่ายสินค้าสารพันประชันความเป็นจีน มีทั้งเครื่องถมแบบโบราณลวดลายหลากสี ผ้าปักแพรพรรณ อัญมณี ไข่มุกและหยก ไปจนถึงงานหัตถกรรมอย่างภาพวาดในลูกแก้วหรือขวดแก้ว

ด้านในของถนนยังมีศาลเจ้าที่ชาวเทียนจินเคารพบูชามาเนิ่นนานอยู่ด้วย

ถัดมาเป็นถนนอีกเส้นที่จำเป็นต้องแวะเหมือนกัน คือ ถนนสายอาหารที่ละลานตาด้วยอาหารพื้นเมืองของเทียนจินนานับชนิดในอาคารที่แบ่งสรรปันเขตภายในให้เป็นสัดส่วนสำหรับทั้งอาหารและของทานเล่น

ของขึ้นชื่อที่โด่งดังทั้งในหมู่ชาวจีนและชาวต่างชาติ ก็จะมีซาลาเปาสุนัขเมินที่มีความเป็นมายาวนานกว่าร้อยปีจนกลายเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวที่ใครมาเทียนจินครั้งแรกจะต้องขอไปลิ้มลอง

ตามด้วยขนมหมาฮัวที่มีมานานหลักร้อยปีเหมือนกัน เป็นขนมแป้งที่พันเป็นเกลียวตามทางยาว ทอดจนกรอบจัดเป็นสีเหลืองทอง และขนมเอ่อตัวเหย่นที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวไส้ถั่วแดง ทอดแบบกรอบนอกนุ่มในให้กลิ่นหอมหวาน

ซึ่งชาวเทียนจินขนานนามสามอย่างนี้รวมกันว่าเป็น สุดยอดของเทียนจิน

 

นอกจากถนนชื่อดังสองเส้นนี้แล้ว การเดินเล่นชมสถาปัตยกรรมสัญชาติตะวันตกที่มีอยู่หลายจุดหลายมุมก็เป็นกิจกรรมที่หลายคนเลือกทำ โดยเฉพาะเขตอิตาลีที่มีอาคารบ้านเรือนรูปทรงสถาปัตย์อิตาลีประวัติร่วมร้อยปีที่รวมตัวอยู่บนพื้นที่หลายถนนที่ซอกซอนติดกัน

หรือไม่ก็ไปแถบถนนห้าเส้นที่มาบรรจบกันด้วยบ้านสไตล์ฝรั่งแบบอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน กรีซ และอิตาลีสองร้อยกว่าหลัง ปลูกแนบชิดติดกันรั้วต่อรั้ว

บางหลังมีคุณค่าจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลือจากเขตเช่าในยุคอาณานิคม ซึ่งทุกวันนี้ก็ได้กลายเป็นแหล่งยอดนิยมสำหรับไปเยี่ยมชมและเก็บภาพกันไปแล้ว

ท่ามกลางอาคารมากอายุเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะมีที่พักอาศัย ที่ทำการ บริษัท ร้านค้า ยังมีร้านอาหารเปิดตามมุมต่างๆ ให้ไปเสาะหาชิมอาหารทะเลได้ด้วย

บางร้านสร้างความพิเศษด้วยการแปลงกายให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของสะสมโบราณที่ใช้เป็นเครื่องประดับทั้งในและนอกร้าน ให้ได้ลิ้มรสอาหารไปพร้อมกับการสัมผัสของเก่ากว่าสามพันชิ้นที่มีอายุอานามต่างกันไป บางชิ้นย้อนรอยกลับไปได้ถึงศตวรรษที่ 18

กลายเป็นลูกเล่นและจุดขายที่สร้างสรรค์จนเรียกบรรดาคนดังที่มาเยี่ยมเยือนเทียนจินให้แวะไปได้จำนวนมาก

 

นอกจากนี้ เทียนจินยังมีสัญลักษณ์ประจำเมืองอีกอย่างที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางมหานคร นั่นก็คือ ชิงช้าสวรรค์ขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า เทียนจินอาย (คล้ายกับลอนดอนอาย) มีความสูงถึง 120 เมตร ตั้งอยู่บนสะพานหย่งเล่อที่ทอดตัวข้ามผ่านแม่น้ำกลางเมือง

ว่ากันว่ายามที่นั่งกระเช้าขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดนั้น จะสามารถทัศนาทิวทัศน์ของเทียนจินได้กว้างไกลในรัศมีถึง 40 ตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว

เทียนจินจึงนับเป็นเมืองใหญ่อีกแห่งของจีนที่เพียบพร้อมไปด้วยศักยภาพทั้งด้านการค้า อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว

และได้รับการหมายมั่นปั้นมือให้เป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจทางตอนเหนือของจีนในวันนี้และวันหน้า แต่ก็ยังคงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่แทรกตัวหลอมรวมอยู่ในมุมต่างๆ ของเมืองให้เห็นได้ไม่มากก็น้อย

อีกทั้งยังไม่ใช่แค่วัฒนธรรมจีนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวัฒนธรรมตะวันตกที่ทิ้งร่องฝากรอยไว้ที่นี่ด้วยเช่นกัน