ทวีศักดิ์ บุตรตัน : ทางแก้ “เมืองฝุ่น” บทเรียนจากเมืองนอก สู่การรับมือของไทย

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ผู้คนกรุงเทพมหานครตื่นตระหนกกับข่าวฝุ่นพิษแห่กันซื้อหน้ากากกรองอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 จนหมดเกลี้ยงร้าน กลายเป็นข่าวฮอตฮิตติดอันดับท็อปหน้าหนาวของปีนี้

จะว่าไปแล้ว ใครอ่านข่าวก็ต้องหวาดผวาหาอะไรมาปิดปากกันมลพิษเป็นพัลวัน เพราะมีการตรวจวัดฝุ่นขนาดจิ๋วกว่าเส้นผมลอยฟุ้งในท้องฟ้าเหนือ กทม.ได้ค่าเฉลี่ยออกมา 96-103 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

เป็นค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในช่วง 24 ชั่วโมงมากกว่าขององค์การอนามัยโลกซึ่งมีค่ามาตรฐานอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

แถมยังมีนักวิชาการยืนยันว่า ใครสูด PM 2.5 เข้าไปมากจะมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ มะเร็งปอด โรคหลอดเลือดกำเริบ

คนที่ไม่เชื่อว่าสภาพอากาศขมุกขมัวจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้อย่างไร เมื่อเจอรายงานข่าวอย่างนี้ทั้งทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สื่อโซเชียลทุกวัน ก็ต้องวิ่งไปซื้อหน้ากากมาใส่กันไว้

 

นี่เป็นบทบาทสำคัญของสื่อ ทำให้สังคมไทยตื่นรับรู้ถึงอันตรายของมลพิษในอากาศ

อีกทั้งช่วยกระตุ้นให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการต่างๆ มากมายมาแก้ปัญหา บ้างสั่งตรวจควันดำทั้งรถเล็ก รถใหญ่ ห้ามเผาในที่โล่ง

ให้รถเมล์ ขสมก. เปลี่ยนคุณภาพน้ำมันใช้ดีเซลผสมน้ำมันปาล์มหรือบี 20 แทนบี 7 คุมเข้มพื้นที่ก่อสร้าง จัดการบริหารจราจรให้รถติดน้อยลง ส่งเฮลิคอปเตอร์ โดรนบินตรวจอากาศ โปรยน้ำลดฝุ่น

มาตรการเหล่านี้แค่เป็นทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นๆ ไม่ได้ช่วยให้คุณภาพอากาศดีขึ้น สิ่งแวดล้อมสะอาดขึ้นอย่างยั่งยืน

 

เป็นที่รู้ๆ กันว่า สาเหตุหลักการเกิดฝุ่นพิษในกรุงเทพมหานครมาจากรถยนต์ปล่อยควันดำเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

ที่เหลือมาจากการเผาไหม้ในภาคเกษตรและการปล่อยเขม่าควันจากโรงงานอุตสาหกรรม

กทม.มีรถยนต์ทั้งหมด 9.8 ล้านคัน ในจำนวนนี้เป็นรถเครื่องดีเซล 2.4 ล้านคัน มอเตอร์ไซค์ 3.6 ล้านคัน

ปริมาณรถเกินกว่าถนนจะรองรับได้ถึง 4.4 เท่า

สัดส่วนถนนใน กทม.มีพื้นที่ให้รถวิ่งได้ 8% เทียบกับมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีพื้นที่ถนน 38% กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 23%

ฉะนั้น กทม.จะเจอปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษทุกครั้งที่สภาพอากาศปิด เนื่องจากฝุ่นขนาดจิ๋วไม่สามารถระบายออกไปได้

ยิ่งหน้าหนาว ยิ่งเห็นปรากฏการณ์นี้ได้ชัด

การแก้ปัญหาฝุ่นพิษจึงต้องทำเป็นแผนระยะยาว มีมาตรการเฉียบขาดและชัดเจน

ในเมื่อรถยนต์เป็นตัวปัญหาหลัก รัฐบาลต้องจัดการแก้ไขรถยนต์เก่าที่มีระบบเผาไหม้ในเครื่องยนต์ไม่สมบูรณ์

ทำอย่างไรจึงให้รถเหล่านี้วิ่งบนถนนน้อยที่สุดหรือวิ่งแต่มีควันพิษออกมาต่ำกว่ามาตรฐาน?

หลายๆ ประเทศวางนโยบายห้ามใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลในอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อแก้ปัญหามลพิษในอากาศ ลดภาวะโลกร้อนและสนับสนุนรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

แต่บ้านเราต้องยอมรับว่ามีรถเก่ามากมายเพราะผู้คนยังรายได้ไม่มากพอจะไปซื้อรถใหม่

ทางแก้ปัญหา รัฐต้องหาทางสนับสนุนคนมีรายได้น้อยเลิกใช้รถยนต์เก่าเครื่องยนต์ล้าสมัยและเร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

นี่เป็นหนทางสำคัญในการแก้ปัญหา “ฝุ่นพิษ” ระยะยาวและยั่งยืน

 

อย่าลืมว่าสาเหตุที่คน กทม.นิยมใช้รถส่วนตัวจนล้นถนนเพราะระบบขนส่งมวลชนที่ย่ำแย่

รถเมล์มีเครื่องยนต์เก่าคร่ำครึ ห้องโดยสารไม่ทันสมัย มีคนขับไร้มารยาทขาดวินัย และไม่สามารถกำหนดเวลาการเดินทางได้ชัดเจน

เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกมองเห็นความสำคัญในการลดมลพิษทางอากาศโดยสนับสนุนสร้างเลนจักรยานปลุกกระแสให้คนเลิกขับรถยนต์หันมาปั่นจักรยานมากขึ้น และวางนโยบายใช้ระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัย เน้นเดินทางด้วยระบบราง เปลี่ยนรถเมล์เครื่องดีเซลเป็นรถพลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนไร้ควันพิษ

รถเมล์ในประเทศพัฒนาแล้วคนขับรู้ระเบียบวินัยการจราจรเป็นอย่างดี วิ่งในเลนเฉพาะ ไม่ซิ่ง เปลี่ยนเลนแซงปาดหน้าเหมือนบ้านเรา การจอดรถเพื่อรับ-ส่งผู้โดยสารขึ้น-ลงเป็นไปอย่างนุ่มนวล ไม่กระโชกโฮกฮาก

การควบคุมเวลาของรถเมล์แม่นยำ ผู้โดยสารมั่นใจได้ว่าถึงที่หมายตามกำหนด มีการเชื่อมต่อระหว่างรถเมล์กับการขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า เรือ รถไฟ และที่จอดรถจักรยานอย่างเป็นระบบครบวงจร

การควบคุมระบบการจราจรให้รถวิ่งในถนนน้อยที่สุดจะช่วยลดมลพิษในอากาศได้เป็นอย่างดี

บางประเทศแบ่งโซนในเขตจราจรหนาแน่น ใจกลางเมือง ย่านธุรกิจ มีการจัดเก็บภาษีค่าจอดแพงกว่าโซนที่มีการจราจรเบาบาง หรือเขตนอกเมือง

หรือไม่ก็ใช้ระบบป้ายทะเบียนและวันเวลาในการเข้าพื้นที่ เช่น รถที่มีทะเบียนลงท้ายด้วยเลขคู่ให้วิ่งเข้าในเขตจราจรหนาแน่นได้เฉพาะวันคู่

หลายประเทศเน้นใช้ระบบจัดเก็บภาษีการใช้รถยนต์ในแต่ละโซน เช่น โซนที่เป็นย่านการค้า หรือเขตโบราณสถาน มรดกโลก จะเก็บภาษีสูงกว่าย่านอื่นๆ และให้เฉพาะรถเครื่องยนต์ขนาดเล็กเท่านั้น

การควบคุมวินัยจราจรของผู้ใช้รถยนต์เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นรากฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมเมือง

ถ้าคนไม่รู้จักวินัยจราจรจะทำให้เกิดความวุ่นวายไร้ระเบียบ จราจรติดขัด มีอุบัติเหตุเกิดความสูญเสียมากมายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

 

มีพรรคพวกซึ่งเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ มักจะตั้งคำถามว่าทำไมถนนบ้านเราจึงมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทุกวัน ผิดแผกแตกต่างกับประเทศที่ไปเห็นมา

อย่างเวียดนามเพื่อนบ้านใกล้ๆ รถวิ่งกันพลุกพล่าน แต่อุบัติเหตุ รถชน มีคนเจ็บ-ตายน้อยมาก สาเหตุเพราะคนขับรถมีวินัย ไม่ซิ่ง ใช้ความเร็วตามกฎจราจร

นอกจากวางแผนระบบจราจร ขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพแล้ว การควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งก่อสร้างปล่อยฝุ่นควันพิษต้องทำอย่างเข้มงวด

ทุกวันนี้โรงงานอุตสาหกรรมรอบๆ กทม.ยังปล่อยควันดำโขมงอยู่ตลอดเวลา ขณะที่พื้นที่ก่อสร้างจำนวนมากไม่มีระบบควบคุมมลพิษ

ยกตัวอย่าง ถนนตัดใหม่เชื่อมระหว่างกรุงเทพกรีฑากับถนนร่มเกล้า 2 ข้างทาง มีการพัฒนาพื้นที่มากมาย

จากท้องนาก็กลายเป็นเขตที่พักอาศัย มีการถมที่ รถบรรทุกดินขนดินฝุ่นคลุ้งวิ่งกันไปมา

ถนนที่เพิ่งก่อสร้างใหม่ๆ เปื้อนไปด้วยดินโคลนที่มากับรถบรรทุก และในที่สุดเป็นฝุ่นลอยในอากาศ ไม่มีเจ้าหน้าที่หน่วยไหนเข้าไปควบคุมเขตก่อสร้างเหล่านี้

การใช้มาตรการควบคุมมลพิษเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐ ถ้ารัฐละเลิกหรือเพิกเฉย ปัญหายากที่จะแก้ได้

 

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว รัฐบาลจีนลุกขึ้นมาแก้ปัญหามลพิษในอากาศอย่างจริงจังหลังจากเปิดโปงว่าเมืองที่ปนเปื้อนมลพิษสูงที่สุดในโลก 20 อันดับแรก อยู่ในประเทศจีนถึง 16 เมือง

รัฐบาลจีนใช้มาตรการทุกรูปแบบ ตั้งแต่ห้ามรถยนต์เก่าปล่อยควันดำวิ่งบนถนน

ตั้งหน่วยตำรวจสิ่งแวดล้อม หรือ Green Police ลุยตรวจโรงงานปล่อยควันพิษ

สั่งปิดโรงงานที่ละเมิดกฎหมายนับหมื่นแห่ง ลงโทษปรับรวมเป็นเงินหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ

ออกคำสั่งให้โรงไฟฟ้าเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินมาเป็นพลังงานความร้อนด้วยก๊าซแทน

วางแผนให้บ้านเรือนเกือบ 2 ล้านหลังเลิกใช้ถ่านหรือไม้เป็นเชื้อเพลิง หันมาใช้ก๊าซเช่นกัน

มาตรการอันเข้มงวดและทำอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ เห็นผลชัดในเวลาอันรวดเร็ว

เฉพาะในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เมื่อปีที่แล้ว มีการใช้ถ่านหินลดลงเหลือเพียง 5 ล้านตัน จากเดิมเมื่อ 7 ปีก่อนมีการใช้ถ่านหินมากถึง 22 ล้านตัน

ปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 ในกรุงปักกิ่งลดฮวบจาก 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหลือ 58

จากที่เคยได้ฉายาว่าเมืองฝุ่นหายนะ (airpocalypse) บัดนี้กรุงปักกิ่งเปลี่ยนโฉมเป็นเมืองอากาศสะอาด

สะอาดกว่ากรุงเทพมหานครหลายเท่าตัว